ฟองสบู่ (มิเล)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ฟองสบู่
ศิลปินจอห์น เอเวอเรตต์ มิเล
ปีค.ศ. 1886
ประเภทจิตรกรรมสีน้ำมันบนผ้าใบ
สถานที่หอศิลป์เลดีลีเวอร์, พอร์ตซันไลต์
"ภาพนิ่งกับเด็กชายเป่าฟองสบู่" โดย เกอร์ริต ดู เป็นภาพลักษณะจิตรกรรมวานิตาที่มีอิทธิพลต่อมิเล

ฟองสบู่ (อังกฤษ: Bubbles) เดิมชื่อ โลกของเด็ก (A Child's World) เป็นภาพเขียนสีน้ำมันที่เขียนโดยจอห์น เอเวอเรตต์ มิเล จิตรกรกลุ่มนิยมแบบก่อนราฟาเอลชาวอังกฤษคนสำคัญ ที่ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่หอศิลป์เลดีลีเวอร์ที่พอร์ตซันไลต์ในอังกฤษ มิเลเขียนภาพ "ฟองสบู่" เสร็จในปี ค.ศ. 1886

ภาพ "ฟองสบู่" กลายเป็นภาพที่มีชื่อเสียงเมื่อถูกนำมาใช้แล้วใช้อีกในการโฆษณาสบู่ตราแพร์ส ซึ่งนำมาซึ่งข้อโต้แย้งของความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะและการโฆษณา

ภาพ "ฟองสบู่" เป็นหนึ่งในบรรดาภาพเด็กที่มิเลเขียนที่กลายมามีชื่อเสียงในบั้นปลายของชีวิต ผู้เป็นแบบคือหลานอายุห้าขวบชื่อวิลเลียม มิลบอร์น เจมส์ (William Milbourne James) เป็นภาพที่มีอิทธิพลมาจากภาพเขียนดัตช์ของคริสต์ศตวรรษที่ 17 ของลักษณะที่เรียกว่าจิตรกรรมวานิตา (Vanitas) ซึ่งเป็นจิตกรรมภาพนิ่งที่เขียนขึ้นเพื่อสื่อความหมายของความเปลี่ยนแปลงของชีวิต ที่บางครั้งอาจจะเป็นภาพของเด็กเป่าฟองสบู่อยู่ข้างหัวกะโหลกหรือสัญลักษณ์อื่นที่เป็นนัยยะถึงความตาย[1]

ภาพนี้เป็นภาพของเด็กชายผมทองที่กำลังชายตาตามฟองสบู่ที่ลอยขึ้นไป ที่เป็นสัญลักษณ์ของความงามและความเปราะบางของชีวิต ข้างที่นั่งด้านซ้ายมีกระถางที่มีไม้ที่กำลังโตและทางขวาเป็นกระถางที่ตกลงมาแตกซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่หมายถึงความตายแทนที่จะใช้กะโหลก ตัวแบบส่องสว่างเด่นจากบรรยากาศรอบที่เป็นสีที่เศร้าหมอง

เมื่อตั้งแสดงครั้งแรกที่หอศิลป์โกรฟเนอร์ ในลอนดอนในปี ค.ศ. 1886 ภายใต้ชื่อ "โลกของเด็ก" และได้รับการซื้อโดยวิลเลียม อิงแกรมแห่ง Illustrated London News ต่อมาก็ได้รับการก็อปปีและทำเป็นแม่แบบที่พิมพ์ในนิตยสารที่วิลเลียม บาร์เร็ตต์ผู้จัดการของบริษัทสบู่ตราแพร์สมาเห็นเข้า บาร์เร็ตต์ซื้อภาพต้นฉบับต่อจากอิงแกรมในราคา £2,200 ซึ่งทำให้ได้รับเอกสิทธิ์ในการใช้ภาพอย่างใดก็ได้ และได้ทำการขออนุญาตจากมิเลให้เพิ่มก้อนสบู่แพร์สเพื่อใช้ในการโฆษณา มิเลผู้ขณะนั้นเป็นจิตรกรผู้มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งในบริเตนแรกก็มีความรู้ลักลั่นในการที่ผลงานของตนอาจจะถูกนำไปใช้ในการโฆษณาซึ่งในขณะนั้นยังเป็นสิ่งที่ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควร แต่เมื่อเห็นภาพร่างที่ได้รับการเสนอมิเลก็มองเห็นว่าเป็นการเพิ่มรายละเอียดที่กลืนไปกับภาพและเป็นนัยยะว่าเด็กในภาพใช้สบู่ในการทำน้ำสบู่สำหรับเป่าฟองสบู่[2] หลังจากได้รับความสำเร็จในการใช้ภาพในการโฆษณาแล้ว มิเลก็ถูกโจมตีโดยนักเขียนมารี คอเรลลิ (Marie Corelli) ผู้กล่าวหาในนวนิยาย The Sorrows of Satan ว่าขายพรสวรรค์เพื่อขายสบู่ มิเลเขียนจดหมายตอบชี้ให้เห็นว่าได้ขายลิขสิทธิ์ให้แก่ผู้ซื้อไปแล้ว ฉะนั้นจึงไม่สามารถมีอำนาจที่จะหยุดยั้งการนำภาพไปเปลี่ยนแปลงโดยผู้ซื้อได้ ลูกของมิเลอ้างต่อมาว่ามิเลพยายามหยุดยั้งการโฆษณาแต่ได้รับการแนะนำว่าไม่มีสิทธิทางกฎหมายที่จะทำเช่นนั้น แต่คอเรลลิก็ถอนความเห็นออกจากนวนิยายฉบับที่พิมพ์ต่อมา

โฆษณาเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายจนวิลเลียม มิลบอร์น เจมส์ผู้เมื่อเติบโตขึ้นเข้ารับราชการเป็นนายพลเรือในราชนาวีอังกฤษเป็นที่รู้จักในชื่อ "Bubbles" จนตลอดชีวิต

เมื่อสบู่แพร์สถูกซื้อโดยลีเวอร์บราเธอร์ส (Lever Brothers) ภาพเขียนก็ตกไปเป็นของเจ้าของใหม่ ผู้ให้ราชสถาบันศิลปะขอยืมไปแสดงอยู่ชั่วระยะหนึ่งก่อนที่นำมาตั้งแสดงที่หอศิลป์เลดีลีเวอร์ที่พอร์ตซันไลต์ในปี ค.ศ. 2006[1]

อ้างอิง[แก้]

ดูเพิ่ม[แก้]