พูดคุย:ธรรมาภิบาล

ไม่รองรับเนื้อหาของหน้าในภาษาอื่น
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ธรรมาภิบาล[แก้]

(ย้ายมาจากหน้าหมวดหมู่ เพราะมีคนเขียนผิดที่ วางไว้เพื่อรอปรับปรุงลงในบทความ)

การนำ Good Governance มาผลักดันให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ต้องพิจารณาคำสองคำ คำแรก คือ Governance ซึ่งเป็นเรื่องของการบริหารการปกครอง เดิมนั้นเราคิดว่าภาครัฐเท่านั้นที่ดูแลกิจการบ้านเมือง คิดว่ามีการเลือกตั้ง มีรัฐบาล ก็น่าจะเพียงพอต่อการพัฒนาบ้านเมืองแล้ว แต่เมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้นก็คิดว่าควรจะมีกลไกอื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้น จึงเริ่มมีความเห็นของหลายโรงเรียนความคิด ความคิดแรก คือ กลไกทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเน้นการใช้กลไกตลาด โดยการโอนกิจการให้เอกชนทำแทน ส่วนอีกความคิดหนึ่ง คือ กลไกของนักรัฐศาสตร์ คือ การทำให้ภาครัฐมีบทบาทและขนาดเล็กลง ซึ่งกลไกที่นำมาใช้ไม่ใช่ภาคตลาดแต่เป็นภาคประชาสังคม เพื่อเข้ามาบริหารกิจการบ้านเมืองเอง มีการรวมเป็นกลุ่มชุมชน แนวคิดของภาครัฐจึงเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้นำ มีการลดขนาดบทบาท มีการเปลี่ยนโฉมให้ภาคอื่นเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลบ้านเมือง ซึ่งก็มีการพยายามที่จะหาสมดุลระหว่างการใช้ภาครัฐและประชาชนสังคม เพื่อเข้ามาร่วมกันดูแลกิจการบ้านเมืองที่ดี

ส่วนคำที่สอง คือ Good คำว่า ที่ดี ต้องมีการนิยาม ที่ดี คืออะไร มีการนำค่านิยมของหลายฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้อง คำว่าที่ดีมีขอบเขตกว้างขวาง ที่ดีของนักเศรษฐศาสตร์อาจหมายถึงการคุ้มค่าในความหมายของนักเศรษฐศาสตร์ ที่ดีของนักบริหารคือ ทำงานเสร็จ คือทำงานอย่างมีคุณภาพ ประชาชนมีความพึงพอใจ การบริหารต้องมีการตรวจสอบได้ เรียกว่ามีภาวะรับผิดชอบ บางกลุ่มก็อาจบอกว่าใครจะทำงานดีมีประสิทธิภาพอย่างไรก็แล้วแต่ แต่การบริหารที่ดีตามแนวคิด คือ ประชาชนต้องมีส่วนร่วม การทำงานต้องมีความโปร่งใส มีการเปิดเผย มีวลีทางรัฐศาสตร์ คือ ให้ราชการทำงานเหมือนปลาทองในตู้ปลา คือ เห็นการทำงานได้อย่างชัดเจน ตรวจสอบได้ มีการกระจายอำนาจ รวมทั้งอยากให้ราชการทำงานตอบสนองความต้องการของประชาชน ช่วยแก้ไขปัญหาประชาชน บรรเทาทุกข์ของประชาชน สิ่งนี้คือหลักรัฐศาสตร์

อีกหลักหนึ่งคือ หลักนิติรัฐ นิติธรรม ซึ่งอยากให้ฝ่ายปกครองปฏิบัติตามหลักกฎหมาย เมื่อใดที่ฝ่ายปกครองใช้กฎหมายมากกว่าที่กฎหมายกำหนดก็จะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน เรื่องนิติรัฐ นิติธรรม คือ ไม่อยากให้มีการเลือกปฏิบัติ มีความยุติธรรม อย่างไรก็ตาม เมื่อครั้งปฏิรูประบบราชการที่มีการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม คนก็เข้าใจผิดว่าการปฏิรูปเป็นเพียงการปรับปรุงกระทรวง ทั้ง ๆ ที่มี พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 ที่ได้มีการเติมสาระสำคัญเรื่อง ธรรมาภิบาล หลักประสิทธิภาพประสิทธิผลต่าง ๆ เข้าไปไว้เป็นความในมาตรา 3/1 ในพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งเจตนารมณ์ คือ “ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน...” ความนั้นก็ถือว่าเป็นการเจริญรอยตามพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” สำนักงาน ก.พ.ร. ก็น้อมนำความนั้นมาเป็นหลักในการดำเนินงาน เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน หลังจากนั้น เพื่อให้มีการนำหลักการในมาตรา 3/1 ไปใช้ในทางปฏิบัติ เพื่อให้เกิดประโยชน์สุขของประชาชน จึงต้องมีกฎหมายลูกบท ซึ่งออกมาในเดือนตุลาคม 2546 นั่นคือ พระราชกฤษฎีว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 ซึ่งกำหนดขอบเขต แบบแผน และวิธีการปฏิบัติราชการเพื่อให้เกิดการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี

ดังนั้น การทำงานในปี 2545 - 2546 จึงเป็นการเดินตามหลักธรรมาภิบาลมาโดยตลอด ยกตัวอย่างในหมวด 3 ของพระราชกฤษฎีกาฯ คือ การบริหารราชการเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ นั่นก็คือ การบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ ไม่มีการทำงานแบบเช้าเย็นชาม การทำงานต้องมีเป้าหมาย การทำงานให้บังเกิดผลสัมฤทธิ์จึงต้องมีการกำหนดตัวชี้วัด มีการบริหารจัดการความรู้ มีการบริหารแบบบูรณาการ จึงจะทำงานให้บรรลุตามหลักการธรรมาภิบาล สำหรับบทบาทของสำนักงาน ก.พ.ร. ในเรื่องธรรมาภิบาลนั้น เลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวว่า สำนักงาน ก.พ.ร. ต้องทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพหลักในการสร้างการตระหนักในเรื่องธรรมาภิบาล โดยอาศัยเครื่องมือต่าง ๆ เช่น การจัดทำคำรับรองการปฏิบัติราชการ การนำธรรมาภิบาลมากำหนดไว้เป็นตัวชี้วัดตามคำรับรองฯ เช่น ความโปร่งใส การจัดเวทีให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วม เป็นต้น

ทั้งนี้ ยังมีอีกแนวคิดหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องธรรมาภิบาล คือ ธรรมาภิบาลเป็นเรื่องการวางกลไกให้เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผล การวางโครงสร้าง ในขณะที่อีกด้านหนึ่งของเหรียญคือ เรื่องตัวบุคคล เป็นเรื่องคุณธรรม จริยธรรม ธรรมาภิบาลเป็นการวางระบบวางโครงสร้างเพื่อควบคุมให้คนไม่ประพฤติปฏิบัติ แต่จริยธรรมจะลึกกว่านั้น โดยมีการปลูกฝังจิตสำนึก ต้องไม่ทุจริต ไม่ประพฤติมิชอบ ทั้งสองด้านจะต้องไปด้วยกันจึงจะยั่งยืน กล่าวคือ ต้องวางระบบทั้งจากภายนอก และภายในใจ จุดสำคัญ คือ ต้องทำระบบให้ดี ซึ่งก็มีการถกเถียงว่าระบบต้องดีก่อน หรือ ต้องสร้างคนให้ดีก่อน แต่ตนคิดว่าต้องมีการทำแบบคู่ขนาน

สำหรับข้าราชการที่น้อมรับหลักธรรมาภิบาลนั้น อาจแสดงได้จากผลการศึกษาด้านความรู้สึกของข้าราชการต่อการพัฒนาระบบราชการ โดยพบว่า กว่า 50 เปอร์เซ็นต์เห็นด้วยกับการพัฒนาระบบราชการ โดยเป็นกลุ่มที่รู้และอยากทำ อีกกลุ่มหนึ่งคือ รู้แต่ไม่อยากทำ 14 เปอร์เซ็นต์ กลุ่มไม่รู้แต่อยากทำ 8 เปอร์เซ็นต์ และกลุ่มไม่รู้ ไม่อยากทำอีก 27 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ หากพิจารณาว่ากลุ่มส่วนใหญ่รู้แล้วอยากทำ รวมกับกลุ่มไม่รู้แต่อยากทำก็เกือบถึง 60 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสองกลุ่มนี้น่าจะเอื้อต่อการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ คงต้องมีการสำรวจเรื่องธรรมาภิบาลอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น คิดว่า 60 - 70 เปอร์เซ็นต์จะเป็นหัวขบวน ส่วนที่เหลืออีก 30 เปอร์เซนต์ ต้องให้หัวขบวนช่วยฉุดดึง ทั้งนี้ คิดว่านโยบายของรัฐบาลก็ยังเน้นเรื่องธรรมาภิบาล และต้องมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่ารัฐบาลใดก็ต้องคิดว่าเรื่องการสร้างธรรมาภิบาลต้องเดินหน้าต่อไป

ความคาดหวังเรื่องการทำงานด้านธรรมาภิบาล เราไม่เลือกที่จะใช้คำว่าปฏิรูป เพราะจะเห็นว่าไม่ใช่ช๊อตเดียว แต่เป็นกระบวนการ ตราบใดที่โลกยังมีการเปลี่ยนแปลง ราชการก็ต้องมีการปรับตัว และต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ความสำเร็จที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพราะสำนักงาน ก.พ.ร. สิ่งที่ต้องทำ คือ ให้ธรรมาภิบาลเป็นเรื่องของหน่วยงาน ให้หน่วยงานใส่ใจ ช่วงแรกหน่วยงานอาจทำเพราะคิดว่าถูกบังคับ แต่สิ่งที่ต้องทำคือ ให้ธรรมาภิบาลอยู่ในสายเลือด ต้องไปให้ได้ แต่เราต้องลงทุนและเริ่มทำ การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมในระบบราชการไม่ใช่เรื่องง่าย วัฒนธรรมที่ดีต้องคงไว้ ส่วนที่ไม่ดีก็ต้องเปลี่ยน ทั้งด้านจิตสำนึก สภาพแวดล้อม

ส่วนสถานการณ์ที่มีคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือในอนาคตที่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ในแง่ของการผลักดันธรรมาภิบาลก็ไม่น่ามีปัญหา สิ่งสำคัญ คือ การวางรากฐานให้แน่น ให้ฝังรากอยู่ในระบบ ทั้งนี้ หลักธรรมาภิบาลเป็นหลักสากล ซึ่งในต่างประเทศได้พัฒนามามาก เพราะผ่านกระบวนการเหล่านี้มาก ในขณะที่เราเองเพิ่งจะปรับตัว ปัญหาหลักคือ คนไทยไม่ชอบเรื่องการประเมิน ไม่ชอบให้ใครเสียหน้า แต่ระบบต่าง ๆ ต้องมีการประเมิน แต่ต้องพยายามให้เป็นธรรม คิดในเชิงบวก ประเมินเพื่อพัฒนาไม่ใช่ประเมินเพื่อจับผิด ต่างประเทศจะประเมิน 360 องศา เราประเมินเจ้านาย เจ้านายประเมินเรา เพื่อนร่วมงานประเมินเรา อย่างนี้ใช้ได้ดี แต่องค์กรในประเทศไทยยังไปไม่ถึง วัฒนธรรมแบบไทย ไม่มีใครกล้าประเมินนาย วัฒนธรรมการเคารพผู้ใหญ่เป็นเรื่องดี แต่เด็กประเมินผู้ใหญ่ก็จะขัดกับสิ่งที่ถูกปลูกฝัง การประเมินก็อาจเกรงใจ หรือ เพื่อนร่วมงานที่สนิทก็ไม่กล้า

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]