ภาพเหมือนตนเอง (ดือเรอร์)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาพเหมือนตนเอง
ศิลปินอัลเบรชท์ ดือเรอร์
ปีค.ศ. 1500
ประเภทสีน้ำมันบนแผง
สถานที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเดิม, มิวนิก

ภาพเหมือนตนเอง หรือ ภาพเหมือนตนเองเมื่ออายุยี่สิบแปดปีสวมเสื้อคลุมปกขนสัตว์ (อังกฤษ: Self-Portrait หรือ Self Portrait at Twenty-Eight Years Old Wearing a Coat with Fur Collar[1]) เป็นภาพเขียนสีน้ำมันที่เขียนโดยอัลเบรชท์ ดือเรอร์จิตรกรคนสำคัญชาวเยอรมันของยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา ที่ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเดิม, มิวนิกในประเทศเยอรมนี

“ภาพเหมือนตนเอง” ที่เขียนโดยอัลเบรชท์ ดือเรอร์ในปี ค.ศ. 1500 เป็นภาพที่เขียนบนแผงไม้ที่ถือกันโดยทั่วไปว่าเป็นงานจิตรกรรมภาพเหมือนตนเองชิ้นที่เด่นที่สุดชิ้นหนึ่ง

การมองตรงมายังผู้ชมภาพโดยตรงทำให้เป็นภาพเขียนที่มีลักษณะไม่เหมือนภาพเหมือนตนเองที่เขียนกันมาก่อน ลักษณะของภาพเป็นภาพครึ่งตัวท่อนบน หน้าตรง และมีความสมมาตรสูง ฉากหลังที่ขาดหายไปทำให้ปราศจากขาดนัยยะถึงสถานที่และเวลา การวางคำจารึกในบริเวณที่มืดของภาพสองด้านของตัวแบบทำให้ดูเหมือนว่าเป็นคำจารึกที่ลอยตัว ซึ่งเป็นการเน้นจุดประสงค์ในการเป็นสัญลักษณ์ของภาพยิ่งขึ้นไปอีก

ในภาพนี้ดือเรอร์แสดงตนเองอย่างสง่าเป็นทางการซึ่งเป็นการวางท่าที่เดิมใช้ในการวาดภาพพระเยซูเท่านั้น—นัยยะที่ทำให้เกิดการถกเถียงกันในหมู่นักวิพากษ์ศิลป์หัวโบราณก็จะกล่าวว่าการเขียนของดือเรอร์เป็นการตอบสนองธรรมเนียมการเขียนที่เรียกว่าเขียนลักษณะ “เลียนแบบพระเยซู” (Imitation of Christ) ส่วนผู้อื่นที่มีทัศนะที่สร้างความขัดแย้งมากกว่าก็จะตีความหมายว่าเป็นการประกาศความเป็นตัวของตัวเองหรือของความเป็นดือเรอร์ และ ความสำคัญในการเป็น “ผู้สร้าง[งานศิลปะ]” (creator (Creator = God)) ความหมายหลังนี้สนับสนุนโดยคำจารึกเป็นภาษาลาตินบนภาพที่แปลว่า “ข้าพเจ้าอัลเบรชท์ ดือเรอร์แห่งเนิร์นแบร์กแสดงตัวของข้าพเจ้าในภาพเขียนเมื่ออายุได้ยี่สิบแปดปี”

ในช่วงอายุที่วัดกันในยุคกลาง อายุยี่สิบแปดปีเป็นอายุที่เปลี่ยนจากความเยาว์วัยไปเป็นผู้ที่มีความอาวุโสหรือโตเป็นผู้ใหญ่[2] ภาพเหมือนจึงเท่ากับเป็นการฉลองโอกาสที่ดือเรอร์ย่างเข้าสู่ช่วงใหม่ของชีวิตการเป็นศิลปิน และการย่างเข้าสู่ทศวรรษใหม่คือปี ค.ศ. 1500 ที่ปรากฏทางซ้ายของภาพในบริเวณที่เป็นสีมืด นอกจากนั้นแล้วการวางปีคริสต์ศักราชเหนืออักษรย่อของชื่อของตนเองว่า “A.D.” ก็ยังเป็นการให้ความหมายใหม่แก่ “A.D.” ที่ตามปกติแล้วเป็นอักษรย่อของของคำว่า “Anno Domini” หรือ “คริสต์ศักราช” ภาพนี้อาจจะเขียนเนื่องในโอกาสการฉลองโอกาสเซคิวลัม (Saeculum) ของกลุ่มนักมนุษยนิยมของคอนราด เคลทิส[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. Shiner, 41
  2. Koerner, 65
  3. Koerner, 39
  • Koerner, Joseph Leo. The moment of self-portraiture in German Renaissance art. University of Chicago Press, 1996. ISBN 0-226-44999-8
  • Shiner, Larry. The Invention of Art: A Cultural History. Chicago: Chicago University Press, 2003. ISBN 0-226-75343-3

ดูเพิ่ม[แก้]