ฟรันทซ์ มาร์ค

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ฟรานซ์ มาร์ก)
ฟรันทซ์ มาร์ค
ฟรันทซ์ มาร์ค ใน ค.ศ. 1910
เกิด8 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1880(1880-02-08)
มิวนิก ราชอาณาจักรบาวาเรีย จักรวรรดิเยอรมัน
เสียชีวิต4 มีนาคม ค.ศ. 1916(1916-03-04) (36 ปี)
บรากี ฝรั่งเศส
สัญชาติเยอรมัน
ผลงานเด่นTiger, The Yellow Cow, Fighting Forms
ขบวนการลัทธิสำแดงพลังอารมณ์แบบเยอรมัน

ฟรันทซ์ มาร์ค (เยอรมัน: Franz Marc) เป็นศิลปินในกระแสลัทธิสำแดงพลังอารมณ์แบบเยอรมัน เกิดในเมืองมิวนิก พ่อของเขามาจากครอบครัวที่เป็นทาสรับใช้ที่อยู่ทางตอนบนของรัฐบาวาเรีย ก่อนพ่อของเขาจะเลือกประกอบอาชีพเป็นจิตรกร พ่อของเขาได้เป็นนักกฎหมาย แม่ของเขามาจากครอบครัวชาวฝรั่งเศสในแคว้นอาลซัส ถึงแม้ว่าพ่อของเขานับถือนิกายโรมันคาทอลิก แต่มาร์คนับถือนิกายโปรเตสแตนต์ เพราะเขาได้รับการเลี้ยงดูจากแม่ของเขา และได้รับอิทธิพลทางความคิดจากลัทธิคาลวินตั้งแต่เด็ก และแม่ของเขาตั้งใจให้เขาได้เป็นบาทหลวง แต่อย่างไรก็ตามเมื่อมาร์คโตขึ้น เขาได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยมิวนิก ในสาขาวิชาวรรณกรรม ใน ค.ศ. 1899 ต่อมาเมื่อเขาได้รับการฝึกเป็นทหารเกณฑ์ แต่เมื่อเขาฝึกเสร็จแล้วเขาได้ย้ายมหาวิทยาลัยที่เขาเรียนวรรณกรรม ไปเข้าโรงเรียนสอนศิลปะในมิวนิกเช่นกัน โดยได้รับการสอนจากวิลเฮ็ล์ม ฟ็อน ดีทซ์

ช่วงวัยแสวงหา[แก้]

ต่อมาเขาได้รับคำแนะนำจากฟรีดริซ เลาเออร์ ซึ่งเป็นเพื่อนนักเรียนที่ดีของมาร์ค ให้ออกเดินทางหาความรู้ที่อิตาลีและปารีส ฝรั่งเศส และกลับมาเยอรมนีในเดือนกันยายน ค.ศ. 1903 แต่เมื่อเขากลับมาเขาไม่ได้เรียนต่อที่โรงเรียน แต่เขาไปเปิดสตูดิโอและทำงานในสตูดิโอของเขาโดยไม่ได้บอกอย่างเป็นทางการกับโรงเรียนและเพื่อนนักเรียนของเขา เขาทำงานในมิวนิก ชตัฟเฟิลอัล์ม และค็อคเคิล และเลิกทำใน ค.ศ. 1906 เพื่อเดินทางไปยังเขาแอทอส

ที่นั่นเขาได้เขียนภาพทิวทัศน์ วาดภาพเหมือน และวาดรูปสัตว์ เขาได้ยึดคติการวาดในรูปแบบศิลปะในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ตามที่เขาได้เรียนมาจากโรงเรียนศิลปะที่มิวนิก ในตอนที่เขาอยู่ที่ค็อคเคิลใน ค.ศ. 1906 และที่ชตัฟเฟิลอัล์มใน ค.ศ. 1902 และ ค.ศ. 1905 เขาอุทิศตัวเองให้กับภาพวาดแบบอ็องแปลแนร์ (en plein air) ใน ค.ศ. 1907 เขาได้ออกเดินทางไปยังปารีสเป็นครั้งที่ 2 เพื่อศึกษางานของฟินเซนต์ ฟัน โคค ที่ต่อมาจะส่งอิทธิพลให้แก่งานของมาร์คเป็นอย่างยิ่ง

การเข้าร่วมกลุ่มเบลาเออไรเทอร์[แก้]

แต่ด้วยฐานะทางการเงินของมาร์คไม่ค่อยจะสู้ดีนัก เขาจึงพยายามเปิดสอนพิเศษและพยายามผลิตงานประเภทรูปปั้นสัตว์เพื่อเป็นงานในการหาเลี้ยงชีพ แต่ต่อมาชีวิตเขาได้ดีขึ้นเมื่อเขาได้พบกับบุคคล 3 คนที่เขาเรียกว่าเป็น "สุภาพบุรุษที่อายุน้อยมากและค่อนข้างสง่า" ในช่วงต้นปี ค.ศ. 1910 นั่นก็คือจิตรกรที่มีชื่อว่า เฮ็ลมูทและเอากุสท์ มัคเคอ กับแบร์นฮาร์ท เคอเลอร์ ผู้เป็นนักสะสมของกรุงเบอร์ลิน พวกเขาเหล่านี้เป็นผู้สนับสนุนทางการเงินแก่มาร์คและกลุ่มเบลาเออไรเทอร์

ในปีเดียวกัน มาร์คได้เห็นงานนิทรรศการของสมาคมศิลปินมิวนิกใหม่ที่หอศิลป์ทันเฮาเซอร์ ทำให้เขาได้พบหนทางที่จะติดต่อกับอเล็คซันเดอร์ คาน็อลท์, อาเลกเซย์ ฟอน ยัฟเลนสกี, มารีอันเนอ ฟ็อน เวเร็ฟคีน, กาบรีเอเลอ มึนเทอร์, วลาดีเมียร์ เกออร์กีเอวิทช์ เบ็ชเทเย็ฟ, เพาล์ เคล, อัลเฟรท คูบีน และวาซีลี คันดินสกี

ส่วนเฮ็ลมูทนั้นได้มาอยู่และช่วยงานเป็นบางครั้งที่บ้านเช่าของมาร์คในซินเดิลส์ดอร์ฟอยู่ทางใต้ของทะเลสาบชตาร์นแบร์ค ใกล้มัวร์เนาที่ซึ่งคันดินสกีและกาบรีเอเลอ มึนเทอร์ ได้อาศัยอยู่ตั้งแต่ ค.ศ. 1908 และต่อมาในช่วงหลัง ค.ศ. 1911 มาร์คและคันดินสกีได้ออกจากสมาคมศิลปินมิวนิกใหม่เพื่อไปเป็นบรรณาธิการแก้ไขปฏิทินเวลาของกลุ่มเบลาเออไรเทอร์

การเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1[แก้]

ในปีต่อมามาร์คได้เดินทางไปหาแอ็นสท์ ลูทวิช เคียร์ชเนอร์ และมัคส์ เพ็ชชไตน์ ที่เบอร์ลิน และได้เชิญชวนพวกเขาไปร่วมงานประชุมเชิงศิลปะแห่งเมืองโคโลญที่นิทรรศการซ็อนเดอร์บุนท์ใน ค.ศ. 1912 ที่งานนิทรรศการนี้เขาได้เห็นงานแสดงของศิลปินกลุ่มอนาคตนิยมซึ่งเขารู้สึกประทับใจในงานเหล่านั้นเป็นอย่างยิ่ง

ต่อมาเมื่อสงครามโลกได้เกิดขึ้น เขาได้เป็นอาสาสมัครในสงคราม คาดหวังว่าจะมีหน้าที่ในสงคราม เขาเสียชีวิตในยุทธการที่แวร์เดิงเมื่อวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 1916

อิทธิพลผลงานของฟินเซนต์ ฟัน โคค เป็นส่วนสำคัญที่ส่งผลให้งานในช่วงอายุ 30 ปีของมาร์คมีความแตกต่างออกไปจากคนอื่น ตั้งแต่ ค.ศ. 1910 เป็นต้นไป มาร์คได้รับอิทธิพลทางความคิดมาจากคันดินสกีและมัคเคอ เช่นเดียวกับรอแบร์ เดอโลแน และกลุ่มศิลปินอนาคตนิยม โดยที่มาร์คได้เอาแนวคิดเหล่านี้มาพัฒนาผลงานของตนให้เป็นงานเชิงอนุสาวรีย์ และต่อไปจะกลายเป็นแนวนามธรรม โดยงานของเขาจะให้ความสำคัญทางกับสัตว์เป็นส่วนใหญ่ หลังจากช่วง ค.ศ. 1914 เขาอาจพัฒนางานของตัวเองกลายเป็นจิตรกรในศิลปะแนว Romantic-Transcendental abstraction แต่ก็ไม่แน่เหมือนกันว่าจะเป็นจริงหรือไม่ เราได้แต่เพียงสันนิษฐานจากสมุดแบบร่างภาพที่เขาได้วาดเอาไว้ในช่วงสงครามแค่นั้นเอง

ผลงาน[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  • Barron, Stephanie. German expressionism. Munich: Prestel,1988.
  • Elger, Dietmar. Expressionism. Koln: Taschen, 2002.
  • โวล์ฟ, นอร์แบร์ท. เอกซ์เพรสชั่นนิสม์. กรุงเทพฯ : เดอะเกรทไฟน์อาร์ท, 2552.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]