พูดคุย:ราชวงศ์ฉิน

ไม่รองรับเนื้อหาของหน้าในภาษาอื่น
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ย้ายเนื้อหามาจาก ประวัติศาสตร์จีน รอการปรับรวมกับเนื้อหาในหน้าหลักเดิม Markpeak 11:55, 26 เมษายน 2007 (UTC)

ราชวงศ์ฉิน : ที่มาเริ่มแรก[แก้]

เจ็ดมหานครรัฐแห่งยุคจั้นกั๋ว[แก้]

ต้นยุคชุนชิวแผ่นดินจีนมีประมาณสองร้อยนครรัฐ แต่สงครามแย่งชิงอำนาจหรือแผ่ขยายอิทธิพลต่างผนวกดินแดนต่างๆเข้ากับรัฐผู้ชนะจนกระทั่งเหลือเพียงรัฐใหญ่ เจ็ดรัฐมหาอำนาจในตอนปลายยุคชุนชิวนักประวัติศาสตร์จีนเรียกว่า เจ็ดมหานครรัฐแห่งยุคจั้นกั๋ว ได้แก่ รัฐฉี รัฐฉู่ รัฐเยียน รัฐฉิน รัฐหาน รัฐเว่ย และ รัฐเจ้า ยุคสมัยนี้มีสงครามดุเดือดระหว่างรัฐต่อเนื่อง รัฐฉินกับรัฐฉีได้รับการขนานนามเป็นสองรัฐมหาอำนาจฟากตะวันออกและฟากตะวันตก ซึ่งถือเป็นดุลอำนาจต่อกัน

รัฐฉินยึดครองหกรัฐ[แก้]

ด้วยความหวาดระแวงกันของรัฐฉู่ รัฐเยียน รัฐหาน รัฐเว่ย และรัฐเจ้า ที่มีต่อพฤติกรรมชอบรังแกเพื่อนบ้านของรัฐฉี ทั้งหมดจึงรวมตัวกันโจมตีรัฐฉีอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งรัฐฉีถูกตีแตกและอ่อนกำลังลง ทำให้รัฐฉินโดดเด่นและเป็นรัฐมหาอำนาจเพียงผู้เดียวในปลายสมัยยุคจั้นกั๋ว เมื่อเห็นรัฐต่างๆมีความอ่อนแอลงเนื่องจากทำสงครามกับรัฐฉีมานาน เจ้านครรัฐฉินผู้มีนามว่า อิ๋งเจิ้ง เริ่มมีความคิดรวมรัฐต่างๆให้เป็นหนึ่งเดียว เมื่อได้ฟังแผนการแบ่งแยกของ หลี่ซือ ที่ปรึกษาผู้ชาญฉลาดเพื่อทำลายอำนาจของหกรัฐลง กอปรกับความเข้มแข็ง ห้าวหาญและมีวินัยของกองทัพฉิน เขาตกลงใจทำสงครามผนวกดินแดนโดยทยอยกำจัดรัฐหาน เจ้า เว่ย เยียน และฉี ตามลำดับ จนทั้งหมดพ่ายแพ้ราบคาบ สงครามการแย่งชิงอำนาจระหว่ารัฐจึงยุติลงโดยสิ้นเชิงด้วยแนวความคิดของประมุขรัฐฉิน แผ่นดินจีนจึงรวมผืนดินเป็นหนึ่งเดียวอีกครั้งหลังจากแตกแยกเป็นก๊กเหล่ามานานหลายร้อยปี และสถาปนาตำแหน่งจักรพรรดิของจีนขึ้นเป็นครั้งแรก อิ๋งเจิ้ง จึงมีพระนามว่า พระเจ้าฉินสื่อหวงตี้ (จิ๋นซี ฮ่องเต้) ปฐมจักรพรรดิราชแห่งราชวงศ์ฉิน

ลักษณะการปกครอง[แก้]

หลังจากพระเจ้าฉินสื่อหวงตี้แห่งรัฐฉินโจมตีรัฐที่อ่อนแอทั้งหกแล้วรวมแผ่นดินจีนเป็นหนึ่งเดียว โดยปกครองประเทศแบบรวมอำนาจสู่ศูนย์กลาง อันหมายถึง การที่จักรพรรดิและขุนนางในราชสำนักกุมอำนาจบริหารประเทศทั้งหมด ได้แก่ การวางนโยบายปกครอง การแต่งตั้งตำแหน่งขุนนางต่างๆ ตลอดจนการบริหารราชกิจทั้งปวง ขุนนางต้องปฏิบัติตามราชโองการของจักรพรรดิเท่านั้น ประโยชน์ทางอ้อมของการรวมแผ่นดินครั้งนี้ คือ การผสมผสานระหว่างชนชาติของรัฐต่างๆ และเป็นรากฐานแก่ประเทศจีนให้มีความหลากหลายด้านเชื้อชาติในทุกวันนี้

การปกครองส่วนท้องถิ่น[แก้]

พระเจ้าฉินสื่อหวงตี้แบ่งอาณาจักรออกเป็น 40 เขตการปกครอง แต่ละเขตแบ่งย่อยเป็นอำเภอ ขุนนางปกครองเขตและอำเภอแต่งตั้ง ถอดถอน ปรับเปลี่ยนโดยจักรพรรดิ--ความเห็นที่มิได้ลงชื่อโดย 58.9.146.252 (พูดคุย | ตรวจ) 04:47, 8 กุมภาพันธ์ 2552 (ICT)


          จิ๋นซีฮ่องเจ้ทรงยกเลิกระบบที่ให้เครือญาติหรือขุนนางทีมีความดีความชอบไปปกครองดินแดนเป็นท้าวพระยาสามนตราที่มี

อิสระในระดับหนึ่ง พระองค์ทรงเลือกใช้ระบบ จังหวัด-อำเภอ (จฺวิ้นเสี้ยน) แบ่งอาณาจักรเป็น 36 จังหวัด (ค่อยๆเพิ่มขยายเป็นสี่สิบกว่า จังหวัดในตอนปลายรัชกาล) ผู้ว่าราชการจังหวัดเรียกว่า จฺวิ้นสั่ว เป็นหัวหน้าดูแลงานราชการทั้งหมด ขุนนางระดับจฺวิ้นเว่ย ดูแลกิจการ ทหารในจังหวัด ระดับ เจียนอี้ลิ่ง ดูแลรักษาความสงบแต่ละปี จฺวิ้นสั่ว ต้องเขียนรายงานส่ง ภาษีอากร ทะเบียนสำมะโนครัว และการรักษา ความสงบเรียบร้อยส่งให้ส่วนกลาง (ซ่างจี้) จฺวิ้น แบ่งเขตการปกครองออกไปอีกเรียกว่า เสี้ยน (อำเภอ) อำเภอที่มีราษฎรมากกวาหนึ่งหมื่นครอบครัวเรียกว่าตำแหน่ง เสี้ยนจั่ง ขุนนางรองจากนายอำเภอ เสี้ยนเว่ย ควบคุมกิจการทหาร เสี้ยนเฉิง เป็นปลัดอำเภอ และ จฺวี้จั่ง ทำหน้าที่ตัดสินคดีความ ต่ำจากระดับเสี้ยนลงไปแบ่งเป็น เซียง (ตำบล) เซียงมีสานเหล่า คอยควบคุมดูแล เซ่อฟู จัดเก็บส่วยภาษีละเกรณฑ์แรงงาน และ หยิวเจี้ยว ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยคอยปราบปรามผู้ร้ายและอันทพาล ต่ำจากระดับ เซียง ยังแบ่งเป็นระดับ ถิง และ หลี่ มีหัวหน้าดูแลรับผิดชอบองค์กรการปกครองระดับเล็กที่สุดคือ ระบบห้าบ้านสิบบ้าน (อู่สือ) ซึ่งกำหนดให้ห้าครอบครัวเป็นหนึ่งหน่วย ชาวบ้านควบคุมดูแลสอดส่องพ๐ติกรรมของกันและกัน เมื่อเห็นสิ่งใดผิดปกติต้องแจ้งให้ทางการทราบ หากไม่แจ้งหรือช่วยเหลือผู้กระทำผิดจะต้องถูกลงโทษพร้อมกันทั้งห้าบ้าน เครือข่ายการปกครองที่รวบศูนย์กลาง ของจิ๋นซีฮ่องเจ้วางรากฐานให้กับการปกครองระบอบศักดินาจีนให้สืบทอดตลอดมานับพันปี --ความเห็นที่มิได้ลงชื่อโดย 58.9.73.37 (พูดคุย | ตรวจ) 09:52, 23 กุมภาพันธ์ 2552 (ICT)

ความเป็นเอกภาพของประเทศ[แก้]

เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชนในชาติหลังสงครามรวมแผ่นดินสิ้นสุดแล้ว พระเจ้าฉินสื่อหวงตี้ตัดสินใจปรับปรุงหลายด้านให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน อันส่งผลให้ความเป็นสังคมและวัฒนธรรมของทุกรัฐพัฒนาไปสู่ความเป็นเอกภาพและเป็นประเทศจีนปัจจุบันนี้ สิ่งที่ได้รับการปรับเปลี่ยนมีดังนี้

  1. ด้านตัวอักษร จักรพรรดิแต่งตั้งให้หลี่ซือและคณะทำการชำระระบบอักษรให้มีลักษณะขีดง่ายขึ้นและมีมาตรฐานเดียว เรียกว่า อักษรฉินจ้วน แล้วประกาศบังคับใช้ทั่วประเทศ
  2. ด้านเงินตรา พระองค์กำหนดใช้เหรียญทองแดงกลม เจาะรูเหลี่ยมที่กลางเหรียญ เรียกว่า ซย่าปี้ (เงินต่ำ) ที่มีมูลค่าตามน้ำหนักโดยเรียกว่า ปั้นเหลี่ยง (ครึ่งตำลึง) ส่วนทองคำ เรียกว่า ซั่งปี้ (เงินสูง)
  3. ด้านทั่วไป พระองค์กำหนดใช้ระบบชั่งตวงวัดเป็นมาตรฐานเดียวกันด้วยการสร้างเครื่องมือชั่งตวงวัดให้ประชาชนใช้งานแล้วบังคับใช้ทั่วประเทศ กำหนดขนาดรถและถนนเป็นระบบเดียวกัน

พระเจ้าฉินสื่อหวงตี้ต้องการบังคับประชาชนให้ใช้มาตรฐานที่กำหนดขึ้นอย่างรวดเร็วเพื่อให้การรวมประเทศสมบูรณ์ จึงเลือกใช้วิธีค่อนข้างบีบคั้นและรุนแรงด้วยการประหารเหล่าปัญญาชนที่ต่อต้านคำสั่งของพระองค์และสานุศิษย์ขงจื๊อ นอกจากนั้นยังออกคำสั่งเผาหนังสือในความครอบครองของขุนนางและชาวบ้านซึ่งมิใช่มาตรฐานของพระองค์ทั้งหมด แล้วเร่งเผยแพร่มาตรฐานของแผ่นดินโดยเร็ว อันเป็นส่วนหนึ่งซึ่งทำให้ชาวนครรัฐที่พ่ายแพ้และถูกบีบคั้นให้ทำลายอักษรและวัฒนธรรมของตนเจ็บแค้น เก็บกดอย่างมาก แล้วอดทนรอคอยเพื่อตอบโต้ราชวงศ์ฉิน

สิ่งก่อสร้างสำคัญของราชวงศ์ฉิน[แก้]

เมื่อการรวมแผ่นดินเป็นเอกภาพแล้ว พระเจ้าฉินสื่อหวงตี้เริ่มต้นการก่อสร้างหลายอย่างและสร้างมาตรฐานให้ใช้ทั่วประเทศด้วย ดังนี้

  1. ถนนสำหรับรถม้า สมัยราชวงศ์ฉินกำหนดขนาดตัวรถม้าไว้ คือ กว้าง 6 ฟุต ขนาดถนนต้องกว้าง 50 ก้าว (1 ก้าว เท่ากับ 1 ฟุต) ส่วนถนนส่วนกลางซึ่งเป็นถนนสำหรับจักรพรรดิมีความกว้าง 3 จั้ง (1 จั้งเท่ากับ 10 ฟุต) โดยเริ่มต้นสร้างที่เมืองเสียนหยางอันเป็นเมืองหลวงของราชวงศ์ฉิน พื้นถนนของเมืองนั้นมีความกว้างขวางแล้วตบแต่งสองข้างทางด้วยการปลูกต้นสนเรียงรายไว้อย่างงดงาม นอกจากแสดงถึงความสวยงามร่มรื่นโดดเด่นและการพัฒนาประเทศแล้ว ยังใช้ประโยชน์ในการป้องกันชายแดนด้วย
  2. ขุดคลองหลิงฉีว์ เชื่อมแม่น้ำแยงซีเกียงกับแม่น้ำจูเจียง อันเป็นการพัฒนาระบบขนส่งและชลประทานเพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์แก่ประเทศและความสะดวกแก่ประชาชนด้วย
  3. ซ่อมแซมและก่อสร้างกำแพงเมืองจีนให้เชื่อมต่อกันสมบูรณ์ จักรพรรดิมีราชโองการให้

เหมิงเถียน นำทัพทหารไปทางเหนือขับไล่ชนเผ่าซวงหนู (ตาร์ตาร์) ซึ่งเป็นพวกร่อนเร่อยู่ทางเหนือของรัฐเยียน เจ้า และ ฉิน พวกนี้มีอำนาจอยู่แถบที่ราบสูงและทะเลทรายมองโกเลีย และพยายามแผ่อิทธิพลเข้าสู่แผ่นดินใหญ่เป็นประจำเพื่อช่วงชิงพืชผลและผืนดินอุดมสมบูรณ์ของชาวจีน เมื่อเหมิงเถียนขับไล่พวกนี้ได้ พระองค์จึงเกิดความคิดในการป้องกันประเทศทางด้านเหนือจากการรบกวนของพวกนอกด่านด้วยการซ่อมแซมและสร้างเสริมกำแพงเมืองจีนเชื่อมเข้าด้วยกัน โดยทิศตะวันตกเริ่มที่เมืองหลินเถาไปสุดทางตะวันออกซึ่งเป็นทะเลที่เหลียวตง อันมีความยาวมากกว่า 5000 ลี้ จึงได้รับการขนานนามว่า กำแพงหมื่นลี้ (วั่นหลี่ฉังเฉิง)

วาระแห่งการล่มสลาย[แก้]

พระเจ้าฉินสื่อหวงตี้เสด็จประพาสและเกิดประชวรหนักจนสิ้นพระชนม์ที่ ซาชิว (ด้านตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภอผิงเซียง มณฑลเหอเป่ยปัจจุบัน) โดยกำหนดให้ รัชทายาท ฝูซู สืบราชสมบัติต่อไป ขณะนั้นองค์รัชทายาทถูกส่งไปตรวจกองทัพของเหมิงเถียนที่ชายแดนเนื่องเพราะขัดแย้งกับพระบิดาซึ่งมีคำสั่งทำลายตำราโบราณและสังหารปัญญาชนในแผ่นดินทำให้พระบิดาโกรธจัดและลงโทษด้วยการส่งตัวไปชายแดน เมื่อจักรพรรดิสิ้นพระชนม์กะทันหัน ขันทีเจ้าเกา วางแผนชิงบัลลังก์นี้ไปให้ เจ้าชายหูไห่ ซึ่งตนดูแลสั่งสอนและเชื่อฟังคำสั่งของเขาอย่างดี โดยเกลี้ยกล่อมหลี่ซือให้ร่วมมือกันปลอมราชโองการเปลี่ยนตัวรัชทายาทและเพิ่มคำสั่งให้รัชทายาทปลงพระชนม์ตนเอง ซึ่งฝูซูหลงเชื่อในราชโองการนี้และทำตามโดยดี หลังจากนั้นเจ้าชายหูไห่จึงขึ้นครองราชย์ต่อไปด้วยพระนามว่า พระเจ้าฉินเอ้อร์ซื่อ โดยมีขันทีเจ้าเกาคอยบงการจักรพรรดิผู้เขลาเบาปัญญาอยู่เบื้องหลัง ด้วยการบริหารการปกครองของขันทีเจ้าเกาสร้างความเสื่อมโทรมแก่อาณาจักร ความกดดันคับแค้นของประชาชนเพิ่มทวีขึ้น จึงนำไปสู่การก่อกบฏตามหัวเมืองต่างๆในช่วงปลายราชวงศ์ฉิน

กบฏเซี่ยงอี่และกบฏหลิวปัง[แก้]

เซี่ยงอี่และหลิวปังเป็นแกนนำที่มีชื่อเสียงและมีบทบาทมากในการต่อต้านราชวงศ์ฉิน แต่ละคนต่างมีภูมิหลังแตกต่างกันมาก เซี่ยงอี่มีชาติกำเนิดเป็นชนชั้นสูงของรัฐฉู่ ร่วมกับผู้เป็นอา คือ เซี่ยง เหลียงสั่งสมกำลังทหารที่ ไคว่จี (เมืองซูโจว มณฑลเจียงซูปัจจุบัน) แล้วบุกทำลายกองทหารของพวกฉินเสียหายยับเยินที่ จิ้ว์ลู่ (อำเภอผิงเซียง มณฑลเหอเป่ยปัจจุบัน) การรบชนะตลอดเส้นทางสู่เมืองเสียนหยางของเซี่ยงอี่สร้างชื่อเสียงเลื่องลือทั่วแผ่นดิน เขาประกาศตนเองว่าเป็นขุนทัพแห่งเจ้านครรัฐทั้งหมด ส่วนหลิวปัง เป็นหัวหน้าชุมชนในอำเภอเพ่ย (อำเภอเพ่ยเซี่ยน มณฑลเจียงซูปัจจุบัน) สั่งสมกำลังทหารยึดอำนาจในอำเภอเพ่ยและบุกยึดด่านอู่กวน แล้วมุ่งหน้าสู่เสียนหยางซึ่งขณะนั้นขันทีเจ้าเกาพยายามปิดบังสถานการณ์ย่ำแย่ของทหารจักรพรรดิ มิให้พระเจ้าฉินเอ้อร์ซื่อรับทราบ จนกระทั่งถึงเวลาคับขันเมื่อกบฏหลิวปังเข้าประชิดเมือง ขันทีเจ้าเกาปลงพระชนม์จักรพรรดิ แล้วสถาปนาหลานของพระเจ้าฉินเอ้อร์ซื่อขึ้นเป็นกษัตริย์องค์ใหม่มีพระนามว่า พระเจ้าจื่ออิง ต่อมากองทัพของหลิวปังใกล้จะบุกเข้าเมืองหลวงแล้ว พระองค์จึงสังหารขันทีเจ้าเกาและออกจากเมืองมายอมจำนนต่อหลิวปัง ซึ่งเขายอมไว้ชีวิตพระองค์แล้วสั่งขังไว้ ผู้ที่สังหารพระองค์คือ เซี่ยงอี่ ซึ่งนำกองทหารเข้าเมืองเสียนหยางทีหลังแล้วยังเผาพระราชวังเออผังกงมอดไหม้ทั้งหมด ราชวงศ์ฉินจึงล่มสลายลงอย่างสมบูรณ์หลังจากการรวมแผ่นดินของพระเจ้าฉินสื่อหวงตี้จนถึงพระเจ้าจื่ออิงนั้นใช้เวลาปกครองแผ่นดินเพียง 15 ปีเท่านั้น

ศึกฌ้อปาอ๋องกับเจ้ารัฐฮั่น[แก้]

เมื่อหลิวปังบุกเข้าเมืองเสียนหยางของราชวงศ์ฉินได้เป็นพวกแรก จึงประกาศยกเลิกกฎหมายที่ไม่ชอบธรรมของจักรพรรดิและประกาศปฏิญญากับชาวเมือง 3 ข้อ คือ

  1. ทำร้ายร่างกายต้องถูกลงโทษ # ฆ่าคนต้องชดใช้ด้วยชีวิต # โจรกรรมทรัพย์สินต้องถูกลงโทษ

ด้วยพฤติกรรมของกองทัพหลิวปังซึ่งปฏิบัติตนเคร่งครัดในคำปฏิญญานี้จึงได้รับการสนับสนุนจากราษฎรมาก แต่ด้วยความอ่อนด้อยกำลังด้านกองทัพเมื่อเทียบกับกองทหารของเซี่ยงอี่ซึ่งต้องการบุกเข้าเมืองเสียนหยางเช่นกัน หลิวปังตัดสินใจถอยทัพไปตั้งมั่นยังด้านตะวันออกของเมืองเสียนหยางเพื่อรอคอยโอกาสทวงคืนอำนาจอีกครั้ง ส่วนกองทัพของเซี่ยงอี่ซึ่งเข้าเมืองเสียนหยางได้จึงทำการเผาพระราชวังและสังหารจักรพรรดิ ปล้นฆ่าราษฎรในเมือง อันสร้างความเดือดร้อนแก่ชาวบ้านอย่างหนัก เซี่ยงอี่ตั้งตนเป็นเจ้าผู้นำแห่งฉู่ตะวันตก (ซีฉู่ป้าหวังหรือฌ้อปาอ๋อง) และปูนบำเหน็จตำแหน่งขุนนางแก่ผู้สนับสนุนชัยชนะของเขา รวมทั้งหลิวปังยังได้รับแต่งตั้งเป็น เจ้ารัฐฮั่น การกดขี่ขมเหงราษฎรของทหารเซี่ยงอี่สร้างโอกาสใหม่แก่หลิวปังในการวมเจ้านครรัฐซึ่งขุ่นแค้นเซี่ยงอี่มาทำสงครามต่อต้านกองทัพเซี่ยงอี่ซึ่งใช้เวลานานถึง 5 ปี

สงครามตัดสินชะตาของฌ้อปาอ๋อง[แก้]

ช่วงแรกของการทำสงครามระหว่างหลิวปังกับเซี่ยงอี่นั้น ความเข้มแข็งของทหารและความเก่งกล้าของเซี่ยงอี่ทำให้เขาได้รับชัยชนะต่อเนื่อง ส่วนหลิวปังยึดครองดินแดนกวนจงซึ่งอยู่ด้านตะวันตกของด่านหานอี้กวนอันอุดมสมบูรณ์และมีประชากรมาก จึงมีความแข็งแกร่งขึ้นตามลำดับ นอกจากนั้นหลิวปังยังรู้จักใช้บุคคลที่มีความสามารถด้วยการอ่อนน้อมถ่อมตนและแสดงความมีน้ำใจต่อพวกเขา ทำให้ผู้เก่งกล้าต่างยอมสยบและทุ่มเททำงานให้หลิวปัง เมื่อเสบียงอาหารและบุคลากรมากความสามารถล้วนพร้อมสรรพ สงครามสุดท้ายซึ่งดับความฝันและชะตารุ่งเรืองของเซี่ยงอี่จึงเกิดขึ้นที่ ไกซย่า (อำเภอหลิวปี้ มณฑลอานฮุยปัจจุบัน) เมื่อกองทัพหลิวปังล้อมกองทหารของเซี่ยงอี่ไว้ ต่อมาเซี่ยงอี่ตีฝ่าวงล้อมหนีไปถึงริมแม่น้ำอูเจียง (อำเภอเหอ มณฑลอานฮุยปัจจุบัน) ด้วยรู้ชะตาแห่งความพ่ายแพ้ใกล้มาเยือนและตนมิอาจยอมรับได้ เขาจึงเชือดคอตัวเองตาย สงครามแย่งอำนาจระหว่างฉู่กับฮั่นจึงสิ้นสุดลง หลิวปังได้ชัยชนะอย่างสมบูรณ์และเริ่มก่อตั้งราชวงศ์ฮั่นซึ่งปกครองประเทศจีนเป็นเวลายาวนานและรุ่งเรืองอย่างมาก

บทสรุปยุคราชวงศ์ฉิน[แก้]

อ๋องแห่งรัฐฉิน ได้รวมประเทศจีนเป็นหนึ่งเดียวเป็นครั้งแรก และสถาปนาตัวเองเป็นจักรพรรดิ (ฮ่องเต้) คือ ฉินซีฮ่องเต้ หรือ จิ๋นซีฮ่องเต้ นั่นเอง นครหลวงอยู่ที่เมืองเซียงหยาง (หรือซีอานในปัจจุบัน) พระองค์ทรงตั้งระบบต่าง ๆ เช่น ภาษาเขียน การชั่งตวงวัด ระบบเงินตรา และกำแพงเมืองจีน คำว่าจีน (China) นั้นมาจากคำว่า จิ๋น (Qin) เนื่องด้วยความรุ่งเรืองของประเทศจีนในยุคนี้ อย่างไรก็ตาม โอรสของพระองค์ไม่มีความสามารถเท่า ทำให้ราชวงศ์จิ๋นล่มสลายในช่วงเวลาเพียงสองรัชกาลเท่านั้น (ราว ๆ ช่วง พ.ศ. 322 - 336)

สาเหตุการล่มสลายของราชวงศ์ฉิน[แก้]

การล่มสลายของราชวงศ์ฉินมีสาเหตุโดยสรุป ดังนี้

  1. ประชาชนมีภาระหนักเกินไป ราชวงศ์ฉินดำเนินแผนและมาตรการควบคุมประชาชนอย่างเข้มงวด ต่อเนื่อง สร้างความคับแค้นใจแก่ไพร่ฟ้าทั่วแผ่นดิน ในที่สุดจึงเกิดการจลาจลขึ้น
  2. ความเข้มงวดและการทารุณของโทษทัณฑ์ พระเจ้าฉินสื่อหวงใช้กฎหมายและการลงโทษเพื่อป้องปรามราษฎร ความผิดเล็กน้อยก็ลงโทษประหารทั้งครอบครัว อันสร้างความหวาดกลัวและความกดดันแก่ประชาชน เมื่อสั่งสมมากขึ้น จึงกลายเป็นการทำลายความมั่นคงของราชวงศ์ในที่สุด
  3. แรงอาฆาตของรัฐที่เคยพ่ายแพ้ เมื่อสถานปนาราชวงศ์ฉินและรวมแผ่นดินเป็นหนึ่งเดียว พระเจ้าฉินสื่อหวงสั่งอพยพกลุ่มขุนนางเก่าและพ่อค้ามั่งมีของรัฐที่แพ้สงครามไปอยู่ที่เมืองลั่วหยัง ซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐฉิน แล้วยังยกเลิกการใช้วัตถุปัจจัยของรัฐที่แพ้ ทำให้หกรัฐสะสมความไม่พอใจและพยายามสร้างกระแสอุดมการณ์กู้ชาติมาตลอดจนกระทั่งประสบความสำเร็จ เมื่อผู้บริหารแผ่นดินยุคหลังพระเจ้าฉินสื่อหวงเริ่มอ่อนแอ
  4. การแผ่ขยายอำนาจของขันที หลังจากพระเจ้าฉินสื่อหวงสิ้นพระชนม์ ขันทีคนสนิทมีนามว่า เจ้าเกา มีความละโมบ หวังจะครองอำนาจสูงสุดในแผ่นดินด้วยการเชิดพระเจ้า ฉินเอ้อร์ซื่อ โอรสไร้ความสามารถของพระเจ้าฉินสื่อหวงเป็นกษัตริย์ ด้วยการวางแผนสังหารรัชทายาทนามว่า ฝูซู ซึ่งพระเจ้าฉินสื่อหวงมีความไว้วางใจให้ปกครองแผ่นดิน โดยเขาปลอมราชโองการร่วมกับหลี่ซือให้รัชทายาทปลงพระชนม์ตนเอง การใช้อำนาจของขันทีในนามกษัตริย์สร้างความปั่นป่วนวุ่นวายแก่ข้าหลวงและประชาชนยิ่ง อันถือเป็นปัจจัยเร่งให้แผ่นดินฉินล่มสลายเร็วขึ้น