ภาษาอาหรับจอร์แดน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาษาอาหรับจอร์แดน
اللهجة الأردنية
ประเทศที่มีการพูดจอร์แดน
จำนวนผู้พูด6.24 ล้านคน  (2016)[1]
ตระกูลภาษา
ภาษาถิ่น
Fellahi (ชนบท)
Madani (เมือง)
ระบบการเขียนชุดตัวอักษรอาหรับ
รหัสภาษา
ISO 639-3อย่างใดอย่างหนึ่ง:
avl – บะดะวีลิแวนต์
ajp – ลิแวนต์ใต้
บทความนี้มีสัญลักษณ์สัทอักษรสากล หากระบบของคุณไม่รองรับการแสดงผลที่ถูกต้อง คุณอาจเห็นปรัศนี กล่อง หรือสัญลักษณ์อย่างอื่นแทนที่อักขระยูนิโคด

ภาษาอาหรับจอร์แดน (Jordanian Arabic) เป็นกลุ่มของสำเนียงย่อยของภาษาอาหรับเลอวานต์ ใช้พูดในราชอาณาจักรฮัชไมต์จอร์แดน โดยมีโครงสร้างของภาษาเป็นแบบของกลุ่มภาษาเซมิติก แต่ได้อิทธิพลทางรากศัพท์จากภาษาอังกฤษ ภาษาตุรกี และภาษาฝรั่งเศส มีผู้พูดมากกว่า 6 ล้านคน และเป็นที่เข้าใจกันในบริเวณเลอวานต์ จัดเป็นภาษาที่ใช้พูดในชีวิตประจำวันในจอร์แดน

สำเนียงย่อย[แก้]

ภาษาอาหรับจอร์แดนเป็นภาษาพูดที่เข้าใจกันทั่วราชอาณาจักร แต่มีความผันแปรในแต่ละบริเวณ และตามสถานะเชิงเศรษฐกิจและสังคม โดยความผันแปรเกิดขึ้นในระดับการออกเสียง ไวยากรณ์ และคำศัพท์ โดยทั่วไปแบ่งเป็นสำเนียงย่อยได้ 3 สำเนียงคือ

  • สำเนียงในเมือง สำเนียงนี้เกิดขึ้นเมื่อกำหนดให้อัมมานเป็นเมืองหลวงของจอร์แดน และเป็นการผสมผสานระหว่างภาษาของประชากรที่อพยพมาจากเฮารานทางภาคเหนือและโมอับทางภาคใต้ รวมทั้งปาเลสไตน์ เข้ามาสู่เมืองที่สร้างใหม่ ภาษาจะมีลักษณะผสมจากสำเนียงของภาษาอาหรับทั้งสามกลุ่ม โดยได้รับอิทธิพลจากภาษาอาหรับสำเนียงเฮารานมากที่สุด และใช้คำยืมจากภาษาอังกฤษมาก
  • สำเนียงชนบท เป็นสำเนียงที่ใช้พูดโดยชาวจอร์แดนในชนบท และเมืองขนาดเล็กโดยทั่วไป แบ่งหยาบๆได้สองกลุ่มคือ
    • ภาษาอาหรับเฮาราน ใช้พูดทางเหนือของอัมมาน ระหว่างเอสซอลท์และแนวชายแดนซีเรีย และใช้พูดในดินแดนเฮารานที่อยู่ในซีเรียตอนใต้ จัดเป็นกลุ่มย่อยของสำเนียงทางใต้ของภาษาอาหรับเลอวานต์
    • ภาษาอาหรับโมอับ ใช้พูดทางใต้ของอัมมาน ในเมืองเช่น การัก ตาฟิละห์ มาอัน เชาบัก และชนบทในบริเวณอื่น ชื่อสำเนียงตั้งตามชื่อราชอาณาจักโมอับ ที่เคยตั้งอยู่ทางตอนใต้ของจอร์แดน จัดเป็นกลุ่มย่อยของสำเนียงทางใต้ของภาษาอาหรับเลอวานต์
  • สำเนียงเบดูอิน ใช้พูดโดยชาวเบดูอิน ในจอร์แดน ส่วนใหญ่อยู่ในทะเลทรายทางตะวันออกของเทือกเขาจอร์แดน ภาษาที่ใช้ในบริเวณนี้ต่างจากสำเนียงที่ใช้พูดในเมืองและชนบท และจัดเป็นสำเนียงที่ค่อนข้างเข้าใจยาก รูปแบบการเน้นเสียงในคำใกล้เคียงกับภาษาอาหรับคลาสสิก มากกว่าภาษาอาหรับเบดูอิน

สถานะ[แก้]

ภาษานี้ไม่มีสถานะเป็นภาษาราชการในจอร์แดน[2][3][4]

การออกเสียง[แก้]

สำหรับสำเนียงในเมือง ไม่มีวิธีมาตรฐานสำหรับการเขียน ส่วนใหญ่จะแทนเสียงพูดด้วยสัทอักษร หรืออักษรสำหรับภาษาอาหรับมาตรฐาน ในแต่ละคำของภาษาอาหรับจอร์แดน จะมีพยางค์หนึ่งที่เน้นหนักกว่าพยางค์อื่น และความหมายในการสื่อสารสำหรับชาวจอร์แดนขึ้นกับตำแหน่งของการเน้นคำ ทำให้ภาษานี้ยากสำหรับผู้ที่ไม่ได้พูดเป็นภาษาแม่

อิทธิพลจากภายนอก[แก้]

ภาษาอังกฤษแบบอังกฤษมีอิทธิพลมากในภาษาอาหรับจอร์แดน จัดเป็นภาษากลางโดยพฤตินัยในหลายพื้นที่โดยเฉพาะทางตะวันตก และนำไปใช้เป็นคำยืม ภาษาอาหรับมาตรฐานสมัยใหม่ เป็นภาษาที่ใช้ในรายการโทรทัศน์ ใช้ในการอ่านและเขียนอย่างเป็นทางการ แต่ไม่เคยใช้ในการสนทนาตามปกติ ภาษาอาหรับมาตรฐานนี้เป็นภาษาที่ใช้เรียนในโรงเรียน นอกจากนั้น ภาษาอาหรับจอร์แดนยังได้รับอิทธิพลจากภาษาฝรั่งเศส ภาษาตุรกี และภาษาเปอร์เซีย คำยืมจากภาษาสเปนมีน้อย และมักใช้อย่างไม่เป็นทางการ.

อ้างอิง[แก้]

  1. "Jordan". Ethnologue (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2018-08-08.
  2. Jordanian Arabic phrasebook – iGuide เก็บถาวร 2011-10-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Iguide.travel. Retrieved on 19 October 2011.
  3. Ethnologue report for language code: ajp. Ethnologue.com. Retrieved on 19 October 2011.
  4. iTunes – Podcasts – Jordanian Arabic Language Lessons by Peace Corps. Itunes.apple.com (16 February 2007). Retrieved on 19 October 2011.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

แม่แบบ:Wiktionary cat