ภาพชุดพระราชินีมารี เดอ เมดีซิส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ภาพชุดพระราชินีมารี เดอ เมดีซิส
ศิลปินเปเตอร์ เปาล์ รือเบินส์
ปีค.ศ. 1621 - ค.ศ. 1630
ประเภทจิตรกรรมสีน้ำมันบนไม้
สถานที่พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์, ปารีส

ภาพชุดพระราชินีมารี เดอ เมดีซิส (อังกฤษ: Marie de' Medici cycle) เป็นภาพเขียนชุดจำนวนยี่สิบสี่ภาพที่เขียนโดยเปเตอร์ เปาล์ รือเบินส์ จิตรกรคนสำคัญของสมัยบาโรกแบบเฟลมิช ที่ว่าจ้างโดยพระราชินีมารี เดอ เมดีซิส พระอัครมเหสีในพระเจ้าอ็องรีที่ 4 แห่งฝรั่งเศส สำหรับตั้งแสดงที่พระราชวังลุกซ็องบูร์ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส รือเบินส์ได้รับการจ้างในฤดูใบไม้ร่วงปี ค.ศ. 1621 หลังจากที่มีการเจรจาต่อรองเกี่ยวกับรายละเอียดต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับข้อตกลงภายในสัญญาเมื่อต้นปี ค.ศ. 1622 แล้ว สัญญาก็ระบุว่าโครงการเขียนภาพจะต้องเสร็จภายในสองปีเพื่อให้ทันเวลากับการเสกสมรสของพระราชธิดาเจ้าหญิงเฮนเรียตตา มาเรียกับพระเจ้าชาลส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ ภาพเขียนยี่สิบเอ็ดภาพเป็นภาพการต่อสู้และการได้รับชัยชนะต่าง ๆ ในชีวิตของพระราชินีมารี เดอ เมดีซิส อีกสามภาพเป็นภาพเหมือนของพระองค์เองและพระราชบิดามารดา[1]

สัญญาการเขียนภาพ[แก้]

รายละเอียดของสาเหตุในการตัดสินใจว่าจ้างรือเบินส์ของพระราชินีมารีในการเขียนโครงการจิตรกรรมอันยิ่งใหญ่ก็ยังไม่เป็นที่ตกลงกันได้[2] จอห์น คูลิดจ์ใน "รือเบินส์และการตกแต่งระเบียงภาพหลวงแห่งฝรั่งเศส" เสนอว่าภาพชุดนี้อาจจะเป็นการจ้างเพื่อแข่งกับภาพชุด "พรมแขวนผนังคอนสแตนติน" ที่มีชื่อเสียงที่รือเบินส์ออกแบบในห้องเขียนภาพของตนเองในช่วงเวลาเดียวกับที่เขียนภาพสองสามภาพแรกของ "ภาพชุดพระราชินีมารี เดอ เมดีซิส" นี้[3] นอกจากนั้นก็ยังมีผู้เสนอว่ารือเบินส์เขียนภาพร่างหลายภาพตามคำขอของพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 แห่งฝรั่งเศสพระราชโอรสของพระราชินีมารีซึ่งอาจจะมีอิทธิพลในการตัดสินใจของพระองค์ในการจ้างรือเบินส์ให้เขียนภาพชุดนี้เมื่อปลายปี ค.ศ. 1621[2] แต่เหตุผลที่สำคัญที่สุดคือพระราชประสงค์ของพระราชินีมารีในการสร้างความเป็นอมตะให้แก่พระองค์เอง ซึ่งผู้ที่จะรับงานขนาดใหญ่เช่นนี้ได้ก็เห็นจะมีแต่เปเตอร์ เปาล์ รือเบินส์ผู้ซึ่งขณะนั้นก็เริ่มจะเป็นช่างเขียนผู้มีชื่อเสียงแล้ว และมีความสัมพันธ์ของรือเบินส์ที่ใกล้ชิดกับบุคคลสำคัญหลายคนในยุโรปในยุคนั้น ที่รวมทั้งพระขนิษฐาของพระราชินีมารี เดอ เมดีซิสเอง (ภรรยาของดยุกแห่งกอนซากา) ผู้ที่เป็นผู้อุปถัมภ์คนสำคัญคนแรกของรือเบินส์ ข้อตกลงของสัญญาไม่มีรายละเอียดเท่าใดนักนอกจากจะระบุให้เป็นภาพเขียนที่เกี่ยวกับชีวประวัติของพระองค์ และยิ่งแทบไม่มีรายละเอียดแต่อย่างใดเมื่อกล่าวถึงภาพเขียนชุดต่อมาที่ตั้งใจจะให้เป็นภาพชุดสรรเสริญพระสวามี--พระเจ้าอ็องรีที่ 4 [4] สัญญาระบุว่ารือเบินส์ต้องเป็นผู้เขียนตัวแบบทุกตัวในภาพด้วยตนเอง ซึ่งเท่ากับสรุปได้ว่ารือเบินส์อาจจะสามารถจ้างให้ผู้ช่วยเป็นผู้เขียนฉากหลังและรายละเอียดอื่น ๆ ได้[5]

พระราชินีมารี เดอ เมดีซิส[แก้]

ภาพเหมือนของพระราชินีมารี เดอ เมดีซิส เมื่อยังทรงพระเยาว์โดยจิตรกรของสำนักเซนต์ทิโท
ภาพเหมือนของพระราชินีมารี เดอ เมดีซิส โดยรือเบินส์ ราว ค.ศ. 1622-ค.ศ. 1625 (พิพิธภัณฑ์ปราโด สเปน)

พระราชินีมารี เดอ เมดีซิสเป็นพระอัครมเหสีองค์ที่สองในพระเจ้าอ็องรีที่ 4 โดยการเสกสมรสโดยฉันทะที่ฟลอเรนซ์ในอิตาลีเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ค.ศ. 1600 โดยการอนุมัติของพระปิตุลาของมารี--แฟร์ดีนันโดที่ 1 เด เมดีชี แกรนด์ดุ๊กแห่งทัสกานี[6] เมื่อพระเจ้าอ็องรีพระสวามีทรงถูกลอบปลงพระชนม์ใน ค.ศ. 1610 เจ้าชายหลุยส์พระราชโอรสผู้ขณะนั้นมีพระชนมายุเพียงแปดพรรษาครึ่ง ก็ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระราชบิดาเป็นพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 พระราชินีมารีพระราชมารดาจึงทรงได้รับการประกาศแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามกฎหมายแซลิกในกรณีที่พระมหากษัตริย์ยังเป็นผู้เยาว์ แต่เมื่อพระเจ้าหลุยส์ทรงบรรลุนิติภาวะเมื่อมีพระชนมายุได้ 13 พรรษาแล้ว พระองค์ก็ทรงได้เป็นพระมหากษัตริย์แต่โดยนิตินัยเท่านั้น ขณะที่พระราชมารดายังมีพระราชอำนาจในการปกครองโดยพฤตินัย เพราะพระองค์ยังไม่ทรงยอมยุติการเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระราชโอรส และยังคงทรงพยายามดำเนินการปกครองแทนพระราชโอรสต่อไป แต่ในที่สุด เมื่อมีพระชนมายุครบ 15 พรรษา ใน ค.ศ. 1615 พระเจ้าหลุยส์ก็ทรงตัดสินพระทัยที่จะปกครองประเทศด้วยพระองค์เองโดยก่อการปฏิวัติยึดอำนาจคืนจากพระราชมารดา และทรงขับพระองค์ออกจากราชสำนักให้ไปประทับอยู่ที่พระราชวังบลัวในบริเวณลุ่มแม่น้ำลัวร์

พระเจ้าหลุยส์และพระราชมารดามิได้ทรงคืนดีกันจนกระทั่ง 6 ปีให้หลัง ใน ค.ศ. 1621 เมื่อพระราชินีมารีได้รับพระบรมราชานุญาตให้กลับมายังราชสำนักในปารีสได้ เมื่อเสด็จกลับมาถึงปารีสพระองค์ก็ทรงเริ่มหันไปสนพระทัยกับการต่อเติมและตกแต่งพระราชวังลุกซ็องบูร์ซึ่งเป็นงานที่ใหญ่มากเมื่อเปเตอร์ เปาล์ รือเบินส์เข้ามามีบทบาท[1] รือเบินส์ผู้ขณะนั้นเป็นจิตรกรประจำสำนักของสำนักดุ๊กแห่งมันโตวาภายใต้การปกครองของวินเชนโซที่ 1 กอนซากา ดุ๊กแห่งมันโตวา[7] รือเบินส์เคยได้เข้าเฝ้าพระราชินีมารีเป็นครั้งแรกในพระราชวโรกาสการเสกสมรสโดยฉันทะเมื่อยี่สิบปีก่อนหน้านั้นในปี ค.ศ. 1600[8]

ค.ศ. 1621 พระราชินีมารีก็ทรงจ้างรือเบินส์ให้เขียนภาพสองชุด ชุดแรกเป็นภาพชุดพระราชประวัติของพระองค์เอง และชุดที่สองเป็นของพระราชสวามีที่เสด็จสวรรคตไปก่อนหน้านั้นแล้ว เพื่อใช้ในการตกแต่งชั้นแรกของพระราชวังลุกซ็องบูร์[1] ภาพชุดประกอบด้วยจิตรกรรมสีน้ำมันบนผ้าใบ 21 ภาพที่เป็นภาพพระราชประวัติของพระราชินีมารีเองส่วนใหญ่เป็นรูปแบบการใช้อุปมานิทัศน์ ภาพชุดนี้เขียนเสร็จในปลาย ค.ศ. 1624 เพื่อให้ทันกับพระราชวโรกาสการเสกสมรสของพระราชธิดาเจ้าหญิงเฮนเรียตตา มาเรียกับพระเจ้าชาลส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ค.ศ. 1625[9] ภาพชุดที่สองที่ตั้งใจจะให้เป็นภาพพระราชประวัติของพระราชสวามี--พระเจ้าอ็องรีที่ 4--ไม่ได้รับการเขียนให้สำเร็จ จึงมีแต่ภาพร่างเท่านั้นที่ยังเหลืออยู่[9] (ดู "ภาพชุดพระเจ้าอ็องรี" ข้างล่าง) สาเหตุที่ชุดที่สองเขียนไม่เสร็จก็คงอาจจะเป็นเพราะพระราชินีมารีทรงถูกห้ามไม่ให้เข้าราชสำนักฝรั่งเศสเป็นการถาวรโดยพระราชโอรสใน ค.ศ. 1631 ซึ่งทำให้ต้องทรงหนีไปประทับอยู่ที่บรัสเซลส์ และในที่สุดก็ไปเสด็จสิ้นพระชนม์ขณะที่ประทับลี้ภัยอยู่ที่นั่นใน ค.ศ. 1642 ในบ้านเดียวกับที่ครอบครัวรือเบินส์เป็นเจ้าของเมื่อห้าสิบปีก่อนหน้านั้น[10]

ขณะที่ "ภาพชุดพระราชินีมารี เดอ เมดีซิส" เป็นงานจิตรกรรมสำคัญชุดแรกที่รือเบินส์ได้รับจ้างให้เขียน การเขียนภาพยี่สิบเอ็ดภาพที่เกี่ยวกับชีวิตของสตรีที่เหตุการณ์และรายละเอียดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตขึ้นอยู่กับพระสวามีพระเจ้าอ็องรีที่ 4 และการให้กำเนิดพระราชโอรสธิดาหกพระองค์ (พระองค์หนึ่งสิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์) ไม่ใช่หัวข้อที่เขียนได้ง่ายนัก[11] นอกจากนั้นในช่วงเวลานั้นสตรีมักจะไม่ได้รับการสรรเสริญมากเท่าใดนัก แต่กระนั้นรือเบินส์ก็เป็นผู้มีคุณสมบัติที่เหมาะสมที่สุดในการที่จะรับงานเช่นนั้น และเป็นผู้มีความนับถือ "คุณธรรมของเพศตรงข้าม" เช่นที่เห็นในงานเขียนภาพเหมือนของอาร์ชดัชเชสอิซาเบลลา[11] นอกจากนั้นแล้วความยิ่งใหญ่หรือความมีเนื้อหาของพระราชประวัติของพระราชินีมารีก็ไม่อาจจะเทียบเท่าได้กับพระราชประวัติของพระราชสวามี ตรงที่พระองค์ไม่เคยทรงมีชัยชนะในยุทธการใด หรือการเอาชนะต่อศัตรู[11] พระราชประวัติของพระองค์จะมีก็แต่เรื่องราวที่เป็นนัยเกี่ยวกับข่าวลือทางด้านความเสียหายทางการเมือง ซึ่งทำให้การเขียนภาพตามเหตุการณ์ที่เป็นจริงโดยไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างฝักฝ่ายต่าง ๆ ภายในราชสำนักเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน นอกจากการที่จะต้องคำนึงถึงความพอพระทัยของพระราชินีแล้ว รือเบินส์ก็ยังต้องพยายามเขียนภาพที่ไม่ก่อให้เกิดการไม่ยอมรับโดยสมาชิกในคณะรัฐบาลที่ปกครองฝรั่งเศสอยู่ในขณะนั้นด้วย[12] แต่แทนที่จะเป็นงานที่ล้มเหลวเพราะอุปสรรคต่าง ๆ ดังกล่าว รือเบินส์กลับแสดงให้เห็นถึงความรู้อันลึกซึ้งในวรรณคดีคลาสสิกและธรรมเนียมของการสร้างงานของศิลปิน[13] โดยการใช้สัญลักษณ์ของอุปมานิทัศน์ ทั้งในการสรรเสริญเหตุการณ์ที่ตามปกติแล้วก็เป็นเพียงเหตุการณ์ธรรมดา และในการแปลงภาพเหตุการณ์ที่ไม่ไคร่ดีนักในชีวิตของพระองค์ให้ดูเลิศลอยขึ้น ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 16 ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 17 ผู้มีการศึกษาจะมีความเข้าใจในการใช้สัญลักษณ์ทางคริสต์ศาสนาและสัญลักษณ์ของกรีกและโรมันในงานศิลปะ[14] รือเบินส์จึงใช้พื้นฐานดังว่านี้ในการแฝงความหมายต่าง ๆ ที่ทำให้กลายเป็นภาพชุดอันเลิศเลอของพระราชินีที่ล้อมรอบไปด้วยเทพเจ้ากรีกและเทพเจ้าโรมัน และบางครั้งก็ถึงกับยกพระองค์ขึ้นเป็นเทพ ความกำกวมของภาพเป็นสิ่งที่จำเป็นในการสร้างภาพที่สรรเสริญพระองค์[15] และสร้างความหมายที่เป็นนัยที่ช่วยเลี่ยงความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นได้

"ภาพชุดพระราชินีมารี เดอ เมดีซิส" ของรือเบินส์เป็นภาพชุดที่มีอิทธิพลต่อจิตรกรอื่น ๆ ในยุคนั้นโดยเฉพาะต่อจิตรกรฝรั่งเศส อ็องตวน วาโต (ค.ศ. 1684-1721) และฟร็องซัว บูเช (ค.ศ. 1703-1770) ผู้สร้างงานก๊อบปี้ของภาพชุดนี้[16]

เปเตอร์ เปาล์ รือเบินส์[แก้]

ภาพเหมือนตนเอง โดย เปเตอร์ เปาล์ รือเบินส์

เปเตอร์ เปาล์ รือเบินส์ (ค.ศ. 1577-ค.ศ. 1640) เป็นจิตรกรผู้มีอิทธิพลเป็นอันมากทางตอนเหนือของยุโรป ผู้ถือกันว่าเป็นจิตรกรคนสำคัญของยุคบาโรกของเฟลมิชที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างลักษณะการเขียนอันเป็นเอกลักษณ์ของยุค และการใช้จักษุศิลป์ในการสื่อความหมายของงานจิตรกรรม[17] รือเบินส์เป็นผู้ดูแลการสร้างงาน และสร้างงานต่าง ๆ ด้วยตนเองด้วยกันกว่าสามพันชิ้นที่รวมทั้งงานภาพพิมพ์แกะไม้, ภาพพิมพ์แกะโลหะ และจิตรกรรมที่เขียนบนวัสดุหลายอย่าง ประเภทของงานที่เขียนก็มีทั้งจิตรกรรมประวัติศาสตร์, จิตรกรรมศาสนา, จิตรกรรมอุปมานิทัศน์, จิตรกรรมภูมิทัศน์, ฉากแท่นบูชา และภาพเหมือน[18] รือเบินส์มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักโดยเฉพาะในการเขียนร่างคนที่งดงามและเครื่องตกแต่งร่างกายที่ทำจากผ้าเนื้อดีมีสีสันอันพรายตา และเป็นภาพที่เขียนจากหัวเรื่องที่มาจากทั้งคริสต์ศาสนาและวัฒนธรรมคลาสสิก[19] การศึกษางานคลาสสิกของกรีกและโรมันเป็นภาษาละตินของรือเบินส์ในระยะแรกมามีอิทธิพลต่ออาชีพการเป็นจิตรกร ที่ทำให้เป็นจิตรกรที่แตกต่างจากจิตรกรผู้อื่นในสมัยเดียวกัน[20] เมื่อเริ่มอาชีพการเป็นจิตรกรใหม่ ๆ รือเบินส์เข้าศึกษากับจิตรกรเฟลมิชเช่นโอตโต ฟัน เฟน,[21] แต่อิทธิพลต่องานของรือเบินส์มาจากช่วงเวลาที่ไปพำนักอยู่ในอิตาลีเมื่อไปศึกษาประติมากรรมคลาสสิกและงานของมีเกลันเจโล, ราฟาเอล, การาวัจโจ, ทิเชียน และปาโอโล เวโรเนเซ ในช่วงเวลานั้นรือเบินส์ก็เริ่มก๊อบปี้งานประติมากรรมคลาสสิก เช่น "เลอาโคอันและบุตร" และงานวาดที่เขียนโดยศิลปินคนอื่น ๆ นอกจากนั้นรือเบินส์ก็ยังเป็นนักสะสมงานศิลปะทั้งงานดั้งเดิมและงานใหม่ที่ก๊อบปี้งานคลาสสิก (reproduction) และไม่เพียงแต่จะสะสมงานของศิลปินชั้นครูของยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาอิตาลีเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงงานของศิลปินร่วมสมัยด้วย รือเบินส์เป็นเจ้าของงานพิมพ์ของศิลปินร่วมสมัยอาเดรียน เบราเวอร์ มากกว่างานของศิลปินอื่น ๆ ที่สะสม ซึ่งอาจจะสันนิษฐานได้ว่ามาจากความห่วงใยในอนาคตของเบราเวอร์มากกว่าที่จะมาจากประโยชน์ในการสะสมงานของเบราเวอร์ก็เป็นได้[22] การสะสมงานศิลปะและอิทธิพลของศิลปินร่วมสมัยผู้ที่บางคนกลายมาเป็นเพื่อนตลอดชีพของรือเบินส์มีอิทธิพลต่องานเขียนของรือเบินส์จนตลอดชีวิต[23]

เมื่อได้รับจ้างให้เขียน "ภาพชุดพระราชินีมารี เดอ เมดีซิส" รือเบินส์ก็อาจจะเป็นศิลปินผู้มีชื่อเสียงและมีความเชี่ยวชาญที่สุดทางตอนเหนือของยุโรปและเป็นผู้ที่สร้างความประทับใจในงานเขียนชิ้นใหญ่ ๆ ทางด้านศาสนาที่ได้รับการจ้างจากสภาและวัดต่าง ๆ ในบริเวณนั้น[13] แต่งาน "ภาพชุดพระราชินีมารี เดอ เมดีซิส" ก็เป็นงานที่รือเบินส์ต้องการจะทำเพราะเป็นการเปิดโอกาสให้ได้เขียนงานที่ไม่เกี่ยวกับหัวเรื่องทางศาสนา[24] นอกจากนั้นงานจ้างครั้งนี้ของพระราชินีมารี เดอ เมดีซิสก็ยังสร้างประโยชน์ให้แก่อาชีพของรือเบินส์จนตลอดชีวิต ที่ไม่เพียงแต่จะสร้างชื่อเสียงและเผยแพร่ผลงานให้เป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้น แต่ยังเป็นการสร้างลักษณะการเขียนที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองที่มามีอิทธิพลต่องานเขียนที่สร้างกันต่อมาทั้งทางด้านลักษณะการเขียนและหัวเรื่องที่เขียน

ภาพชุด[แก้]

รายละเอียดจากภาพ "การขึ้นฝั่งที่มาร์แซย์"

เดิมภาพชุดนี้แขวนตามเข็มนาฬิกาตามลำดับเหตุการณ์ที่ใช้ในการตกแต่งผนังของห้องรอจากห้องที่ประทับของพระราชินีมารี เดอ เมดีซิสในพระราชวังลุกซ็องบูร์[8] ปัจจุบันภาพชุดนี้ก็ยังแขวนตามลำดับเดิมภายในพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์[25] เชื่อกันว่าพระราชินีมารีมีพระประสงค์จะให้ผู้ชมภาพเขียนชุดนี้ต้องศึกษาสลับซ้ายขวาเพื่อจะให้ผู้ชมต้องเดินข้ามไปข้ามไปมาระหว่างผนังซ้ายและผนังขวาของระเบียงภาพ[26] คูลลิดจ์ยังกล่าวด้วยว่าพระองค์ไม่ทรงเห็นว่าเป็นเพียงภาพชุดเท่านั้นแต่ยังเป็นภาพคู่และเป็นภาพกลุ่ม ฉะนั้นภาพชุดชีวิตจึงแบ่งได้เป็นสามกลุ่มใหญ่ ๆ : เมื่อยังทรงพระเยาว์, เมื่อเป็นพระราชินี และเมื่อเป็นพระราชินีหม้ายและผู้สำเร็จราชการ[27]

แม้ว่าภาพเขียนแต่ละภาพจะมีความกว้างต่างกันแต่แต่ละภาพมีความสูงเท่ากันหมด ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการวางแผนเป็นอย่างดีที่เหมาะกับโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมในการที่จะใช้ในการตกแต่งระเบียงภาพ ภาพสิบหกภาพที่ตกแต่งสองด้านของระเบียงสูงราวสี่เมตรและกว้างราวสามเมตร ภาพที่ใหญ่ที่สุดสามภาพสูงสี่เมตรและกว้างเจ็ดเมตร[25]

สิ่งแรกของภาพชุดนี้ที่ผู้ชมจะเห็นก็เมื่อเข้ามาทางมุมตะวันออกเฉียงใต้ของห้อง งานที่เห็นได้ชัดจากมุมนี้คือภาพ "พระบรมราชาภิเษกที่มหาวิหารแซ็ง-เดอนี" และ "การเสด็จสวรรคตของพระเจ้าอ็องรีที่ 4 และการประกาศเป็นผู้สำเร็จราชการ"[28] ครึ่งแรกของภาพชุดเริ่มตั้งแต่ผนังทางเข้าที่เป็นภาพเมื่อยังทรงพระเยาว์และภาพการเสกสมรสกับพระเจ้าอ็องรีที่ 4 ภาพสี่ภาพเป็นหัวข้อที่เกี่ยวกับการเสกสมรสของทั้งสองพระองค์เพราะการแต่งงานสำหรับผู้มีอายุ 27 ปีเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนักในสมัยนั้น[6] ครึ่งนี้จบลงด้วยภาพ "พระบรมราชาภิเษกที่มหาวิหารแซ็ง-เดอนี" ผนังด้านตรงกันข้ามกับผนังทางเข้าเป็นภาพ "การเสด็จสวรรคตของพระเจ้าอ็องรีที่ 4 และการประกาศเป็นผู้สำเร็จราชการ" ภาพต่าง ๆ หลังจากภาพนี้ก็เริ่มจะเป็นภาพของกรณีขัดแย้งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างพระองค์และพระราชโอรส เช่นภาพ "การวิวาทและการคืนดีระหว่างพระราชินีมารีและพระเจ้าหลุยส์"[29]

สมัยทางประวัติศาสตร์ระหว่างการเขียนภาพเป็นสมัยของความไม่สงบทางการเมืองที่รือเบินส์ต้องพยายามเลี่ยงการแสดงการหมิ่นพระบรมราชานุภาพของสถาบันพระมหากษัตริย์ฝรั่งเศสในขณะนั้น รือเบินส์จึงหันไปใช้อุปมานิทัศน์จากตำนานเทพ, บุคลาธิษฐานของคุณธรรมและศาสนา และอุปมัยทางศาสนาในการพรางเหตุการณ์ที่ตามความเป็นจริงแล้วเป็นเหตุการณ์ที่ค่อนข้างเป็นพื้น ๆ , กำกวม และ หลีกเลี่ยงสิ่งใดที่ยิ่งใหญ่ที่แสดงความเป็นวีรสตรี แนวการแสดง "ความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์" โดยวิธีที่ว่านี้ของรือเบินส์จึงเป็นการเลือกแสดง หรือยิ่งไปกว่านั้นคือไม่เที่ยงตรงต่อความเป็นจริง แต่รือเบินส์ไม่ใช่นักประวัติศาสตร์หรือถ้าในสมัยปัจจุบันก็จะเรียกว่าไม่ใช่ "นักข่าว" ผู้ที่จะต้องมีความรับผิดชอบต่อการพยายามเสนอความเป็นจริงที่เป็นกลาง "ภาพชุดพระราชินีมารี เดอ เมดีซิส" จึงไม่ใช่การรายงานข่าวหรือการบันทึกประวัติศาสตร์แต่เป็นงาน "แปรความเป็นจริงเชิงอรรถรส" (poetic transformation)[30]

รือเบินส์บรรยายเรื่องราวใน "ภาพชุดพระราชินีมารี เดอ เมดีซิส" ด้วยลักษณะการเขียนแบบโบราณซึ่งเป็นวิธีเขียนที่เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์และสรรเสริญรัฐบาล การเขียนลักษณะนี้เรียกว่าการเขียนแบบ "บทสดุดี" (Panegyric) การเขียนบทสดุดีมักจะเขียนกันในการเฉลิมฉลองเหตุการณ์สำคัญทางการเมือง เช่นการให้กำเนิดของเจ้าชายรัชทายาทเป็นต้น และจะเป็นบทเขียนประเภทที่สรรเสริญคุณสมบัติและบรรพบุรุษของผู้ได้รับการสดุดี โครงสร้างลำดับเหตุการณ์ในการเขียนบทสดุดีก็จะเริ่มโดยการบรรยายบรรพบุรุษและตามด้วยการเกิด, การศึกษา และชีวิตของผู้ที่เป็นหัวข้อของการเขียน รือเบินส์ใช้โครงสร้างดังกล่าวนี้ในการเขียน "ภาพชุดพระราชินีมารี เดอ เมดีซิส"[31]

ค่าจ้างในการเขียน "ภาพชุดพระราชินีมารี เดอ เมดีซิส" ตกประมาณ 24,000 กิลเดอร์สำหรับเนื้อที่ภาพทั้งหมด 292 ตารางเมตร ซึ่งเมื่อเฉลี่ยแล้วก็ตกประมาณ 82 กิลเดอร์หรือ $1,512 ดอลลาร์สหรัฐต่อหนึ่งตารางเมตร[32]

รายชื่อภาพเขียน[แก้]

รายละเอียดจากภาพ "พระบรมราชาภิเษกที่มหาวิหารแซ็ง-เดอนี"
  1. "พรหมลิขิตของพระราชินีมารี เดอ เมดีซิส" (The Destiny of Marie de' Medici)
  2. "กำเนิดเจ้าหญิง" (The Birth of the Princess)
  3. "การศึกษาของเจ้าหญิง" (The Education of the Princess)
  4. "การแสดงพระฉายาลักษณ์ต่อพระเจ้าอ็องรี" (Presentation of Her Portrait to Henri IV)
  5. "การเสกสมรสโดยฉันทะระหว่างเจ้าหญิงมารี เดอ เมดีซิส กับพระเจ้าอ็องรี" (The Wedding by Proxy of Marie de' Medici to King Henri IV)
  6. "การขึ้นฝั่งที่มาร์แซย์" (The Disembarkation at Marseilles)
  7. "การพบปะระหว่างพระราชินีมารี เดอ เมดีซิส กับพระเจ้าอ็องรีที่ลียง" (The Meeting of Marie de' Medici and Henri IV at Lyons)
  8. "การกำเนิดของมกุฎราชกุมารที่ฟงแตนโบล" (The Birth of the Dauphin at Fontainebleau)
  9. "การมอบให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์" (The Consignment of the Regency)
  10. "พระบรมราชาภิเษกที่มหาวิหารแซ็ง-เดอนี" (The Coronation in Saint-Denis)
  11. "การเสด็จสวรรคตของพระเจ้าอ็องรีและการประกาศเป็นผู้สำเร็จราชการ" (The Death of Henri IV and the Proclamation of the Regency)
  12. "องคมนตรีเทพ" (The Council of the Gods)
  13. "การสงครามและชัยชนะที่ยือลิช" (The Regent Militant: The Victory at Jülich)
  14. "การแลกเปลี่ยนเจ้าหญิงที่พรมแดนสเปน" (The Exchange of the Princesses at the Spanish Border)
  15. "ความผาสุกของรัชสมัยการปกครองในฐานะผู้สำเร็จราชการ" (The Felicity of the Regency of Marie de' Medici)
  16. "พระเจ้าหลุยส์ที่ 13 ทรงบรรลุนิติภาวะ" (Louis XIII Comes of Age)
  17. "การหลบหนีจากบลัว" (The Flight from Blois)
  18. "การเจรจาที่อ็องกูแลม" (The Negotiations at Angoulême)
  19. "การเลือกความมั่นคงของพระราชินีมารี" (The Queen Opts for Security)
  20. "การคืนดีระหว่างพระราชินีมารีกับพระเจ้าหลุยส์" (Reconciliation of the Queen and her Son)
  21. "ชัยชนะของความสัตย์" (The Triumph of Truth)
  22. "ภาพเหมือนของพระราชินีมารี"
  23. "ภาพเหมือนของฟรันเชสโกที่ 1 เด เมดีชี" (ภาพเหมือนพระราชบิดา)
  24. "ภาพเหมือนของอาร์ชดัชเชสโจแอนนาแห่งออสเตรีย" (ภาพเหมือนพระราชมารดา)

"พรหมลิขิตของพระราชินีมารี เดอ เมดีซิส"[แก้]

"พรหมลิขิตของพระราชินีมารี เดอ เมดีซิส"

ภาพเขียนภาพแรกของ "ภาพชุดพระราชินีมารี เดอ เมดีซิส" คือภาพ "พรหมลิขิตของพระราชินีมารี เดอ เมดีซิส" ซึ่งเป็นภาพม้วนตัวกันขึ้นไปของเทพีแห่งพรหมลิขิต (Fates) สามองค์ ยังเทพีจูโนและเทพจูปิเตอร์ที่ประทับอยู่บนก้อนเมฆตอนบนของภาพ

เทพีแห่งพรหมลิขิตในภาพเป็นภาพของเทพีเปลือยที่กำลังปั่นยานแห่งพรหมลิขิตของเจ้าหญิงมารี เดอ เมดีซิส การปรากฏตัวของเทพเมื่อประสูติเป็นการเน้นถึงอนาคตของพระองค์ที่จะเป็นอนาคตของผู้ที่จะทรงประสบกับความรุ่งเรืองและความพร้อมมูลในการที่จะทรงเป็นผู้นำในอนาคต ดังที่ปรากฏในภาพเขียนหลายภาพต่อมา[33] ในตำนานเทพกรีกและตำนานเทพโรมัน เทพีแห่งพรหมลิขิตองค์หนึ่งจะเป็นผู้ปั่นยานแห่งพรหมลิขิต อีกองค์หนึ่งจะเป็นผู้วัดความยาวของยาน และองค์ที่สามจะเป็นผู้ถือตะไกรไว้สำหรับตัดยาน หรือเป็นผู้นำความตายหรือความสิ้นสุดมาสู่ผู้นั้น แต่ในภาพเขียนของรือเบินส์ไม่ได้เขียนตะไกรสำหรับตัดยานในภาพซึ่งเท่ากับเป็นการเน้นถึงความมีอภิสิทธิ์และความเป็นอมตะของพระองค์[34] ภาพสุดท้ายของภาพชุดนี้ประสานกับหัวเรื่องของภาพทั้งชุดที่เน้นความเป็นอมตะของพระองค์ ที่เป็นภาพของพระราชินีมารีทรงลอยขึ้นไปเป็นพระราชินีแห่งสรวงสวรรค์หลังจากที่ทรงประสบความสำเร็จในชีวิตในโลกมนุษย์ เพื่อไปเป็นผู้มีชื่อเสียงอันไม่มีที่สิ้นสุด[35]

การตีความหมายในตอนแรกกล่าวว่าการมีเทพีจูโนในภาพเป็นการแสดงถึงสัญลักษณ์ของเทพีแห่งการกำเนิด แต่ต่อมาก็มีผู้เสนอว่ารือเบินส์ใช้เทพีจูโน เป็นตัวแทนของพระราชินีมารี เดอ เมดีซิสเอง ที่เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นอมตะ ส่วนเทพจูปิเตอร์ก็เป็นอุปมานิทัศน์ของพระเจ้าอ็องรีที่ 4 ผู้เป็นพระสวามีผู้ทรงมีความสัมพันธ์กับสตรีอื่น ๆ นอกไปจากพระอัครมเหสีของพระองค์เอง เช่นเดียวกับเทพจูปิเตอร์ที่มีชายาหลายองค์[35]

"กำเนิดเจ้าหญิง"[แก้]

"กำเนิดเจ้าหญิง" เมื่อวันที่ 26 เมษายน ค.ศ. 1573

ภาพที่สองเป็นภาพ "กำเนิดเจ้าหญิง" ซึ่งเป็นภาพการประสูติของเจ้าหญิงมารี เดอ เมดีซิสเมื่อวันที่ 26 เมษายน ค.ศ. 1573 ภาพนี้เต็มไปด้วยสัญลักษณ์และอุปมานิทัศน์ ทางมุมซ้ายล่างเป็นยุวเทพสององค์เล่นกับโล่ที่มีตราของสัญลักษณ์ดอกลิลลีของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นนัยว่าสรวงสวรรค์มีความเห็นดีเห็นงามกับพระองค์มาตั้งแต่ประสูติ เทพแห่งแม่น้ำตรงมุมขวาของภาพอาจจะเป็นนัยถึงแม่น้ำอาร์โนที่ไหลผ่านฟลอเรนซ์ที่เป็นเมืองประสูติของพระองค์ กรวยแห่งความอุดมสมบูรณ์เหนือพระเศียรอาจจะตีความหมายได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของอนาคตที่เต็มไปด้วยเกียรติยศและความมั่งคั่งที่จะมาถึงของพระองค์ สิงโตตรงมุมล่างขวาอาจจะเป็นเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจและความแข็งแกร่งที่จะทรงมี[36] รัศมีรอบพระเศียรไม่ควรจะมองว่าเป็นสัญลักษณ์ทางศาสนาแต่ควรจะเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นเทพ[37] แม้ว่าพระองค์จะประสูติในราศีพฤษภ แต่รือเบินส์ใช้สัญลักษณ์ของราศีธนูในภาพนี้ซึ่งอาจจะตีความหมายได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของการพิทักษ์อำนาจการเป็นพระราชินี[38]

"การศึกษาของเจ้าหญิง"[แก้]

"การศึกษาของเจ้าหญิง"

"การศึกษาของเจ้าหญิง" เป็นภาพของเจ้าหญิงมารี เดอ เมดีซิสขณะที่กำลังทรงทำการศึกษาเล่าเรียนเมื่อทรงเจริญพระชันษาขึ้น การศึกษาของพระองค์มีพยานเป็นเทพที่รวมทั้งอพอลโล, อธีนา และเฮอร์มีส อพอลโลเป็นเทพแห่งศิลปะ, อธีนาเป็นเทพแห่งสติปัญญา และ เฮอร์มีสผู้เป็นผู้สื่อสารของพระเจ้าเป็นเทพแห่งความเข้าใจและความคล่องแคล่วในการใช้ภาษา[39] เฮอร์มีสดูเหมือนจะรีบนำของขวัญจากพระเจ้าลงมาประทานให้แก่เจ้าหญิงมารีในภาพ--คทางูไขว้ และเชื่อกันว่าเฮอร์มีสเป็นผู้มอบความสง่าและความงามให้แก่พระองค์ แต่คทางูไขว้ที่ปรากฏในอีกหกภาพเป็นสัญลักษณ์ของสันติสุขและความปรองดอง ซึ่งอาจจะเป็นการพยากรณ์ถึงรัชสมัยอันสงบสุขของพระองค์ที่จะมาถึงก็เป็นได้[40] หรืออาจจะตีความหมายได้ว่าการมีเทพมาเป็นผู้ให้การศึกษาอาจจะเป็นการเตรียมพระองค์ให้ทรงพร้อมที่จะมีความรับผิดชอบต่อพระราชภารกิจที่จะต้องทรงมีในภายภาคหน้า ที่รวมทั้งการที่จะทรงต้องเผชิญกับอุปสรรคต่าง ๆ ที่จะนำมาซึ่งความสำเร็จในอนาคตในฐานะพระราชินีผู้ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน[41] ภาพเขียนนี้เป็นการแสดงให้เห็นถึงลักษณะการเขียนแบบบาโรกที่ประสานความสัมพันธ์ระหว่างโลกของเทพและมนุษย์ในภาพที่มีลักษณะเป็นนาฏกรรมไปด้วยในขณะเดียวกัน[42] เทพในภาพมิได้เป็นแต่เพียงสัญลักษณ์ที่อ้างถึงอย่างลอย ๆ แต่ยังมีบทบาทในภาพในการให้การศึกษาแก่พระองค์โดยตรงด้วย เทพีองค์อื่น ๆ ในภาพก็มีเทพีแห่งคุณธรรมสามองค์ -- เทพีอกลาเอีย (ความงาม), เทพียูโฟรเซเน และเทพีธาเลียที่ยืนอยู่กลางภาพผู้ที่เป็นผู้ประทานความงามแก่พระองค์[39]

"การแสดงพระฉายาลักษณ์ต่อพระเจ้าอ็องรี"[แก้]

"การแสดงพระฉายาลักษณ์ต่อพระเจ้าอ็องรี"

การที่จะซาบซึ้งถึงคุณค่าของภาพ "การแสดงพระฉายาลักษณ์ต่อพระเจ้าอ็องรี" และภาพอื่น ๆ ในชุดนี้ทั้งชุด ผู้ชมต้องมีความเข้าใจถึงพื้นฐานทางประวัติศาสตร์ว่าในช่วงเวลาที่รือเบินส์เขียนภาพชุดนี้เป็นสมัยความเชื่อในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งเป็นสมัยที่ถือกันว่าพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์เป็นผู้มีอภิสิทธิ์และมีฐานะเหนือมนุษย์เดินดิน ฉะนั้นตั้งแต่พระราชินีมารี เดอ เมดีซิสประสูติพระองค์ก็ทรงดำรงชีวิตที่แตกต่างไปจากสามัญชนอื่น ๆ มาโดยตลอด การเขียนภาพที่ประกอบด้วยเทพเจ้ากรีกโรมันและการใช้อุปมานิทัศน์ในความเป็นเทพของรือเบินส์จึงเป็นการแสดงสนับสนุนพื้นฐานของปรัชญาดังกล่าวที่ว่านี้อย่างเด่นชัด[43]

เช่นเดียวกันทามิโนตัวละครในอุปรากร "The Magic Flute" พระเจ้าอ็องรีที่ 4 ทรงตกหลุมรักเจ้าหญิงมารี เดอ เมดีซิสทันทีที่ทอดพระเนตรเห็นพระฉายาลักษณ์ของพระองค์ ในภาพไฮเมเนียสเทพเจ้าแห่งการแต่งงานและคิวปิดเทพเจ้าแห่งความรักเป็นผู้ถือภาพของเจ้าหญิงมารีต่อพระพักตร์ของพระเจ้าอ็องรีผู้ที่จะมาเป็นพระสวามี ขณะที่เทพจูปิเตอร์และเทพีจูโนนั่งอยู่บนก้อนเมฆมองลงมายังพระเจ้าอ็องรี ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าเป็นการเสกสมรสที่เป็นที่เห็นพ้องและชื่นชมโดยเทพ[44] ขณะที่บุคลาธิษฐานของฝรั่งเศสใส่หมวกเหล็กแตะพระพาหาของพระเจ้าอ็องรีเป็นการแสดงการสนับสนุนและชื่นชมกับภาพของบุคคลที่จะมาเป็นพระราชินีในอนาคตร่วมกับพระองค์[43] รือเบินส์แสดงบุคลาธิษฐานของฝรั่งเศสที่เป็นเอกเพศหลายครั้งในภาพเขียนชุดนี้ ในภาพนี้ฝรั่งเศสเป็นได้ทั้งชายและหญิงในขณะเดียวกัน ท่าทางอันใกล้ชิดระหว่างฝรั่งเศสกับพระเจ้าอ็องรีอาจจะเป็นนัยถึงความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างพระเจ้าอ็องรีกับราชอาณาจักรฝรั่งเศส ท่าทางเช่นนี้มักจะเป็นท่าที่ใช้ระหว่างชายต่อชายด้วยกันในการบอกความลับให้แก่กัน แต่การแต่งตัวของบุคลาธิษฐานที่ส่วนบนของร่างกายเป็นสตรีที่เผยให้เห็นหน้าอกและการห่มผ้าก็เป็นไปในลักษณะของการห่มแบบคลาสสิก แต่ส่วนล่างโดยเฉพาะต้นขาที่เผยให้เห็นและรองเท้าบูทแบบโรมันแสดงถึงความเป็นชาย ที่เป็นสัญญาณของความแข็งแกร่งอย่างบุรุษที่แสดงให้เห็นจากท่อนขาด้านล่าง[45] ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งฝรั่งเศสและพระเจ้าอ็องรีชี้ให้เห็นว่าไม่แต่เทพเจ้าเท่านั้นที่ชื่นชมกับการเสกสมรสที่จะเกิดขึ้น แต่ยังมาจากการชื่นชมมาจากไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินด้วย

ระหว่างการเจรจาต่อรองรายละเอียดในการเสกสมรสของเจ้าหญิงมารี เดอ เมดีซิส และพระเจ้าอ็องรีที่ 4 ก็ได้มีการส่งภาพแลกเปลี่ยนกันอีกหลายภาพระหว่างทั้งสองพระองค์ พระเจ้าอ็องรีทรงพอพระทัยกับพระสิริโฉมของเจ้าหญิงมารีและเมื่อทรงได้พบพระองค์จริงพระองค์ก็ทรงยิ่งมีความประทับพระทัยยิ่งกว่าพระฉายาลักษณ์ที่ได้ทอดพระเนตรมาก่อน การเสกสมรสเป็นที่ชื่นชอบของทุกฝ่ายรวมทั้งพระสันตะปาปา, ตระกูลเมดีชี และขุนนางผู้มีอำนาจในฟลอเรนซ์ ผู้ที่ได้พยายามอยู่เป็นเวลานานในการหว่านล้อมพระเจ้าอ็องรีทรงเห็นถึงประโยชน์ที่จะทรงได้รับจากการประสานสัมพันธ์ครั้งนี้[46] ทั้งสองพระองค์ทรงเสกสมรสโดยฉันทะเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ค.ศ. 1600[47]

"การเสกสมรสโดยฉันทะระหว่างเจ้าหญิงมารี เดอ เมดีซิสและพระเจ้าอ็องรี"[แก้]

"การเสกสมรสโดยฉันทะระหว่างเจ้าหญิงมารี เดอ เมดีซิสและพระเจ้าอ็องรี"

ภาพนี้เป็นภาพพิธีการเสกสมรสโดยฉันทะของเจ้าหญิงมารี เดอ เมดีซิสกับพระมหากษัตริย์ฝรั่งเศสพระเจ้าอ็องรีที่ 4 ที่เกิดขึ้นที่มหาวิหารฟลอเรนซ์เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ค.ศ. 1606 โดยมีคาร์ดินัลปีเอโตร อัลโดบรันดีนีเป็นผู้ทำพิธี โดยมีพระปิตุลาของเจ้าหญิงมารี แฟร์ดีนันโดที่ 1 เด เมดีชีแกรนด์ดุ๊กแห่งทัสกานี เป็นผู้แทนพระองค์ในพระเจ้าอ็องรีที่ 4 ในภาพนี้แกรนด์ดยุกสวมพระธำมรงค์ให้แก่เจ้าหญิงมารี บุคคลอื่น ๆ ที่ปรากฏในภาพสามารถบอกได้ว่าใครเป็นใครรวมทั้งตัวรือเบินส์เองที่เข้าร่วมพิธีดังว่าที่เกิดขึ้นเมื่อยี่สิบปีก่อนหน้าที่จะเขียนภาพในฐานะของผู้มีความเกี่ยวข้องกับตระกูลกอนซาการะหว่างที่พำนักอยู่ในอิตาลี รือเบินส์ในภาพที่ดูเป็นหนุ่มยืนถือกางเขนอยู่ข้างหลังเจ้าสาวและหันมองตรงมายังผู้ชมภาพ แต่ตามความเป็นจริงแล้วก็ยากที่จะเป็นไปได้ว่าขณะนั้นรือเบินส์จะมีความสำคัญพอที่ปรากฏตัวอยู่ในภาพในฐานะที่เด่นดังที่วาดในภาพ ผู้ที่ร่วมในงานเสกสมรสก็ได้แก่คริสตีนแห่งลอแรน แกรนด์ดัชเชสแห่งทัสเคนีและพระขนิษฐาเอเลนอรา ดัชเชสแห่งมันโตวา และคณะผู้ร่วมเดินทางของฝรั่งเศสที่รวมทั้งมาร์ควิสเดอซิเลยีผู้เป็นผู้เจรจาข้อตกลงในการเสกสมรส ภาพนี้ก็เช่นเดียวกับภาพอื่นใน "ภาพชุดพระราชินีมารี" ที่รือเบินส์รวมเทพเข้าในภาพด้วย: ไฮเมเนียส เทพแห่งการแต่งงานที่สวมมงกุฎดอกกุหลาบที่ถือชายพระภูษาของเจ้าหญิงมารีในมือหนึ่งและในอีกมือหนึ่งถือคบเพลิงแห่งการสมรส[48] พิธีเกิดขึ้นภายใต้ประติมากรรมของพระเจ้าผู้ทรงโทมนัสกับร่างอันไร้ชีวิตของพระเยซูที่เป็นนัยถึงประติมากรรมปีเอต้าโดยบาร์โทโลเมโอ บันดิเนลลิ

"การขึ้นฝั่งที่มาร์แซย์"[แก้]

"การขึ้นฝั่งที่มาร์แซย์"

ตามปกติแล้วเหตุการณ์เช่นนี้ก็มิได้เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นแต่อย่างใด แต่รือเบินส์ก็สามารถทำให้ภาพของพระราชินีมารี เดอ เมดีซิสเมื่อเสด็จโดยทางชลมารคมาถึงเมืองท่างมาร์แซย์ของฝรั่งเศสหลังจากที่ทรงเสกสมรสโดยฉันทะกับพระเจ้าอ็องรีที่ 4 ที่ฟลอเรนซ์แล้วให้เป็นภาพที่น่าสนใจกว่าความเป็นจริงได้อย่างน่าประทับใจ รือเบินส์แสดงให้เห็นอีกครั้งหนึ่งว่าสามารถสร้างเหตุการณ์พื้น ๆ ให้กลายเป็นเหตุการณ์อันยิ่งใหญ่น่าประทับใจได้ ภาพนี้เป็นภาพที่พระราชินีมารีกำลังเสด็จพระราชดำเนินลงจากสะพานเรือพระที่นั่ง ตามความเป็นจริงแล้วทรงดำเนินขึ้นและการเขียนให้ดำเนินลงทำให้สร้างการจัดองค์ประกอบของภาพให้เป็นสามเหลี่ยมได้ พระราชินีมารีเสด็จลงพร้อมกับคริสตีนแห่งลอแรน แกรนด์ดัชเชสแห่งทัสเคนีและพระขนิษฐาเอเลนอรา ดัชเชสแห่งมันโตวา เข้าไปสู่การต้อนรับด้วยความปิติของบุคลาธิษฐานแห่งฝรั่งเศสผู้สวมเสื้อคลุมสีน้ำเงินประด้วยสัญลักษณ์ดอกลิลลีของฝรั่งเศสผู้อ้าแขนรับพระราชินีองค์ใหม่เข้าสู่อ้อมอกของประเทศใหม่ โดยมีพระมาตุจฉาคริสตีนแห่งลอแรนและพระขนิษฐาขนาบสองข้างพระองค์ ขณะที่มีเทพล่องลอยเป่าแตรทรัมเป็ตสองแตรอยู่เหนือพระเศียร ด้านล่างของภาพเป็นเทพเนปจูนและนางพรายทะเลผุดขึ้นมาจากทะเลหลังจากที่ได้พิทักษ์พระองค์ในการเดินทางอันยาวนานมาจนมาถึงมาร์แซย์ได้โดยปลอดภัย รือเบินส์ใช้ความมีฝีมือในการสร้างฉากที่รวมทั้งสวรรค์และโลก และเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์และอุปมานิทัศน์ได้อย่างมีอรรถรสแก่สายตาของผู้ดูอย่างไม่มีที่ติ[49] นอกจากนั้นแล้วสิ่งอื่นในภาพ "การขึ้นฝั่งที่มาร์แซย์" ก็ได้แก่ตราประจำตระกูลเมดีชีอยู่เหนือโค้งประทุนตรงมุมซ้ายบนของภาพ และอัศวินแห่งมอลตาแต่งตัวเต็มยศยืนสังเกตการณ์อยู่บนเรือข้างประทุน

โรเจอร์ อาแวร์เมเอ็ตเตนักเขียนชีวประวัติของรือเบินส์ให้ความเห็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับภาพนี้ว่า:

[ในภาพชุดพระราชินีมารี รือเบินส์]ล้อมรอบ[มารี เดอ เมดีซิส]ด้วยสิ่งต่าง ๆ ที่งดงามหลากหลายจนแทบจะผลักพระองค์เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของฉากหลัง ตัวอย่างเช่นในภาพ "การขึ้นฝั่งที่มาร์แซย์" ที่ผู้ดูทุกคนจะหันไปสนใจกับร่างกายอันงดงามของบรรดาเทพเจ้ากรีกต่าง ๆ [ตอนล่างของภาพ] ซึ่งเป็นการดึงความสนใจจากการที่พระราชินีทรงได้รับการต้อนรับโดยฝรั่งเศสที่อ้าแขนอยู่"

— โรเจอร์ อาแวร์เมเอ็ตเต[50]

รือเบินส์จัดวางองค์ประกอบของภาพได้อย่างเหมาะเจาะโดยสามารถสร้างความสมดุลระหว่างส่วนของภาพที่เกี่ยวกับเทพและส่วนที่เป็นโลกมนุษย์[43]

"การพบปะระหว่างพระราชินีมารีและพระเจ้าอ็องรีที่ลียง"[แก้]

"การพบปะระหว่างพระราชินีมารีและพระเจ้าอ็องรีที่ลียง"

ภาพนี้ใช้อุปมานิทัศน์ของเทพในการแสดงการพบปะกันเป็นครั้งแรกระหว่างพระราชินีมารีและพระเจ้าอ็องรีที่เกิดขึ้นหลังจากการเสกสมรสโดยฉันทะที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นในฟลอเรนซ์ ตอนบนของภาพเป็นภาพพระราชินีมารีและพระเจ้าอ็องรีในรูปของเทพีจูโนและเทพจูปิเตอร์ โดยใช้สัญลักษณ์ต่าง ๆ ตามธรรมเนียมที่บ่งถึงเทพแต่ละองค์ พระราชินีมารีทรงเป็นเทพีจูโน (กรีก เทพีเฮรา) ประทับบนราชรถที่มีนกยูงเป็นสัญลักษณ์ และพระเจ้าอ็องรีทรงเป็นเทพจูปิเตอร์ (กรีก ซูส) ทรงถือสายฟ้าในพระกรซ้ายและเหยี่ยวใต้พระชานุ ทั้งสองพระองค์ประสานพระหัตถ์ขวาเข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ว่าทรงคู่สามีภรรยากัน ฉลองพระองค์ของทั้งสองพระองค์เป็นแบบคลาสสิกซึ่งเป็นการเหมาะกับองค์ประกอบอื่น ๆ ในภาพ เหนือพระเศียรเป็นเทพไฮเมเนียสผู้เป็นเทพเจ้าแห่งการสมรส สายรุ้งบนมุมซ้ายตอนบนเป็นสัญลักษณ์ของความปรองดองกันและความสันติสุข ด้านล่างซ้ายของภาพเป็นเมืองลิยงในฝรั่งเศสที่ดูจากซ้ายไปขวาจะเป็นภูมิทัศน์ของเมืองที่ตั้งอยู่บนเนินเขา กลางภาพด้านหน้าล่างเป็นราชรถลากด้วยสิงโตสองตัว (คำว่าสิงโตในภาษาฝรั่งเศสพ้องกับชื่อเมืองลิยง (Lyon)) ราชรถขับโดยบุคลาธิษฐานผู้สวมมงกุฎของเมืองลิยงผู้ชายตาขึ้นไปยังสองพระองค์ที่นั่งลอยอยู่ตอนบนของภาพ รือเบินส์ต้องใช้ความระมัดระวังในการเลือกเทพที่ใช้แทนพระองค์พระเจ้าอ็องรีในการพบปะกันครั้งแรกระหว่างสองพระองค์ เพื่อที่จะไม่ให้เป็นการแสดงการหมิ่นพระบรมราชานุภาพของพระเจ้าอ็องรี แต่ขณะเดียวกันก็เป็นการแฝงนัยที่ต้องการจะสื่อถึงคุณลักษณะของพระองค์ได้ เพราะเชื่อกันว่าพระเจ้าอ็องรีทรงมีความสัมพันธ์กับสตรีอยู่คนหนึ่งในช่วงเวลาเดียวกับที่ไปทรงเสกสมรสกับพระราชินีมารี ซึ่งทำให้การเสด็จมาพบพระราชินีมารีต้องล่าไปเกือบหนึ่งอาทิตย์หลังจากที่พระราชินีเสด็จมาถึงฝรั่งเศสแล้ว การใช้เทพจูปิเตอร์เป็นสัญลักษณ์แทนพระองค์ก็เป็นการให้นัยว่าทรงเป็นชายหลายใจเช่นเดียวกับเทพจูปิเตอร์ผู้มีชายาหลายองค์แต่ขณะเดียวกันก็เป็นการแสดงฐานะอันยิ่งใหญ่ของทั้งสองพระองค์ตามความหมายของเทพทั้งสองที่ใช้[51]

"การกำเนิดของมกุฎราชกุมารที่ฟงแตนโบล"[แก้]

"การกำเนิดของมกุฎราชกุมารที่ฟงแตนโบล"

ภาพนี้เป็นภาพที่แสดงการให้กำเนิดพระราชโอรสองค์แรก--โดแฟงหลุยส์--ที่พระราชวังฟงแตนโบลของพระราชินีมารี รือเบินส์วางรูปให้สื่อความสันติสุขทางการเมือง[52] การกำเนิดของรัชทายาทองค์แรกเป็นเหตุการณ์อันสำคัญในการสร้างความมั่นคงให้แก่สถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเป็นการมีผู้สืบราชบัลลังก์ที่แน่นอน รัชทายาทเป็นสิ่งสำคัญที่สุดโดยเฉพาะสำหรับพระเจ้าอ็องรีเพราะเป็นการแสดงความเป็นบุรุษเต็มตัวของพระองค์และเป็นการยุติความล้มเหลวของการไม่ทรงมีรัชทายาทกับพระอัครมเหสีก่อนหน้านั้น [53] คำว่า "Dauphin" (มกุฎราชกุมารแห่งฝรั่งเศส) ในภาษาฝรั่งเศสแปลว่า "โลมา" ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นเจ้านาย นอกจากนั้นการมีความสัมพันธ์กับสตรีหลายคนของพระเจ้าอ็องรีทำให้เป็นปัญหาต่อการมีรัชทายาทที่ถูกต้อง ที่ทำให้ถึงกับมีข่าวลือกันว่าศิลปินประจำราชสำนักพยายามหาวิธีแก้ภาพพจน์ในสายตาของสาธารณชนของพระองค์ให้ดีขึ้น โดยใช้วิธีเช่นแสดงพระราชินีมารีให้เป็นเทพีจูโน หรือเทพีมิเนอร์วา การใช้เทพีจูโนแทนพระราชินีก็เท่ากับเป็นนัยว่าพระเจ้าอ็องรีคือเทพจูปิเตอร์ผู้ที่ทรงกลายเป็นผู้อยู่กับเรือนหลังจากการเสกสมรสแล้ว ส่วนการใช้เทพีมิเนอร์วาในการเป็นบุคลาธิษฐานก็เพื่อเป็นการแสดงถึงความสามารถในการยุทธการของพระสวามีและพระราชินีมารีเอง[54] ในฐานะที่เป็นจิตรกรเฟลมิชรือเบินส์ก็ต้องวาดภาพสุนัขเข้าไปด้วยในรูปเพื่อเป็นนัยถึงความจงรัก/ซื่อสัตย์ต่อกันของคู่สามีภรรยา (Fidelity in marriage) นอกจากจะเป็นภาพที่สื่อความสันติสุขทางการเมืองแล้ว รือเบินส์ก็ยังใช้บุคลาธิษฐานของเทพีแห่งความยุติธรรม--เทพีแอสเทรีย การเสด็จของแอสเทรียมายังโลกมนุษย์ก็เท่ากับเป็นสัญลักษณ์ของความต่อเนื่องทางด้านความยุติธรรมของฝรั่งเศสจากการกำเนิดของผู้ที่จะมาเป็นพระมหากษัตริย์องค์ใหม่ ในภาพเจ้าชายหลุยส์ทรงได้รับการเลี้ยงดูโดยเทพีทีมิส เป็นสัญลักษณ์ว่าเจ้าชายหลุยส์ทรงมีสิทธิโดยการกำเนิดในการเป็นพระมหากษัตริย์ในวันข้างหน้า ติดกับทารกเป็นงูซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความมีพระสุขภาพพลานามัยดี[55] ขณะเดียวกันพระราชินีมารีก็ทรงชายพระเนตรไปยังพระราชโอรสในอ้อมอกของเทพเมอร์คิวรีทางด้านขวาของภาพด้วยความชื่นชม ทางด้านซ้ายของภาพเทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์ก็แนบกรวยแห่งความอุดมสมบูรณ์ข้างพระกรขวา ซึ่งเป็นอุปมานิทัศน์ของความอุดมสมบูรณ์ ท่ามกลางสิ่งที่หลั่งไหลออกมาจากกรวยก็มีพระเศียรของพระราชโอรสธิดาองค์อื่น ๆ ที่จะมาถือกำเนิดต่อจากเจ้าชายหลุยส์รวมอยู่ด้วย[56]

"การมอบให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์"[แก้]

"การมอบให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์"

ในการเขียน "ภาพชุดพระราชินีมารี" ทุกภาพรือเบินส์ต้องใช้ความระมัดระวังในการเลือกสิ่งที่จะใช้เป็นองค์ประกอบในภาพเพื่อพยายามหลีกเลี่ยงการหมิ่นพระบรมราชานุภาพของทั้งพระราชินีมารี และพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 พระราชโอรส โดยเฉพาะในภาพที่เกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างทั้งสองพระองค์ที่มักจะเกิดขึ้นอยู่เสมอ พระราชินีมารีทรงจ้างให้เขียนภาพที่มีพระราชประสงค์ที่แสดงความเป็นจริงเกี่ยวกับชีวิตของพระองค์ ซึ่งรือเบินส์ก็ต้องหากลวิธีในการแสดง "ความเป็นจริง" อย่างมีไหวพริบ แต่บางครั้ง "อภิสิทธิ์ของศิลปิน" (artistic license) ของรือเบินส์ก็ต้องถูกจำกัดลงไปบ้าง เพื่อที่จะแสดงภาพของพระราชินีมารีในบรรยากาศที่เหมาะที่ควรทางการเมือง ในภาพ "การมอบให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์" พระสวามีพระเจ้าอ็องรีที่ 4 พระราชทานอำนาจในการเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของฝรั่งเศส และในการดูแลมกุฎราชกุมารไม่นานก่อนที่จะเสด็จไปรณรงค์ และในที่สุดก็เสด็จสวรรคต

เหตุการณ์ในภาพนี้เกิดขึ้นในฉากที่ใหญ่โตของสถาปัตยกรรมแบบอิตาลี บุคลาธิษฐานของ "ความรอบคอบ" ทางขวาของพระราชินีมารีไม่มีงูเป็นสัญลักษณ์ตามปกติ ซึ่งถ้ามีก็อาจจะทำให้เป็นนัยยะถึงข่าวลือที่ว่าพระองค์ทรงมีส่วนในการคบคิดในการปลงพระชนม์พระสวามี ความมีประสิทธิภาพของการวางองค์ประกอบของภาพในกรณีที่ว่านี้จึงจำต้องลดถอยลงไปบ้าง เพื่อที่จะพยายามเลี่ยงการสร้างความเสียหายให้แก่ภาพพจน์ของพระองค์ สิ่งอื่นที่รือเบินส์ต้องแก้คือเทพีมอยเร หรือ เทพีแห่งพรหมลิขิตสามองค์ที่เดิมอยู่ทางด้านหลังพระเจ้าอ็องรีทางด้านซ้ายของภาพ ที่เป็นนัยยะในการมาบ่งพรหมลิขิตของพระองค์ว่าจะต้องเข้าร่วมในการรณรงค์และจะทรงเสียชีวิตในที่สุด รือเบินส์ถูกบังคับให้เปลี่ยนจากภาพเทพีแห่งพรหมลิขิตไปเป็นทหารสามคนแทนที่[57]

สิ่งที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งในภาพนี้คือลูกโลก (orb) ที่พระเจ้าอ็องรีถวายพระราชินีมารีที่เป็นสัญลักษณ์ของ "อำนาจอันเหนือทุกสิ่งทุกอย่างของราชอาณาจักร" [58] ลูกโลกเป็นทั้งนัยยะถึง "orbis terrarum" (ลูกโลกของโรมัน) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจของจักรพรรดิโรมัน ซึ่งเมื่อใช้ในภาพนี้ก็เป็นการแสดงนัยยะถึงอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์แห่งฝรั่งเศส[59] รือเบินส์เข้าใจถึงความสำคัญของการใช้ "ลูกโลกแห่งอำนาจ" และใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพในภาพนี้ และผู้ที่เป็นผู้เสนอให้ใช้ลูกโลกในภาพชุดนี้คือพระราชินีมารี และที่ปรึกษาของพระองค์เอง เพื่อเป็นการเพิ่มความหมายในทางอุปมานิทัศน์ และเพื่อแสดงความยิ่งใหญ่ของพระองค์ในเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการทำหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของพระองค์[60]

"พระบรมราชาภิเษกที่มหาวิหารแซ็ง-เดอนี"[แก้]

"พระบรมราชาภิเษกที่มหาวิหารแซ็ง-เดอนี" เป็นหนึ่งในภาพเพียงสองสามภาพในภาพเขียนชุดนี้ที่แทบจะไม่มีเทพจากตำนานเทพเจ้ากรีก/โรมันเป็นองค์ประกอบเช่นในภาพอื่น ๆ ภาพเขียนภาพนี้เป็นภาพเขียนภาพสุดท้ายทางด้านเหนือของกำแพงด้านตะวันตกซึ่งเป็นการสิ้นสุดของความช่วยเหลือจากทวยเทพในการเตรียมพระองค์สำหรับเหตุการณ์สำคัญและพระราชภารกิจที่จะเกิดขึ้นและจะทรงรับผิดชอบ[42] และเป็นภาพหนึ่งในสองภาพที่จะมองเห็นได้อย่างชัดเจนเมื่อเข้ามาในระเบียงภาพจากทางมุมตะวันออกเฉียงไต้ รือเบินส์สร้างฉาก "พระบรมราชาภิเษก" ให้มองมาจากที่ไกลโดยการเน้นด้วยการใช้สีแดง เช่นเสื้อคลุมสีแดงสดของคาร์ดินัลทางด้านขวาสุดของภาพ นอกจากนั้นการเน้นสีแดงทำให้ภาพนี้มีความต่อเนื่องกับภาพ "การเสด็จสวรรคตของพระเจ้าอ็องรีที่ 4 และการประกาศเป็นผู้สำเร็จราชการ" ต่อมา[27]

"พระบรมราชาภิเษกที่มหาวิหารแซ็ง-เดอนี"

ภาพนี้เป็นพระราชินีมารีในพิธีพระบรมราชาภิเษกที่มหาวิหารแซ็ง-เดอนีในปารีส ภาพนี้และภาพ "การเสด็จสวรรคตของพระเจ้าอ็องรีที่ 4 และการประกาศเป็นผู้สำเร็จราชการ" ถือกันว่าเป็นภาพเอกของภาพชุดนี้ ทั้งสองภาพแสดงภาพเมื่อพระราชินีมารีทรงรับ "ลูกโลกแห่งอำนาจ" โดยมีคาร์ดินัลกองดีและคาร์ดินัลดูซูร์ดีส์เป็นผู้นำพระองค์ไปยังแท่นบูชา และมายืนพร้อมกับมองซิเออร์เดอซูวรท์และมองซิเออร์เบอทูน ผู้ทำพิธีคือคาร์ดินัลฌัวเยิซ (Joyeuse) ผู้ติดตามพระราชินีก็ได้แก่เจ้าชายรัชทายาท, เจ้าชายแห่งคองตีผู้สวมมงกุฎ, ดยุกแห่งวองทาดูร์ผู้ถือคทา, และเชวาลิเยร์แห่งแวงโดมผู้ถือสัญลักษณ์แห่งความยุติธรรม เจ้าชายแห่งคองตีและดัชเชสแห่งมงต์แปงซิเยร์ถือชายฉลองพระองค์คลุม พระเจ้าอ็องรีผู้เสด็จสวรรคตไปแล้วทรงถูกแยกจากกลุ่มคนกลางภาพไปอยู่บนระเบียงในฉากหลังของภาพ พระองค์ทรงฉลองพระองค์ดำและทอดพระเนตรลงมายังการสวมมงกุฎของพระอัครมเหสีราวกับจะเป็นการเห็นด้วยกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผู้ที่มาชมเหตุการณ์อยู่ข้างล่างต่างก็ยกมือขึ้นเพื่อถวายพระพร ด้านบนเป็นบุคลาธิษฐานของเทพีอบันดันเชียหรือเทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์และเทพีวิกตอเรียหรือเทพีแห่งชัยชนะให้พรของความอุดมสมบูรณ์และความสันติสุขอยู่เหนือพระเศียรของพระราชินี[61] เทพเทพีวิกตอเรียโปรยเหรียญทองของเทพจูปิเตอร์[62] นอกจากนั้นแล้วตรงมุมขวาล่างก็ยังมีสุนัขของพระองค์อีกสองตัวซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความจงรักภักดี

รือเบินส์ใช้ลูกโลกประดับกางเขนสีน้ำเงินที่ตกแต่งด้วยดอกลิลลีทองที่เป็นงานฝีมือของกิโยม ดูเพรส์ที่สร้างในปี ค.ศ. 1610 เมื่อพระราชินีมารีทรงขอให้ทำ เทพแทนพระองค์เป็นเทพีมิเนอร์วาและแทนเจ้าชายหลุยส์เป็นอพอลโล[63] สัญลักษณ์เป็นการสื่อความหมายว่าทรงเป็นผู้มีอำนาจในการชี้ทางให้แก่พระราชโอรสผู้ต่อไปจะเป็นพระมหากษัตริย์ในภายภาคหน้า[63]

"การเสด็จสวรรคตของพระเจ้าอ็องรีและการประกาศเป็นผู้สำเร็จราชการ"[แก้]

"การเสด็จสวรรคตของพระเจ้าอ็องรีและการประกาศ
เป็นผู้สำเร็จราชการ"

ภาพนี้บางทีก็เรียกว่า "การเป็นเทพของพระเจ้าอ็องรี" และภาพ "การประกาศเป็นผู้สำเร็จราชการ" ซึ่งเดิมรือเบินส์จัดเป็นสามรูป[64] อีกสองภาพมีลักษณะและขนาดใกล้เคียงกัน และเป็นภาพที่อยู่กลางระหว่างสองภาพที่ทำให้มีลักษณะคล้ายกับบานพับภาพที่ใช้ตกแต่งที่ประทับของพระราชินีมารี เดอ เมดีซิสในพระราชวังลุกซ็องบูร์

ภาพเขียนนี้มีสองหัวเรื่องที่เกี่ยวข้องกัน หัวเรื่องหนึ่งเป็นการยกพระเจ้าอ็องรีที่ 4 ผู้ทรงถูกปลงพระชนม์เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ค.ศ. 1610 ขึ้นสวรรค์ การปลงพระชนม์เป็นผลให้พระราชินีมารี เดอ เมดีซิสได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระราชโอรสทันที[65] ซึ่งเป็นหัวเรื่องที่สองที่พระราชินีมารีทรงได้รับมงกุฎ

ลักษณะการวางองค์ประกอบของภาพ "พระแม่มารีแห่งโรซารี" โดยการาวัจโจ อาจจะมีอิทธิพลต่อการวางภาพกลุ่มคนทางขวาของภาพ "การเสด็จสวรรคตของพระเจ้าอ็องรีและการประกาศเป็นผู้สำเร็จราชการ"

ทางด้านซ้ายของภาพเป็นเทพจูปิเตอร์ และเทพแซทเทิร์นประคองพระเจ้าอ็องรีผู้ทรงถูกปลงพระชนม์ในรูปของบุคลาธิษฐานของจักรพรรดิโรมันขึ้นไปยังยอดเขาโอลิมปัสอันเป็นที่ประทับของทวยเทพต่าง ๆ [66] ภาพนี้ก็เช่นเดียวกับภาพอื่น ๆ ของรือเบินส์ที่ใช้อุปมานิทัศน์ เทพในภาพเป็นเทพที่รือเบินส์เลือกเพื่อแสดงความหมายที่ต้องการ เทพจูปิเตอร์เป็นเทพที่เป็นบุคลาธิษฐานของฐานะของความเป็นเทพของพระองค์ ขณะเดียวกันกับที่เทพแซทเทิร์นผู้เป็นสัญลักษณ์ของความสิ้นสุด ซึ่งเป็นการแสดงถึงความเป็นมนุษย์ผู้จะต้องมีที่สิ้นสุดของพระองค์[67] หัวเรื่องนี้มามีอิทธิพลต่อจิตรกรผู้อื่นเช่นปอล เซซาน (ค.ศ. 1839-ค.ศ. 1906) ต่อมา[68] สิ่งที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งในภาพนี้คืออุปมานิทัศน์ต่าง ๆ ของเทพที่รือเบินส์ใช้ส่วนใหญ่มาจากเหรียญกรีกโรมันที่บันทึกระหว่างการติดต่อกับนิโคลาส์-โคลด ฟาบริ เดอ เปเรสค์ผู้เป็นเพื่อนและผู้สะสมงานคลาสสิกคนสำคัญ[66]

ทางด้านขวาของภาพเป็นภาพการขึ้นครองราชย์ต่อจากพระเจ้าอ็องรีโดยพระราชินีองค์ใหม่ที่ฉลองพระองค์สีหนักเรียบ ที่เหมาะสมกับการเป็นพระราชินีหม้าย พระองค์ประทับอยู่ในกรอบที่เป็นประตูชัยทางมุมขวาบนของภาพ ล้อมรอบด้วยข้าราชสำนักที่รวมทั้งบุคลาธิษฐานของฝรั่งเศสผู้คุกเข่าถวาย "ลูกโลกแห่งอำนาจ" ให้แก่พระองค์ พระราชินีมารีทรงรับ "ลูกโลก" ที่เป็นสัญลักษณ์ของรัฐบาลขณะที่ผู้อื่นในภาพคุกเข่าถวายความเคารพต่อหน้าพระองค์ ภาพนี้เป็นตัวอย่างอันดีของการเขียนภาพที่เลิศลอยกว่าความเป็นจริงในการเขียนภาพชุดนี้ รือเบินส์เน้นความเป็นกษัตริย์ที่พระราชินีมารีทรงได้รับมาอย่างเป็นทางการ แต่ตามความเป็นจริงแล้วพระองค์ทรงได้รับการประกาศให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตั้งแต่วันที่พระราชสวามีถูกปลงพระชนม์[34]

สิ่งที่น่าสังเกตในภาพนี้คืออิทธิพลจากจิตรกรร่วมสมัยของลักษณะการวางภาพของกลุ่มคนทางด้านขวาของภาพ ที่ละม้ายกับการวางองค์ประกอบในภาพ "พระแม่มารีแห่งโรซารี" โดยการาวัจโจ ซึ่งเป็นภาพที่อาจจะเริ่มเขียนที่โรม และอาจจะเป็นภาพที่มีอิทธิพลต่องานเขียนของรือเบินส์ในการเขียนภาพ "การประกาศเป็นผู้สำเร็จราชการ" เพราะทั้งสองภาพนี้มีลักษณะการวางภาพที่มีความสัมพันธ์กัน[69]

เมื่อเปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่างสองภาพนี้แล้วก็จะเห็นว่าต่างก็เป็นภาพของสตรีที่ยื่นมือออกไปรับผู้คนรอบข้างผู้ที่เข้ามาแสดงความเคารพ และการใช้อุปมานิทัศน์ ในภาพของรือเบินส์เป็นเทพีมิเนอร์วา, ความรอบคอบ และฝรั่งเศส ในภาพของคาราวัจจิโอเป็นนักบุญโดมินิค, นักบุญปีเตอร์ผู้พลีชีพ และนักบวชโดมินิคันอีกสององค์ สิ่งอื่นที่สำคัญในภาพก็ได้แก่: หางเสือ, ลูกโลก และลูกประคำ[70] สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้เชื่อได้ว่ารือเบินส์แสดงความนับถือในความสามารถของการาวัจโจในฐานะที่เป็นจิตรกรคนสำคัญในยุคนั้น[70]

"องคมนตรีเทพ"[แก้]

"องคมนตรีเทพ"

ภาพนี้เป็นภาพที่เขียนขึ้นเพื่อแสดงถึงความสามารถในการปกครองในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของพระราชโอรสของพระราชินีมารี ผู้ทรงสนับสนุนแผนการที่นำมาซึ่งสันติสุขของยุโรปโดยการจัดการเสกสมรสระหว่างพระราชโอรสและธิดาของพระองค์กับราชวงศ์ต่าง ๆ ในยุโรป[71]

เนื้อหาของภาพเป็นภาพคิวปิดและเทพีจูโนจับนกพิราบสองตัวเข้าด้วยกันเหนือลูกโลกที่แตกแยก อันเป็นสัญลักษณ์ของความรักและความสันติสุข[72]พระราชินีมารีมีพระราชประสงค์ที่จะจัดให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 13 พระราชโอรสเสกสมรสกับอินฟันตาอันนาแห่งสเปน และเจ้าหญิงเอลีซาแบ็ตแห่งบูร์บงพระราชธิดากับเจ้าชายฟิลิปแห่งสเปนผู้ต่อมาขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าฟิลิปที่ 4 ซึ่งอาจจะเป็นทำให้สัมพันธมิตรระหว่างฝรั่งเศสและสเปนดีขึ้น[73] สำหรับพระราชินีมารีแล้วการเสกสมรสทั้งสองนี้อาจจะเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการก็เป็นได้ เพราะความสันติสุขของยุโรปเป็นจุดประสงค์อันมีความสำคัญที่สุดต่อพระองค์[74].

"องคมนตรีเทพ" เป็นภาพที่เข้าใจยากที่สุดในบรรดาภาพต่าง ๆ ใน "ภาพชุดพระราชินี" เป็นภาพที่แสดงถึงนโยบายการปกครองอย่างระมัดระวังของพระราชินีมารีระหว่างที่ทรงปกครองราชอาณาจักรในฐานะผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน เช่นในการที่ทรงกำราบการก่อความไม่สงบในราชอาณาจักร นอกจากนั้นก็ยังเป็นภาพที่มีนัยยะว่าทรงดำเนินนโยบายและรักษาอุดมคติเดียวกันกับพระราชนโยบายของพระสวามีเมื่อยังทรงพระชนม์[75] ฉากของภาพเขียนเป็นฉากที่เกี่ยวกับเทพที่ไม่ได้บ่งว่าเป็นที่หนึ่งที่ใดโดยเฉพาะ โดยใช้เทพเจ้าหลายองค์จากตำนานเทพกรีกโรมัน ทั้งการใช้เทพจำนวนมากและฉากที่เป็นฉากที่ไม่ได้ระบุแหล่งทำให้เป็นการยากต่อการตีความหมาย เทพจากตำนานเทพกรีกโรมันที่อยู่ในภาพนี้ก็ได้แก่เทพอพอลโล และเทพแพลลัส ผู้มาต่อสู้สิ่งที่ชั่วร้ายต่าง ๆ ที่รวมทั้งความขัดแย้ง ความเกลียดชัง, ความโกรธ และความอิจฉา, เทพเนปจูน, เทพพลูโต, เทพแซทเทิร์น, เทพเฮอร์มีส, เทพแพน, เทพีฟลอรา, เทพีเฮบี, เทพีวีนัส เทพมาร์ส, เทพซูส, เทพีเฮรา, คิวปิด และเทพีไดแอนนา[76]

"การสงครามและชัยชนะที่ยือลิช"[แก้]

"การสงครามและชัยชนะที่ยือลิช"

"การสงครามและชัยชนะที่ยือลิช" หรือ "การสงครามและชัยชนะที่ฌูว์ลีเย" เป็นภาพเดียวที่แสดงพระราชกรณียกิจในด้านการสงครามที่พระราชินีมารีทรงมีส่วนเกี่ยวข้องระหว่างสมัยที่ทรงปกครองในฐานะผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ซึ่งเป็นการคืนยือลิช (หรือฌูว์ลีเยในภาษาฝรั่งเศส) ให้แก่เจ้าชายโปรเตสแตนต์[77] เพราะตำแหน่งที่ตั้งที่ข้ามจากแม่น้ำรัวร์ (Ruhr) ยือลิชจึงมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ต่อฝรั่งเศส และการได้รับชัยชนะครั้งนี้ก็เป็นหัวเรื่องที่รือเบินส์นำมาสรรเสริญในรูปของภาพเขียน ฉากนี้เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่เป็นการเทิดทูนชัยชนะและความเป็นวีรสตรีของพระองค์[77] พระราชินีมารี เดอ เมดีซิสทรงม้าโดยทรงถือคทาในพระหัตถ์ขวา[78] ทางด้านบนของภาพเป็นเทพีแห่งชัยชนะ เทพีวิกตอเรียถือมงกุฎใบลอเรลที่เป็นสัญลักษณ์ของชัยชนะลอยอยู่เหนือพระเศียร นอกจากนั้นก็ยังมีราชอินทรี (imperial eagle) บินอยู่ในฉากหลังไกลออกไป[77] อินทรีทำให้นกที่อ่อนแออื่น ๆ บินหนีไปหมด[78] ทางขวาของพระราชินีมีร่างสตรีเคียงข้างที่เดิมเชื่อกันว่าเป็นบุคลาธิษฐานของความอดทน (Fortitude) เพราะมีสัญลักษณ์สิงโตอยู่เคียงข้าง แต่อันที่จริงแล้วเป็นบุคลาธิษฐานของความยิ่งใหญ่ (Magnanimity) หรือ ที่รู้จักกันอีกชื่อหนึ่งว่า "ความเผื่อแผ่" ที่เห็นได้จากของมีค่าที่ถืออยู่ในมือซ้าย ของมีค่าสิ่งหนึ่งที่ถือคือสายไข่มุกที่พระราชินีมารีทรงโปรดปราน[78] อีกความหมายหนึ่งที่มีผู้ให้ความเห็นคือเป็นบุคลาธิษฐานของออสเตรียพร้อมกับสิงโต[77] รูปสัญลักษณ์อื่น ๆ ก็มี "ความมีชื่อเสียง" ที่อยู่ทางด้านขวาของภาพที่กำลังเป่าทรัมเป็ตแรงจนออกมาเป็นควัน[78] พระราชินีมารีทรงม้าขาวและทรงเครื่องแต่งกายอย่างหรูหราที่แสดงถึงความมีชัยหลังจากยือลิชล่ม ชัยชนะครั้งนี้ก็เท่ากับเป็นการแสดงพระองค์ว่าทรงเป็นผู้มีความสามารถในด้านการศึกสงครามเช่นเดียวกับพระสวามีผู้เสด็จสวรรคตไปแล้ว[79]

"การแลกเปลี่ยนเจ้าหญิงที่พรมแดนสเปน"[แก้]

"การแลกเปลี่ยนเจ้าหญิงที่พรมแดนสเปน"

"การแลกเปลี่ยนเจ้าหญิงที่พรมแดนสเปน" เป็นการฉลองการเสกสมรสคู่ระหว่างอินฟันตาอันนาแห่งสเปนแห่งราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค กับพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 แห่งราชวงศ์บูร์บง และระหว่างพระขนิษฐาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 (เอลีซาแบ็ตแห่งบูร์บง) กับพระเจ้าฟิลิปที่ 4 แห่งสเปนแห่งราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1615

ในภาพบุคลาธิษฐานฝรั่งเศส (ทางขวาของภาพ) และบุคลาธิษฐานสเปน (ทางซ้ายของภาพ) ประคองส่งตัวและรับตัวเจ้าหญิงทั้งสองพระองค์ โดยมียุวเทพที่อาจจะเป็นเทพไฮเมเนียสช่วย ตอนบนของภาพทางริมซ้ายและทางริมขวาเป็นยุวเทพสององค์แหวกม่านถือคบเพลิงแห่งการแต่งงานของเทพไฮเมเนียส ขณะที่เทพเซฟิรัสผู้เป็นเทพเจ้าแห่งลมตะวันตกทางซ้ายของภาพเหนือบุคลาธิษฐานสเปนเป่าไออุ่นแห่งฤดูใบไม้ผลิและโปรยกลีบกุหลาบ รอบ ๆ เป็นยุวเทพบินอยู่อย่างร่าเริงล้อมรอบเฟลีกีตัสปูบลีกาผู้ถือคทางูไขว้และโปรยทองลงมาจากกรวยแห่งความอุดมสมบูรณ์ ด้านล่างของภาพเป็นแม่น้ำอ็องแดที่มีทวยเทพที่มาถวายพระพรลอยตัวอยู่ เทพแห่งแม่น้ำอ็องแด กอดไห (มุมล่างซ้าย), นิมฟ์น้ำ (มุมล่างซ้าย) สวมมงกุฎยื่นสร้อยไข่มุกและปะการังให้เป็นของขวัญ ขณะที่ไทรทันเป่าหอยเพื่อเป็นการฉลองโอกาส[80]การเสกสมรส ซึ่งเป็นการพยายามสมานความสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศสกับสเปนที่เกิดขึ้นกลางแม่น้ำบีดาโซอาระหว่างพรมแดนฝรั่งเศสกับสเปน ในภาพเจ้าหญิงทั้งสองพระองค์ทรงประสานพระหัตถ์ขวาเข้าด้วยกันระหว่างบุคลาธิษฐานของฝรั่งเศสกับสเปน บุคลาธิษฐานของสเปนสวมหมวกเกราะที่มีสิงโตอยู่ตอนบนทางด้านซ้ายของภาพ ขณะที่บุคลาธิษฐานของฝรั่งเศสทางขวาสวมเสื้อคลุมสีน้ำเงินที่มีสัญลักษณ์ดอกลิลีทองของฝรั่งเศส[81] อินฟันตาอันนาแห่งสเปนผู้ขณะนั้นมีพระชนมายุ 14 พรรษาทรงหันพระขนองให้กับบุคลาธิษฐานของสเปนราวกับจะเป็นนัยยะว่าจะทรงทิ้งสเปนเพื่อเสด็จไปยังฝรั่งเศสซึ่งเป็นประเทศของพระสวามี ส่วนบุคลาธิษฐานของสเปนก็เอื้อมมือไปแตะพระอังสาซ้ายของเจ้าหญิงเอลีซาแบ็ตแห่งบูร์บงผู้มีพระชนมายุ 13 พรรษาเพื่อเป็นการต้อนรับเข้าสู่สเปน[82]

"ความผาสุกของรัชสมัยการปกครองในฐานะผู้สำเร็จราชการ"[แก้]

"ความผาสุกของรัชสมัยการปกครองในฐานะ
ผู้สำเร็จราชการ"

ภาพนี้โดยเฉพาะของ "ภาพชุดพระราชินี" เป็นภาพที่ควรค่าแก่ความสนใจตรงที่เป็นภาพที่ใช้วิธีเขียนที่เป็นเอกลักษณ์ ในขณะที่ภาพอื่นเขียนในห้องเขียนภาพของรือเบินส์ที่แอนต์เวิร์ป แต่ภาพ "ความผาสุก" ออกแบบและเขียนทั้งหมดโดยรือเบินส์ที่พระราชวังเพื่อแทนภาพเดิมที่เขียนในปี ค.ศ. 1617 ที่เป็นภาพที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งต่าง ๆ หัวเรื่องของภาพเป็นการแสดงการขับพระราชินีมารีออกจากปารีส โดยพระเจ้าหลุยส์พระราชโอรสของพระองค์เอง ภาพนี้เขียนเสร็จในปี ค.ศ. 1625 และเป็นภาพสุดท้ายของภาพเขียนชุดนี้ในด้านการลำดับเหตุการณ์[83]

ในภาพนี้พระราชินีมารีเองทรงเป็นบุคลาธิษฐานของความยุติธรรมขนาบด้วยเทพเจ้ากรีกโรมันต่าง ๆ ที่รวมทั้งคิวปิด, เทพีมิเนอร์วา, เทพแห่งความรอบคอบ, เทพีอบันดันเชีย, เทพแซทเทิร์น และเทพแห่งความมีชื่อเสียงเทพเฟมสององค์ แต่ละองค์ก็มีสัญลักษณ์ประจำตัวที่นำมามอบแก่พระราชินีมารี (คิวปิดมีธนูและศร; เทพแห่งความรอบคอบมีงูพันแขนที่เป็นสัญลักษณ์ของความมีสติปัญญา; เทพเทพีอบันดันเชียถือกรวยที่เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ของรัชสมัยการปกครองของพระองค์ เทพีมิเนอร์วาเทพีแห่งความมีสติปัญญาสวมหมวกเหล็กและถือโล่ยืนใกล้กับพระพาหาของพระราชินีมารีเพื่อแสดงว่าทรงเป็นผู้ปกครองด้วยความมีพระสติปัญญา เทพแซทเทิร์นมีเคียวและเป็นบุคลาธิษฐานของเวลาที่นำฝรั่งเศสไปสู่อนาคต เทพเฟมมีทรัมเป็ตเพื่อจะฉลองโอกาสอันเป็นมงคล[84]) บุคลาธิษฐานอื่นก็มียุวเทพสี่องค์และปีศาจซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความอิจฉา, ความไม่รู้แจ้ง, และความชั่ว[84]

แม้ว่าภาพนี้จะเป็นภาพที่ไม่ต้องมีการตีความหมายมากเท่าภาพอื่นในชุดเดียวกัน แต่ก็ยังเป็นภาพที่มีความขัดแย้งกันในด้านความสำคัญของภาพอยู่บ้าง แทนที่จะเป็นภาพที่ยอมรับกันว่าเป็นภาพที่แสดงพระราชินีมารีในรูปของความยุติธรรม นักวิชาการบางคนก็เสนอว่าหัวข้อเรื่องที่แท้จริงของภาพควรจะเป็น "การกลับมาสู่โลกของเทพีแอสเทรียผู้เป็นเทพีแห่งความยุติธรรมในยุคทอง"[85] ความคิดนี้สนับสนุนโดยคำกล่าวของรือเบินส์เองที่ว่า "ภาพนี้ไม่มีความหมายพิเศษที่เกี่ยวข้องกับราชอาณาจักรฝรั่งเศสแต่อย่างใด"[86] การใช้สัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่สนับสนุนทฤษฎีนี้ก็ได้แก่พวงใบโอ๊ก ที่อาจจะหมายถึง "corona civica", ฝรั่งเศสที่เป็นเพียงดินแดนรอง และ การใช้เทพแซทเทิร์นในภาพก็อาจจะเป็นการช่วยในการตีความหมายที่รือเบินส์จงใจที่จะทิ้งไว้ก็เป็นได้[86] แต่อาจจะเป็นด้วยความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนี้ก็ได้ที่ทำให้รือเบินส์กล่าวถึงความสำคัญของภาพนี้ในจดหมายถึงเปเรสค์ ลงวันที่ 13 พฤษภาคม ค.ศ. 1625 ว่า:

กระผมเชื่อว่าได้เขียนจดหมายถึงคุณว่าภาพพระราชินีมารีเสด็จออกจากปารีสได้รับการยกออก และแทนภาพนั้นกระผมก็ได้เขียนภาพใหม่ทั้งหมดที่เป็นภาพที่แสดงการดำเนินการของราชอาณาจักรฝรั่งเศส โดยการฟื้นฟูวิทยาศาสตร์และศิลปะอย่างกว้างขวางภายใต้พระราชอำนาจ[ของพระราชินีมารี] ผู้ประทับอยู่บนบัลลังก์อันเรืองรอง ถือตาชั่งในพระหัตถ์เพื่อเป็นการรักษาดุลยภาพของโลกด้วยความรอบคอบและความยุติธรรมของพระองค์

— เปเตอร์ เปาล์ รือเบินส์[87]

เมื่อพิจารณาถึงความรีบเร่งในการเขียนภาพนี้ของรือเบินส์แล้ว การที่รือเบินส์ไม่ได้กล่าวถึงยุคทองในจดหมายและการกล่าวถึงพระราชินีมารี เดอ เมดีซิสในรูปความยุติธรรมแล้วนักประวัติศาสตร์โดยทั่วไปก็พอใจที่จะยอมรับความหมายของภาพที่ตรงไปตรงมาในการใช้อุปมานิทัศน์ต่าง ๆ ในภาพซึ่งตรงกับวิธีการเขียนภาพอื่น ๆ ในชุดเดียวกันนี้[88]

เป็นที่เชื่อกันว่าภาพเดิมที่เป็นภาพพระราชินีมารีเสด็จออกจากปารีสได้รับการปฏิเสธเพื่อที่จะรับภาพ "การเสด็จสวรรคตของพระเจ้าอ็องรีที่ 4 และการประกาศเป็นผู้สำเร็จราชการ" แทนที่เพราะภาพหลังไม่ได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองเท่ากับภาพแรก ที่รือเบินส์กล่าวต่อไปในจดหมายฉบับเดียวกันว่า:

หัวข้อนี้ ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องทางการเมืองในหัวข้อใด ...ของรัชสมัยนี้ หรือไม่พาดพิงไปถึงบุคคลใด ...เป็นที่ยอมรับกันเป็นอย่างดี

— เปเตอร์ เปาล์ รือเบินส์[89]

จากหลักฐานที่ว่านี้ทำให้เราทราบว่ารือเบินส์สามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ได้เป็นอย่างดีซึ่งเป็นการทำให้ส่งเสริมความก้าวหน้าในงานอาชีพ ความเต็มใจที่จะปรับความคิดเห็นส่วนตัวให้คล้องจองกับผู้อุปถัมภ์เป็นเครื่องมืออันสำคัญในการสามารถเขียนภาพชุดที่มีผลกระทบกระเทือนทางการเมืองได้สำเร็จ

"พระเจ้าหลุยส์บรรลุนิติภาวะ"[แก้]

"พระเจ้าหลุยส์บรรลุนิติภาวะ"

"พระเจ้าหลุยส์บรรลุนิติภาวะ" เป็นฉากทางประวัติศาสตร์ที่แสดงการโอนอำนาจจากพระราชินีมารีให้แก่พระราชโอรสผู้ทรงบรรลุนิติภาวะทางนามธรรมโดยการใช้อุปมานิทัศน์[90]พระราชินีมารีทรงปกครองในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในระหว่างที่พระราชโอรสยังทรงพระเยาว์และเมื่อถึงเวลาที่ทรงบรรลุนิติภาวะ พระองค์ก็ทรงมอบหางเสือเรือให้แก่พระเจ้าหลุยส์ผู้เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่อย่างเต็มพระองค์ของฝรั่งเศส เรือในภาพเป็นสัญลักษณ์ของราชอาณาจักรฝรั่งเศสโดยมีพระเจ้าหลุยส์ทรงเป็นผู้ควบคุมทิศทาง

ฝีพายแต่ละคนก็สามารถระบุได้ว่าเป็นใครจากสัญลักษณ์ที่อยู่บนโล่ข้างเรือ โล่ของฝีพายคนที่สองจากด้านหน้าของภาพเป็นแท่นบูชาเพลิงที่มีงูพันแท่นและสฟิงซ์สี่ตัวที่ฐาน ตอนบนของโล่มีตาที่มองลงมาข้างล่าง ลักษณะที่ว่านี้สัญลักษณ์ที่บ่งถึงความเคร่งครัดทางศาสนาที่เป็นคุณลักษณะที่พระราชินีมารีมีพระราชประสงค์จะถ่ายทอดให้แก่พระราชโอรส

นอกจากนั้นเรือที่ว่านี้ก็ยังรู้จักกันว่าเป็นเรือพระราชพิธีหรือเรือแห่ที่ตกแต่งด้วยมังกรด้านหน้าและโลมาสองตัวด้านหลังเหนือหางเสือ พระเจ้าหลุยส์ทอดพระเนตรไปยังพระราชมารดาเพื่อขอคำแนะนำในการถือหางเสือแห่งราชอาณาจักร บนท้องฟ้ามีเมฆดำทมึนที่มีเทพเฟมหรือเทพแห่งความมีชื่อเสียงสององค์ องค์หนึ่งเป่าแตรบิชชินาโรมัน (Roman buccina) และอีกองค์หนึ่งดูเหมือนจะเป่าทรัมเป็ต[91]พระเจ้าหลุยส์ทรงควบคุมทิศทางของเรือขณะที่ฝีพายสี่คนเคลื่อนเรือด้วยกำลังพาย ฝีพายสี่คนประกอบด้วยสัญลักษณ์ของอำนาจ, ศาสนา, ความยุติธรรม และความกลมเกลียวกัน เทพอีกองค์หนึ่งที่ปรับใบเรืออยู่เชื่อกันว่าเป็นเทพแห่งความรอบคอบ หรือเทพเทมเพอรันซ์ กลางภาพหน้าเสากระโดงเรือเป็นบุคลาธิษฐานของฝรั่งเศสผู้ยืนสง่าถือคบเพลิงในมือขวาเพื่อแสดงความมุ่งมั่นและลูกโลกแห่งราชอาณาจักรหรือรัฐบาลในมือซ้าย ฝีพายคนแรกที่ยื่นพายออกไปคือเทพีแห่งอำนาจที่มีโล่ประดับสิงโตเกาะเสาเป็นสัญลักษณ์ เทพีแห่งอำนาจคู่กับพระราชินีมารีโดยมีผมสีเดียวกัน และพระเจ้าหลุยส์กับเทพีแห่งศาสนา

การจับคู่พระราชินีมารี เดอ เมดีซิสกับเทพีแห่งอำนาจเป็นการเพิ่มพระบรมราชานุภาพของพระองค์ ขณะที่ทรงวางท่าที่แสดงการยอมรับในพระราชอำนาจของพระราชโอรสที่ทรงได้รับและที่จะทรงมีต่อไป[92] ภาพนี้เป็นภาพที่น่าสนใจตรงที่เมื่อดูเปรียบเทียบกับบริบทของความสัมพันธ์อันตึงเครียดระหว่างพระมหากษัตริย์หนุ่มกับพระราชมารดาในเหตุการณ์ที่เป็นจริง ก่อนหน้าพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกไม่นานเท่าใดนักพระเจ้าหลุยส์ก็ทรงมีปากมีเสียงกับพระราชมารดาจนทำให้พระองค์ทรงขับพระราชมารดาออกจากราชสำนัก[30] รือเบินส์ทราบถึงเหตุการณ์นี้เป็นที่แน่นอน แต่แทนที่จะเขียนภาพที่แสดงความสัมพันธ์อันตึงเครียดระหว่างสองพระองค์ รือเบินส์ก็เลือกที่จะเน้นความสง่างามของการโอนอำนาจแทนที่

"การหลบหนีจากบลัว"[แก้]

"การหลบหนีจากบลัว"

"การหลบหนีจากบลัว" เป็นภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคืนวันที่ 21/22 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1619 ซึ่งเป็นคืนวันที่พระราชินีมารีเสด็จหลบหนีจากพระราชวังบลัวหลังจากที่ทรงถูกกักกันอยู่เป็นเวลาเกือบสองปีโดยพระราชโอรส ในภาพนี้พระองค์ทรงยืนสง่าอยู่กลางภาพท่ามกลางผู้คนและเหตุการณ์ต่าง ๆ อันวุ่นวายที่เกิดขึ้นรอบข้าง พระองค์ทรงได้รับการพิทักษ์และการประคองโดยบุคลาธิษฐานแห่งฝรั่งเศสทางขวาของภาพ ตอนเหนือของภาพเป็นเทพีออโรราส่องทางยามกลางคืนด้วยคบเพลิง ภาพนี้มีพื้นฐานมาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงและตามเวลาที่เกิดขึ้นจริง[93] แต่รือเบินส์สร้างเสริมบรรยากาศเพื่อแสดงความเป็นวีรสตรีที่เหนือกว่ารายละเอียดของความเป็นจริงที่เกิดขึ้น จากบันทึกหลักฐานทางประวัติศาสตร์การหลบหนีของพระราชินีมารีมิได้แสดงให้เห็นถึงรายละเอียดของเหตุการณ์การหลบหนีที่เกิดขึ้นจริง รือเบินส์จงใจละเลยรายละเอียดบางอย่างเพื่อที่จะไม่ให้เป็นการหมิ่นพระบรมราชานุภาพของพระราชินีมารีเอง ซึ่งผลที่ออกมากลายเป็นภาพที่ไม่เป็นธรรมชาติเท่าใดนัก พระราชินีมารีทรงปรากฏพระองค์ในภาพอย่างสมถะ แต่กระนั้นก็ยังมีนัยยะว่าทรงเป็นผู้มีพระราชอำนาจเหนืออำนาจทางการทหาร และมิได้ทรงแสดงให้เห็นถึงความยากลำบากต่อสิ่งต่าง ๆ ที่ต้องทรงประสบในระหว่างการหลบหนี ชายในภาพด้านหน้าที่ยื่นมือออกไปยังพระองค์ไม่ทราบกันว่าเป็นใคร ตัวแบบหลายตัวด้านหลังเป็นสัญลักษณ์ของทหารที่เป็นการแสดงพระพลานุภาพของพระองค์ทางการทหาร[94]

"การเจรจาที่อ็องกูแลม"[แก้]

"การเจรจาที่อ็องกูแลม"

"การเจรจาที่อ็องกูแลม" เป็นภาพที่มีพื้นฐานมาจากการพยายามสร้างความปรองดองระหว่างพระราชโอรส โดยการเจรจาระหว่างผู้แทนของทั้งสองฝ่าย ในภาพพระราชินีมารีทรงรับช่อมะกอกซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความสันติสุขจากเทพเมอร์คิวรีผู้เป็นผู้สื่อสารของพระเจ้า (หรือในกรณีนี้ก็จะเป็นสาส์นจากพระราชโอรส) ต่อหน้านักบวชสตรีของพระองค์ผู้ที่ได้รับพระราชทานพระราชานุญาตให้ไปเจรจากับพระราชโอรสเพื่อสร้างความปรองดองในกรณีที่เกี่ยวกับความคิดเห็นที่ขัดแย้งกันระหว่างทั้งสองพระองค์ที่เกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาล[79] รือเบินส์ใช้วิธีหลายวิธีในการวาดภาพนี้เพื่อเป็นการแสดงภาพพจน์อันต้องพระประสงค์ของพระราชินีมารี ผู้ที่ทรงต้องการที่จะแสดงพระองค์ในฐานะที่ทรงเป็นผู้พิทักษ์และผู้ให้คำปรึกษาแก่พระราชโอรสผู้ยังทรงพระเยาว์และขาดประสบการณ์ ในภาพนี้พระราชินีมารีทรงนั่งอยู่บนบัลลังก์บนแท่นพร้อมด้วยรูปสลักของเทพีมิเนอร์วาผู้เป็นสัญลักษณ์ของความมีปฏิภาณและยุวเทพสององค์ถือช่อใบลอเรลซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความมีชัยและความเสียสละของพระองค์อยู่เหนือบัลลังก์ที่ประทับ ท่าทางที่สมถะแต่รู้แจ้งของพระองค์เป็นการแสดงให้เห็นถึงความมีหลักและมีปฏิภาณ นอกจากนั้นแล้วรือเบินส์ก็วางพระราชินีมารีในโครงร่างของภาพที่แคบ และในบรรดากลุ่มคนที่ดูใกล้ชิดและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับคาร์ดินัลเพื่อเป็นการเน้นความสัตย์ อันตรงกันข้ามกับความไม่ซื่อตรงของเทพเมอร์คิวรีผู้แอบคทางูไขว้ไว้ข้างตัว แต่การนั้นการแบ่งกลุ่มคนในรูปก็ยังเน้นให้เห็นถึงช่องว่างที่ยังคงแสดงความแตกแยกกันระหว่างทั้งสองฝ่าย นอกจากการแบ่งภาพแล้วรือเบินส์ก็ยังเพิ่มสุนัขขาวที่กำลังเห่าอยู่ในรูปด้วยเพื่อเป็นนัยยะในการเตือนว่าผู้ที่มาเฝ้ามาด้วยจุดประสงค์ที่แอบแฝง สัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่รือเบินส์ใช้ในภาพนี้ก็เพื่อเป็นการเน้นว่าพระราชินีทรงเป็นผู้ที่ทรงถูกมองในแง่ลบโดยขาดความยุติธรรม แม้ว่าจะทรงเป็นผู้มีพระปรีชาสามารถอย่างสุขุม และยังคงมีความคำนึงถึงประโยชน์ของพระราชโอรสผู้ยังทรงพระเยาว์ผู้ที่ยังไม่ทรงขาดประสบการณ์ในการปกครองเช่นเดียวกับพระองค์[95] โดยทั่วไปแล้วภาพนี้เป็นภาพที่มีปัญหาต่อการตีความหมายและสร้างข้อขัดแย้งให้แก่ผู้ชมภาพมากที่สุด และเป็นภาพที่เข้าใจยากที่สุดในบรรดาภาพชุดนี้ทั้งหมด และก็เช่นเดียวกับภาพอื่น ๆ ที่เป็นภาพก็เป็นอีกภาพหนึ่งที่เน้นพระราชานุภาพของพระองค์ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นภาพที่แสดงก้าวแรกของการแสวงหาความปรองดองระหว่างพระองค์และพระราชโอรส[96]

"การเลือกความมั่นคงของพระราชินีมารี"[แก้]

"การเลือกความมั่นคงของพระราชินีมารี"

หลังจากการก่อการแข็งข้อของฝ่ายขุนนางและพระราชินีมารีผู้ไม่มีความพอใจต่อนโยบายการปกครองของรัฐบาลของพระเจ้าหลุยส์ที่ล้มเหลวแล้ว สงครามกลางเมืองก็มายุติลงในยุทธการที่เล-ปง-เดอ-เซ (Les Ponts-de-Cé) โดยความพ่ายแพ้ของกองทัพของพระราชินีมารีอย่างง่ายดายในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1620 ที่มารู้จักกันในภาษาฝรั่งเศสว่า "Drôlerie des Ponts-de-Cé" (ไทย: เรื่องน่าหัวเราะที่เล-ปง-เดอ-เซ)

"การเลือกความมั่นคงของพระราชินีมารี" เป็นภาพพระราชินีมารีทรงต้องลงพระนามในสัญญาสงบศึกที่อองเฌส์หลังจากที่กองกำลังของพระองค์พ่ายแพ้ที่เล-ปง-เดอ-เซ (Ponte-de-Ce) เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับความมั่นคง แม้ว่าจะเป็นภาพที่แสดงความต้องการที่จะเลือกความมั่นคงโดยการใช้สัญลักษณ์ของ "เทวสถานแห่งความมั่นคง"--แต่ภายในภาพเดียวกันก็มีสัญลักษณ์ของความชั่วร้ายอยู่แฝงอยู่ไม่ไกลนัก--ด้านหน้าภาพแสดงการเปลี่ยนแปลงจากมืดมัวมาเป็นความโปร่งแจ่มใส แต่ก็ยังมีสัญลักษณ์ของความไม่สงบที่แฝงอยู่กับการทรงยอมสงบศึกเป็นเงาอยู่ในฉากหลังของภาพด้วย

รูปทรงกลมของเทวสถานเช่นเดียวกับเทวสถานในสมัยกรีกโรมันเป็นสัญลักษณ์ของโลกที่มีความเกี่ยวข้องกับเทพจูโนและพระองค์เอง เหนือขึ้นไปมีป้ายบอกชื่อประกาศ "Securitati Augustae" หรือ "เพื่อความมั่นคงของพระราชินี"[97] เทพเมอร์คิวรีชูคทางูไขว้ประคองพระราชินีมารีผู้ทรงลังเลที่จะเข้าสู่เทวสถานแห่งความสันติสุข เป็นการสื่อความหมายว่ายังทรงมีความมุ่งมั่นที่จะไม่ทรงยอมแพ้[98] ซึ่งทำให้ผู้ดูก็สามารถค้านได้อย่างเต็มที่ว่าเป็นภาพเขียนที่ไม่เกี่ยวกับความสันติสุขหรือความมั่นคง เพราะในขณะที่ทรงแสวงหาสันติสุขพระองค์ก็ยังทรงลังเลที่เป็นนัยยะที่แสดงถึงความมุ่งมั่นของพระองค์ที่ไม่ย่อท้อต่อความสูญเสียต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น[99] ในเมื่อทรงมีอำนาจอย่างเทพ รือเบินส์จึงแสดงพระองค์ในสิ่งแวดล้อมแบบคลาสสิกที่ใช้ลำดับการแสดงภาพและนัยยะทางจักษุเช่นการวาดภาพเทพ ซึ่งเป็นการเขียนภาพในลักษณะที่ใช้อุปมานิทัศน์ในการยกพระราชินีมารีให้เป็นเทพ[100]

"การคืนดีระหว่างพระราชินีมารีและพระเจ้าหลุยส์"[แก้]

"การคืนดีระหว่างพระราชินีมารีและพระเจ้าหลุยส์"

ในภาพ "การคืนดีระหว่างพระราชินีมารีและพระเจ้าหลุยส์" เทพีแห่งความยุติธรรมกำลังเข่นฆ่าไฮดราในตอนล่างของภาพโดยมีเทพแห่งความรอบคอบดูเป็นพยานอยู่ข้างหลัง หัวเรื่องของภาพมาจากอุปมัยของคริสต์ศตวรรษที่ 17 ของการต่อต้านการก่อความไม่สงบ ในภาพนี้สัตว์ร้ายไฮดราเป็นสัญลักษณ์ของชาร์ล ดาลแบร์ (Charles d'Albert de Luynes) ผู้ที่ต้องมาเสียชีวิตด้วยน้ำมือของนักบุญไมเคิลผู้มีท่าทางออกไปทางสตรี[101] ความตายในปี ค.ศ. 1621 ของนักล่าเหยี่ยวชาร์ล ดาลแบร์ผู้กลายมาเป็นผู้นำสูงสุดทางการทหารของประเทศช่วยทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพระราชินีมารีและพระราชโอรสดีขึ้น แต่ไม่นานคองเดผู้เป็นข้าราชสำนักคนโปรดของพระราชโอรสและผู้เป็นศัตรูคนสำคัญของพระราชินีมารีก็ก้าวเข้ามาแทนที่ดาลแบร์ต การวาดภาพที่ความหมายกำกวมในกรณีที่เป็นหัวเรื่องที่อาจจะทำให้เกิดความขัดแย้งก็เป็นไปตามลักษณะการวาดรูปอื่น ๆ ที่มีปัญหาเดียวกัน[102] พระราชินีมารีเองก็คงมีพระประสงค์ที่จะแก้แค้นให้แก่การเสียชีวิตของพระสหายคนสนิทและก็คงมีพระประสงค์ที่จะบรรยายภาพการทำลายชาร์ล ดาลแบร์โดยตรง แต่รือเบินส์เลี่ยงไปใช้อุปมานิทัศน์แทนที่ซึ่งเป็นการเลี่ยงรายละเอียดที่อาจจะทำให้เกิดความขายหน้าต่อมาได้[103] การเลี่ยงของรือเบินส์ในการสร้างฉากความดีชนะความชั่วและสรรเสริญความปรองดองอันสันติสุขของทั้งพระองค์และพระราชโอรสเป็นการแสดงนัยยะถึงความหมายทางการเมืองอย่างเพียงผิวเผิน[103]

เป็นการง่ายที่จะเข้าใจถึงสาเหตุที่ดาลแบร์ตถูกทำลายด้วยเทพและโยนลงไปในหลุมนรก จากการกระทำต่าง ๆ เมื่อยังมีชีวิตอยู่ที่รวมทั้งการใส่ร้ายป้ายสีพระราชินี แต่ดาลแบร์ตก็เป็นเพียงแพะรับบาปในการเป็นผู้มีความรับผิดชอบต่อความสัมพันธ์อันเลวร้ายระหว่างพระเจ้าหลุยส์และพระราชมารดา[104] ในภาพนี้พระเจ้าหลุยส์ทรงเจริญพระชันษาขึ้นในรูปของเทพอพอลโล ความตายของไฮดราไม่ใช่ด้วยน้ำพระหัตถ์ของพระองค์อย่างที่คาดว่าควรจะเป็นแต่ด้วยน้ำมือของเทพีแห่งความยุติธรรมผู้มีร่างอันกำยำอย่างสตรีอเมซอน[105] แต่มิได้ถือตาชั่งประจำตัวเช่นในภาพก่อนหน้านั้นที่ถ้ามีก็จะทำให้มีส่วนเกี่ยวข้องกับพระเจ้าหลุยส์ การเข่นฆ่าดาลแบร์ตของเทพีจึงเป็นการกระทำที่ปราศจากความช่วยเหลือจากพระองค์ ผู้ไม่ทรงแสดงความไยดีแต่อย่างใดต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น[106] ส่วนพระราชินีมารีก็ทรงปรากฏในภาพของมารดาผู้รักบุตรชายผู้พร้อมที่จะยกโทษให้ต่อสิ่งเลวร้ายต่าง ๆ ที่ทรงต้องทนมาตลอด

"ชัยชนะของความสัตย์"[แก้]

"ชัยชนะของความสัตย์"

ภาพสุดท้ายในภาพเขียนชุดนี้คือภาพ "ชัยชนะของความสัตย์" ซึ่งเป็นการใช้อุปมานิทัศน์ทั้งภาพโดยมีพระเจ้าหลุยส์และพระราชมารดาพระราชินีมารีทรงคืนดีกันบนสรวงสวรรค์[107] ในภาพทั้งสองพระองค์ทรงลอยอยู่บนสวรรค์เชื่อมด้วยสัญลักษณ์ของ "ความปรองดอง" (concordia) ที่แสดงถึงการยกโทษให้กันและกันและความมีสันติระหว่างทั้งสองพระองค์ ภายใต้เป็นเทพแซทเทิร์นยกเทพีเวอริทัสขึ้นสวรรค์ที่เป็นสัญลักษณ์ของการนำความสัตย์ออกมาให้เป็นที่เห็นแจ้ง และการคืนดีระหว่างพระราชินีมารีกับพระราชโอรส[108] การแสดง "เวลา" และ "ความสัตย์" ใช้เนื้อที่ถึงสามในสี่ของภาพตอนล่าง ส่วนบนของภาพเป็นพระราชินีมารีกับพระราชโอรส ระหว่างสองพระองค์พระราชินีมารีก็ทรงมีขนาดใหญ่กว่าและใช้เนื้อที่ของภาพมากกว่าพระราชโอรส[109] ซึ่งเป็นการเน้นถึงความสำคัญของพระองค์ อีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยเน้นความสำคัญคือทรงปรากฏพระองค์สูงเท่าเทียมกับพระราชโอรส[110] พระราชโอรสถูกบดบังเล็กน้อยด้วยปีกของเทพแซทเทิร์นทรงคุกพระชานุต่อหน้าพระราชมารดาและถวายสัญลักษณ์แห่งมิตรภาพที่เป็นหัวใจเพลิงในมือที่ประสานกันล้อมรอบด้วยช่อใบลอเรล[111] ในการวางภาพนี้รือเบินส์ให้ความสำคัญต่อพระราชินีมารีมากกว่าพระราชโอรส โดยการใช้การวางท่าทางของพระองค์และการทอดสายพระเนตร ในภาพนี้เทพีแห่งความสัตย์ยื่นมือไปยังพระองค์ขณะที่เทพแห่งกาลเวลาหรือเทพแซทเทิร์นแหงนหน้าขึ้นไปมองยังพระองค์ เทพทั้งสององค์ต่างก็ไม่มีผู้ใดที่ให้ความสนใจต่อพระเจ้าหลุยส์[112] รือเบินส์แสดงภาพของทั้งสองพระองค์ในอนาคตอย่างมีศิลปะ และต่างก็มีพระชนมายุมากขึ้นเมื่อเทียบกับภาพก่อนหน้านั้น การคืนดีบนสวรรค์เป็นนัยยะว่าความปรองดองระหว่างทั้งสองพระองค์ไม่เพียงแต่จะยืนยาวอยู่ในโลกนี้และเป็นการยืนยาวตลอดไปด้วย[113] ตั้งแต่จุดนี้หัวเรื่องของ "ภาพชุดพระราชินีมารี" ก็เปลี่ยนไปเป็นรัชสมัยของพระราชมารดาของพระราชินีมารี[81] หลังจากชาร์ล ดาลแบร์ข้าราชสำนักคนโปรดของพระเจ้าหลุยส์เสียชีวิตไปแล้วพระราชินีมารีและพระราชโอรสก็ทรงคืนดีกัน และในที่สุดก็ทรงได้รับการยอมรับให้กลับเข้าร่วมในราชสภาองคมนตรีในเดือนมกราคม ค.ศ. 1622[114] ภาพนี้เป็นภาพที่แสดงว่าเวลาเป็นสิ่งที่เปิดเผยถึงสัจจะในที่สุดที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างพระราชินีมารีและพระราชโอรส[107]

ภาพสุดท้ายนี้เป็นภาพที่ประจวบกับความสนพระทัยทางการเมืองหลังจากพระสวามีของพระราชินีมารีเสด็จสวรรคต พระองค์ทรงมีความเชื่อว่าสัมพันธไมตรีระหว่างราชอาณาจักรสามารถสร้างขึ้นได้โดยการจัดการเสกสมรสซึ่งทำให้ทรงพยายามให้ "ภาพชุดพระราชินีมารี" นี้เขียนเสร็จก่อนการเสกสมรสระหว่างพระราชธิดาเจ้าหญิงเฮนเรียตตา มาเรียกับพระเจ้าชาลส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ[81]

'"ภาพเหมือนของพระราชบิดามารดา"[แก้]

ฟรันเชสโกที่ 1 เด เมดีชี
โจแอนนา อาร์ชดัชเชสแห่งออสเตรีย

ภาพเขียนอีกสามภาพเป็นภาพเหมือนของพระราชบิดามารดาของพระราชินีมารี: ฟรันเชสโกที่ 1 เด เมดีชี และอาร์ชดัชเชสโจแอนนาแห่งออสเตรีย ที่ตั้งอยู่สองข้างเตาผิง ภาพเหมือนของฟรันเชสโกอยู่ทางขวาที่มองตรงไปยังทางเดินไปทางที่ประทับส่วนพระองค์ของพระราชินีมารี ในภาพฟรันเชสโกสวมเสื้อคลุมที่แต่งตรงชายด้วยขนเออร์มิน โดยมีตราลัทธิเซนต์สตีเฟ็นแห่งทัสเคนีที่ฟรันเชสโกเองเป็นผู้ก่อตั้งห้อยอยู่รอบคอ ภาพของพระมารดาอาร์ชดัชเชสโจแอนนาอยู่ทางซ้ายด้านที่นักท่องเที่ยวจะมองเห็นเมื่อเดินเข้ามา โจแอนนาแต่งตัวด้วยเสื้อที่ปักด้วยด้ายเงินและทองแต่ไม่ได้สวมเครื่องทรงอย่างอื่นที่แสดงฐานะอันสูงส่ง การวางรูปแบบของภาพนี้มาจากภาพเขียนของอาเลสซานโดร อัลโลรี (Alessandro Allori) ที่ต่อมาจิโอวานนิ บิซเซลลิ (Giovanni Bizzelli) ก๊อบปี้ รือเบินส์คงจะมีโอกาสได้เห็นภาพนี้จึงนำอิทธิพลมาใช้ในการวางรูปแบบของภาพเขียนของโจแอนนา แต่งานชิ้นนี้ของรือเบินส์ไม่เด่นเท่ากับงานดั้งเดิมที่ไปรับอิทธิพลมา ภาพเหมือนของอาร์ชดัชเชสโจแอนนาโดยทั่วไปแล้วก็เป็นเพียงภาพของสตรีที่ปราศจากความรู้สึก ในกรณีนี้รือเบินส์ไม่ได้ใช้ธรรมเนียมการวางท่าของตัวแบบในภาพเหมือนที่เขียนกันในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ที่ทำให้ผู้เป็นแบบดูสบาย ๆ ส่วนผู้เป็นแบบแทนฟรันเชสโกนั้นไม่ทราบกันว่าเป็นผู้ใด แต่ก็เป็นที่สงสัยกันว่ารือเบินส์ใช้ปรัชญาการเขียนจากปารีสในการพยายามสร้างให้ผู้เป็นแบบดูมีอำนาจและมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์[115] ลักษณะการเขียนภาพสองภาพนี้แตกต่างกันมากและดูจะไม่พ้องกันกับภาพอื่นในภาพชุดเดียวกัน เมื่อเทียบกับ "ภาพชุดพระราชินีมารี" แล้วภาพนี้ก็ดูเรียบไม่มีชีวิตชีวาเหมือนภาพอื่น ๆ ของพระราชินีมารีที่ดูเต็มไปด้วยชีวิตจิตใจและความงดงาม[116] นอกจากนั้นการใช้อุปมานิทัศน์ต่าง ๆ ของรือเบินส์ในภาพอื่นก็มิได้นำมาใช้กับภาพสองภาพนี้ ซึ่งทำให้กลายเป็นภาพเหมือนที่เรียบ ๆ ธรรมดา นอกจากนั้นแล้วก็ยังกล่าวกันว่าทั้งสองภาพไม่มีความคล้ายคลึงกับตัวแบบจริงแต่อย่างใด[117]

"ภาพชุดพระเจ้าอ็องรี"[แก้]

"การคืนดีระหว่างพระเจ้าอ็องรีที่ 3 แห่งฝรั่งเศส และ พระเจ้าอ็องรีแห่งนาวาร์"

สัญญาจ้างการเขียน "ภาพชุดพระราชินีมารี" เดิมรวมการเขียน "ภาพชุดพระเจ้าอ็องรี" ด้วย แต่ชุดหลังเป็นชุดที่รือเบินส์เขียนไม่เสร็จแม้ว่าจะทำการเริ่มเขียนไม่นานหลังจากเขียนภาพชุดแรกเสร็จ "ภาพชุดพระเจ้าอ็องรี" ตั้งใจเป็นภาพขนาดใหญ่ยี่สิบสี่ภาพที่จะบรรยายเหตุการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตของพระเจ้าอ็องรี "ที่ทรงประสบ, การสงครามที่ทรงเข้าร่วม, ชัยชนะที่ทรงได้รับ และการตีเมืองต่าง ๆ และทรงได้รับชัยชนะ"[118]ภาพสองชุดนี้ออกแบบให้มาพบกันที่ห้องโค้งกลางที่เชื่อมระเบียงแสดงภาพของแต่ละชุด ภาพของแต่ละชุดก็แสดงเป็นคู่ที่รวมหมดทั้งสองชุดแล้วก็จะเป็นสี่สิบแปดภาพ[119]

รือเบินส์ดูเหมือนจะไม่ได้ร่าง "ภาพชุดพระเจ้าอ็องรี" ขณะที่เขียนภาพชุดแรก ในจดหมายฉบับหนึ่งรือเบินส์กล่าวถึงภาพเขียนชุดที่สองนี้ว่าเป็น "ภาพชุดที่ใหญ่โตมโหฬารที่พอที่จะตั้งแสดงในระเบียงแสดงภาพสิบระเบียง" ได้ และจากจดหมายอีกฉบับหนึ่งลงวันที่ 27 มกราคม ค.ศ. 1628 ก็พอจะสรุปได้ว่ารือเบินส์ไม่ได้ทำงานร่างภาพชุดนี้เท่าใดนักก่อนวันที่กล่าว[120] ในบรรดาภาพร่างสีน้ำมันที่เขียนต่อมามีเก้าภาพเท่านั้นที่ยังเหลืออยู่และอีกห้าที่ยังร่างไม่เสร็จ ภาพร่างส่วนใหญ่เป็นภาพเหตุการณ์การยุทธการที่พระเจ้าอ็องรีทรงเข้าร่วม[121] เช่น "การยึดกรุงปารีส"

สิ่งสำคัญที่ควรสังเกตคือเหตุผลที่เขียนไม่เสร็จเป็นเพราะสถานการณ์ทางการเมืองที่ผันผวนที่เกิดขึ้นในขณะนั้น เมื่อพระราชินีมารีทรงถูกห้ามไม่ให้เข้าปารีสในปี ค.ศ. 1631 เมื่ออาร์ม็อง ฌ็อง ดูว์ เปลซี เดอ รีเชอลีเยอมามีอิทธิพลต่อพระเจ้าหลุยส์[122] ซึ่งทำให้รือเบินส์ต้องเลิกทำโครงการทั้งหมดเพราะการอนุมัติงานถูกเลื่อนไปหลายครั้งโดยทางราชสำนัก[121] รีเชอลีเยอผู้มามีอิทธิพลต่อโครงการนี้ไม่ยอมเจรจากับรือเบินส์เกี่ยวกับการดำเนินโครงการให้จบ โดยอ้างว่ามีภาระอื่นเกี่ยวกับการบริหารบ้านเมืองที่ทำให้ไม่สามารถทำให้มีโอกาสพิจารณาการอนุมัติได้[122] แต่สาเหตุที่แท้จริงของรีเชอลีเยอน่าจะมาจากเหตุผลทางการเมืองมากกว่าที่จะมาจากตัวรือเบินส์เอง ขณะนั้นรือเบินส์ไปพำนักอยู่ที่มาดริดเพื่อเตรียมตัวในกิจการทางทูตไปยังลอนดอน เพื่อทำการเจรจาต่อรองระหว่างสเปนและอังกฤษ ซึ่งเท่ากับรือเบินส์ไปทำงานให้กับฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์ต่อนโยบายทางการเมืองของฝรั่งเศส[118] ฉะนั้นรีเชอลีเยอจึงหันไปพยายามหาจิตรกรอิตาลีมาทำโครงการนี้แทนรือเบินส์ จึงเป็นผลให้รือเบินส์มีโอกาสเขียนภาพชุดหลังนี้เป็นพัก ๆ เท่านั้น และหลังจากพระราชินีมารีทรงถูกสั่งไม่ให้เข้าปารีสในปี ค.ศ. 1631 แล้วโครงการก็ถูกพับเลิกไปอย่างถาวร[122] ซึ่งก็เป็นที่น่าเสียดายโดยเฉพาะสำหรับรือเบินส์ผู้เห็นว่าโครงการนี้และโดยเฉพาะโครงการหลังจะเป็นโครงการที่เพิ่มพูนชื่อเสียงให้แก่ตนเองมากยิ่งขึ้น[118]

ภาพร่างที่สำคัญในชุดนี้ชื่อ "การคืนดีระหว่างพระเจ้าเฮนรีที่ 3 และพระเจ้าอ็องรีแห่งนาวาร์" ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญเมื่อพระเจ้าอ็องรีที่ 4 ขึ้นครองราชย์ หลังจากการเสียชีวิตของดยุกแห่งอองชูพระอนุชาของพระเจ้าอ็องรีที่ 3 ผู้ไม่มีรัชทายาท ฐานะของทายาทผู้มีสิทธิโดยตรงจึงตกมาเป็นของพระเจ้าอ็องรีแห่งนาวาร์ (ผู้ต่อมาขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าอ็องรีที่ 4 แห่งฝรั่งเศส) แต่พระสันตะปาปาทรงออกพระบัญญัติประกาศไม่ไห้ทรงขึ้นครองราชบัลลังก์และคว่ำบาตรพระองค์ อองรีแห่งนาวาร์ก็ทรงประท้วงโดยการเข้าทำสงครามสามอองรี เมื่อพระเจ้าอ็องรีที่ 3 ทรงถูกขับออกจากปารีสหลังจากที่ทรงเข้าไปมีส่วนพัวพันกับการฆาตกรรมฟร็องซัว ดุ๊กแห่งกีซแล้ว พระองค์ก็เสด็จไปพบกับอองรีแห่งนาวาร์เพื่อทรงสร้างความเป็นพันธมิตรและให้การรับรองว่าอองรีเป็นพระมหากษัตริย์ที่ถูกต้องของนาวาร์ แม้ว่ารือเบินส์จะเขียนฉากการพบปะกันครั้งนี้ภายในท้องพระโรง แต่บันทึกร่วมสมัยกล่าวว่าทั้งสองพระองค์ทรงพบกันในสวนที่เต็มไปด้วยผู้มาดูเหตุการณ์ ภาพร่างที่เป็นภาพของอองรีแห่งนาวาร์ทรงโค้งคำนับพระเจ้าอ็องรีที่ 3 นั้นถูกต้องตามความเป็นจริง รือเบินส์ใช้ยุวเทพถือมงกุฎของพระเจ้าอ็องรีที่ 3 ที่ตั้งใจที่จะมาสวมให้อองรีแห่งนาวาร์ในอนาคต แม้ว่าการเปลี่ยนมือจะไม่ได้เกิดขึ้นจนหลังจากพระเจ้าอ็องรีที่ 3 ทรงถูกปลงพระชนม์ไปแล้วหลายเดือนต่อมาเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 1589 ก็ตาม เด็กรับใช้ที่ยืนอยู่ข้างหลังอองรีแห่งนาวาร์ถือตราประจำพระองค์ ขณะที่สุนัขเป็นเครื่องหมายของความจงรักภักดี ตัวแบบสองตัวหลังพระเจ้าอ็องรีที่ 3 น่าจะเป็นบุคลาธิษฐานของความฉ้อโกงและเหตุการณ์ที่ผันผวน[123]

หัวใจของ "ภาพชุดพระเจ้าอ็องรี" ตั้งใจที่จะเป็นภาพที่แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถทางการทหารของพระองค์ เนื้อหาของความรุนแรงความมีพลังในภาพชุดนี้จะตรงกันข้ามกับภาพที่ส่วนใหญ่เป็นความสงบสุขใน "ภาพชุดพระราชินีมารี"[124] ภาพ "ยุทธการอีวรี" บนผนังด้านตะวันออกเป็นฉากชัยชนะอย่างเด็ดขาดที่ทรงได้รับในการยึดปารีส สีส่วนใหญ่เป็นสีเทาแต่พระเจ้าอ็องรีทรงสีแดงก่ำที่เด่นออกมาจากภาพ ทรงยืนอยู่กลางภาพถือดาบเพลิง ทหารที่ตามมาอยู่ในสภาพที่ปั่นป่วน[125] ภาพนี้เป็นภาพที่คู่กับภาพ "พระราชพิธีบรมราชาภิเษก" ในชุดของพระราชินีมารี[124]

"การเข้าเมืองปารีส" อยู่ทางด้านเหนือสุดของระเบียงภาพที่เป็นภาพยุทธการครั้งสุดท้ายที่ทรงต่อสู้ซึ่งตั้งอยู่ตรงจุดที่เด่นที่สุด รือเบินส์ต้องการจะให้เป็นภาพที่สำคัญที่สุดในชุดและเขียนไปได้มากแล้ว[126] ภาพนี้เป็นภาพพระเจ้าอ็องรีเสด็จเข้ากรุงปารีสในฉลองพระองค์แบบจักรพรรดิโรมันผู้ทรงถือช่อมะกอกที่เป็นสัญลักษณ์ของความสันติสุข แต่ตามความเป็นจริงแล้วพระองค์มิได้เสด็จเข้าปารีสเช่นในภาพ ฉะนั้นภาพจึงเป็นแต่เพียงสัญลักษณ์ของชัยชนะของพระองค์เท่านั้น การวางท่าและฉาก (สิ่งก่อสร้างและประตูชัย) ไม่สามารถใช้ได้ในปารีสขณะนั้นซึ่งเป็นการสร้างอุปมัยว่าพระเจ้าอ็องรียังเป็นพระมหากษัตริย์แห่งฝรั่งเศส[127]

ลักษณะการเขียนและการสื่อความหมายของภาพ[แก้]

"ภาพชุดพระราชินีมารี เดอ เมดีซิส" เป็นงานจิตรกรรมสำคัญชุดแรกที่รือเบินส์ผู้ขณะนั้นมีชื่อเสียงพอตัวในยุโรปแล้วได้รับจ้างให้เขียน ที่จงใจจะให้เป็นภาพแสดงพระราชประวัติของพระราชินีมารีซึ่งเป็นหัวข้อที่เขียนไม่ได้ง่ายนัก เพราะพระราชประวัติของพระราชินีมารีก็ไม่อาจจะเทียบได้กับพระราชประวัติของพระราชสวามีตรงที่ทรงเป็นสตรีในยุคที่สตรียังไม่ค่อยมีบทบาททางการเมืองเท่าใดนัก แต่กระนั้นรือเบินส์ก็สามารถใช้ความรู้ ความสามารถเกี่ยวกับตำนานเทพเจ้ากรีก/โรมันมาใช้เป็นอุปมานิทัศน์ ซึ่งเป็น เทคนิคการเขียนภาพแบบบาโรกแนวหนึ่งมาเป็นเครื่องมือในการสื่อความหมาย และ สร้างความเป็นวีรสตรีให้แก่พระราชินีมารีและความมีพลานุภาพทางด้านความหมายให้แก่ภาพชุดนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนั้นในช่วงที่เขียนภาพชุดนี้ ฝรั่งเศสอยู่ในสมัยของความไม่สงบทางการเมืองโดยทั่วไป โดยเฉพาะความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างพระราชินีมารีผู้เป็นแบบหลักของภาพกับพระราชโอรสผู้เป็นพระมหากษัตริย์ รือเบินส์จึงอยู่ในฐานะที่ค่อนข้างลำบากที่ต้องพยายามสนองพระราชประสงค์ของพระราชินีมารี ขณะเดียวกันกับที่ต้องพยายามเลี่ยงการเขียนภาพที่อาจจะเป็นการแสดงความหมิ่นพระบรมราชานุภาพของสถาบันพระมหากษัตริย์ฝรั่งเศสในขณะนั้นด้วย รือเบินส์จึงหันไปใช้อุปมานิทัศน์จากตำนานเทพ, บุคลาธิษฐานของคุณธรรมและศาสนา และอุปมัยทางศาสนาในการสร้างเสริมพลังให้แก่ภาพ หรือบางครั้งในการพรางเหตุการณ์ที่ตามความเป็นจริงแล้วเป็นเหตุการณ์ที่ค่อนข้างเป็นพื้น, กำกวม และ หลีกเลี่ยงสิ่งใดที่แสดงความเป็นวีรสตรีของพระราชินีมารีจนออกนอกหน้า แนวการแสดง "ความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์" โดยวิธีที่ว่านี้ของรือเบินส์จึงเป็นวิธี "เลือกสรรการแสดงความเป็นจริง" โดยการใช้ "อภิสิทธิ์ของศิลปิน" ในการตีความหมายและสื่อความหมายของเหตุการณ์ การเสริมหรือการบิดเบือนความเป็นจริงของภาพชุดนี้อาจจะไม่ถูกต้องตามหลักการของการเสนอข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ แต่รือเบินส์ไม่ใช่นักประวัติศาสตร์หรือถ้าในสมัยปัจจุบันก็จะเรียกว่าไม่ใช่ "นักข่าว" ผู้ที่จะต้องมีหน้าที่หรือความรับผิดชอบในการพยายามเสนอความเป็นจริงที่เป็นกลาง "ภาพชุดพระราชินีมารี เดอ เมดีซิส" จึงไม่ใช่การรายงานข่าวหรือการบันทึกประวัติศาสตร์ แต่เป็นงาน "แปรความเป็นจริงเชิงอรรถรส" (poetic transformation) โดยใช้อภิสิทธิ์ของศิลปิน[30]

อิทธิพลต่อศิลปินรุ่นหลัง[แก้]

"ภาพชุดพระราชินีมารี เดอ เมดีซิส" ของรือเบินส์เป็นภาพชุดที่มีอิทธิพลต่อจิตรกรคนสำคัญอื่น ๆ หลายคนในยุคนั้นโดยเฉพาะต่อจิตรกรฝรั่งเศสเช่นฌ็อง-มาร์ก นาตีเย (ค.ศ. 1644-ค.ศ. 1717) และฟร็องซัว บูเช ผู้สร้างงานก๊อบปี้ของภาพชุดนี้[128] นอกจากนั้นการใช้เทพเจ้ากรีก/โรมันในการการสื่อความหมายของภาพก็ยังมามีอิทธิพลต่อจิตรกรอย่างปอล เซซาน (ค.ศ. 1839-ค.ศ. 1906) ต่อมา[129]

ภาพชุดนี้มีอิทธิพลโดยเฉพาะต่ออ็องตวน วาโต (ค.ศ. 1684-ค.ศ. 1721) ผู้เป็นลูกศิษย์ของโกลด ฌีโย และโกลด โอดร็องที่ 3 ผู้เป็นจิตรกรมีลักษณะการเขียนที่นอกแนวไปจากศิลปะสถาบันของฝรั่งเศส โอดร็องเป็นภัณฑารักษ์ของพระราชวังลุกซ็องบูร์ที่เป็นที่ตั้งของภาพชุดพระราชินีมารี เดอ เมดีซิสในขณะนั้น ซึ่งทำให้วาโตมีโอกาสได้เห็นงานเขียน ศึกษา และลอกงานได้โดยตรง ความสามารถในด้านเทคนิคการเขียนภาพและการใช้สีของรือเบินส์เป็นงานที่มีฝีมือที่ดีกว่าผู้ใดในปารีสในขณะนั้น ฉะนั้นจึงทำให้ภาพชุดพระราชินีมารีกลายเป็นภาพชุดที่มามีอิทธิพลอันสำคัญต่อการพัฒนาลักษณะการเขียนวาโตต่อมาเป็นอันมาก[130]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 Belkin, pp. 173-175. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่สมเหตุสมผล มีนิยามชื่อ "belkin173-5" หลายครั้งด้วยเนื้อหาต่างกัน
  2. 2.0 2.1 Saward, p. 2.
  3. Saward, pp. 1-3.
  4. Saward, pp. 1-2.
  5. Belkin, p.176
  6. 6.0 6.1 Belkin, p. 182
  7. Belkin, 42
  8. 8.0 8.1 Smith, p. 127.
  9. 9.0 9.1 Belkin, pp. 175– 176.
  10. Belkin pp. 174-175
  11. 11.0 11.1 11.2 Belkin, p. 178.
  12. Belkin, p.179
  13. 13.0 13.1 Belkin, p. 170.
  14. Belkin, p. 180
  15. Belkin, pp. 176-181.
  16. Belkin, pp. 323.
  17. Belkin, p. 20
  18. Belkin, p. 4
  19. Belkin, p. 8
  20. Belkin, p. 20
  21. Belkin, p. 26
  22. Belkin p. 143
  23. Belkin, pp. 41-59
  24. Belkin, p. 173
  25. 25.0 25.1 Belkin, p. 181.
  26. Coolidge, p. 68.
  27. 27.0 27.1 Coolidge, 69.
  28. Coolidge, 70.
  29. Belkin, pp. 181-182.
  30. 30.0 30.1 30.2 Belkin p. 179
  31. Saward, pp. 9-11.
  32. Downes, p. 362
  33. Saward, pp.22-25
  34. 34.0 34.1 Thuillier, Jacques. Rubens' Life of Marie de' Medici. New York: Harry N. Abrams, Inc., 1967.
  35. 35.0 35.1 Millen & Wolf, pp. 26-29
  36. Matilde Battistini, Symbole und Allegorien
  37. Saward, pp.32-33
  38. Saward, pp. 29-30
  39. 39.0 39.1 Vandergriff, The Life of Marie de' Medici
  40. Millen, p. 44.
  41. Saward, p. 42.
  42. 42.0 42.1 Smith, p 128.
  43. 43.0 43.1 43.2 Held, p. 205
  44. Saward, p. 51.
  45. Cohen, p.493
  46. Millen, pp. 49-50
  47. Millen, p. 15
  48. Belkin, pp.182-185
  49. Janson, pp. 703-705
  50. Avermaete, Roger. Rubens and his times. Cranbury, New Jersey: A.S. Barnes and Company, 1968.
  51. Belkin p.185
  52. Saward, p. 79
  53. Crawford, Katherine B.,The Politics of Promiscuity: Masculinity and Heroic Representation at the Court of Henri IV French Historical Studies, Vol. 26, No. 2, Special Issue: French History in the Visual Sphere. (Spring, 2003), p.230
  54. Crawford, p.246
  55. Wedgwood, C.V., p. 103
  56. McGrath, p. 315
  57. McGrath, p. 11
  58. Winner, p. 68
  59. Winner, pp. 70, 86
  60. Winner, pp. 64-70
  61. Saward, p. 97
  62. Smith, p 129.
  63. 63.0 63.1 Ellenius, p. 71.
  64. Berger, p. 473
  65. Saward, p. 98
  66. 66.0 66.1 Vlieghe, p. 49
  67. Saward, p.100
  68. Sutton, p. 92
  69. Berger, pp. 475-476
  70. 70.0 70.1 Berger, pp.476
  71. Millen, Wolf p. 16
  72. Winner, p. 79
  73. Millen, p 80
  74. Winner, p. 81
  75. Millen, p.145
  76. Avermaete, Roger. Rubens and his times. Cranbury, New Jersey: A.S. Barnes and Company, 1968.
  77. 77.0 77.1 77.2 77.3 Saward, p. 133
  78. 78.0 78.1 78.2 78.3 Millen and Wolf 155
  79. 79.0 79.1 Wedgwood, C.V., 116.
  80. Saward, pp.137
  81. 81.0 81.1 81.2 Belkin, p.186
  82. Belkin, pp. 186-7
  83. Belkin, p. 187.
  84. 84.0 84.1 Belkin, p. 189.
  85. Millen & Wolf, p. 166
  86. 86.0 86.1 Winner, p. 86
  87. quoted in Millen & Wolf, p. 165
  88. Millen & Wolf, pp. 166-7
  89. McGrath, p. 12
  90. Millen p.170
  91. Millen p. 170
  92. Cohen pp.490-491
  93. Saward, p. 163
  94. Millen & Wolf, pp. 178-181
  95. Millen & Wolf, pp. 182-193
  96. Millen, p. 182
  97. Millen, p. 197.
  98. Millen & Wolf, p. 197.
  99. Millen & Wolf, p. 201.
  100. Millen & Wolf, p. 204.
  101. Millen & Wolf, p. 207
  102. Millen & Wolf, p. 203
  103. 103.0 103.1 McGrath, p. 14
  104. Millen & Wolf, p. 205
  105. Millen & Wolf, p. 209
  106. Millen & Wolf, p. 211
  107. 107.0 107.1 Saward, Susan. "The Golden Age of Marie de' Medici". Ann Arbor. UMI Research Press. 1982
  108. Saward, p. 182.
  109. Millen & Wolf p. 220
  110. Millen & Wolf p. 221
  111. Millen & Wolf. p. 221
  112. Millen & Wolf
  113. Millen & Wolf pp.220-221. "Heroic Deeds and Mystic Figures". Princeton. Princeton University Press. 1989.
  114. Millen & Wolf p. 17
  115. Millen, pp.24-25
  116. Millen, p. 25
  117. Millen, pp.23-25
  118. 118.0 118.1 118.2 Held, p. 123
  119. Smith, p. 127
  120. Held, p. 124
  121. 121.0 121.1 Sutton and Weiseman, p. 194
  122. 122.0 122.1 122.2 Belkin, p. 192.
  123. Sutton and Wieseman, pp. 194-195
  124. 124.0 124.1 Smith, p. 131
  125. Held, p. 127
  126. Held, p. 128
  127. Held, p. 129
  128. Belkin, pp. 323.
  129. Sutton, p. 92
  130. Encyclopedia of Irish and World Art 2010: Jean-Antoine Watteau (1684-1721)

บรรณานุกรม[แก้]

  • Coolidge, John. "Rubens and the Decoration of French Royal Galleries". The Art Bulletin. College Art Association. 48, No. 1 (Mar., 1966): 67–69.
  • Vlieghe, Hans (1998). Flemish Art and Architecture 1585 - 1700. Yale University Press.
  • Held, Julius (1980). 17th and 18th Century Art. Prentice-Hall, Inc. ISBN 0-13-807339-2.
  • Belkin, Kristin Lohse (1998). Rubens. Phaidon Press. ISBN 0-7148-3412-2.
  • Berger, Robert W. (1972). "Rubens and Caravaggio: A Source for a Painting from the Medici Cycle". The Art Bulletin. College Art Association. 54, No. 4 (Dec., 1972): 473–477. doi:10.2307/3049036. {{cite journal}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |month= ถูกละเว้น (help)
  • Cohen, Sarah R. (2003). "Rubens's France: Gender and Personification in the Marie de Médicis Cycle". Art Bulletin. 85: 490–522. doi:10.2307/3177384. {{cite journal}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |month= ถูกละเว้น (help)
  • Downes, Kerry (1983). "Rubens's Prices". The Burlington Magazine. 125: 362. {{cite journal}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |month= ถูกละเว้น (help)
  • Held, Julius S. (1980). The Oil Sketches of Peter Paul Rubens. A Critical Catalogue. Vol. 1. Princeton University Press. pp. 123–133.
  • Janson, H. W. (2007). Janson's History of Art: the western tradition 7th ed. Prentice Hall. ISBN 0-13-193455-4.
  • Millen, Ronald; Wolf, Robert Erich (1989), Heroic Deeds and Mystic Figures: a New Reading of Rubens' Life of Maria De' Medici, Princeton University Press, ISBN 0-6910-4065-6
  • Saward, Susan (1982). The Golden Age of Marie de' Medici. Studies in Baroque Art History, no. 2. UMI Research Press. ISBN 0-8357-1307-5.
  • Smith, Shaw (1992). "Rubens and the Grand Camee de France". Gazette des Beaux-Arts. vi, 120: 127–136. {{cite journal}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |month= ถูกละเว้น (help)
  • Sutton, Peter C. & Wieseman, Marjorie E. (2004). Drawn by the Brush, Oil Sketches by Peter Paul Rubens. Yale University Press. pp. 192–195.
  • Wedgwood, C.V. and Time-Life Books, eds. (1967). The World of Rubens 1577-1640. Time Inc. pp. 103, 116. ISBN ND673.R9 W4. {{cite book}}: |last= มีชื่อเรียกทั่วไป (help); ตรวจสอบค่า |isbn=: ตัวอักษรไม่ถูกต้อง (help)CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  • Winner, Matthias (1998), "The Orb as the Symbol of the State", ใน Ellenius, Allan (บ.ก.), Iconography, Propaganda, and Legitimation. The origins of the modern state in Europe, Clarendon Press, pp. 63–86, ISBN 0-1982-0550-3
  • Stockstad, Marilyn (2005), "Henry IV, Receiving Portrait of Marie de' Medici", ใน Stockstad, Marilyn (บ.ก.), Art History, Revised Second Edition, Volume Two., Pearson, pp. 760–761, ISBN 0-13-145529-X

หนังสืออ่านเพิ่มเติม[แก้]

  • Alpers, Svetlana. The Making of Rubens. New Haven 1995.
  • Heinen, Ulrich, "Rubens zwischen Predigt und Kunst." Weimar 1996 เก็บถาวร 2006-08-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.
  • Büttner, Nils, Herr P. P. Rubens. Göttingen 2006.
  • Corpus Rubenianum Ludwig Burchard. An Illustrated Catalogue Raisonne of the Work of Peter Paul Rubens Based on the Material Assembled by the Late Dr. Ludwig Burchard in Twenty-Seven Parts, Edited by the Nationaal Centrum Voor de Plastische Kunsten Van de XVI en de XVII EEUW.
  • Lilar, Suzanne, Le Couple (1963), Paris, Grasset; Reedited 1970, Bernard Grasset Coll. Diamant, 1972, Livre de Poche; 1982, Brussels, Les Éperonniers, ISBN 2-8713-2193-0; Translated as Aspects of Love in Western Society in 1965, by and with a foreword by Jonathan Griffin, New York, McGraw-Hill, LC 65-19851.
  • Vlieghe, Hans, Flemish Art and Architecture 1585-1700, Yale University Press, Pelican History of Art, New Haven and London, 1998.
  • Lamster, Mark, Master of Shadows: The Secret Diplomatic Career of the Painter Peter Paul Rubens, 2009. [1]

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ภาพชุดพระราชินีมารี เดอ เมดีซิส

ระเบียงภาพ[แก้]