ภราดร ศรีชาพันธุ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภราดร ศรีชาพันธุ์
ประเทศ (กีฬา) ไทย
ถิ่นพำนักกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
วันเกิด14 มิถุนายน พ.ศ. 2522 (44 ปี)
จังหวัดขอนแก่น ประเทศไทย
ส่วนสูง1.85 m (6 ft 1 in)
เทิร์นโปร2540
ถอนตัว2553
การเล่นขวา
เงินรางวัล3,459,655 ดอลลาร์สหรัฐ
เดี่ยว
สถิติอาชีพ239–193
รายการอาชีพที่ชนะ5
อันดับสูงสุด9 (12 พฤษภาคม 2546)
ผลแกรนด์สแลมเดี่ยว
ออสเตรเลียนโอเพนรอบ 4 (พ.ศ. 2547)
เฟรนช์โอเพนรอบ 3 (พ.ศ. 2545)
วิมเบิลดันรอบ 4 (พ.ศ. 2546)
ยูเอสโอเพนรอบ 4 (พ.ศ. 2546)
สถิติอาชีพ25–61
รายการเหรียญรางวัล
เทนนิสชาย
ตัวแทนของ  ไทย
เอเชียนเกมส์
เหรียญทอง - ชนะเลิศ กรุงเทพมหานคร 1998 ชายคู่
เหรียญทอง - ชนะเลิศ ปูซาน 2002 ชายเดี่ยว
เหรียญทองแดง - อันดับที่ 3 โดฮา 2006 ทีม

ภราดร ศรีชาพันธุ์ (ชื่อเล่น บอล, เกิด 14 มิถุนายน พ.ศ. 2522) ฉายา "ซูเปอร์บอล" เป็นนักเทนนิสชาวไทย และเป็นอดีตนักเทนนิสชายชาวเอเชียที่มีอันดับสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ด้วยอันดับ 9 ของโลกในปี 2546

ภราดรเริ่มเล่นในระดับอาชีพเมื่อปี 2540 และในรายการเอทีพี ปี 2541 โดยจบปีด้วยอันดับท้าย ๆ ของมือวางร้อยอันดับแรกของเอทีพีมาหลายปี จนกระทั่งปี 2545 สามารถเป็นขึ้นมือวาง 30 อันดับแรก ภายหลังจากสามารถเอาชนะอานเดร แอกัสซีในรายการเทนนิสวิมเบิลดัน และขึ้นเป็นอันดับ 9 ของโลกในปี 2546

ประวัติ[แก้]

ภราดรเกิดที่จังหวัดขอนแก่น[1] เติบโตที่กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรชายคนสุดท้องในจำนวน 3 คน ของชนะชัย และอุบล ศรีชาพันธุ์ มีพี่ชายสองคน คือ ธนากร และนราธร จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่ โรงเรียนอรรถวิทย์พณิชยการ เขตบางนา สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เขาเริ่มเล่นเทนนิสครั้งแรกตั้งแต่อายุ 4 ปี

นอกจากนี้ ภราดรได้ปรากฏตัวในโฆษณาหลายครั้ง ได้แก่ โฆษณาของกระทรวงวัฒนธรรม เชฟโรเลต เทเลคอมเอเซีย ซัมซุง ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ในปี 2547 มีข่าวออกมาว่าเป็นแฟนกับทาทายัง แต่ทางบ้านไม่เห็นด้วย ปีถัดมามีข่าวว่าควงกับ โอเด็ต แจ็คโคมิน นางแบบสาวที่มักเดินทางไปเชียร์ภราดรเมื่อมีโอกาส

ภราดรสมรสกับนาตาลี เกลโบวา วันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2550 และมีงานแต่งงานเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 ต่อมาได้หย่ากัน[2] ภราดรได้สมรสอีกครั้งกับหญิงสาวนอกวงการและมีบุตรสาวด้วยกัน 1 คน[3]

ผลงานการแข่งขันกีฬาเทนนิส[แก้]

ในปี 2547 ภราดรได้เป็นตัวแทนของประเทศไทยในการถือธงชาติในกีฬาโอลิมปิก ที่เอเธนส์ ประเทศกรีซ ผลงานในทีมชาติไทยคือ เหรียญทอง ชายเดี่ยว ซีเกมส์ ครั้งที่ 19 ที่อินโดนีเซีย, 3 เหรียญทอง ซีเกมส์ ครั้งที่ 20 ที่บรูไน, เหรียญทอง ชายคู่ เอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 ที่ประเทศไทย, เหรียญทอง ชายเดี่ยว เอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 14 เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้, ทีมชาติไทย ชุดแชมป์ เดวิส คัพ โซนเอเชีย

เดือนมีนาคม พ.ศ. 2549 ภราดรสามารถเอาชนะมือวางถึง 4 คน จนเข้าสู่รอบรองชนะเลิศการแข่งขันรายการแปซิฟิกไลฟ์โอเพน ทำให้อันดับโลกที่ตกลงไปที่ 61 ดีดกลับมาอยู่ที่ 38 สูงกว่าอันดับโลกเมื่อสิ้นปี 2548 เล็กน้อย อย่างไรก็ตามภราดรประสบปัญหาเจ็บข้อมือเรื้อรัง จนขณะนี้ (19 มีนาคม พ.ศ. 2550) อันดับโลกตกไปอยู่ที่ 83 กลายเป็นมืออันดับสองของไทยตามหลัง ดนัย อุดมโชค ซึ่งอยู่ที่อันดับ 79 และในปี 2550 ภราดรแทบไม่ได้ลงแข่งเทนนิสเลย จนกระทั่งปัจจุบันอันดับได้หล่นลงไปที่ 900 กว่าแล้ว เพราะไม่มีคะแนนสะสม อย่างไรก็ตามภราดรจะได้สิทธิ์ลงแข่งในรายการระดับ ATP 9 รายการในการกลับมาเล่นอีกครั้ง โดยระหว่างพักอาการบาดเจ็บนั้นภราดรรับหน้าที่เป็นพิธีกรในรายการ เช้านี้...ที่หมอชิต

เดือนตุลาคม พ.ศ. 2552 ภราดรสามารถกลับมาลงแข่งขันได้อีกครั้งในรายการ พีทีที ไทยแลนด์ โอเพ่น 2009 หลังจากห่างหายจากการเล่นเทนนิสไป 2 ปี โดยเล่นประเภทชายคู่ คู่กับ ดนัย อุดมโชค แพ้ตกรอบแรกอย่างหวุดหวิด 1-2 เซต ด้วยคะแนน 6-2, 1-6, 6-10

เดือนมกราคม พ.ศ. 2553 ภราดรได้กลับมาแข่งเทนนิสอีกครั้ง 2 รายการในประเทศไทยและฮ่องกง โดยรายการแรกแข่งเทนนิสนัดพิเศษฉลองครบ 100 ปีหัวหิน "หัวหิน เซ็นเท็นเนียล อินวิเทชั่น" ที่สนามเซ็นเท็นเนียลปาร์ค อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2553 ประเภทคู่ผสม ซึ่งแข่งขันกันเพียงเซตเดียวเท่านั้น โดยภราดร คู่กับ วีนัส วิลเลียมส์ ชนะคู่ของ ดนัย อุดมโชค กับ มาเรีย ชาราโปวา ด้วยคะแนน 7-6 ไทเบรก 8-6 รายการที่ 2 แข่งเทนนิสรายการพิเศษ "ฮ่องกง เทนนิส คลาสสิก 2010" ที่วิคตอเรีย พาร์ค เทนนิส สเตเดี้ยม ฮ่องกง เมื่อวันที่ 6-9 มกราคม พ.ศ. 2552 โดยการแข่งขันรายการดังกล่าวเป็นการแข่งขันประเภททีม ซึ่งประกอบด้วยทีมที่เข้าร่วม 4 ทีม ได้แก่ ทีมเอเชีย แปซิฟิก ประกอบด้วย เจีย เชง, อายูมิ โมริตะ และ ภราดร ศรีชาพันธุ์ ทีมรัสเซีย ประกอบด้วย มาเรีย ชาราโปว่า เวร่า ซโวนาเรว่า และ เยฟเกนี่ คาเฟลนิคอฟ ทีมอเมริกา ประกอบด้วย วีนัส วิลเลี่ยมส์, จีเซล่า ดุลโก้ และ ไมเคิ่ล ชาง ทีมยุโรป ประกอบด้วย แคโรไลน์ วอซเนี้ยคกี้, วิคตอเรีย อซาเรนก้า และ สเตฟาน เอ็ดเบิร์ก ผลการแข่งขันทีมเอเชีย แปซิฟิกได้รองแชมป์กลุ่มเงิน โดยภราดรลงสนามนัดแรกประเภทเดี่ยวชนะเยฟเกนี่ คาเฟลนิคอฟ ด้วยคะแนน 6-2, 1-6, 10-4 นัดสองประเภทคู่ผสมคู่กับอายูมิ โมริตะ แพ้ มาเรีย ชาราโปว่า กับ เยฟเกนี่ คาเฟลนิคอฟ ด้วยคะแนน 4-6, 5-7 นัดสามประเภทเดี่ยวชนะไมเคิ่ล ชาง ด้วยคะแนน 6-4, 2-6, 10-6 นัดสี่ประเภทคู่ผสมคู่กับเจีย เชง แพ้ วีนัส วิลเลี่ยมส์ กับ ไมเคิ่ล ชาง ด้วยคะแนน 6-4, 3-6, 9-11

หลังจากนั้นภราดรได้มีผลงานแสดงภาพยนตร์เรื่องแรกคือ บางระจัน 2 และเป็นผู้ปั้นนักกีฬาโครงการ "เดอะสตาร์" ของลอนเทนนิสสมาคมฯ เป็นกัปตันทีมเดวิสคัพให้กับทีมชาติไทยอีกด้วย แต่เมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2553 ภราดรประสบอุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์คว่ำแขนหัก 2 ข้าง และขาหัก 1 ข้าง ทำให้กระดูกข้อมือทั้ง 2 ข้างเคลื่อน และเท้าซ้ายฉีก ทำให้ภราดรไม่มีความพร้อมที่จะกลับสู่สนามแข่งขันเทนนิสอาชีพได้ตามที่ตั้งใจไว้ตั้งแต่แรก และประกาศแขวนแร็กเก็ตอย่างเป็นทางการในรายการ พีทีที ไทยแลนด์ โอเพน 2010[4] โดยปัจจุบันภราดรผันตัวเองมาจับธุรกิจหลายต่อหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นศูนย์ฝึกสอนเทนนิส ร้านอาหาร รวมไปถึง บริษัทผลิตยาสมุนไพรบำรุงกำลังเพศชาย "แมจิก ไอริส"

เดือนตุลาคม พ.ศ. 2553 ภราดรได้กลับมาแข่งเทนนิสอีกครั้งในรายการพิเศษ "เอทีพี แชมเปี้ยนส์ ทัวร์" ที่ศูนย์เทนนิสนานาชาตินครเฉิงตู สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 21-24 ตุลาคม พ.ศ. 2553 ซึ่งเป็นรายการที่ได้เชิญนักเทนนิสอดีตมือ 1 โลก และ นักเทนนิสที่มีชื่อเสียงในอดีตและได้เลิกเล่นเทนนิสไปแล้วมาลงสนามแข่งขัน โดยมีข้อกำหนดว่า นักหวด 6 คน ต้องเคยเป็นมือ 1 โลก, เข้าชิงชนะเลิศแกรนด์สแลม หรือเป็นแชมป์เดวิส คัพ มาแล้ว ขณะที่อีก 2 คนจะเป็นนักกีฬารับเชิญ ซึ่งรวมถึง"เจ้าบอล" ภราดร ศรีชาพันธุ์ อดีตมือ 9 ของโลก และมือ 1 เอเชีย ขวัญใจชาวไทยในครั้งนี้ โดยทั้งสองกลุ่มจะแข่งขันแบบพบกันหมด ผู้ชนะของสองกลุ่มเข้าไปชิงชนะเลิศ และอันดับ 2 ของแต่ละกลุ่มชิงที่ 3 โดยเล่นในระบบ 2 ใน 3 เซต และเซตตัดสินใช้ระบบแชมเปี้ยนไทเบรก ใครถึง 10 แต้มก่อนชนะ ภราดรอยู่กลุ่ม A ลงสนามนัดแรกพบกับ กี ฟอร์เชต์ อดีตมือ 4 ของโลก ภราดรเป็นฝ่ายแพ้ไป 0-2 เซต ด้วยคะแนน 4-6, 6-7 (1) นัดสองพบกับ แพช แคช อดีตมือ 4 ของโลก ภราดรเป็นฝ่ายชนะไป 2-1 เซต ด้วยคะแนน 6-4, 5-7, 10-5 นัดสามพบกับ พีท แซมพราส อดีตมือ 1 ของโลก ภราดรเป็นฝ่ายแพ้ไป 0-2 เซต ด้วยคะแนน 3-6, 2-6 ได้อันดับ 3 ของกลุ่ม A

เดือนมกราคม พ.ศ. 2555 ภราดรได้กลับมาแข่งเทนนิสอีกครั้งในการแข่งขันเทนนิสการกุศล "เวิลด์ เทนนิส แชริตี้ อินวิเทชั่น" เพื่อระดมทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมใหญ่ ที่สนามเซ็นเทนเนียล ปาร์ค อินเตอร์คอนติเนนตัล หัวหิน รีสอร์ท จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2555 ชนะ จอห์น อิสเนอร์ (มือ 18 ของโลก) 2-0 เซต ด้วยคะแนน 6-4, 7-5

สถิติ[แก้]

ชนะเลิศ[แก้]

รายการ
แกรนด์สแลม (0)
เทนนิสมาสเตอร์สคัพ (0)
เทนนิสมาสเตอร์สซีรีส์ (0)
เอทีพีทัวร์ (5)


ลำดับที่ วันที่ รายการ พื้นสนาม คู่แข่ง คะแนน
1. 19 สิงหาคม 2545 ลองไอส์แลนด์, สหรัฐอเมริกา ฮาร์ดคอร์ต ฮวน อิกนาซิโอ เชลา (อาร์เจนตินา) 5-7 6-2 6-2
2. 21 ตุลาคม 2545 สต็อกโฮล์ม, สวีเดน ฮาร์ดคอร์ต มาร์เซโล ริออส (ชิลี) 6-7(2) 6-0 6-3 6-2
3. 30 ธันวาคม 2545 เชนไน, อินเดีย ฮาร์ดคอร์ต คาโรล คูเซรา (สโลวาเกีย) 6-3 6-1
4. 18 สิงหาคม 2546 ลองไอส์แลนด์, สหรัฐอเมริกา ฮาร์ดคอร์ต เจมส์ เบลค (สหรัฐอเมริกา) 6-2 6-4
5. 14 มิถุนายน 2547 นอตติงแฮม, อังกฤษ คอร์ตหญ้า โทมัส โยแฮนสัน (สวีเดน) 1-6 7-6(4) 6-3

รองชนะเลิศ[แก้]

สรุปผลงาน[แก้]

(วันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2550)

รายการการแข่งขัน พ.ศ. 2550 พ.ศ. 2549 พ.ศ. 2548 พ.ศ. 2547 พ.ศ. 2546 พ.ศ. 2545 พ.ศ. 2544 พ.ศ. 2543 พ.ศ. 2542 พ.ศ. 2541 พ.ศ. 2540 รวม
ออสเตรเลียนโอเพน รอบ 1 รอบ 1 รอบ 2 รอบ 4 รอบ 2 รอบ 1 รอบ 1 รอบ 2 - - -
เฟรนช์โอเพน - รอบ 1 รอบ 1 รอบ 2 รอบ 1 รอบ 3 - รอบ 1 - - -
วิมเบิลดัน - รอบ 1 รอบ 1 รอบ 1 รอบ 4 รอบ 3 รอบ 1 รอบ 1 รอบ 2 - -
ยูเอสโอเพน - รอบ 2 รอบ 3 รอบ 3 รอบ 4 รอบ 2 รอบ 1 รอบ 1 - - -
เทนนิสมาสเตอร์สคัพ - - - - - - - - - - -
รวม ชนะ-แพ้ 1-5 11-13 31-30 44-30 50-28 49-25 10-16 11-18 10-7 - 0-1 239-193
อันดับโลกเมื่อสิ้นปี 630 53 43 27 11 16 120 109 99 404 459

รางวัลและความสำเร็จ[แก้]

  • 2545: รางวัลพัฒนาการยอดเยี่ยม ของ เอทีพี
  • 2545-2546: รางวัลผู้มีน้ำใจนักกีฬายอดเยี่ยม ของ เอทีพี

เพลง[แก้]

ผลงานการแสดง[แก้]

  • พิธีกร รายการเช้านี้...ที่นรก (ผู้ประกาศข่าวกีฬา “ผู้รู้...ผู้เล่า” ด้านกีฬาเทนนิส) ทางช่อง vt ออกอากาศทุกวันจันทร์ - วันศุกร์ เวลา 06.00 - 07.30 น.
  • บางระจัน 2 (2553)

งานการเมือง[แก้]

ภราดร ศรีชาพันธุ์ เข้าร่วมกิจกรรมการทางการเมืองกับพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2554 ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่มีนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ นายกลอนเทนนิสสมาคมแห่งประเทศไทย เป็นผู้ให้การสนับสนุนพรรค[5] ซึ่งในตอนแรกภารดรตั้งใจไว้ว่าจะลงรับสมัครเลือกตั้งในการเลือกตั้งกลางปีเดียวกันนี้ แต่ทว่าเมื่อตรวจสอบคุณสมบัติแล้ว พบว่าภารดรไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งคราวที่แล้ว (การเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครและสมาชิกสภาเขต-ส.ก., ส.ข. เมื่อปี พ.ศ. 2551) จึงทำได้เพียงแค่เป็นผู้สนับสนุนเท่านั้น [6]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "ภราดร"-"ระเบียบรัตน์"กับคนขอนแก่น[ลิงก์เสีย] จากโอเคเนชั่น
  2. Paradorn Srichaphan divorced Miss Universe 2005 Natalie Glebova เก็บถาวร 2017-05-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน - News Amen (February 26, 2011)
  3. เปิดภาพล่าสุด บอล ภราดร กับภรรยาและลูกสาว ครอบครัวอบอุ่นมาก
  4. “ภราดร” ปล่อยโฮอำลาเทนนิสอาชีพเก็บถาวร 2010-10-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก ผู้จัดการออนไลน์
  5. ""ภราดร"คลุกฝุ่นการเมือง ลงสนามเลือกตั้งในนาม"ชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน"". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-06-16. สืบค้นเมื่อ 2011-04-18.
  6. "ไม่ไปเลือกตั้งเป็นเหตุ!! "ภราดร" ส่อแห้วลง ส.ส.ชพน. จากผู้จัดการออนไลน์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-05-15. สืบค้นเมื่อ 2011-05-22.
  7. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์[ลิงก์เสีย], เล่ม ๑๑๙ ตอนที่ ๒๒ ข หน้า ๑๘, ๔ ธันวาคม ๒๕๔๕

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]