มหภาษา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

มาตรฐานสากล ISO 639-3 สำหรับกำหนดรหัสภาษา ได้มีการกำหนดรหัสส่วนหนึ่งเป็นประเภท มหภาษา (อังกฤษ: macrolanguage) ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของภาษาเอกเทศอื่นภายในมาตรฐาน มหภาษานี้ครอบคลุมกรณีก้ำกึ่งระหว่างภาษาสองภาษาที่ต่างกันซึ่งอาจพิจารณาได้ว่า ภาษาหนึ่งเป็นภาษาถิ่นของอีกภาษาหนึ่ง หรือเป็นภาษาเดียวกัน หรือเป็นภาษาที่เกี่ยวข้องใกล้ชิดกันมาก นอกจากนี้ยังใช้เมื่อมีภาษาหลายภาษาที่บางครั้งนับว่าเป็นภาษาเดียวกัน แต่บางครั้งนับว่าต่างกันสำหรับเหตุผลทางด้านชาติพันธุ์หรือการเมืองเป็นต้น มากกว่าเหตุผลทางภาษาศาสตร์ มีรหัสภาษาจำนวน 56 รหัสในมาตรฐาน ISO 639-2 ที่ถือว่าเป็นมหภาษาในมาตรฐาน ISO 639-3 [1] ประเภทมหภาษาเริ่มนำมาใช้ในเอทโนล็อก (Ethnologue) ตั้งแต่การพิมพ์ครั้งที่ 16 [2]

อย่างไรก็ตาม มหภาษาบางรหัสก็ไม่มีภาษาเอกเทศใดรวมอยู่เลยใน ISO 639-2 (ตามที่กำหนดโดย 639-3) ตัวอย่างเช่น ara (ภาษาอาหรับ) แต่ 639-3 ได้จำแนกภาษาแปรผันที่ต่างกันของภาษาอาหรับเป็นภาษาแยกในสถานการณ์เช่นนี้ ส่วนมหภาษาอื่นเช่น nor (ภาษานอร์เวย์) ก็มีภาษาสองภาษารวมอยู่ได้แก่ nno (ภาษานือนอสก์) และ nob (ภาษาบุ๊กมอล) ซึ่งได้กำหนดไว้แล้วใน 639-2 ทั้งหมดนี้หมายความว่า บางภาษาที่ได้พิจารณาว่าเป็นภาษาถิ่นของภาษาอื่นใน 639-2 จะนำไปใช้กับ 639-3 ในบริบทเฉพาะที่ได้พิจารณาว่าเป็นภาษาเอกเทศนั้นเอง สิ่งนี้เป็นความพยายามที่จะต่อกรกับภาษาแปรผันซึ่งอาจแบ่งแยกออกไปได้ในทางภาษาศาสตร์ แต่ผู้พูดภาษาเหล่านั้นปฏิบัติต่อภาษาประหนึ่งว่าเป็นเพียงภาษาเดียวกันในรูปแบบต่าง ๆ

ISO 639-2 ก็มีรหัสสำหรับการรวมกลุ่มของหลาย ๆ ภาษา แต่ไม่เหมือนมหภาษา การรวมกลุ่มภาษาเหล่านี้ถูกตัดออกใน ISO 639-3 เพราะมันไม่ได้อ้างถึงภาษาเอกเทศใด ๆ รหัสเช่นนั้นส่วนมากได้กำหนดไว้ใน ISO 639-5 แทน

ชนิดของมหภาษา[แก้]

มหภาษาใน ISO 639-3 สามารถแบ่งออกอย่างคร่าว ๆ ได้ดังนี้

  • มหภาษาที่ไม่มีรหัสใน ISO 639-2 จำนวน 4 รหัส (bnc, hbs, kln, luy)
  • มหภาษาที่ไม่มีรหัสใน ISO 639-1 จำนวน 29 รหัส
  • มหภาษาที่มีรหัสใน ISO 639-1 จำนวน 32 รหัส
  • มหภาษาที่ภาษาเอกเทศมีรหัสใน ISO 639-1 จำนวน 2 รหัส (hbs – hr, bs, sr และ nor – nn, nb)

อ้างอิง[แก้]

  1. "Scope of denotation for language identifiers". SIL International.
  2. Lewis, M. Paul, ed. 2009. Ethnologue. Dallas: SIL International