พูดคุย:ราชวงศ์ฮั่น

ไม่รองรับเนื้อหาของหน้าในภาษาอื่น
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ราชวงศ์ฮั่น เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิกิประเทศจีนและสถานีย่อย โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อรวบรวมเรื่องราวทุกอย่างเกี่ยวกับประเทศจีน ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในโครงการนี้ได้ด้วยการช่วยกันพัฒนาบทความ ราชวงศ์ฮั่น หรือแวะไปที่หน้าโครงการหรือหน้าสถานีย่อยเพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติม
??? บทความนี้ยังไม่ได้รับการพิจารณาตามการจัดระดับการเขียนบทความ
ราชวงศ์ฮั่น เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิกิประวัติศาสตร์และสถานีย่อย โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อรวบรวมเรื่องราวทุกอย่างเกี่ยวกับประวัติศาสตร์โลก เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการศึกษาค้นคว้าที่น่าเชื่อถือสำหรับผู้อ่าน ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในโครงการนี้ได้ด้วยการช่วยกันพัฒนาบทความ ราชวงศ์ฮั่น หรือแวะไปที่หน้าโครงการหรือหน้าสถานีย่อยเพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติม
??? บทความนี้ยังไม่ได้รับการพิจารณาตามการจัดระดับการเขียนบทความ
ราชวงศ์ฮั่น เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิกิพระมหากษัตริย์และสถานีย่อย โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อรวบรวมเรื่องราวทุกอย่างเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ราชวงศ์ และพระบรมวงศานุวงศ์ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการศึกษาค้นคว้าที่น่าเชื่อถือสำหรับผู้อ่าน ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในโครงการนี้ได้ด้วยการช่วยกันพัฒนาบทความ ราชวงศ์ฮั่น หรือแวะไปที่หน้าโครงการหรือหน้าสถานีย่อยเพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติม
??? บทความนี้ยังไม่ได้รับการพิจารณาตามการจัดระดับการเขียนบทความ

ย้ายเนื้อหามาจาก ประวัติศาสตร์จีน รอการปรับรวมกับเนื้อหาในหน้าหลักเดิม Markpeak 11:54, 26 เมษายน 2007 (UTC)

ราชวงศ์ฮั่น[แก้]

หลิวปังรบชนะฌ้อป๋าอ๋องเซี่ยงหวี่ และตั้งราชวงศ์ฮั่นขึ้น ราชวงศ์ฮั่นเป็นยุคทองของจีน คนจีนในยุคหลังจะเรียกตัวเองว่าเป็นชาวฮั่น ราชวงศ์ฮั่นอยู่ได้เป็นเวลานาน กว่า 400 ปี (ราว ๆ ช่วง พ.ศ. 335 - 763) (หรือราว ๆ ช่วง ก่อนคริสตศักราช 206 ปี - ค.ศ. 220) และล่มสลายมาเป็นยุคสามก๊ก (ราว ๆ พ.ศ. 763 - 823)(หรือ ๆ ค.ศ. 220 - 280)มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

เมื่อกองทัพหลิวปังเอาชนะกองทหารของเซี่ยงอี่สำเร็จ จึงสถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิองค์แรกของราชวงศ์ฮั่นอันยิ่งใหญ่และยาวนาน มีพระนามว่า พระเจ้าฮั่นเกาจู่ โดยตั้งเมืองหลวงที่ ฉางอาน (ใกล้บริเวณเมืองซีอาน มณฑลส่านซีปัจจุบัน) แล้วเรียกชื่อประเทศว่า อาณาจักรฮั่น นักประวัติศาสตร์จีนแบ่งยุคสมัยของราชวงศ์ฮั่นเป็นสองยุคตามที่ตั้งของเมืองหลวง คือ ราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (เริ่มต้นโดยพระเจ้าฮั่นเกาจู่) และราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (เริ่มต้นที่พระเจ้าฮั่นกวงอู่) เนื่องจากความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมืองอันมากด้วยวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ยาวนาน จึงถือเป็นยุคทองของจีน จึงมีศัพท์จีนคำหนึ่งซึ่งได้ยินติดหูและใช้เรียกในชีวิตประจำวัน คือ ชาวฮั่น ภาษาฮั่น ซึ่งหมายถึง ชาวจีน ภาษาจีน นั่นเอง มันแสดงถึงความภาคภูมิใจของคนจีนที่สืบเนื่องกันมาตั้งแต่ยุคอาณาจักรฮั่นโบราณ

ราชวงศ์ฮั่นตะวันตก[แก้]

หลังจากปราบปรามกองทหารของเซี่ยงอี่และกลุ่มต่อต้านอื่นสำเร็จแล้ว หลิวปังหรือพระเจ้าฮั่นเกาจู่รวบรวมแผ่นดินเป็นหนึ่งเดียวกัน สังคมสงบอีกครั้ง แต่อยู่ในภาวะอ่อนล้าจากสงครามนับสิบปี บ้านเมืองเสียหายหนัก ประชาชนอดอยากเพราะผลิตพืชผลได้ไม่เต็มที่ พระเจ้าฮั่นเกาจู่และเสนาบดีส่วนใหญ่ล้วนมาจากสามัญชน จึงเข้าใจความทุกข์ยากของชาวบ้านอย่างลึกซึ้ง พระองค์ดำเนินนโยบายการปกครองแบบไม่ปกครองเพื่อช่วยฟื้นฟูความเป็นอยู่ของราษฎรและบ้านเมือง

การปกครองแบบไม่ปกครอง[แก้]

นโยบายปกครองของพระเจ้าฮั่นเกาจู่ซึ่งใช้กับราษฎรหลังสงครามยาวนาน เรียกว่า การปกครองแบบไม่ปกครอง(หลักอู่เหวย) มันเป็นการปกครองตามการผันแปรของธรรมชาติ อันทำให้สังคมมีเสถียรภาพ ผลผลิตเพิ่มขึ้น ความเป็นอยู่ของราษฎรดีขึ้น ส่วนนโยบายลดภาระของราษฎรซึ่งมีต่อรัฐ เช่น ลดอัตราภาษีส่งรัฐ งดและลดการเกณฑ์แรงงาน และอื่นๆ อันส่งผลให้ชีวิตราษฎรมีอิสระเพิ่มขึ้น ส่งเสริมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และพัฒนาผลผลิตของตน บ้านเมืองจึงฟื้นฟูอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว

นโยบายการปกครอง[แก้]

ช่วงแรกของการครองราชย์นั้นพระเจ้าฮั่นเกาจู่แต่งตั้งเจ้านครรัฐซึ่งร่วมทำสงครามชิงอำนาจกับเซี่ยงอี่ไปปกครองนครรัฐทั้งเจ็ดเพื่อตอบแทนน้ำใจ ต่อมาเมื่ออำนาจของพระองค์มั่นคงขึ้นจึงวางแผนใส่ร้ายพวกเขาว่าเป็นกบฏแล้วกำจัดทั้งหมด จากนั้นแต่งตั้งให้ราชนิกุลดำรงตำแหน่งแทนเจ้านครรัฐเหล่านั้น

ปราบกบฏเจ้านครรัฐทั้งเจ็ด[แก้]

ผู้สืบทอดราชบัลลังก์ต่อจากพระเจ้าฮั่นเกาจู่ต่างช่วยกันพัฒนาและฟื้นฟูบ้านเมืองอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราษฎรมีความสุข อาณาจักรเจริญรุ่งเรืองจนกระทั่งนักประวัติศาสตร์เรียกช่วงการครองราชย์ของพระเจ้าฮั่นเหวินตี้และพระเจ้าฮั่นจิ่งตี้ ว่า การปกครองสมัยเหวิน- จิ่ง เมื่อบ้านเมืองมีความสงบสุขและมั่นคง พระเจ้าฮั่นจิ่งตี้มีการปรับนโยบายปกครองประเทศด้วยการลดทอนดินแดนในครอบครองของเจ้านครรัฐ อันเป็นเหตุให้เกิดจลาจลเจ็ดเจ้านครรัฐ พระองค์มีคำสั่งให้แม่ทัพโจวย่าฟูไปปราบจลาจล เพียงสามเดือนรัฐอู๋และรัฐฉู่ซึ่งเป็นรัฐใหญ่ถูกปราบราบคาบ อีกห้ารัฐถูกสยบด้วยเวลาไม่นานนัก ชัยชนะครั้งนี้ส่งผลให้เจ้านครรัฐกลายสภาพเป็นผู้ครอบครองดินแดนในนามเท่านั้น ไม่มีอำนาจปกครองประชาชนอีกต่อไป เมื่ออำนาจของส่วนกลางมั่นคง การปกครองแผ่นดินจึงเป็นไปอย่างราบรื่น ต่อมาสมัยพระเจ้าฮั่นอู่ตี้เห็นว่าอาณาเขตของเจ้านครรัฐยังกว้างใหญ่และมีเศรษฐกิจดี ซึ่งอาจก่อปัญหาต่อราชสำนักภายหน้า จึงประกาศนโยบายมรดกศักดินาโดยยอมให้เจ้านครรัฐนำที่ดินในครอบครองแบ่งแก่ทายาทของตนได้ มันเป็นแผนแยบยลเพื่อลดขนาดดินแดนของเจ้านครรัฐอันส่งผลมิให้เจ้านครรัฐมีอำนาจต่อรองหรือกดดันราชสำนักได้อีก

จักรพรรดิฮั่นอู่ตี้ มหาราชลือนามในแผ่นดิน[แก้]

หลิวเช่อ เป็นพระนามเดิมของพระเจ้าฮั่นอู่ตี้ ทรงขึ้นครองราชย์เมื่ออายุ 16 พรรษา ปกครองอาณาจักรฮั่นนานถึง 54 ปี (ปี 140 – 87 ก่อน ค.ศ.) ผลงานปรับปรุงประเทศและแผ่ขยายอิทธิพลของพระองค์ทำให้นักประวัติศาสตร์ถือเป็นมหาราชซึ่งมีชื่อเสียงมากในประวัติศาสตร์ของจีน พระองค์กำหนดปีรัชสมัยของตนขึ้นเป็นครั้งแรกในชื่อว่า “เจี้ยนหยวน” นับจากนี้ไปกษัตริย์จีนองค์ต่อมาต่างถือเป็นประเพณีตั้งชื่อรัชศกของตนมาจนกระทั่งสิ้นสุดยุคจักรพรรดิ

นโยบายการปกครอง[แก้]

พระองค์ปรับประบบการเข้ารับราชการใหม่ โดยกำหนดให้ทุกท้องที่เลือกผู้มีจิตกตัญญูหรือขุนนางซื่อสัตย์ไปที่เมืองหลวงเพื่อเป็นข้าราชการ ทำให้ระบบคัดเลือกขุนนางแบบเดิมซึ่งสืบทอดตำแหน่งโดยทายาทลดความสำคัญลงไปอย่างมาก คุณภาพของขุนนางดีขึ้นอันส่งผลดีต่อการทำงานเพื่อบ้านเมืองและความสุขของราษฎรมาก

นโยบายด้านเศรษฐกิจ[แก้]

พระเจ้าฮั่นอู่ตี้ก่อสร้างพระราชวังและมีการทำสงครามแผ่ขยายอำนาจบ่อยครั้ง จึงมีความจำเป็นต้องใช้เงินมาก พระองค์ออกข้อกำหนดเข้มงวดในทางเศรษฐกิจแตกต่างจากอดีตเพื่อนำเงินไปใช้จ่ายในภารกิจดังกล่าว ตัวอย่างเช่น

  1. สร้างกิจการผูกขาดโดยรัฐ และห้ามบุคคลทั่วไปทำกิจการนี้ อันได้แก่ การค้าเกลือ โลหะและเหล้า
  2. กำหนดใช้เงินตราสกุลเดียวกัน โดยสร้างเงินเหรียญ 5 จู ซึ่งมีน้ำหนักเท่ากับน้ำหนักของเมล็ดข้าวโพด 500 เมล็ด มีอักษรจีนคำว่า 5 จู กำกับไว้
  3. รัฐทำการค้าขายเอง โดยกระจายสินค้าเครื่องบรรณาการจากรัฐต่างๆหรือประเทศข้างเคียงส่งไปขายที่เมืองอื่นเพื่อเพิ่มพูนรายได้ของรัฐ และตั้งหน่วยงานในเมืองหลวงรับซื้อสินค้าต่างๆอันเป็นการปรับกลไกของตลาดและควบคุมราคาสินค้าได้ด้วย

นโยบายด้านการทหาร[แก้]

  1. พระเจ้าฮั่นอู่ตี้ส่งขุนพลเว่ยชิงและขุนพลฮั่วชี่ปิ้งนำกองทัพนับแสนคนบุกโจมตีถึงกลางดินแดนที่ตั้งของชนเผ่าซยงหนู ซึ่งอาศัยทางเหนือของจีนและเข้าปล้นชิงทรัพย์สินของชาวฮั่นบ่อยครั้ง ในที่สุดชนเผ่านี้ต้องถอยขึ้นไปทางเหนือของทะเลทรายมองโกเลีย ชายแดนทางเหนือของแผ่นดินฮั่นตะวันตกจึงสงบสุขได้ยาวนาน
  2. การขยายดินแดนและอำนาจ พระองค์ยกทัพไปตีเกาหลีและดินแดนของชนกลุ่มน้อยต่างๆ โดยจัดตั้งเป็นเขตปกครองและดูแลเข้มงวด อาณาจักรแผ่ขยายใหญ่กว่าอาณาจักรฉินมาก นอกจากนั้นยังส่งทูตไปเจริญไมตรียังดินแดนตะวันตก อันได้แก่ ที่ราบสูงทาร์มทางตะวันออกของชงหลิงถึงทางตะวันตกของด่านอี้เหมินกวนและด่านหยังกวน แล้วยังจัดตั้งเขตปกครองพิเศษดินแดนส่วนนี้ นับเป็นการเริ่มต้นปกครองดินแดนตะวันตกอย่างเป็นทางการ

ความรุ่งเรืองสูงสุดของอาณาจักรฮั่น[แก้]

แม้พระเจ้าฮั่นอู่ตี้จักสร้างความสำเร็จในการพัฒนาบ้านเมืองและประชาชนอยู่ดีกินดีอย่างมาก แต่ทรงมีนิสัยชอบทำการใหญ่โต สุรุ่ยสุร่าย งมงาย และทำศึกสงครามตลอดรัชสมัย ทำให้เงินคงคลังร่อยหรอลง ฐานะความมั่นคงของประเทศเสื่อมโทรมลงในตอนปลายรัชสมัย ผู้สืบทอดบัลลังก์รุ่นต่อมา คือ พระเจ้าฮั่นเจาตี้ และ พระเจ้าฮั่นเซวียนตี้ พยายามแก้ไขปัญหาทับถมจากอดีตด้วยการระมัดระวังการแต่งตั้งขุนนาง ละเว้นภาษีค่าเช่าที่นาเพื่อลดความเดือดร้อนของราษฎร พัฒนาด้านเกษตรกรรมและหัตถกรรมอันส่งผลต่อการเพิ่มผลผลิตในชาติ จึงมีการยกย่องให้พระเจ้าฮั่นเซวียนตี้ เป็นเจ้าแห่งความเฟื่องฟู ด้วยการทำประโยชน์ของกษัตริย์ทั้งสองพระองค์จึงประคองและรักษาความรุ่งเรืองของราชวงศ์ต่อไปอีกพักใหญ่ก่อนวาระแห่งการล่มสลายจักมาเยือนราชวงศ์อันยิ่งใหญ่นี้

วาระเสื่อมสลายของราชวงศ์ฮั่นตะวันตก[แก้]

อำนาจปกครองของราชวงศ์นี้หลังจากพระเจ้าฮั่นอู่ตี้สิ้นพระชนม์ตกอยู่ในมือของพระญาติวงศ์และขันที กษัตริย์รุ่นต่อมาใช้ชีวิตสุขสำราญเป็นหลัก การบริหารบ้านเมืองจึงอยู่ในมือของญาติวงศ์ สมัยพระเจ้าฮั่นหยวนตี้นั้นครอบครัวตระกูลหวังของพระมเหสีได้รับการวางใจเป็นพิเศษ เมื่อถึงสมัยพระเจ้าฮั่นเฉิงตี้ พระญาติวงศ์สกุลหวังเข้ากุมอำนาจปกครองต่อเนื่องและมีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น ต่อมาไม่นาน หวังมั่ง ยึดครองอำนาจเบ็ดเสร็จจากรัชทายาทของพระเจ้าฮั่นผิงตี้แล้วสถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิ ตั้งชื่อราชวงศ์ของตนว่า ราชวงศ์ซิน

ราชวงศ์ซิน : การปฏิรูปบ้านเมือง[แก้]

หลังจากตั้งราชวงศ์ซินขึ้น หวังมั่งเริ่มการฟื้นฟูประเพณีเก่าตามแนวความเชื่อของตนเอง ตัวอย่างเช่น

  1. เวนคืนที่ดินทั้งหมดกลับมาเป็นของรัฐ ที่ดินของรัฐหรือนาหลวงไม่อนุญาตให้ซื้อขาย แล้วจำกัดจำนวนถือครองที่ดินของราษฎรไว้
  2. ห้ามการซื้อขายทาสอย่างเด็ดขาด
  3. ผูกขาดกิจการค้าเกี่ยวกับการดำรงชีวิตประจำวันของราษฎร ได้แก่ เกลือ โลหะ เหล้า เหรียญกษาปณ์ ป่าไม้และแหล่งน้ำ แล้วยังให้มีการกู้ยืมเงินจากรัฐได้
  4. ปฏิรูประบบเงินตรา มีการยกเลิกเงิน 5 จู ของราชวงศ์ฮั่น แล้วสร้างเหรียญกษาปณ์ขึ้นใหม่
  5. ฟื้นฟูระบบปูนตำแหน่งศักดินาและที่ดินของราชวงศ์โจวขึ้นใหม่ แบ่งดินแดนเป็น 9 เขตอย่างสมัยโบราณ

การล่มสลายของราชวงศ์ซิน[แก้]

การปฏิรูปของหวังมั่งสร้างความสับสนวุ่นวายในทางเศรษฐกิจ หลายมาตรการเพิ่มภาระและบีบคั้นราษฎรมาก ทำให้สังคมสั่นคลอน นอกจากนั้นยังเกิดภัยแล้งและศัตรูพืชทำลายผลผลิตติดต่อหลายปี ราษฎรเริ่มต่อต้านการปกครองของหวังมั่งและรวมตัวกัน กลุ่มต่อต้านที่ใหญ่และทำลายราชวงศ์นี้ลงได้ คือ กองกำลังชงหลิงของ หลิวเยี่ยน หลิวซิ่ว สองพี่น้องราชนิกุลในราชวงศ์ฮั่นตะวันตก หวังมั่นนำกองทัพจำนวนสี่แสนคนมุ่งลงใต้เพื่อปราบกบฏกลุ่มนี้ แต่ถูกตีแตกพ่ายที่คุนหยัง (อำเภอเยี่ยเซี่ยน เหอหนานปัจจุบัน) ปีค.ศ. 23 กองทัพกบฏบุกยึดเมืองฉางอานได้ หวังมั่งถูกประหาร ราชวงศ์ซินที่ก่อตั้งมา 15 ปี จึงสิ้นสุดอำนาจอย่างสมบูรณ์

ราชวงศ์ฮั่นตะวันออก[แก้]

เมื่อราชวงศ์ซินสิ้นสุดอำนาจ หลิวซิ่ว ซึ่งเป็นราชนิกุลในราชวงศ์ฮั่นตะวันตกและเป็นผู้นำกองทัพชงหลิงโค่นล้มราชวงศ์ซินเริ่มฟื้นฟูราชวงศ์ใหม่โดยตั้งเมืองหลวงที่ เมืองลั่วหยัง แล้วสถาปนาตนเองเป็นพระเจ้าฮั่นกวงอู่ นักประวัติศาสตร์เรียกช่วงเวลาปกครองนี้ว่า อาณาจักรฮั่นตะวันออก ช่วงต้นราชวงศ์มีการฟื้นฟูบูรณะเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ของราษฎร ผ่อนคลายกฎเกณฑ์ของบ้านเมือง เชิดชูหลักคำสอนของลัทธิขงจื๊อซึ่งเน้นคุณธรรมอันส่งผลให้เกิดกระแสที่ปัญญาชนกล้าวิจารณ์ราชสำนักเพิ่มขึ้น ราชวงศ์ฮั่นตะวันออกสามารถครองแผ่นดินจีนต่อเนื่องกันนาน 200 ปี ท่ามกลางความวุ่นวายของสังคมและการแย่งชิงอำนาจระหว่างพระญาติวงศ์และขันทีอย่างดุเดือด

ศึกชิงอำนาจระหว่างพระญาติวงศ์กับขันที[แก้]

หลายครั้งที่จักรพรรดิสิ้นพระชนม์กะทันหัน รัชทายาทผู้เยาว์วัยต้องขึ้นครองราชย์ด้วยพระชนมายุน้อย จึงต้องมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งอาจเป็นพระราชชนนีหรือพระญาติวงศ์ การบริหารงานแทนจักรพรรดิทำให้บุคคลเหล่านี้ถือโอกาสกำจัดผู้ไม่เห็นด้วยกับฝ่ายตนเพื่อเสริมสร่างอำนาจให้เข้มแข็งขึ้น ครั้นจักรพรรดิน้อยเติบโตเป็นผู้ใหญ่กลับไม่ยินดีจะคืนพระราชอำนาจ พระองค์จึงต้องวางแผนชิงอำนาจคืนมาโดยอาศัยพวกขันทีสังหารพระญาติผู้เป็นต้นเหตุ ความช่วยเหลือของฝ่ายขันทีสร้างอำนาจครอบงำจักรพรรดิและราชสำนักแทนกลุ่มเดิมในท้ายที่สุด การแย่งชิงอำนาจและชัยชนะของฝ่ายใดก็ตามส่งผลต่อการปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ตามปกติของข้าราชการ บ้านเมืองตกอยู่ในบรรยากาศของความหวาดระแวงกันและระส่ำระสายหนักขึ้น อันกลายเป็นสาเหตุหนึ่งในการล่มสลายของราชวงศ์นี้

การต่อต้านของพวกปัญญาชน[แก้]

ช่วงกลางของราชวงศ์ฮั่นตะวันออกซึ่งขันทีครองอำนาจในแผ่นดินและครอบงำจักรพรรดิไว้ บรรดาปัญญาชนซึ่งถือเป็นบัณฑิตผู้รู้หนังสือต่างวิจารณ์อิทธิพลของเหล่าขันทีซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน บ้านเมืองปั่นป่วน บัณฑิตบางคนร่วมมือกับขุนนางในราชสำนักก่อกบฏ ดังเช่น หลี่อิงและเฉินฝาน บัณฑิตสมัยพระเจ้าฮั่นหวนตี้ หรือ โต้วอู่ พระญาติวงศ์ซึ่งไม่พอใจพวกขันทีในสมัยพระเจ้าฮั่นหลิงเต้ เป็นต้น

ยุคมืดช่วงปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันออก[แก้]

บรรดาขันทีสามารถสยบกลุ่มต่อต้านได้ จึงเหิมเกริมและผยองใจมากขึ้น การกุมอำนาจในราชสำนัก การเชื่อฟังของจักพรรดิ สร้างความระส่ำระสายในสังคม ราษฎรไม่พอใจการบริหารตามอำเภอใจของเหล่าขันที แรงบีบคั้นต่างๆกระตุ้นให้ประชาชนลุกขึ้นต่อต้านผู้ปกครอง กลายเป็นกบฏประชาชน ราชสำนักจึงเพิ่มอำนาจให้ขุนนางท้องถิ่นเพื่อรับมือกับกบฏ ทำให้พวกขุนนางเหล่านั้นมีกำลังทหารเป็นของตนเอง จึงฉวยโอกาสนี้สร้างอำนาจและเพิ่มกำลังคนจนกลายเป็นขุนศึกแล้วแบ่งแยกดินแดนออกเป็นเอกเทศ ต่งจัว (ตั๋งโต๊ะ) ถือเป็นขุนศึกรุ่นแรกที่มีบทบาทโดดเด่นของยุคนี้

การกวาดล้างพวกขันทีและการสิ้นสุดของราชวงศ์อันยิ่งใหญ่[แก้]

เมื่อพระเจ้าฮั่นเซ่าตี้ขึ้นครองราชย์แล้ว อำมาตย์หยวนเซ่า (อ้วนเสี้ยว) เริ่มกำจัดขันทีกว่า 2000 คน อันเป็นการกวาดล้างอิทธิพลของขันทีทั้งหมด ต่อมาต่งจัวนำกองทหารบุกโจมตีลั่วหยางและปลงพระชนม์พระเจ้าฮั่นเซ่าตี้ แล้วยก พระเจ้าฮั่นเซี่ยนตี้ (เหี้ยนเต้) ขึ้นครองราชย์แทน พร้อมกับบีบให้หยวนเซ่าออกจากเมืองหลวง ไม่นานหยวนเซ่ากับพันธมิตรยกทัพมาตีต่งจัว เขาจึงพาจักรพรรดิลี้ภัยไปฉางอาน ต่อมา หลี่ปู้ (ลิโป้) กับพวก วางแผนลอบสังหารต่งจัวสำเร็จ จักรพรรดิจึงเดินทางกลับลั่วหยัง แต่ถูกนายทัพเฉาเชา (โจโฉ) ย้ายพระองค์ไปอยู่ที่เมืองสี่ชาง (ฮูโต๋ว) ตั้งแต่บัดนั้นมาเฉาเชาจึงควบคุมและใช้อำนาจบริหารบ้านเมืองในนามจักรพรรดิ ถือเป็นผู้ครองอำนาจสูงสุดแท้จริง ปี ค.ศ. 220 เฉาเชาเสียชีวิตลง บุตรชายของเขา คือ เฉาพี (โจผี) ขึ้นสืบทอดตำแหน่งแทน แล้วถอดถอนพระเจ้าฮั่นเซี่ยนตี้ สถาปนาตนเองขึ้นเป็นจักรพรรดิ ราชวงศ์ฮั่นตะวันออกจึงล่มสลายอย่างสมบูรณ์