ฟรันเชสโก เดล กอสซา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ฟรานเชสโค เดล คอสสา)
ฟรันเชสโก เดล กอสซา

ฟรานเชสโค เดล คอสสา (อังกฤษ: Francesco del Cossa) (ราว ค.ศ. 1430 - ราว ค.ศ. 1477) เป็นจิตรกรยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาของอิตาลีตอนต้นของตระกูลการเขียนภาพแบบเฟอร์ราราของคริสต์ศตวรรษที่ 15 ผู้มีความเชี่ยวชาญทางการเขียนจิตรกรรมฝาผนัง

ประวัติ[แก้]

ฟรานเชสโค เดล คอสสาเป็นบุตรของคริสโตฟาโน เดล คอสสาช่างสลักหินในเฟอร์ราราในประเทศอิตาลีที่เกิดเมื่อราว ค.ศ. 1430 แม้ว่าชีวิตและงานสมัยแรกไม่เป็นที่ทราบกันเท่าใดนักแต่ก็ทราบว่าได้เดินทางออกจากเฟอร์ราราเมื่ออายุยี่สิบหรือสามสิบกว่าๆ

งานที่มีชื่อเสียงที่สุดของคอสสาคืองานจิตรกรรมฝาผนัง งานชิ้นหนึ่งในบรรดางานเขียนชิ้นแรกๆ เป็นงานที่เขียนในปี ค.ศ. 1456 ในฐานะผู้ช่วยของบิดาผู้ได้รับจ้างให้เขียนและสลักประติมากรรมสำหรับแท่นบูชาเอกในชาเปลของวังพระสังฆราชในเฟอร์รารา

จิตรกรรมฝาผนังอุปมานิทัศน์ในวังสคิฟาโนเอีย[แก้]

งานเขียนที่วังสคิฟาโนเอียเป็นงานที่ทำร่วมกับโคสิโม ทูรา โคสิโมมีชื่อเสียงจากการเขียนจิตรกรรมฝาผนังตกแต่งวังฤดูร้อนชื่อวังสคิฟาโนเอียที่ตั้งอยู่นอกประตูเมือง ทั้งสองคนเขียนงานที่เป็นงานอุปมานิทัศน์ที่ซับซ้อนในบริบทของ “วัฏจักรสิบสองเดือน” (Cycle of the Year) ที่ประกอบด้วยจักรราศี และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรอบสิบสองเดือนของแต่ละปี จิตรกรรมฝาผนังเพิ่งได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ในคริสต์ศวรรษที่ 20 และมีอยู่สามภาพที่น่าจะเป็นที่แน่นอนว่าเขียนโดยคอสสา ในบรรดาสามภาพภาพกลุ่มเด็กเปลือยเป็นฝูงในภาพ “อุปมานิทัศน์ของเดือนพฤษภาคม” เป็นภาพที่เด่นที่สุดที่ดูจะเหมาะสมกับการเป็นสัญลักษณ์ของฤดูใบไม้ผลิ

“อุปมานิทัศน์ของเดือนเมษายน” มีภาพของไตรเทพีแห่งคุณธรรม (Three Graces) ซึ่งเป็นหนึ่งในภาพเขียนแรกๆ ของยุคหลังคลาสสิกที่เป็นภาพนางอัปสรเปลือยร่ายรำประสานกัน[1] ที่ปรากฏในงานเขียนต่อมาของซานโดร บอตติเชลลีในภาพ “ฤดูใบไม้ผลิ” ที่เขียนในปี ค.ศ. 1482 และราฟาเอลในภาพ “ไตรเทพีแห่งคุณธรรม” ในปี ค.ศ. 1501 ถ้าเวลาเสียชีวิตของคอสสาถูกต้องก็แปลว่าคอสสาเขียนภาพนี้ก่อนบอตติเชลลีและราฟาเอล

คอสสาในโบโลนยา[แก้]

เมื่อไม่พอใจกับค่าจ้างที่ได้รับเป็นตารางเมตรจากบอร์โซ เดสเต (Borso d'Este) ผู้เป็นดยุคแห่งเฟอร์รารา คอสสาก็ประท้วงว่าได้ค่าจ้างพอๆ กับคนหมดหนทางในเฟอร์รารา คอสสาจึงเดินทางออกจากเฟอร์ราราไปโบโลนยาในปี ค.ศ. 1470 ในโบโลนยาคอสสาก็ได้รับงานจ้างหลายชิ้นภายใต้การอุปถัมภ์ของตระกูลเบนติโวกลิโอ (Bentivoglio) และได้เขียนงานชิ้นเอกสองชิ้น “พระแม่มารีและพระบุตรและนักบุญสององค์และอัลแบร์โต เดคาตาเนอิ” (ค.ศ. 1474) และจิตรกรรมฝาผนัง “พระแม่มารีบาราคาโน” (Madonna del Baracano) ที่เป็นภาพพระแม่มารีและพระบุตรและภาพเหมือนของจิโอวานนิ เบนติโวกลิโอ (Giovanni Bentivoglio) และมาเรีย วินซิเกอร์รา (Maria Vinziguerra) (ค.ศ. 1472)

หอศิลป์แห่งชาติ, ลอนดอนมีภาพเขียนของนักบุญวินเซนต์ เฟอร์เรอร์ที่เขียนโดยคอสสา, เดรสเดนมีภาพ “การประกาศของเทพ” ที่เดิมเชื่อกันว่าเขียนโดย Pollaiuolo และภาพเหมือนด้านข้างที่ลอคโคพาร์คใกล้ดาร์บีที่เชื่อกันว่าเป็นภาพเหมือนของแอร์โคเล เดสเตที่ 1 ดยุคแห่งเฟอร์รารา นอกจากนั้นแล้วคอสสาก็ยังสร้างหน้าต่างประดับกระจกสี ชิ้นที่ดีที่สุดเป็นหน้าต่างกลมที่วัดซานจิโอวานนิอินมอนเตเป็นหน้าต่างนักบุญจอห์นแห่งพัทโมส

ผลงาน[แก้]

  • “การประกาศของเทพและการประสูติของพระเยซู” (ฉากแท่นบูชา) (ค.ศ. 1470, Gemäldegalerie, เดรสเดน) [2]
  • บานพับภาพกริฟโฟนิ
    “นักบุญวินเซนต์ เฟอร์เรอร์” (ค.ศ. 1473, หอศิลป์แห่งชาติ, ลอนดอน)
    “นักบุญปีเตอร์และนักบุญจอห์นแบ็พทิสต์” (ค.ศ. 1473, พิพิธภัณฑ์เบรรา, มิลาน)
    “นักบุญฟลอเรียน” ค.ศ. 1473, หอศิลป์แห่งชาติ, วอชิงตัน ดี.ซี.
    “นักบุญลูซิ” (ค.ศ. 1473, หอศิลป์แห่งชาติ, วอชิงตัน ดี.ซี.)
    “การตรึงกางเขนของพระเยซู” (ค.ศ. 1473, หอศิลป์แห่งชาติ, วอชิงตัน ดี.ซี.)
    “นักบุญเพโทรเนียส” (ค.ศ. 1473, วังดิอามานติ, เฟอร์รารา)
    ภาพเขียนขนาดเล็ก 11 ภาพจากฉากแท่นบูชา (ค.ศ. 1473, ?, ?)
  • “พระแม่มารีและพระบุตรกับนักบุญ”(ค.ศ. 1474, พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ, โบโลนยา)
  • จิตรกรรมฝาผนังในโถงสิบสองเดือน, วังสคิฟาโนเอีย, เฟอร์รารา (ก่อน ค.ศ. 1470?)
    “อุปมานิทัศน์ของเดือนเมษายน: ชัยชนะของวีนัส” [3] เก็บถาวร 2005-03-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน and [4]
    “อุปมานิทัศน์ของเดือนพฤษภาคม: ชัยชนะของอพอลโล” [5] เก็บถาวร 2005-05-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
    “อุปมานิทัศน์ของเดือนมีนาคม: ชัยชนะของมิเนอร์วา” [6] เก็บถาวร 2007-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  • “Polyhymnia, the Muse of Many Songs” [7]
  • นักบุญปีเตอร์ [8]

อ้างอิง[แก้]

  • Encyclopedia of Artists, volume 2, edited by William H.T. Vaughan, ISBN 0-19-521572-9, 2000

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ฟรานเชสโค เดล คอสสา