ภาพเหมือนของสมเด็จพระเจ้าเฮนรีที่ 8

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาพเหมือนของสมเด็จพระเจ้าเฮนรีที่ 8
(ก็อปปีจากต้นฉบับ)
ศิลปินฮันส์ โฮลไบน์ (ผู้ลูก)
ปีค.ศ. 1536 หรือ ค.ศ. 1537
สถานที่หอศิลป์วอล์คเคอร์, ลิเวอร์พูล

ภาพเหมือนของสมเด็จพระเจ้าเฮนรีที่ 8 (อังกฤษ: Portrait of Henry VIII) เป็นภาพเหมือนของสมเด็จพระเจ้าเฮนรีที่ 8 แห่งอังกฤษ (ค.ศ. 1698) ที่เขียนโดยฮันส์ โฮลไบน์ (ผู้ลูก) ผู้เป็นจิตรกรคนสำคัญชาวเยอรมันของสมัยบาโรก แม้ว่าจะเป็นภาพที่สูญเสียไปแต่ก็ยังถือว่าเป็นงานชิ้นสำคัญจากงานที่ก็อปปีจากงานต้นฉบับ ภาพเหมือนภาพนี้เป็นภาพ "ไอคอน" ที่มีชื่อเสียงที่สุดภาพหนึ่งในบรรดาภาพเขียนของพระมหากษัตริย์อังกฤษที่เดิมวาดเป็นจิตรกรรมฝาผนังภายในพระราชวังไวท์ฮอลล์ในกรุงลอนดอนใน ค.ศ. 1536 หรือ ค.ศ. 1537 ภาพต้นฉบับถูกทำลายในเพลิงไหม้ที่พระราชวังไวท์ฮอลล์ใน ค.ศ. 1698

ภาพเขียน[แก้]

โฮลไบน์เดิมมาจากเยอรมนี และมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นจิตรกรประจำราชสำนักอังกฤษในปี ค.ศ. 1536 ภาพเหมือนเขียนขึ้นเพื่อใช้ตกแต่งห้องส่วนพระองค์ภายในพระราชวังไวท์ฮอลล์ที่สมเด็จพระเจ้าเฮนรีทรงได้มาใหม่ พระองค์ทรงใช้เงินเป็นจำนวนมากในการตกแต่งพระราชวังที่มีเนื้อที่ 23 เอเคอร์ที่ทรงยึดมาหลังจากการประหารชีวิตคาร์ดินัลทอมัส โวลซีย์ (Thomas Wolsey) จิตรกรรมฝาผนังเป็นภาพสี่ภาพรอบแท่นหินอ่อนที่รวมทั้งภาพของสมเด็จพระเจ้าเฮนรีเอง พระอัครมเหสีเจน ซีมัวร์ พระราชบิดาสมเด็จพระเจ้าเฮนรีที่ 7 และพระราชมารดาเอลิซาเบธแห่งยอร์ค พระองค์ทรงจ้างให้โฮลไบน์เขียนภาพในช่วงระยะเวลาอันสั้นระหว่างที่ทรงเสกสมรสกับเจน ซีมัวร์ที่คงราวระหว่างปี ค.ศ. 1536 ถึงปี ค.ศ. 1537

ภาพเหมือนของพระเจ้าเฮนรีเป็นภาพเหมือนที่เป็นเอกลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ยุโรปในยุ่คนั้น พระองค์ทรงวางท่าให้เขียนโดยปราศจากเครื่องยศศักดิ์ต่างๆ เช่นพระขรรค์, มงกุฎ หรือ คทาในการแสดงความเป็นพระมหากษัตริย์เช่นที่ทำกันตามปกติ เพียงแต่ทรงวางพระองค์อย่างแสดงความสง่าและความมีอำนาจ พระองค์ทรงยืนด้วยพระวรกายที่สูงสง่าอย่างมีผู้มีความมั่นใจในตนเอง พระเนตรทอดตรงมายังผู้ดูภาพ พระชงฆ์กาง และพระกรอยู่ข้างพระองค์ในท่าที่ท้าทาย พระหัตถ์ข้างหนึ่งถือถุงพระหัตถ์ อีกข้างอยู่เหนือกริชที่ห้อยอยู่จากบั้นพระองค์ เครื่องแต่งและฉากรอบพระองค์จัดอย่างหรูหราวิจิตร ภาพต้นฉบับใช้ทองคำเปลวในการตกแต่งเพื่อเน้นความหรูหรา สิ่งที่น่าสนใจคือรายละเอียดของการปักด้ายดำ (Blackwork Embroidery) พระเจ้าเฮนรีทรงเครื่องเพชรพลอยต่างๆ ที่รวมทั้งพระธำมรงค์ขนาดใหญ่หลายวง และสร้อยพระศอสองสาย ถุงคลุมของสงวน (codpiece) ชิ้นใหญ่และเครื่องหนุนพระพาหายิ่งช่วยในการส่งเสริมความเป็นชายผู้มีอำนาจของพระองค์มากขึ้น

ภาพเขียนนี้มักจะได้รับคำบรรยายว่าเป็นภาพเขียนที่มีจุดประสงค์ในการ “โฆษณาชวนเชื่อ” ที่เขียนขึ้นเพื่อเป็นการประกาศแสดงความมีพระราชอำนาจของพระองค์ เป็นภาพที่จิตรกรจงใจเขียนให้ยิ่งทรงดูมีความสง่าและความมีอำนาจ เมื่อเปรียบเทียบภาพนี้กับฉลองพระองค์ที่เป็นเกราะที่ยังคงมีอยู่ทำให้ทราบว่ามีพระวรกายเตี้ยกว่าที่ปรากฏในภาพ นอกจากนั้นก็ยังเป็นภาพที่แสดงว่ามีพระสุขภาพพลานามัยดี ซึ่งอันที่จริงแล้วในขณะนั้นพระเจ้าเฮนรีมีพระชนมายุสี่สิบพรรษากว่าๆ และทรงได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุอย่างหนักในต้นปีเดียวกัน และมีพระพระสุขภาพพลานามัยที่ไม่ค่อยดีนัก ที่มีผลต่อพระองค์เมื่อมีพระชนมายุสูงขึ้นต่อมา[1]

สมเด็จพระเจ้าเฮนรีทรงมีความเข้าพระทัยในภาพที่โฮลไบน์สร้างขึ้นและทรงสนับสนุนให้จิตรกรอื่นลอกเลียนงานเขียนเพื่อแจกจ่ายไปทั่วราชอาณาจักรสำหรับเป็นของขวัญที่พระราชทานให้กับพระสหาย หรือ ราชทูต ขุนนางสำคัญๆ ก็จ้างให้เขียนภาพเหมือนของตนเองเพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดีต่อพระองค์ การที่งานชิ้นนี้ได้รับการก็อปปีเป็นจำนวนมากทำให้กลายมาเป็นรูปสัญลักษณ์ประจำตัว หรือภาพไอคอนของพระเจ้าเฮนรีไปแม้ว่าภาพต้นฉบับจะถูกทำลายไปในเพลิงไหม้ในปี ค.ศ. 1698 ไปแล้วก็ตาม กระนั้นภาพนี้กลายเป็นภาพพจน์อันเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปของพระองค์ เช่นเมื่อชาร์ลส์ ลาฟตันนำมาใช้ในการแสดงภาพยนตร์เรื่อง “ชีวิตส่วนพระองค์ของสมเด็จพระเจ้าเฮนรีที่ 8” เมื่อตัวละครวางท่าและเดินท่าทางเดียวกับที่ปรากฏในภาพของโฮลไบน์[2] คำนำในบทละคร “เฮนรีที่ 8” โดยเชคสเปียร์บรรยาพระองค์ว่า “a fellow / In a long motley coat guarded with yellow” ซึ่งก็คงเป็นคำบรรยายที่มาจากภาพเหมือนของพระองค์ที่โฮลไบน์เขียน[3]

ภาพเขียนที่ยังคงอยู่[แก้]

ภาพร่างที่โฮลไบน์เขียนเตรียมไว้เพื่อการเขียนภาพเหมือนยังคงมีอยู่ให้เห็นที่หอศิลป์ภาพเหมือนแห่งชาติ, ลอนดอน ภาพร่างแตกต่างจากภาพที่เขียนจริงเล็กน้อย ที่เห็นได้ชัดคือการยืนที่เป็นท่าสามในสี่เช่นแบบของการยืนที่ทำกันมาแทนที่จะเป็นท่าที่ดูท้าทายเช่นในเวอร์ชันสุดท้าย นอกจากนั้นก็ยังมีภาพเหมือนครึ่งพระองค์ขนาดเล็กกว่าอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ธิสเซน-บอร์เนมิสซาในกรุงมาดริด ภาพนี้ที่เป็นภาพเขียนภาพเดียวของสมเด็จพระเจ้าเฮนรีโดยโฮลไบน์ก็อาจจะเป็นงานเขียนร่างที่เตรียมสำหรับการเขียนจริง ในภาพนี้สมเด็จพระเจ้าเฮนรีทรงฉลองพระองค์เดียวกับภาพเขียนบนผนัง แต่ก็ยังทรงยืนแบบสามในสี่ ภาพนี้เดิมเป็นของตระกูลสเปนเซอร์อยู่เป็นเวลาหลายปี แต่ในที่สุดปัญหาทางการเงินก็ทำให้อัลเบิร์ต สเปนเซอร์ เอิร์ลสเปนเซอร์ที่ 7 ต้องขายงานศิลปะไปหลายชิ้น และชิ้นที่ว่านี้ก็ถูกซื้อโดยไฮน์ริค บารอนธิสเซน-บอร์เนมิสซา เดอ คาสซอน

ภาพก็อปปีอื่น ๆ ของภาพเขียนต้นฉบับระบุว่าเป็นงานเขียนโดยจิตรกรผู้อื่น แต่ส่วนใหญ่ไม่ทราบชื่อว่าเป็นผู้ใด คุณภาพของงานลอกก็แตกต่างกันเป็นอันมาก งานส่วนใหญ่เขียนแต่รูปของพระองค์ แต่ก็มีอยู่ชิ้นหนึ่งที่ลอกโดยริมิเจีย ฟาน ลีมพุทใน ค.ศ. 1667 ที่ก็อปปีทั้งภาพที่ในปัจจุบันอยู่ที่พระราชวังแฮมพ์ตันคอร์ท[4] ก็อปปีที่มีคุณภาพดีที่สุดและเป็นที่รู้จักกันดีที่สุดเป็นของหอศิลป์วอล์คเคอร์ ที่อาจจะเป็นภาพที่ว่าจ้างโดยเอ็ดเวิร์ด ซีมัวร์[5]


ภาพ ปีเขียน หมายเหตุ ที่ตั้ง
หอศิลป์แห่งออนแทรีโอ
ปราสาทเบลวัวร์
ค.ศ. 1542 ปราสาทฮาวเวิร์ด
โดย ฮันส์ อีเวิร์ธอาจจะได้รับการจ้างโดยวิลเลียม คาเวนดิช คฤหาสน์แชทเวิร์ธ
ค.ศ. 1667 เรมิเจียส ฟาน ลีมพุทจิตรกรรมฝาผนังเต็มตัวชิ้นเดียวที่ยังหลงเหลืออยู่ พระราชวังแฮมพ์ตันคอร์ท
พระราชวังโฮลีรูด
พิพิธภัณฑ์ทางทะเลแห่งชาติ
พิพิธภัณฑ์แห่งชาติแห่งโรม
งานร่างโดยโฮลไบน์ หอศิลป์ภาพเหมือนแห่งชาติ, ลอนดอน
หอศิลป์ภาพเหมือนแห่งชาติ, ลอนดอน
หอศิลป์ภาพเหมือนแห่งชาติ, ลอนดอน
หอศิลป์ภาพเหมือนแห่งชาติ, ลอนดอน
หอศิลป์ภาพเหมือนแห่งชาติ, ลอนดอน
นิวคอลเลจ, ออกซฟอร์ด
คฤหาสน์พาแรม
จากกาลานุกรมต้นไม้สันนิษฐานว่าใส่กรอบหลัง ค.ศ. 1525 สร้างโดยห้องเขียนภาพของโฮลไบน์ คฤหาสน์เพ็ทเวิร์ธ
ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งลอนดอน
อุทิศในปี ค.ศ. 1737 โรงพยาบาลเซนต์บาร์โทเลมิว
ราว ค.ศ. 1534-1536 งานร่างโดยโฮลไบน์ Thyssen-Bornemisza Museum
ทรินิที คอลเลจ, มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์
จากการวัดกาลานุกรมต้นไม้กรอบสันนิษฐานว่าเป็นกรอบที่สร้างขึ้นหลัง ค.ศ. 1530 หอศิลป์วอล์คเคอร์
ค.ศ. 1535-1544 งานสะสมศิลปะหลวงของพระราชวงศ์อังกฤษ, พระราชวังวินด์เซอร์
ราว ค.ศ. 1538-47? งานสะสมศิลปะหลวงของพระราชวงศ์อังกฤษ, พระราชวังวินด์เซอร์
ค.ศ. 1550-1650 งานสะสมศิลปะหลวงของพระราชวงศ์อังกฤษ, พระราชวังวินด์เซอร์
ค.ศ. 1550-1599 งานสะสมศิลปะหลวงของพระราชวงศ์อังกฤษ, พระราชวังวินด์เซอร์

[6]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]