โผน อินทรทัต

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก พ.ต. โผน อินทรทัต)

โผน อินทรทัต
เกิดพ.ศ. 2454
จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม
เสียชีวิต27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 (38 ปี)
จังหวัดพระนคร ประเทศไทย
อาชีพทหารบก
มีชื่อเสียงจากขบวนการเสรีไทย
คู่สมรสหม่อมหลวงกันยกา สุทัศน์
บุตร4 คน

พันตรี โผน อินทรทัต (พ.ศ. 2454 – 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492) เป็นนายทหารและนักการเมืองชาวไทย สมาชิกขบวนการเสรีไทยสายสหรัฐอเมริกา รุ่นที่ 1 ถูกยิงเสียชีวิตในเหตุกบฏวังหลวง

ประวัติ[แก้]

พ.ต. โผน สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบกก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 และได้เลื่อนยศเป็นนายร้อยโท เมื่อปี พ.ศ. 2478 หลังจากนั้นได้สมรสกับ หม่อมหลวงกันยกา สุทัศน์ ธิดาของ พลโท พระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร (หม่อมราชวงศ์สิทธิ์ สุทัศน์) อดีตแม่ทัพภาคที่ 1 กับ หม่อมราชวงศ์วงษ์ขนิษฐ์ (สิงหรา) เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2478 มีบุตรด้วยกัน 4 คนคือ

  1. นายพิสิษฐ์ อินทรทัต (Pisidhi Indradat)
  2. พลเอก ผ่านโผน อินทรทัต
  3. นายโลดโผน อินทรทัต
  4. พลเอก ไตรรงค์ อินทรทัต

ช่วงศึกษาต่อยังต่างประเทศ[แก้]

ประมาณปี 2480 ร.ท.โผน อินทรทัต (ยศในขณะนั้น) ได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงกลาโหม พร้อมกับ ร.ท.บุญมาก เทศบุตร และ ร.ต.การะเวก ศรีวิจารณ์ ให้ไปศึกษาต่อทางด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยีที่สหรัฐฯ จนกระทั่งสำเร็จวิศวกรรมเคมีจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐโอไฮโอ และเตรียมพร้อมจะกลับไปปฏิบัติหน้าที่นายทหารฝ่ายเทคนิค ซึ่งมีความสำคัญและจำเป็นสำหรับกองทัพสมัยใหม่ที่ความสามารถในการรบขึ้นอยู่กับขีดความสามารถทางเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว

แต่เมื่อสงครามแปซิฟิกระเบิดขึ้นและกองทัพญี่ปุ่นบุกประเทศไทยเมื่อเช้ามืดวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 นายทหารทั้ง 3 นายตัดสินใจไม่กลับประเทศไทยตามคำสั่งรัฐบาล และเข้าร่วมกับขบวนการเสรีไทย

กับขบวนการเสรีไทย[แก้]

ม.ล.ขาบ กุญชร, จินตนา ยศสุนทร และโผน อินทรทัต ที่สหรัฐอเมริการะหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2

เมื่อเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา ร.ท.โผน อินทรทัต อาสาสมัครเป็นทหารเสรีไทยและได้รับการฝึกตามหลักสูตรของสำนักบริการยุทธศาสตร์ หรือ "โอ.เอส.เอส." ในรุ่นที่ 1 แล้วจึงได้รับยศนายทหารเสรีไทยเป็นร้อยเอก ต่อมาในกลางเดือนมีนาคม 2486 ก็ออกเดินทางโดยเรือ "อับราฮัม คลาร์ก" พร้อมนายทหารเสรีไทยอีก 19 คนจากเมืองท่าบัลติมอร์เข้าคลองปานามาออกไปสู่มหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ แล้วตัดอ้อมทางใต้ของทวีปออสเตรเลียเข้าสู่มหาสมุทรอินเดีย ไปขึ้นบกที่นครบอมเบย์กลางเดือนมิถุนายน รวมเวลาเดินทางในทะเล 95 วัน นายทหารเสรีไทยรุ่นที่ 1 อยู่ในความควบคุมดูแลของ ร.อ.นิคอล สมิธ แห่งโอ.เอส.เอส ร.ท.โผนมีชื่อรหัสว่า "พอล"

ในบรรดาเสรีไทยสายอเมริกา ร.ท.โผน มีความอาวุโสมากที่สุด และมากกว่าเสรีไทยสายอเมริกาที่เป็นทหารทุกคน ยกเว้นแต่เพียง พ.ท.หม่อมหลวงขาบ กุญชร ทูตฝ่ายทหาร

ในระหว่างเดินทาง ร.ท.โผนพำนักอยู่ห้องเดียวกับ ร.อ.นิคอล สมิธ ผู้เขียนหนังสือ "สู่สยาม, ประเทศใต้ดิน" (Into Siam, Underground Kingdom) ที่ตีพิมพ์หลังสงคราม นิคอล สมิธ กล่าวถึง "พอล" ไว้ในบางตอนว่า

พอล ซึ่งอยู่ร่วมห้องนอนเดียวกับข้าพเจ้า ไม่พอใจที่จะอาบน้ำวันละครั้ง เขาอาบน้ำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง และโดยมาก 3 ครั้ง ข้าพเจ้าเคยว่าเขาว่าไม่มีอะไรทำก็อาบน้ำ ภายหลังอาหารทุกมื้อเขาต้องเข้าไปหยิบแปรงสีฟันจากห้องนอนและเลือกเอายาสีฟันซึ่งมีหลายชนิด แล้วเข้าห้องน้ำแปรงฟัน เขาหวีผมดำขลับ, ใส่บริลเลียนทีน, รีดเสื้อผ้าจนชั้นกางเกงใน ข้าพเจ้าจึงเข้าใจว่าทำไมคนไทยจึงดูแต่งตัวประณีต แม้จะอยู่ในเรือที่แสนสกปรก

นิคอล สมิธ ยังบันทึกไว้ด้วยว่า "พอล" เป็นคนผิวคล้ำ และสนใจศึกษาภาษาจีน เพราะทราบว่าจะต้องไปปฏิบัติภารกิจในจีน

เมื่อเดินทางถึงประเทศอินเดียแล้ว นายทหารเสรีไทยสายอเมริการุ่นที่ 1 ก็เดินทางไปเข้าค่ายฝึกของศูนย์ปฏิบัติการ 101 ของโอ.เอส.เอส. ที่เมืองนาซีราซึ่งอยู่ชายแดนอัสสัมใกล้พม่า ภายหลังการฝึกอย่างทรหดที่ใช้เวลาประมาณ 2 เดือนเสร็จสิ้นลง ร.อ. นิคอล สมิธ จึงนำนายทหารเสรีไทย ซึ่งมี ร.อ.โผน อินทรทัต รวมอยู่ด้วย เดินทางด้วยเครื่องบิน ซี 47 ผ่านเทือกเขาหิมาลัย ไปลงที่สนามบินจุงกิง เมืองหลวงและที่มั่นในยามสงครามของรัฐบาลจีนคณะชาติเมื่อเดือนสิงหาคม 2486 พ.ท. หม่อมหลวงขาบ กุญชร ซึ่งเดินทางล่วงหน้าด้วยเครื่องบินจากวอชิงตันมารอรับ ต่อมาคณะนายทหารเสรีไทยได้พบนายสงวน ตุลารักษ์กับคณะที่เล็ดลอดออกมาจากกรุงเทพฯ และทราบข่าวการถึงแก่กรรมของนายจำกัด พลางกูรผู้แทนขององค์การใต้ดินต่อต้านญี่ปุ่นในประเทศไทยที่เล็ดลอดเดินทางมาถึงจุงกิงตั้งแต่เดือนมีนาคมศกเดียวกัน

ฐานปฏิบัติการที่ซือเหมา[แก้]

ร.อ.โผน อินทรทัต และเพื่อนร่วมตายจากอเมริกาพำนักอยู่จุงกิง ประมาณ 3 เดือน จึงเดินทางไปยังคุนหมิงในเดือนพฤศจิกายน ต่อมาเมื่อได้ตกลงใจแล้วว่า จะใช้เมืองซือเหมาเป็นฐานปฏิบัติการสำหรับส่งนายทหารเสรีไทยเดินทางเข้าสู่ตอนเหนือของประเทศไทยโดยทางบกแล้ว กลางเดือนมกราคม 2487 คณะนายทหารเสรีไทยสายอเมริการุ่นที่ 1 กับ ม.ล.ขาบ กุญชร และนายทหาร โอ.เอส.เอส. จึงเดินทางมาซือเหมา

ร.อ.โผน อินทรทัตกับเด็กๆ ที่ซือเหมา ถ่ายเมื่อต้นปี 2487

เมื่อจัดตั้งฐานปฏิบัติการเรียบร้อยแล้ว ม.ล.ขาบ กุญชร ได้คัดเลือกเสรีไทยชุดแรกที่จะส่งเข้าประเทศไทย 5 นาย คือ ร.อ.การะเวก ศรีวิจารณ์ กับ ร.ท.สมพงษ์ ศัลยพงษ์ คู่หนึ่ง, ร.ท.การุณ เก่งระดมยิง กับ ร.ท.เอี่ยน ขัมพานนท์ อีกคู่หนึ่ง

สำหรับ ร.อ.โผน อินทรทัต ซึ่งเป็นนายทหารอาชีพที่มีความอาวุโสมากกว่าผู้อื่น จะเดินเข้าประเทศไทยโดยลำพัง โดยมีหน้าที่ในการหาทางเดินประจำจากชายแดนอินโดจีนไปอุตรดิตถ์ ศูนย์กลางทางรถไฟในภาคกลางสยาม ร.อ.โผน จะเป็นผู้ติดต่อกับผู้สื่อข่าวอื่น ๆ นำสิ่งของที่ต้องการไปให้ ถือเอกสารสำคัญที่ส่งทางวิทยุไม่ได้

ในที่สุด นายทหารเสรีไทยทั้ง 5 พร้อมด้วย ม.ล.ขาบและนายพลโซะของจีน เดินทางจากซือเหมาบุกป่าฝ่าเขาไปยังเมืองเชียงรุ่ง เมืองหลวงของเขตสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ประเทศจีน โดยปลอมตัวเป็นพ่อค้าจีน คนนำทางที่ทางการจีนจัดให้ พา ร.อ.โผน และนายทหารเสรีไทยอีก 4 นายออกเดินทางไปสู่แม่น้ำโขงเมื่อประมาณวันที่ 10 มีนาคม 2487 ตามที่ได้ตกลงกันนั้น การเดินทางจากเชียงรุ่งไปถึงเมืองล่าซึ่งเป็นเมืองติดชายแดนลาวทางตอนใต้ของจีน จะใช้เวลาประมาณ 7 วัน และจากเมืองล่าไปถึงแม่น้ำโขงก่อนข้ามเข้าเขตไทยจะใช้เวลาอีกประมาณ 15 วัน แต่เหตุการณ์ไม่ได้เป็นเช่นนั้น

ปัญหาของการเดินทางเข้าประเทศไทย[แก้]

(จากซ้าย) โผน อินทรทัต และเพื่อนเสรีไทยสายสหรัฐอเมริกา จำรัส ฟอลเล็ต และ การะเวก ศรีวิจารณ์

ประมาณกลางเดือนเมษายน 2487 ขณะที่ ม.ล.ขาบ กุญชร กำลังรอรับสัญญาณวิทยุจากเสรีไทยทั้ง 5 นายซึ่งในช่วงเวลานั้นควรจะอยู่ในประเทศไทยแล้ว ร.อ.โผน อินทรทัต กลับมาซือเหมาและรายงานว่า ร.ท.การุณ เก่งระดมยิง กับ ร.ท. เอี่ยน ขัมพานนท์ เดินทางกลับมาเชียงรุ่งอีก ทั้ง ๆ ที่ได้ออกเดินทางมุ่งไปเมืองล่าแล้ว ส่วน ร.ท.โผน ยังคงติดค้างอยู่ เนื่องจากจีนผู้นำทางไม่ยอมพาไป โดยอ้างข้อขัดข้องสารพัดอย่างและที่สุดก็บอกว่าต้องการยารักษาโรค ทำให้ ร.อ.โผน ต้องเดินทางบุกป่ากลับมาที่ฐานปฏิบัติการซือเหมา รวมเวลาที่ ร.อ.โผน อินทรทัต ออกเดินทางไปเชียงรุ่งพร้อมกับ ม.ล.ขาบ กุญชรและเพื่อนเสรีไทยสายอเมริกา 4 นายเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ จนกระทั่งกลับสู่ซือเหมาประมาณเดือนครึ่ง

เมื่อ ร.อ.โผนรวบรวมยาได้แล้ว ก็เดินทางไปเชียงรุ่งตามลำพังอีกครั้งหนึ่งโดยใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ ความบิดพลิ้วของคนจีนผู้นำทางที่ ร.อ.โผน รายงานทำให้ ม.ล.ขาบ และ ร.อ.นิคอล สมิธ ต้องไปขอร้องบาทหลวงอิวยีน คุง ให้เป็นผู้นำทางทหารเสรีไทยเข้าประเทศไทยอีก 5 นาย คือ ร.ท.เป้า ขำอุไร คู่กับ ร.ท.พิสุทธิ์ สุทัศน์ ณ อยุธยา ร.ท.บุญเย็น ศศิรัตน์ คู่กับ ร.ท.สวัสดิ์ เชี่ยวสกุล ส่วน ร.ท.อานนท์ ณ ป้อมเพชรเดินทางโดยลำพังในลักษณะเดียวกับ ร.อ.โผน อินทรทัต

การเดินทางออกจากซือเหมาอีกครั้งเริ่มต้นเมื่อ 27 เมษายน 2487 โดยมีจุดหมายที่เมืองเชียงรุ่งเป็นแห่งแรก หลังจากนั้นต่างก็แยกย้ายกันไปตามแผนที่กำหนดไว้ ร.อ.โผน เดินทางจากเชียงรุ่งไปเมืองล่า แล้วล้มป่วยด้วยโรคบิดอยู่ที่นั่นจนกระทั่งกลางเดือนพฤษภาคมจึงสามารถเดินทางต่อไปได้

ความสำเร็จในการติดต่อกับเสรีไทยในประเทศ[แก้]

แผนที่แสดงเส้นทางการเดินทางเข้าประเทศไทยของเสรีไทยสายสหรัฐอเมริกา

ร.อ.โผน อินทรทัต เดินทางโดยทางเท้าตามลำพังจากเมืองล่าซึ่งอยู่ตอนใต้ของจีนเข้าสู่ลาวทางแขวงพงสาลี แล้วข้ามแม่น้ำโขงเข้าสู่ประเทศไทยทางจังหวัดน่าน และเดินทางต่อไปจังหวัดแพร่ โดยขณะที่เดินทางเข้าเมืองไทย ร.อ.โผน ได้ใช้ชื่อแฝงว่า "นายไทย รักไทย" เพื่อความปลอดภัย

ในที่สุด ร.อ.โผน ก็เข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและถูกส่งไปพบกับ พล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัส และถูกส่งต่อไปพบกัน นายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าขบวนการเสรีไทย เพื่อแจ้งข่าวสารต่าง ๆ หลังจากนั้น พล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัส จึงให้ตำรวจสันติบาลพา ร.อ.โผน ไปส่งที่ที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เพื่อเดินทางกลับไปประเทศจีนอีกครั้งหนึ่งก่อนที่จะเดินทางไปประสานกับ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ที่กรุงวอชิงตัน

เมื่อถึงเชียงราย ร.อ.โผน ได้พบกับนายทหารชั้นผู้ใหญ่แห่งกองทัพพายัพบางนาย ซึ่งได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติภารกิจของขบวนการเสรีไทยด้วย อาทิ พล.ต.พิชัย หาญสงคราม เสนาธิการกองทัพพายัพ เป็นต้น การประสานงานกับกองทัพพายัพของ ร.อ.โผน มีส่วนช่วยให้การเดินทางเข้าประเทศไทยของ ร.ต.อายุส อิศรเสนา ณ อยุธยา นายทหารเสรีไทยสายสหรัฐอเมริกา รุ่นที่ 2 ซึ่งปฏิบัติการอยู่กับกองทัพพายัพมีความสะดวกและราบรื่นยิ่งขึ้น ร.ต.อายุส พบกับ ร.อ.โผน ที่ซือเหมาก่อนที่ ร.ต.อายุส จะออกเดินทางกลับสู่ประเทศไทย

ร.อ.โผน เดินทางไปกรุงวอชิงตันเพื่อรายงานให้ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมชทราบถึงเรื่องราวของขบวนการเสรีไทยภายในประเทศไทย ที่มีนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นหัวหน้า และพล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัส เป็นรองหัวหน้า ตลอดจนแนวทางการประสานงานระหว่างกองบัญชาการเสรีไทยภายในประเทศกับเสรีไทยในสหรัฐอเมริกา รายยงานจากนายทหารเสรีไทยสายอเมริกาที่ได้เดินทางเข้าประเทศไทยแล้วกลับไปกรุงวอชิงตัน 2 นาย คือ ร.อ.โผน อินทรทัต และ ร.ท.การุณ เก่งระดมยิง ทำให้ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมชเข้าใจถึงสถานการณ์ของประเทศไทยรวมทั้งสถานภาพของขบวนการเสรีไทยภายในประเทศดียิ่งขึ้น จนสามารถประสานงานกับผู้แทนของกองบัญชาการเสรีไทยภายในประเทศที่ นายปรีดี พนมยงค์ ให้เดินทางมากรุงวอชิงตันในปี 2488 คือ นายกนต์ธีร์ ศุภมงคล, พระพิศาลสุขุมวิท และหลวงสุขุมนัยประดิษฐได้

ภายหลังภารกิจที่ซือเหมา[แก้]

เมื่อเสร็จภารกิจที่กรุงวอชิงตัน ร.อ.โผน อินทรทัตจึงมาประจำอยู่ที่ศูนย์ฝึกของ โอ.เอส.เอส. ที่ทรินโกมาลี บนเกาะลังกา และปฏิบัติงานอยู่ ณ ที่นั้นจนกระทั่งวันสันติภาพ 16 สิงหาคม 2488 จึงดินทางเข้าสู่ประเทศไทย ร.อ.โผน ได้รับพระราชทานยศทหารไทยเป็นพันตรี และเป็นทหารเสรีไทยสายสหรัฐอเมริกา รุ่นที่ 1 คนเดียวที่ได้ยศพันตรีขณะมีชีวิตอยู่ (พ.ต.การะเวก ศรีวิจารณ์ และ พ.ต.สมพงษ์ ศัลยพงษ์ เสียชีวิตไปในระหว่างเดินทางเข้าประเทศไทยเมื่อเดือนมิถุนายน 2487)

ภายหลังสงครามโลกสงบ ในวันที่ 30 ตุลาคม ทางราชการได้รื้อฟื้นคดีสังหารเสรีไทยสองนายขึ้น โดย พ.ต.โผน อินทรทัต พ.ต.บุญมาก เทศบุตร และ ร.อ.อานนท์ ณ ป้อมเพชร ร่วมเดินทางไปที่แม่น้ำโขง เขตอำเภอเชียงแมน จังหวัดล้านช้าง พร้อมด้วยอดีตนายอำเภอเชียงแมน นายยุทธ หนุนภักดี และตำรวจจากส่วนกลางประมาณ 9 นาย ไปยังจุดที่ พ.ต.การะเวก, พ.ต.สมพงษ์ และพ่อค้าที่ชื่อนายบุญช่วย ถูกตำรวจไทยฆาตกรรม เพื่อสืบสวนสอบสวนค้นหาความจริงที่เกิดขึ้น และได้นำอัฐิของ พ.ต.การะเวก ศรีวิจารณ์ กลับกรุงเทพฯ ด้วย ส่วน พ.ต.สมพงษ์ ศัลยพงษ์ ถูกยิงทิ้งและจมหายไปในแม่น้ำโขง หาศพไม่เจอ

พ.ต.โผน อินทรทัต ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง รองผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง เพราะมีคุณวุฒิทางด้านวิศวกรรมเคมีจากสหรัฐอเมริกา ไปจนกระทั่งเกิดการรัฐประหารเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ผลจากการรัฐประหารในครั้งนั้น ทำให้มีคำสั่งเลิกจ้าง พ.ต.โผน อินทรทัต ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงงานยาสูบในปีถัดมา

และภายหลังเหตุการณ์ที่เรียกกันว่า กบฏเสนาธิการ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2491 ได้มีการออกหมายจับบุคคลที่คาดว่าจะมีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น พล.ต.เนตร เขมะโยธิน พ.ท.พโยม จุลานนท์ นายอรรถกิตติ พนมยงค์ นายปราโมทย์ พึ่งสุนทร พ.ต.ต.เชาว์ คล้ายสัมฤทธิ์ และ พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี รวมถึง พ.ต.โผน อินทรทัต ด้วย

เหตุการณ์กบฏวังหลวง[แก้]

ในเหตุการณ์ที่เรียกกันว่า "ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ 2492" หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า กบฏวังหลวง พ.ต.โผน อินทรทัต ในฐานะโฆษกคณะปฏิวัติและแกนนำผู้ก่อการ ร่วมกับนายปรีดี พนมยงค์ ได้บุกเข้ายึดสถานีวิทยุของกรมโฆษณาการที่พญาไท เมื่อเวลา 21.15 น. ออกอากาศแทรกรายการแสดงลิเกเรื่องคำปฏิญาณของ นายสุชิน ว่า "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ล้มเลิกรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เสีย และคณะรัฐมนตรีออกจากตำแหน่งด้วย และได้แต่งตั้งนายดิเรก ชัยนาม เป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ และกระทรวงการคลัง ให้นายทวี บุณยเกตุ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย" นอกจากนี้ยังได้ประกาศแต่งตั้งและปลดบุคคลสำคัญ อีกหลายคน จากนั้นก็ถอดชิ้นส่วนของเครื่องกระจายเสียงไปด้วย เพื่อป้องกันมิให้รัฐบาลทำการกระจายเสียงต่อไป

ภายหลังทหารของฝ่ายรัฐบาลบุกเข้ายึดกรมโฆษณาการคืนในช่วงเช้าตรู่ของวันรุ่งขึ้น พ.ต.โผน อินทรทัต จึงถูกตำรวจจับกุมและยิงเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวจากสถานีวิทยุกรมโฆษณาการไปสอบสวนที่วังปารุสกวัน โดยตำรวจรายงานว่า พบศพที่อำเภอดุสิต และนำศพส่งโรงพยาบาล แจ้งว่าเป็นชายไทยไม่ทราบชื่อ ที่ท้ายทอยและหน้าผากมีรอยถูกยิง ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เป็นลักษณะเฉพาะของฆาตกรรมทางการเมืองในช่วงปี 2490[1] ขณะนั้นหม่อมหลวงกันยกา ภรรยาของ พ.ต.โผน กำลังตั้งครรภ์บุตรชายคนสุดท้าย (พลเอกไตรรงค์ อินทรทัต) ได้ประมาณ 2 เดือนเศษ ทั้งนี้ โดยไม่มีการเปิดเผยหรือให้คำอธิบายที่โปร่งใสจากทางการต่อเหตุการณ์นี้แต่อย่างใด

ความเชื่อมโยงกับ โผน กิ่งเพชร[แก้]

นายทองทศ อินทรทัต ญาติผู้พี่ของ พ.ต.โผน อินทรทัต ได้นำชื่อ "โผน" ไปตั้งให้กับนักมวยในค่ายของตน คือ "โผน กิ่งเพชร" แชมป์โลกคนแรกของไทย ด้วยความระลึกถึงญาติผู้น้องผู้ล่วงลับ

ข้อมูลเรียบเรียง[แก้]

  1. หนังสือ "ตำนานเสรีไทย" โดย ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร
  2. หนังสือ "สู่สยาม, ประเทศใต้ดิน (Into Siam, Underground Kingdom)" โดย ร.อ.นิคอล สมิธ
  3. บทความ "๖๐ ปีเสรีไทย วีรกรรมของผู้รับใช้ชาติ" โดย ธนาพล อิ๋วสกุล จากนิตยสารสารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๒ เดือน ธันวาคม ๒๕๔๔
  4. บทความ "สู่วาระสุดท้ายของเรือหลวงศรีอยุธยา : ทหารเรือกับเหตุสำคัญ ฯ" โดย พลเรือโท กฤษฎา เฟื่องระบิล
  5. บทความ "การเมืองแบบรุนแรงในหมู่ชนชั้นนำ (1) เก็บถาวร 2008-05-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน" โดย เกษียร เตชะพีระ

อ้างอิง[แก้]

  1. "กฏบวังหลวง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-21. สืบค้นเมื่อ 2007-10-29.