ภาพเหมือนของมาดามเอ็กซ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาพเหมือนของมาดามเอ็กซ์
ศิลปินจอห์น ซิงเกอร์ ซาร์เจนท์
ปีค.ศ. 1884
ประเภทจิตรกรรมสีน้ำมันผ้าใบ
สถานที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน, นครนิวยอร์ก

ภาพเหมือนของมาดามเอ็กซ์ (อังกฤษ: Portrait of Madame X) เป็นภาพเหมือนที่เขียนโดยจอห์น ซิงเกอร์ ซาร์เจนท์จิตรกรชาวอเมริกัน ที่ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทันในนครนิวยอร์กในสหรัฐอเมริกา

“ภาพเหมือนของมาดามเอ็กซ์” เขียนเสร็จในปี ค.ศ. 1884 เป็นภาพเหมือนของมาดามเวอร์จินี อเมลี อเว็นโย โกโทรภรรยาของปิแยร์ โกโทร เวอร์จินีเป็นชาวอเมริกันที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในปารีสที่แต่งงานกับนายธนาคารฝรั่งเศสและกลายเป็นคนสำคัญในสังคมชั้นสูงในฝรั่งเศส ผู้มีชื่อเสียงในทางที่ไม่ซื่อตรงต่อสามี เวอร์จินีมีความภูมิใจในความงามของตัวเองและหาวิธีต่างๆ ที่ช่วยเพิ่มและรักษาความงามนั้น

“ภาพเหมือนของมาดามเอ็กซ์” ไม่ใช่ภาพที่ซาร์เจนท์ได้รับการจ้างให้เขียนแต่เป็นการขอร้องจากตัวซาร์เจนท์เอง[1] เป็นภาพของความตรงกันข้าม สตรีในภาพยืนอย่างสง่าในชุดซาตินสีดำที่มีสายคล้องบ่าเป็นอัญมณี ชุดที่ทั้งเปิดเผยแต่ก็ปิดบังในขณะเดียวกัน และความตัดกันของผิวของตัวแบบที่ขาวกับเสื้อผ้าและฉากหลังที่เป็นสีมืด

สำหรับซาร์เจนท์ข่าวลือที่น่าเสียหายหลังจากการตั้งแสดงภาพนี้เป็นครั้งแรกในงานนิทรรศการศิลปะแห่งปารีส ในปี ค.ศ. 1884 ทำให้ความหวังที่จะทำงานเป็นช่างเขียนภาพเหมือนอย่างถาวรในฝรั่งเศสต้องมาสิ้นสุดลง[2]

เบื้องหลัง[แก้]

เวอร์จินีผู้มีความเลื่องลือเรื่องความงามเป็นสัญลักษณ์ของความเป็น “ปาริเซียน” ซึ่งเป็นสตรีฝรั่งเศสแบบใหม่ที่มีความเป็นผู้ดีชั้นสูง (sophistication) นอกจากนั้นก็ในภาษาอังกฤษมีการใช้คำว่า “professional beauty” ที่แปลว่าสตรีที่ใช้ความงามในการสร้างความก้าวหน้าทางฐานะให้แก่ตนเองในสังคมชั้นสูงในการบรรยายลักษณะของเวอร์จินี[3] ความงามอันเป็นที่เลื่องลือทำให้เวอร์จินีกลายเป็นสิ่งที่สร้างความดึงดูดใจให้กับจิตรกรหลายคน จิตรกรอเมริกัน[Edward Simmons (painter)|เอ็ดเวิร์ด ซิมมอนส์]]อ้างว่าตนเอง “ไม่สามารถยับยั้งตัวเองจากการติดตามเธอเหมือนคนติดตามกวาง”[4] ซาร์เจนท์เองก็มีความประทับใจและคาดการณ์ว่าภาพเขียนของเวอร์จินีจะสร้างความตื่นเต้นให้แก่การแสดงนิทรรศการที่จะมาถึง และจะเป็นการเผยแพร่ชื่อเสียงของตนเองและเรียกลูกค้าใหม่ได้ ซาร์เจนท์เขียนจดหมายถึงเพื่อนว่า: “ผมมีความต้องการอย่างรุนแรงที่จะเขียนภาพของเธอ และมีเหตุผลพอที่จะเชื่อว่าเธอเองก็ต้องการให้ผมเขียน และกำลังรอให้ใครสักคนเสนอความคิดนี้เพื่อเป็นสรรเสริญความงามของเธอ...คุณอาจจะบอกกับเธอว่าผมเป็นผู้มีพรสวรรค์ที่จะทำดังว่า[5]

แม้ว่าจะปฏิเสธคำขอทำนองเดียวกันนี้จากจิตรกรอื่นมาแล้ว แต่เวอร์จินีตกลงตามคำของซาร์เจนท์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1883[6] ซาร์เจนท์และเวอร์จินีต่างก็เป็นชาวอเมริกันผู้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในต่างประเทศ ฉะนั้นความร่วมมือกันของทั้งสองคนจึงเป็นการตีความหมายกันไปว่าเป็นความต้องการของทั้งสองฝ่ายที่จะสร้างความก้าวหน้าให้แก่ตนเองในสังคมฝรั่งเศส[7]

การศึกษาก่อนเขียน[แก้]

ความก้าวหน้าเรื่องการเขียนภาพก็คืบไปเพียงเล็กน้อยระหว่างฤดูหนาวของปี ค.ศ. 1883 เพราะเวอร์จินียุ่งอยู่กับงานด้านสังคม และยังไม่มีความต้องการที่จะนั่งนิ่งเป็นแบบให้เขียนภาพ เวอร์จินีเสนอให้ซาร์เจนท์เดินทางไปเยี่ยมที่คฤหาสน์ในบริตานีในเดือนมิถุนายน ที่ซาร์เจนท์ทำการเตรียมงานเขียนโดยการร่างภาพด้วยดินสอ, สีน้ำ และสีน้ำมัน[8] ซาร์เจนท์ได้ภาพสำหรับเตรียมเขียนมาราวสามสิบภาพ เช่นภาพร่างสีน้ำมัน “มาดามโกโทรดื่ม” (พิพิธภัณฑ์อิซาเบลลา สจวต การ์ดเนอร์) เป็นภาพด้านข้างเปลือยไหล่ชูแก้วเหล้าบนฉากหลังที่มืด แต่เป็นภาพที่ใช้ฝีแปรงที่หยาบและเป็นภาพที่ไม่เป็นทางการ

แม้ในบ้านที่ชนบทก็เช่นเดียวกับในปารีสเวอร์จินีก็ยังคงมีภารกิจเกี่ยวกับกิจการในสังคม นอกไปจากการที่จะต้องดูแลลูกสาวอายุสี่ขวบ, มารดา, แขกของบ้าน และผู้ทำงานในบ้าน ซาร์เจนท์บ่นถึง “ความงามอันเขียนไม่ได้และความเกียจคร้านอันพรรณาได้ยากของมาดามโกโทร”[9]

การเขียนภาพ[แก้]

ภาพนี้ก็เช่นเดียวกับภาพ “ลูกสาวของเอ็ดเวิร์ด ดาร์ลีย์ บอยท์” และ “นักเต้นรำสเปน” (El Jaleo) ที่แสดงในงานนิทรรศการในปีก่อนหน้านั้น ซาร์เจนท์เลือกผ้าใบผืนใหญ่ที่จงใจจะให้เตะตาผู้เข้าชมนิทรรศการอย่างแน่นอน การวางท่าเป็นท่าที่ต่างไปจากภาพร่างที่วาดเตรียมไว้ก่อหน้านั้น ร่างของเวอร์จินียืนหันมาทางซาร์เจนท์แต่ใบหน้าหันไปทางอื่น แขนขวาเท้าโต๊ะเล็กน้อยเพื่อรับน้ำหนัก การวางท่าเป็นการเน้นรูปทรงอันงดงามของผู้เป็นแบบ[10] ส่วนเขียนผิวที่ขาวผิดธรรมชาติซาร์เจนท์ใช้สีขาวตะกั่ว, rose madder, แดงชาด, เขียวอมน้ำเงิน (viridian) และสีดำกระดูกในการเขียน[11]

แม้ว่าจะตกลงกันได้แล้วในการวางท่าและงานเขียนที่เริ่มขึ้นไปแล้ว แต่ความคืบหน้าของการเขียนก็เป็นไปอย่างเชื่องช้า เมื่อมาถึงฤดูใบไม้ร่วงซาร์เจนท์จึงมีความรู้สึกว่าเขียนเสร็จ[12]

เนื้อหาของภาพ[แก้]

ซาร์เจนท์ภายในห้องเขียนภาพที่ปารีส ราว ค.ศ. 1885

“ภาพเหมือนของมาดามเอ็กซ์” เป็นภาพที่แสดงแสดงความเด่นของบริเวณผิวที่ขาวจัด — ตั้งแต่หน้าผากเรื่อยลงมาถึงคอระหง, ไหล่ และแขน แม้ว่าเครื่องแต่งกายจะดูท้าทายแต่ก็เป็นสีดำและดูลึกลับ สีรอบตัวเป็นสีน้ำตาลที่สว่างพอที่จะช่วยขับสีผิวให้เรืองรองขึ้น แต่สิ่งที่เด่นในภาพนี้คือความขาวของผิว ที่เรียกได้ว่าเป็นสี “ขาวผู้ดี” (aristocratic pallor) แต่หูสีออกแดงเป็นเครื่องเตือนให้เห็นสีผิวส่วนที่ไม่ได้ทำให้ขาวผ่อง[13]

ซาร์เจนท์เลือกการวางท่าอย่างพิถีพิถัน ร่างทั้งร่างหันมาทางผู้ดูแต่ใบหน้าหันไปทางด้านข้าง ซึ่งทั้งแสดงความมั่นใจในตนเองในขณะเดียวกับที่กึ่งซ่อนเร้น ใบหน้าอีกครึ่งหนึ่งซ่อนอยู่แต่ส่วนที่เห็นก็เป็นใบหน้าที่ดูเหมือนจะให้ความหมายมากกว่าการที่จะเขียนทั้งใบหน้า

โต๊ะทางซ้ายของภาพเป็นที่อิงรับ และช่วยเน้นความโค้งเว้าของร่างกาย ในสมัยนั้นการว่าท่าเช่นว่าถือว่าเป็นการท้าทายทางเพศ ภาพเดิมที่เขียนสายคาดไหล่ข้างหนึ่งหลุดลงมาจากบ่าขวาที่เป็นท่าทางอันเป็นนัยยะของความเป็นไปได้ถึงสิ่งที่จะตามมา; นักวิพากษ์ของ Le Figaro กล่าวว่า “ถ้าไหวตัวอีกนิด สตรีผู้เป็นแบบก็คงจะเป็นอิสระ” (อาจจะเป็นได้ว่านักวิพากษ์ไม่ทราบว่าชุดที่สวมเป็นผ้าที่เย็บบนโครงที่ทำด้วยกระดูกวาฬ และไม่มีทางที่จะหลุดจากร่าง สายคาดไหล่เป็นแต่เพียงเครื่องตกแต่งเท่านั้น)

ภาพที่ยั่วยวนอารมณ์เป็นเชิงภาพของชนชั้นสูงที่มีผิวขาวนวลผิดธรรมชาติ เอวกิ่ว ความโค้งเว้าที่เห็นได้ชัดแจ้ง และการเน้นรูปร่างลักษณะที่ถือกันว่าเป็นลักษณะของผู้เป็นชนชั้นสูงที่มีนัยยะของความเป็นสตรีแต่อยู่ภายใต้การควบคุมของผู้เป็นแบบ แทนที่จะปล่อยให้ผู้ดูชื่นชมด้วยความพึงพอใจโดยไม่มีขอบเขต[14]

ที่มาของท่าอาจจะมาจากการวางท่าแบบคลาสสิก เช่นในจิตรกรรมฝาผนังโดยฟรานเชสโค เดอ รอซซิที่กล่าวกันว่าอาจจะเป็นที่มาของการวางท่านี้[15] นอกจากนั้นภาพในภาพเองก็มีนัยยะอื่นถึงคลาสสิก: บนขาโต๊ะแต่งด้วยไซเรนส์จากตำนานเทพกรีก และมงกุฎพระจันทร์เสี้ยวที่เวอร์จินีสวมที่เป็นนัยยะถึงเทพีไดแอนนา ซึ่งไม่ใช่ความคิดของซาร์เจนท์ แต่เป็นการแสดงตนเองของเวอร์จินี[16]

ปฏิกิริยา[แก้]

อันโทนิโอ เดอ ลา กันดารา, “มาดามปิแยร์ โกโทร”, ค.ศ. 1898

ขณะที่งานอยู่ในระหว่างการเขียนเวอร์จินีก็มีความรู้สึกตื่นเต้น เพราะเชื่อว่าซาร์เจนท์กำลังเขียนงานชิ้นเอก[17] เมื่อภาพเขียนตั้งแสดงเป็นครั้งแรกที่งานนิทรรศการศิลปะแห่งปารีส ในปี ค.ศ. 1884 ภายใต้ชื่อ “ภาพเหมือนของมาดาม ***” ผู้เข้าชมต่างก็ตกตลึงไปตามๆ กันและกลายเป็นภาพที่สร้างความอื้อฉาว ความพยายามที่จะไม่เปิดเผยชื่อของผู้เป็นแบบก็ล้มเหลว มารดาของเวอร์จินีขอร้องให้ซาร์เจนท์ดึงภาพออกจากงานแสดง ซาร์เจนท์ปฏิเสธโดยกล่าวว่าตนได้เขียนภาพ “ตรงตามที่[เวอร์จินี]แต่งตัว และสิ่งที่พูดถึงกันมิได้เลวไปกว่าสิ่งที่ปรากฏบนผืนผ้าใบ”[18] ต่อมาซาร์เจนท์ก็เขียนแก้สายคาดใหล่ที่หลุดลงมาใหม่ให้อยู่บนใหล่อย่างแน่นหนา และเปลี่ยนชื่อภาพเขียนเป็น “ภาพเหมือนของมาดามเอ็กซ์”— ชื่อที่ทำให้ภาพเป็นภาพที่แสดงความกล้า, ความเป็นนาฏกรรม แต่ขณะเดียวกันก็มีเสน่ห์และมนตร์ขลัง นอกจากนั้นการไม่ระบุว่าเป็นผู้ใดก็ทำให้เป็นภาพที่ปราศจากการเจาะจงที่เป็นนัยยะของลักษณะของสตรีลักษณะหนึ่งโดยทั่วไป (woman archetype)

ทั้งซาร์เจนท์และเวอร์จินีต่างก็ผิดหวังในปฏิกิริยาที่ได้รับจากนักวิพากษ์และผู้ชม เวอร์จินีได้รับความอับอายขายหน้า ส่วนซาร์เจนท์ไม่นานก็ย้ายไปตั้งถิ่นฐานในลอนดอนเป็นการถาวร

ผลสะท้อน[แก้]

ซาร์เจนท์แขวน “ภาพเหมือนของมาดามเอ็กซ์” ภายในห้องเขียนภาพในปารีส ต่อมาก็ในห้องเขียนภาพในลอนดอน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1905 ซาร์เจนท์ก็นำภาพออกแสดงในนิทรรศการนานาชาติหลายครั้ง ในปี ค.ศ. 1916 ซาร์เจนท์ขายภาพให้แก่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทันและเขียนถึงผู้อำนวยการว่า “ผมคิดว่าภาพนี้เป็นสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่ผมทำมา”[19][20] ภาพที่สองเป็นภาพที่เขียนไม่เสร็จในท่าเดียวกัน ที่ปัจจุบันเป็นของหอศิลป์เทท[21]

เจ็ดปีหลังจากที่ซาร์เจนท์เขียน “ภาพเหมือนของมาดามเอ็กซ์” กุสตาฟ คูร์ทัวส์ก็เขียนภาพมาดามโกโทร ภาพนี้ก็เป็นภาพที่แสดงด้านข้างเช่นกันและใส่เสื้อผ้าแบบเดียวกัน โดยภาพของคูร์ทัวส์เปิดเผยมากกว่า สายคาดไหล่ตกจากไหล่เช่นเดียวกับในภาพเขียนของซาร์เจนท์ แต่ครั้งนี้ภาพกลับได้รับการชื่นชมจากมหาชน ต่อมาในปี ค.ศ. 1897 เวอร์จินีก็เป็นแบบให้อันโทนิโอ เดอ ลา กันดารา ซึ่งเป็นภาพที่เวอร์จินีชื่นชอบที่สุด[22]

อ้างอิง[แก้]

  1. Kilmurray, Elizabeth, Ormond, Richard. "John Singer Sargent", page 101. Tate Gallery Publishing Ltd, 1999. ISBN 0-87846-473-5
  2. Ormond, 1999. Page 28.
  3. Prettejohn, Elizabeth. "Interpreting Sargent", page 25. Stewart, Tabori & Chang, 1998.
  4. Davis, Deborah. "Sargent's Women", page 14. Adelson Galleries, Inc., 2003. ISBN 0-9741621-0-8
  5. Olson, p. 102
  6. Davis, pages 14-5.
  7. Prettejohn, page 26.
  8. Davis, page 16.
  9. Davis, pages 16-7.
  10. Davis, page 17.
  11. Davis, page 17.
  12. Davis, page 20.
  13. Prettejohn, page 26.
  14. Prettejohn, page 26.
  15. Specifically his Bathsheba Goes to King David, Palazzo Sacchetti, Rome. Kilmurray, 1999. Page 101.
  16. Kilmurray, 1999. Page 101.
  17. Davis, page 18.
  18. Ormond, R., & Kilmurray, E.: "John Singer Sargent: The Early Portraits", page 114. Yale University Press, 1998
  19. Prettejohn, page 27.
  20. Kilmurray, 1999. Page 102.
  21. Kilmurray, 1999. Page 102.
  22. Davis, page 20.

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]