รังสี ทัศนพยัคฆ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก มหศักดิ์ สารากร)
รังสี ทัศนพยัคฆ์
รังสี ทัศนพยัคฆ์ เมื่อ พ.ศ. 2513
รังสี ทัศนพยัคฆ์ เมื่อ พ.ศ. 2513
สารนิเทศภูมิหลัง
เกิด1 ธันวาคม พ.ศ. 2469
รังสี ทัศนพยัคฆ์
เสียชีวิต7 ธันวาคม พ.ศ. 2546 (77 ปี)
คู่สมรสสุภาพ คังคะโรจนะ
บุตร2 คน
อาชีพผู้สร้าง ผู้กำกับภาพยนตร์
ปีที่แสดงพ.ศ. 2495 - 2526
ThaiFilmDb

รังสี ทัศนพยัคฆ์ (1 ธันวาคม พ.ศ. 2469 - 7 ธันวาคม พ.ศ. 2546) เป็นผู้สร้างและผู้กำกับการแสดงภาพยนตร์ ความสำเร็จจากภาพยนตร์อมตะ เรื่อง "มนต์รักลูกทุ่ง" ที่ทำรายได้ประมาณ 6 ล้านกว่าบาทเมื่อปี พ.ศ. 2513 ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำสถิติอมตะ คือการยืนโรงฉาย ที่โรงภาพยนตร์โคลีเซี่ยมนานถึง 6 เดือน

ท่านถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2546 เนื่องจากความดันโลหิตต่ำ เส้นเลือดหัวใจตีบ เส้นโลหิตแตก โลหิตไหลลงกระเพาะอาหาร เสียชีวิตทันที สิริรวมอายุได้ 77 ปี

ประวัติ[แก้]

รังสี ทัศนพยัคฆ์ เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2469 ที่บ้านเสาชิงช้า กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรชายของพระสรรสารากร ซึ่งเป็นผู้ตรวจ ราชการกรมสรรพากร กับ นางเติม มีพี่น้อง 3 คน คือ รังสรร, รังสิต และ โดยคุณรังสีเป็นน้องสุดท้อง ท่านจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนเบญจมบพิตร หรือ โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตรในปัจจุบัน จากนั้นเรียนต่อที่โรงเรียนนายเรือ เป็นนักเรียนนายเรือรุ่น 7, 8

ปี พ.ศ. 2495 ครูรังสีเข้าสู่วงการภาพยนตร์ไทย โดยเริ่มจากการเป็นผู้ทำเพลงประกอบภาพยนตร์ไทย 16 มม. เรื่อง "นิทรา-สายัณห์" ของบริษัทบูรพาศิลป์ภาพยนตร์ โดยมี สำเภา ประสงค์ผล เป็นผู้อำนวยการสร้าง และในปี พ.ศ. 2502 ก็ได้เริ่มกำกับภาพยนตร์ครั้งแรกคือเรื่อง "ทาสรัก" ของบริษัทบูรพาศิลป์ภาพยนตร์ นำแสดงโดย รัตนาภรณ์ อินทรกำแหง

หลังจากนั้นก็ทำภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จมาก คือเรื่อง "แม่นาคพระโขนง" ที่กำกับให้กับเสน่ห์ โกมารชุน ต่อมาในปี พ.ศ. 2505 ได้ร่วมหุ้นกับ กิตติพงศ์ เวชภูญาณ, ดารณี ณ วังอินทร์ และ อำนาจ สอนอิ่มสาตร์ ตั้ง "จิตรวาณีภาพยนตร์" สร้างภาพยนตร์เงินล้านอีกมากมายหลายเรื่อง และได้เริ่มทำธุรกิจภาพยนตร์ด้วยตัวเอง ด้วยการก่อตั้ง "รุ่งสุริยาภาพยนตร์" ปี พ.ศ. 2512 มีคนในครอบครัวร่วมถือหุ้นได้สร้างหนังเรื่อง 'ชาติลำชี'[1] นำแสดงโดย มิตร-เพชรา ซึ่งได้มีการนำนักร้องลูกทุ่งมาร่วมแสดง และร้องเพลงประกอบหนัง ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำรายได้เกิน 1 ล้านบาท ในปีถัดมา จึงได้สร้างหนังทำนองเดียวกันอย่าง "มนต์รักลูกทุ่ง" ในระบบ 35 มม. ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำรายได้ได้สูงถึง 7 ล้านบาท และเข้าฉายนานถึง 15 เดือน มีนักแสดงที่มีชื่อเสียงเป็นอย่างมากในยุคนั้น อย่าง มิตร ชัยบัญชา, เพชรา เชาวราษฎร์, บุปผา สายชล, ศรีไพร ใจพระ ฯลฯ มาร่วมแสดง โดยมีเพลงลูกทุ่งที่มีความไพเราะ ประกอบทั้งเรื่องและกลายเป็นเพลงอมตะมาจนถึงทุกวันนี้ [2]

ความสำเร็จของครูรังสี ทำให้มีการสร้างหนังเกี่ยวกับเพลงลูกทุ่งอีกหลายสิบเรื่อง ซึ่งมีแรงบันดาลใจและผู้ส่งเสริมให้ครูเพลงบางคนรวมถึงครูไพบูลย์ บุตรขัน ได้มีโอกาสเป็นผู้กำกับหนังเพลงเรื่อง "ทุ่งเศรษฐี"

นอกจากนั้นครูรังสีได้สร้างภาพยนตร์ดำเนินรอยตามภาพยนตร์เพลงอย่าง "มนต์รักลูกทุ่ง" อีกหลายเรื่อง เช่น "มนต์รักจากใจ" "มนต์รักนักรบ" "บัวลำภู" ฯลฯ และภาพยนตร์เพลง "บัวลำภู" นี่เองที่ได้กลายเป็น "แบบฉบับ" ของภาพยนตร์เพลงอีสาน ทำให้นางเอกหมอลำจากบ้านนอก อย่าง "อังคนางค์ คุณไชย" โด่งดังด้วยเพลงประกอบหนังเรื่องนี้

การทำงาน[แก้]

มิตร ชัยบัญชา (ซ้าย) และ รังสี ทัศนพยัคฆ์

ท่านมีผลงานการสร้างและกำกับภาพยนตร์ออกมาประมาณทั้งสิ้นกว่า 100 เรื่อง อีกทั้งยังเป็นบรมครูแห่งเทคนิคในการ "เจาะถ่าย" ที่ผู้กำกับรุ่นหลัง ๆ ใช้แก้ปัญหาดาราขาดแคลน หรือดาราคิวไม่ว่าง ในกรณีที่ต้องวิ่งรอกแสดงหลายเรื่อง

เป็นเทคนิคของผู้กำกับที่แก้ปัญหาคิวนักแสดงซ้อน ๆ กันได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังทำให้นักแสดงคนเดียวสามารถรับงานได้หลายเรื่องอีกด้วย อย่างเช่นกรณีของ มิตร ชัยบัญชา เป็นต้น โดยครูรังสีจะใช้การถ่ายทำฉากหรือบทของนักแสดงแต่ละคนให้เสร็จสิ้นไปก่อน โดยเฉพาะฉากที่ไม่ต้องร่วมกับนักแสดงสำคัญคนอื่น ๆ จากนั้นก็จะนำไปตัดต่อใหม่อีกครั้งหนึ่ง เป็นหนังที่สมบูรณ์ในที่สุด

ผลงานกำกับภาพยนตร์[แก้]

  • เศรษฐีข้างถนน (2512)
  • กามเทพลวง (2512)
  • ยอดคนจริง (2512)
  • แม่ค้า (2512)
  • ชาติลำชี (2512)
  • มนต์รักลูกทุ่ง (2513)
  • กำแพงเงินตรา (2513)
  • มนต์รักจากใจ (2514)
  • ไอ้แดง (2516)
  • บัวลำพู (2517)
  • สนหน่อยน่าทูนหัว (2517)
  • วิญญาณโลกีย์ (2518)
  • แม่ปลาช่อน (2519)
  • แม่ม่ายใจถึง (2519)
  • อย่าแหย่ฉลาม (2520)
  • จงอางเพลิง (2520)
  • มนต์รักนักรบ (2520)
  • หึง (2520)
  • ศึก 5 เสือ (2520)
  • พ่อตาปืนโต (2520)
  • ดอนตูมปืนตัน (2521)
  • มนต์รักแผ่นดินทอง (2521)
  • เขาใหญ่ (2521)
  • ถล่มวังข่า (2521)
  • ดวงเศรษฐี (2521)
  • ทีเด็ดคู่เขย (2521)
  • คนละเกมส์ (2522)
  • ตะเคียนคะนอง (2522)
  • กามเทพหลงทาง (2522)
  • นายอำเภอปฏิวัติ (2522)
  • บอกว่าอย่ามายุ่ง (2524)
  • ลูกสาวจ่าโท (2524)
  • น้ำพริกก้นถ้วย (2525)
  • แว่วเสียงนางพราย (2525)
  • มนต์รักลูกทุ่ง (2525)
  • หลงเสียงนาง (2526)
  • มนต์รักนักเพลง (2527)
  • จะกู่รักกอดน้องให้ก้องโลก (2535)

อำนวยการสร้าง[แก้]

  • ชาติลำชี (2512)
  • มนต์รักลูกทุ่ง (2525)

บทภาพยนตร์[แก้]

  • เศรษฐีข้างถนน (2512)
  • ลูกเขย (2512)
  • ชาติลำชี (2512)
  • มนต์รักลูกทุ่ง (2513)
  • มนต์รักจากใจ (2514)
  • ไอ้แดง (2516)
  • เพลิงทรนง (2519)
  • จงอางเพลิง (2520)
  • ขุนกระทิง (2521)
  • บอกว่าอย่ามายุ่ง (2524)
  • มนต์รักลูกทุ่ง (2525)
  • หลงเสียงนาง (2526)
  • มนต์รักลูกทุ่ง (2548)

บทละคร[แก้]

  • มนต์รักลูกทุ่ง (2538)
  • มนต์รักลูกทุ่ง (2548)
  • ชาติลำชี (2561)

ชีวิตส่วนตัว[แก้]

ด้านชีวิตครอบครัวของครูรังสี ท่านแต่งงานกับนางสุภาพ คังคะโรจนะ มีบุตรชาย 2 คน คือ นายมหศักดิ์ กับ สุรศักดิ์ ทัศนพยัคฆ์ ซึ่งยังทำงานอยู่เบื้องหลังในวงการภาพยนตร์ สืบทอดจากครูรังสี ขณะที่ครูรังสีเอง หลังจากห่างหายไปจากวงการแล้ว ก็ได้ไปพักผ่อนทำสวนอยู่ที่จันทบุรี ไม่มีใครได้พบเจอ

กระทั่งเมื่อปี 2544 ท่านได้ไปทำเซอร์ไพรส์ให้กับลูกศิษย์คนหนึ่ง ซึ่งไปจัดเลี้ยงงานวันเกิดกันที่ สวนอาหารลีลาวดี ย่านลาดพร้าว ในกทม. ซึ่งได้สอบถามว่า ท่านทราบได้อย่างไร ว่ามีงานเลี้ยงนี้ ท่านบอกว่า ได้อ่านเจอข่าวในหนังสือพิมพ์ ก็เลยขึ้นรถประจำทางมาหา กลุ่มลูกศิษย์ได้ร่วมกันขึ้นร้องเพลงบนเวทีเพื่อตอบแทนในการมาของท่าน เพลงนั้นคือเพลง "มนต์รักลูกทุ่ง" ซึ่งทำให้ท่านน้ำตาซึมทีเดียว

อ้างอิง[แก้]