ฟุตบอลในประเทศอังกฤษ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ฟุตบอลในอังกฤษ)
ฟุตบอลทีมชาติอังกฤษ ใช้สนามกีฬาเวมบลีย์เป็นสนามเหย้า

กีฬาฟุตบอล ถือกำเนิดในประเทศอังกฤษ ทั้งยังเป็นกีฬาประจำชาติด้วย ก่อนจะมีการเล่นอย่างแพร่หลายในหลายประเทศทั่วโลก โดยในอังกฤษเรียกว่า ฟุตบอล โดยแทบไม่ใช้คำว่า ซอกเกอร์ อย่างในบางประเทศเช่น สหรัฐ เป็นต้น โดยมีการก่อตั้งสโมสรฟุตบอลเชฟฟีลด์ เป็นแห่งแรกของอังกฤษและของโลก เมื่อปี ค.ศ. 1857 ส่วนสโมสรฟุตบอลนอตส์เคาน์ตี เป็นแห่งแรกในระดับอาชีพ เมื่อปี ค.ศ. 1862 ก่อนที่จะมีการก่อตั้ง สมาคมฟุตบอลอังกฤษ (เอฟเอ) ขึ้นกำกับดูแลกิจการทั้งปวง ในปีต่อมา (ค.ศ. 1863)

ต่อมา เอฟเอเริ่มจัดแข่งขันระบบฟุตบอลถ้วย โดยให้ชื่อว่า เอฟเอคัพ เป็นครั้งแรกของอังกฤษและของโลก ตั้งแต่ฤดูกาล 1871-72 จนถึงปัจจุบัน จากนั้น สโมสรฟุตบอล 12 แห่ง ริเริ่มรวมตัวกันเป็นองค์กรฟุตบอลลีก เพื่อจัดการแข่งขันระบบลีกระหว่างกลุ่มสโมสรดังกล่าวเป็นครั้งแรก ในฤดูกาล 1888-89 และยังจัดแข่งขันฟุตบอลถ้วย โดยให้ชื่อว่า ฟุตบอลลีกคัพ ตั้งแต่ฤดูกาล 1960-61 จนถึงปัจจุบัน สำหรับระบบลีก ดำเนินมาเป็นเวลา 104 ปี จนกระทั่งสโมสรฟุตบอล 22 แห่ง (ต่อมาลดลงเหลือเพียง 20 สโมสร) ในลีกระดับชั้นที่ 1 (Division 1) ร่วมกับรูเพิร์ต เมอร์ด็อก นักธุรกิจสื่อสาร เจ้าของเครือข่ายโทรทัศน์สกาย แยกตัวออกมาก่อตั้งลีกสูงสุดขึ้นใหม่ โดยให้ชื่อว่า พรีเมียร์ลีก ตั้งแต่ฤดูกาล 1992-93 จนถึงปัจจุบัน ส่วนองค์กรฟุตบอลลีก ยังคงจัดแข่งขันลีก ในระดับรองลงไปตามเดิม

ประวัติ[แก้]

การเล่นฟุตบอลครั้งแรกของโลก เท่าที่มีบันทึกไว้เป็นหลักฐาน เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1170 ส่วนผู้บัญญัติศัพท์ว่า football เป็นครั้งแรก ได้แก่เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดที่สอง ซึ่งต่อมาขึ้นเป็นกษัตริย์ของอังกฤษ เมื่อปี ค.ศ. 1314 จากนั้นมีวิวัฒนาการขึ้นเป็นรูปแบบกีฬาทางการ และมีการกำหนดกติกาอย่างชัดเจนตามลำดับ โดยในยุคแรก ทีมฟุตบอลต่างๆ เกิดขึ้นภายในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย จนกระทั่งในวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ. 1857 กลุ่มอดีตนักเรียน ของโรงเรียนในเมืองเชฟฟีลด์ รวมตัวกันก่อตั้ง สโมสรฟุตบอลเชฟฟีลด์ ขึ้นเป็นสโมสรฟุตบอลแห่งแรกของอังกฤษและของโลก

ส่วนการแข่งขันฟุตบอลนัดแรก ซึ่งมีการลงข่าวในหนังสือพิมพ์เป็นหลักฐาน เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม ค.ศ. 1862 ระหว่างสโมสรฟุตบอลเชฟฟีลด์ กับสโมสรฟุตบอลฮัลลัม (Hallam football club) ต่อมาในวันที่ 26 ตุลาคม ค.ศ. 1863 มีการประชุมเป็นครั้งแรก เพื่อก่อตั้งสมาคมฟุตบอลอังกฤษ ซึ่งเป็นสมาคมฟุตบอลแห่งแรกของโลก โดยในปี ค.ศ. 1867 เริ่มแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยยูดาน (Youdan Cup) เป็นครั้งแรกในอังกฤษและของโลก และในปี ค.ศ. 1871 เริ่มแข่งขันฟุตบอลถ้วย ระหว่างสโมสรในระดับชาติคือ เอฟเอคัพ เป็นครั้งแรกในอังกฤษและของโลกเช่นกัน ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 5 มีนาคม ค.ศ. 1870 มีการแข่งขันฟุตบอลระดับทีมชาติ เป็นครั้งแรกของโลก ที่สนามคริกเก็ตดิโอวัล ในกรุงลอนดอน ซึ่งทีมชาติอังกฤษ เสมอกับทีมชาติสกอตแลนด์ 1:1 ประตู

สืบเนื่องจากที่เอฟเอ ดำเนินการออกระเบียบ สำหรับฟุตบอลระดับอาชีพ เมื่อปี ค.ศ. 1885 ผู้อำนวยการสโมสรแอสตันวิลลา เป็นผู้นัดหมายสโมสรฟุตบอล 12 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งประกอบด้วย เปรสตันนอร์ธเอนด์, โบลตันวันเดอเรอส์, เอฟเวอร์ตัน, เบิร์นลีย์, แอ็กคริงตัน, แบล็กเบิร์นโรเวอส์, แอสตันวิลลา, เวสต์บรอมมิชอัลเบียน, วุลเวอร์แฮมป์ตันวันเดอเรอส์, นอตส์เคาน์ตี, ดาร์บีเคาน์ตี และสโตกซิตี เพื่อร่วมกันก่อตั้งองค์กร ฟุตบอลลีก (The Football League) ขึ้นเพื่อดำเนินการจัดแข่งขัน ฟุตบอลอาชีพในระบบลีก โดยเมื่อแรกเริ่มก่อตั้งปี ค.ศ. 1888 มีเพียงระดับชั้นเดียว และเปรสตันนอร์ธเอนด์ เป็นทีมชนะเลิศ ในการแข่งขันฤดูกาลแรกสุด (1888-89)

ทว่าเมื่อขึ้นฤดูกาลใหม่ (1889-1890) มีสโมสรฟุตบอลบางส่วนจากฟุตบอลลีก แยกตัวไปก่อตั้งองค์กรใหม่ชื่อ พันธมิตรฟุตบอล (Football Alliance) เพื่อจัดแข่งขันระบบลีกในลักษณะเดียวกัน แต่เมื่อสิ้นสุดฤดูกาล 1891-92 พันธมิตรฟุตบอลก็กลับเข้าไปรวมกับฟุตบอลลีกอีกครั้ง เป็นผลให้ฟุตบอลลีกมีสโมสรสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 28 แห่ง จึงต้องจัดเป็นสองระดับชั้น (Division) แบ่งเป็นระดับชั้นที่ 1 มี 16 สโมสร และระดับชั้นที่ 2 อีก 12 แห่ง ต่อมาในฤดูกาล 1920-21 ฟุตบอลลีกเพิ่มการแข่งขันระดับชั้นที่ 3 และเมื่อฤดูกาล 1958-59 เพิ่มในระดับชั้นที่ 4 ส่วนแอสตันวิลลา เป็นทีมแรกสุดที่ชนะเลิศ ทั้งฟุตบอลลีกและเอฟเอคัพ ในฤดูกาลเดียวกัน เมื่อฤดูกาล 1896-97

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1908 เอฟเอเริ่มดำเนินการจัดแข่งขัน ฟุตบอลการกุศลก่อนเปิดฤดูกาล ชาริตีชีลด์ (Charity Shield; ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น เอฟเอคอมมูนิตีชีลด์ ; The FA Community Shield) ซึ่งผู้ชนะเลิศในครั้งแรกได้แก่ สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด (ผู้ชนะเลิศฟุตบอลลีกระดับชั้นที่ 1) ซึ่งชนะควีนส์พาร์กเรนเจอส์ (ผู้ชนะเลิศลีกภาคใต้) ในนัดแข่งใหม่ 4:0 ประตู หลังจากที่นัดแรกเสมอกัน 1:1 ประตู ปัจจุบัน (ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1974) เอฟเอกำหนดให้จัดขึ้น ที่สนามกีฬาเวมบลีย์เป็นประจำทุกปี ระหว่างผู้ชนะเลิศลีกสูงสุด (ฟุตบอลลีกระดับชั้นที่ 1 จนถึง ค.ศ. 1992 และเปลี่ยนเป็นพรีเมียร์ลีก ตั้งแต่ ค.ศ. 1993) พบกับผู้ชนะเลิศฟุตบอลถ้วยระดับชาติ (เอฟเอคัพ) หากเป็นทีมเดียวกัน จะแข่งกับรองชนะเลิศของลีกสูงสุดแทน

อนึ่ง ตั้งแต่ฤดูกาล 1960-61 ฟุตบอลลีกยังจัดการแข่งขันฟุตบอลถ้วย โดยให้ชื่อว่า ฟุตบอลลีกคัพ จนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ เมื่อปี ค.ศ. 1979 เอฟเอยินยอมให้ก่อตั้งองค์กรชื่อ ระบบลีกแห่งชาติ (The National League System; NLS - เอ็นแอลเอส) เพื่อจัดการแข่งขันฟุตบอลลีกอาชีพ ในระดับชั้นที่ 5 และ 6 เรียกชื่อว่า ฟุตบอลคอนเฟอเรนซ์ (Football Conference) ต่อมาในปี ค.ศ. 1987 เอฟเอนำเอ็นแอลเอส และฟุตบอลคอนเฟอเรนซ์ รวมเข้าเป็นส่วนย่อยของฟุตบอลลีก จากนั้นเมื่อสิ้นสุดฤดูกาล 1991-92 รูเพิร์ต เมอร์ด็อก นักธุรกิจสื่อสาร เจ้าของเครือข่ายโทรทัศน์สกาย นัดประชุมร่วมกับสโมสรฟุตบอล ซึ่งอยู่ในการแข่งขันระดับชั้นที่ 1 ของฟุตบอลลีก จำนวน 22 แห่งคือ ลีดส์ยูไนเต็ด, แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด, เชฟฟีลด์เวนส์เดย์, อาร์เซนอล, แมนเชสเตอร์ซิตี, ลิเวอร์พูล, แอสตันวิลลา, นอตติงแฮมฟอเรสต์, เชฟฟีลด์ยูไนเต็ด, คริสตัลพาเลซ, ควีนส์ปาร์กเรนเจอส์, เอฟเวอร์ตัน, วิมเบิลดัน, เชลซี, ท็อตแนมฮอตสเปอร์, เซาแธมป์ตัน, โอลแดมแอธเลติก, นอริชซิตี, โคเวนทรี ซิตี้, อิปสวิชทาวน์, มิดเดิลสโบรช์ และแบล็กเบิร์นโรเวอส์

โดยเมอร์ด็อกหารือกับสมาชิกฟุตบอลลีกระดับชั้นที่ 1 เสนอผลประโยชน์ จากการถ่ายทอดสดการแข่งขัน เพื่อแลกกับความร่วมมือในการจัดตั้งบริษัทจำกัด เพื่อดำเนินการจัดแข่งขันลีกสูงสุดขึ้นใหม่ทดแทน ผลการประชุมสรุปว่า สมาชิกฟุตบอลลีกระดับชั้นที่ 1 ทั้งหมด ตกลงว่าจะร่วมกันก่อตั้งลีกสูงสุดขึ้นเอง ตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม ค.ศ. 1992 โดยให้ชื่อว่า เอฟเอ พรีเมียร์ลีก ซึ่งดำเนินการโดย บริษัท พรีเมียร์ลีก จำกัด (มหาชน) ซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ปีเดียวกัน และมีสโมสรสมาชิกทั้ง 22 แห่งเป็นผู้ถือหุ้นด้วยอัตราส่วนเท่ากัน เริ่มตั้งแต่ฤดูกาล 1992-93 เป็นต้นไป โดยที่ตั้งแต่ฤดูกาล 1995-96 พรีเมียร์ลีกปรับลดจำนวนสมาชิกลงเหลือเพียง 20 สโมสรจนถึงปัจจุบัน

สิทธิเข้าแข่งขันในระดับทวีปยุโรป[แก้]

สโมสรที่ประสบความสำเร็จใน พรีเมียร์ลีก เอฟเอคัพ หรือ ลีกคัพ จะมีสิทธิเข้าร่วมแข่งขันในระดับทวีปที่ดูแลโดยยูฟ่ากับทีมสโมสรในประเทศอื่น ในทวีปยุโรป โดยจำนวนทีมที่เข้าแข่งขันจะแตกต่างกันไปตามแต่ฤดูกาล ประมาณ 7-10 ทีม โดยในปัจจุบันระบบจะเป็นดังนี้

การแข่งขัน ผู้ผ่านคัดเลือก หมายเหตุ
ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก สโมสรที่ชนะเลิศพรีเมียร์ลีก
สโมสรรองชนะเลิศพรีเมียร์ลีก ถ้าทีมอันดับ 3 หรือ 4 ได้แชมเปียนส์ลีก ทีมอันดับ 2 จะต้องไปเล่นในรอบคัดเลือกรอบ 3
ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก รอบคัดเลือกรอบสาม สโมสรที่ได้อันดับ 3 ในพรีเมียร์ลีก
สโมสรที่ได้อันดับ 4 ในพรีเมียร์ลีก ถ้าทีมสโมสรจากอังกฤษชนะแชมเปียนส์ลีก และไม่ได้เป็นหนึ่งในสี่ทีมในพรีเมียร์ลีก ทีมนั้นจะเข้าเล่นในแชมเปียนส์ลีก และทีมอันดับ 4 จะไปเล่นใน ยูฟ่ายูโรปาลีก
ยูฟ่ายูโรปาลีก สโมสรที่ได้อันดับ 5-6 ในพรีเมียร์ลีก ถ้าสโมสรผ่านการคัดเลือกจาก เอฟเอคัพ หรือ ลีกคัพ ทีมอันดับรองมาจะมาเล่นแทน
สโมสรที่ชนะเลิศเอฟเอคัพ ถ้าสโมสรผ่านการคัดเลือกจาก พรีเมียร์ลีก ทีมรองชนะเลิศเอฟเอคัพจะมาเล่นแทน
สโมสรที่ชนะยูฟ่ายูโรปาลีกในปีก่อนหน้า ถ้าสโมสรได้เล่นในแชมเปียนส์ลีก หรือ ยูฟ่ายูโรปาลีกแล้วตำแหน่งนี้จะถูกละ
ยูฟ่ายูโรปาลีก รอบคัดเลือกรอบแรก สโมสรในพรีเมียร์ลีกที่ได้รางวัล ยูฟ่า แฟร์เพลย์ คะแนนแฟร์เพลย์ต้องมากกว่า 8 แต้ม
ยูฟ่ายูโรปาคอนเฟอเรนซ์ลีก สโมสรที่ชนะเลิศลีกคัพ ถ้าสโมสรผ่านการคัดเลือก ให้นำทีมอันดับสูงสุดรองลงมาในพรีเมียร์ลีกเล่นแทน
ถ้าทีมสโมสรจากอังกฤษชนะยูฟ่ายูโรปาคอนเฟอเรนซ์ลีก และไม่ได้เป็นหนึ่งในอันดับ 5-6 ในพรีเมียร์ลีก ทีมนั้นจะเข้าเล่นในยูฟ่ายูโรปาลีก และทีมอันดับ 6 จะไปเล่นใน ยูฟ่ายูโรปาคอนเฟอเรนซ์ลีก

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]