ฟร็องซัว ดยุกแห่งอ็องฌู

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ฟรองซัวส์ ดยุกแห่งอองชู

ขุนนางฝรั่งเศส
เกิด 18 มีนาคม ค.ศ. 1555
เสียชีวิต 19 มิถุนายน ค.ศ. 1584
บิดา พระเจ้าอองรีที่ 2 แห่งฝรั่งเศส
มารดา แคทเธอรีน เดอ เมดิชิ
ขุนนางฝรั่งเศส - กษัตริย์ฝรั่งเศส - ประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส

ฟรองซัวส์ ดยุกแห่งอองชู (อังกฤษ: François, Duke of Anjou หรือ Hercule François, Duke of Anjou และ Counts and dukes of Alençon) (18 มีนาคม ค.ศ. 1555 - 19 มิถุนายน ค.ศ. 1584) ฟรองซัวส์ ดยุกแห่งอองชูมีชื่อเต็มว่า "แอร์คูล ฟรองซัวส์ ดยุกแห่งอองชู และเคานท์และดยุกแห่งอลองซง" เป็นพระราชโอรสองค์เล็กในพระเจ้าอองรีที่ 2 แห่งฝรั่งเศสและแคทเธอรีน เดอ เมดิชิ

ฟรองซัวส์ ดยุกแห่งอองชูเป็นเด็กที่น่ารักแต่น่าเสียดายที่มีแผลเป็นจากฝีดาษเมื่ออายุได้ 8 ปี และกระดูกสันหลังที่ไม่ไคร่ปกติที่ไม่เหมาะสมกับชื่อ "แอร์คูล" ที่ทำให้เปลี่ยนชื่อเป็น "ฟรองซัวส์" เพื่อเป็นเกียรติแก่พระเชษฐาพระเจ้าฟรองซัวส์ที่ 2 แห่งฝรั่งเศสผู้เสด็จสวรรคตในปี ค.ศ. 1560

ในปี ค.ศ. 1574 เมื่อพระเชษฐาองค์ต่อมาพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 9 แห่งฝรั่งเศสเสด็จสวรรคตและพระเชษฐาพระเจ้าอองรีที่ 3 แห่งฝรั่งเศสขึ้นครองราชย์ ฟรองซัวส์ก็กลายเป็นทายาทแห่งราชบัลลังก์ฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. 1576 ฟรองซัวส์ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ดยุกแห่งอองชู, ตูแรน และแบร์รี

ในปี ค.ศ. 1576 ฟรองซัวส์ทำการเจรจากต่อรองข้อตกลงในพระราชกฤษฎีกาบิวลี (Edict of Beaulieu)ระหว่างสงครามศาสนาของฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. 1579 ก็ได้รับเชิญให้เป็นประมุขสืบสาย (hereditary sovereign) ของสหจังหวัดแห่งเนเธอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 29 กันยายน ค.ศ. 1580 รัฐสภาแห่งแห่งเนเธอร์แลนด์ (ยกเว้นเซแลนด์และฮอลแลนด์) ลงนามในสนธิสัญญาเพลซีส-เลอส์-ตูร์ (Treaty of Plessis-les-Tours) กับฟรองซัวส์ ที่ระบุให้ฟรองซัวส์มีตำแหน่งเป็น "ผู้พิทักษ์เสรีภาพแห่งเนเธอร์แลนด์" และเป็นกษัตริย์แห่งเนเธอร์แลนด์

ความเกี่ยวข้องกับสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษ[แก้]

ฟรองซัวส์ ดยุกแห่งอองชู

ในขณะเดียวกันในปี ค.ศ. 1579 ก็ได้มีการจัดการหมั้นหมายระหว่างฟรองซัวส์กับสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 ฟรองซัวส์เป็นคู่หมายชาวต่างประเทศคนเดียวที่ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระองค์ เมื่อพบกันฟรองซัวส์มีอายุได้ 24 ปี และสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธมีพระชนมายุได้ 46 พรรษา แม้ว่าจะมีอายุต่างกันมากแต่ทั้งสองคนก็มีความสนิทสนมกันมาก สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธทรงเรียกฟรองซัวส์เล่นๆ ว่า "กบ" เพราะฟรองซัวส์ถวายต่างหูรูปกบให้แก่พระองค์ แต่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธจะทรงหวังว่าจะเสกสมรสกับฟรองซัวส์จริงก็ยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอย่างรุนแรง แต่ที่แน่คือพระองค์ทรงโปรดปรานฟรองซัวส์พอประมาณ และทรงทราบว่าฟรองซัวส์คงอาจจะเป็นคู่หมายคนสุดท้ายที่จะทรงมี แต่ประชาชนอังกฤษเป็นปฏิปักษ์ต่อการจับคู่นี้ และทำการประท้วงอย่างไม่ปิดบังโดยเฉพาะในเรื่องการเป็นโรมันคาทอลิกของฟรองซัวส์, การเป็นฝรั่งเศส และการเป็นพระราชโอรสในแคทเธอรีน เดอ เมดิชิ ฝ่ายโปรเตสแตนท์ในอังกฤษทูลเตือนว่า "หัวใจ[ของชาวอังกฤษ]จะฉีกจากอกถ้าพระองค์จะทรงเสกสมรสกับชาวฝรั่งเศส และโรมันคาทอลิก...ประชาชนธรรมดาต่างก็ทราบว่า[ฟรองซัวส์]เป็นโอรสของเจซาเบลแห่งยุค"[1] ในบรรดาองค์มนตรีก็มีแต่เพียงวิลเลียม เซซิล บารอนเบอร์ลีย์ที่ 1 (William Cecil, 1st Baron Burghley) และ ทอมัส แรดคลิฟฟ์ เอิร์ลแห่งซัสเซ็กซ์ที่ 3 (Thomas Radclyffe, 3rd Earl of Sussex) เท่านั้นที่สนับสนุนการเสกสมรส องค์มนตรีอื่นๆ ต่างก็คัดค้านอย่างแข็งแรงและทูลเตือนถึงอันตรายในการให้กำเนิดแก่ทารกของผู้สูงวัย ในทางปฏิบัติแล้วการเสกสมรสครั้งนี้ก็มิใช่การสมรสที่เหมาะสมเท่าใดนัก ที่เห็นได้จากการต่อต้านจากชาติต่างๆ ในยุโรป แต่พระองค์ก็ยังทรงเล่นเกมหมั้นหมายกับฟรองซัวส์ที่อาจจะเป็นการเตือนพระเจ้าฟิลิปที่ 2 แห่งสเปนถึงสิ่งที่ทรงอาจจะทำถ้าจำเป็น แต่ในที่สุดการเล่นเกมก็สิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1581 เมื่อฟรองซัวส์เดินทางกลับฝรั่งเศส สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธทรงพระราชนิพนธ์โคลง "On M onsieur’s Departure" ที่อาจจะตีความหมายได้ว่าพระองค์อาจจะทรงเตรียมพร้อมที่จะเข้าสู่การเสกสมรสกับฟรองซัวส์ก็เป็นได้

อองชูในเนเธอร์แลนด์[แก้]

จากนั้นดยุกแห่งอองชูก็เดินทางไปยังเนเธอร์แลนด์แต่ไม่ได้ไปถึงจนกระทั่งวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1582 เมื่อได้รับการต้อนรับอย่างเป็นทางการโดยวิลเลียมเดอะไซเล้นท์ฝ่ายเนเธอร์แลนด์ที่ฟลัชชิง แม้ว่าการเข้าเมืองบรูจส์และเก้นท์จะเป็นไปด้วยดี และการได้รับการแต่งตั้งให้เป็นดยุกแห่งบราบองต์ และ เคานท์แห่งฟลานเดอร์ส แต่ฟรองซัวส์ก็ไม่เป็นที่นิยมในบรรดาชาวดัตช์และชาวเฟลมมิช ผู้ยังเห็นว่าคาทอลิกฝรั่งเศสยังคงเป็นศัตรู จังหวัดเซแลนด์และฮอลแลนด์ไม่ยอมรับฟรองซัวส์เป็นประมุข และวิลเลียมผู้เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการพยายามลดความแตกแยกทางศาสนาถูกวิจารณ์ว่าเล่นการเมืองฝรั่งเศส ในปัจจุบันเชื่อกันว่าวิลเลียมเดอะไซเล้นท์เป็นบุคคลที่จ้างให้ทำ "พรมทอแขวนผนังวาลัวส์" (Valois tapestries) เพื่อถวายพระราชินีนาถแคทเธอรีน[2] เมื่อกองทัพฝรั่งเศสของฟรองซัวส์มาถึงในปี ค.ศ. 1582 แผนของวิลเลียมก็ดูเหมือนจะสมตามที่คาดไว้ ที่ทำให้แม้แต่ดยุกแห่งพาร์มาก็ยังเกรงว่าดัตช์จะเป็นฝ่ายได้เปรียบขึ้นมา

แต่ฟรองซัวส์เองไม่พอใจกับอำนาจอันจำกัด และตัดสินใจยึดเมืองอันท์เวิร์พ, บรูจส์, ดังเคิร์ค และ โอสเทนด์ของเฟล็มมิชโดยใช้กำลัง

"พิโรธฝรั่งเศส"[แก้]

ภาพเสียดสีเฟล็มมิชราว ค.ศ. 1586. - สามปีหลังจากเหตุการณ์ล้มเหลวอันน่าอับอายในอันท์เวิร์พ - วัวเป็นสัญลักษณ์ของสหจังหวัดเนเธอร์แลนด์ที่ปล่อยอุจาระใส่ดยุกแห่งอองชูขณะที่ดยุกกำลังยกหางวัว (ผู้อื่นในภาพก็ได้แก่พระเจ้าฟิลิปที่ 2 แห่งสเปนผู้พยายามขับวัว จิกวัวด้วยเดือยจนเลือดโชก, สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธประทายหญ้า ขณะที่วิลเลียมเดอะไซเล้นท์ยึดเขาวัวไว้ให้ยืนนิ่ง

ฟรองซัวส์ตัดสินใจโจมตีอันท์เวิร์พด้วยตนเองเมื่อวันที่ 18 มกราคม ค.ศ. 1583 ทันทีที่เข้าเมืองได้ชาวเมืองอันท์เวิร์พก็ปิดประตูเมือง ทหารฝรั่งเศสติดกับและถูกรุมโจมตีโดยชาวเมืองจากทุกทิศทุกทางไม่ว่าจะเป็นหน้าต่างหรือหลังคาด้วยอาวุธต่างๆ ที่หาได้ จากนั้นกองทหารประจำเมืองก็รุมยิง มีทหารฝรั่งเศสไม่กี่คนที่รวมทั้งฟรองซัวส์หลบหนีไปได้ ทหารฝรั่งเศสกว่า 1500[3] คนถูกสังหารโดยชาวเมืองอันท์เวิร์พผู้เคียดแค้นต่อพฤติกรรมของฟรองซัวส์

บั้นปลาย[แก้]

ตราอาร์ม (หลัง ค.ศ. 1576)

พฤติกรรมอันน่าอับอายของฟรองซัวส์เป็นการยุติความก้าวหน้าทางการทหารของฟรองซัวส์ กล่าวกันว่าพระราชมารดาแคทเธอรีน เดอ เมดิชิทรงเขียนพระราชสาส์นถึงฟรองซัวส์ที่กล่าวว่า "ถ้าเจ้าตายเสียตั้งแต่อายุยังน้อย เจ้าก็คงจะไม่มาเป็นสาเหตุของการตายของผู้กล้าหาญจำนวนมากมาย"[4] การหยามหน้าตามมาด้วยการยุติการหมั้นหมายอย่างเป็นทางการจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธหลังจากการสังหารหมู่ หลังจากนั้นสถานภาพของฟรองซัวส์ในเนเธอร์แลนด์ก็คลอนแคลนจนในที่สุดก็ต้องออกจากประเทศในเดือนมิถุนายน

ไม่นานหลังจากนั้นฟรองซัวส์ก็ล้มป่วยด้วยมาเลเรีย แคทเธอรีน เดอ เมดิชิทรงนำฟรองซัวส์กลับปารีส มาคืนดีกับพระเชษฐาพระเจ้าอองรีที่ 3 แห่งฝรั่งเศสในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1584 ในที่สุดฟรองซัวส์ก็เสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน ค.ศ. 1584

การเสียชีวิตทำให้ อองรีแห่งนาวาร์พระสวามีของมาร์เกอรีตแห่งวาลัวส์ พระขนิษฐาของฟรองซัวส์กลายมาเป็นทายาทโดยนิตินัย ที่ทำให้ความรุนแรงของสงครามศาสนาของฝรั่งเศสเพิ่มความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

อ้างอิง[แก้]

  1. From Sir Philip Sidney's letter to Elizabeth I on the subject of Anjou (1579), in Katherine Duncan-Jones and Jan van Dorsten, eds, Miscellaneous prose of Sir Philip Sidney (1973) pp. 46-57
  2. After Anjou's death, she made a present of them in 1589 on the occasion of the wedding of her grand-daughter, Christina of Lorraine, to Ferdinand I, Grand Duke of Tuscany; they remain at the Uffizi.
  3. see Jean Heritière, Catherine di Medici, Allen and Unwin, p397
  4. Strange, Mark (1976). Women of power: the life and times of Catherine dé Medici. Harcourt Brace Jovanovich. p. 273. ISBN 0151983704.

ดูเพิ่ม[แก้]

ดูเพิ่ม[แก้]