พุ่ม เจนเซน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คุณ

พุ่ม เจนเซน
เกิดภูมิ เจนเซน
16 สิงหาคม พ.ศ. 2526
แซนดีเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐ
เสียชีวิต26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 (21 ปี)
อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา
สาเหตุเสียชีวิตจมน้ำจากเหตุการณ์คลื่นสึนามิ
บุพการีปีเตอร์ แลดด์ เจนเซน
ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี

ร้อยตำรวจตรี นายกองตรี คุณพุ่ม เจนเซน (นามเดิม ภูมิ เจนเซน; 16 สิงหาคม พ.ศ. 2526 — 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547) ชื่อเล่น ภู เป็นพระโอรสคนเดียวในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี กับปีเตอร์ เจนเซน และยังเป็นพระภาคิไนยในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพี่น้องคือท่านผู้หญิงพลอยไพลินและท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน

คุณพุ่ม เจนเซนถึงแก่อนิจกรรมจากกรณีพิบัติภัยเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 สิริอายุได้ 21 ปีจากเหตุการณ์คลื่นสึนามิเนื่องจากเกิดแผ่นดินไหวในมหาสมุทรอินเดีย พ.ศ. 2547

ประวัติ[แก้]

ชีวิตช่วงต้น[แก้]

คุณพุ่ม เจนเซน มีนามเดิมว่า ภูมิ เจนเซน [อ่านว่า พู-มิ][1] เกิดเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2526 ณ โรงพยาบาลในเมืองแซนดีเอโก ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นพระโอรสในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี กับนายปีเตอร์ แลดด์ เจนเซน[2] มีพี่น้องร่วมพระมารดา-บิดา คือท่านผู้หญิงพลอยไพลิน และท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน ภายหลังพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้พระราชทานนามใหม่ว่า "พุ่ม"[1]

คุณพุ่ม เจนเซนเกิดและเติบโตในแซนดีเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐ เมื่อแรกเกิด คุณพุ่มมีน้ำหนัก 8 ปอนด์ 16 ออนซ์[3] แข็งแรงและปกติ ก่อนที่จะเริ่มมีอาการของโรคออทิซึมเมื่อมีอายุได้ 18 เดือน[3] คุณพุ่ม เจนเซนได้เข้าศึกษาระดับมัธยมศึกษาในโรงเรียนมัธยมทอร์รีย์ไพนส์ (Torrey Pines High School) เช่นเดียวกับท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน น้องสาว[4] จนสำเร็จการศึกษา ภายหลังบิดาและมารดาหย่าร้างกันในปี พ.ศ. 2541 แต่คุณพุ่มต้องอยู่ในซานดีเอโกต่อจนมีอายุครบ 18 ปี ถือว่าบรรลุนิติภาวะจึงจะสามารถกลับมารักษาภายในประเทศไทยได้ เนื่องจากปัญหาการหย่าร้างของบิดาและพระมารดา[3] ที่สุดทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดีได้เสด็จนิวัตกลับประเทศไทยในช่วงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2544 พร้อมด้วยคุณพุ่ม ส่วนท่านผู้หญิงพลอยไพลินยังศึกษาในกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร[5] และท่านผู้หญิงสิริกิติยาเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียริเวอร์ไซด์[4] โดยพำนักอยู่ร่วมกับบิดา[5]

หลังจากกลับมายังประเทศไทย คุณพุ่มเข้าศึกษาต่อในโปรแกรมพิเศษออทิสติกที่โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อินเตอร์เนชั่นแนลโปรแกรม และโปรแกรมวิทยาศาสตร์กีฬา คณะศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์[6]

คุณพุ่มมีความสามารถพิเศษในการนับคำนวณตัวเลขปฏิทิน เพียงแค่บอกวันที่ เดือน ปีเกิด คุณพุ่มสามารถบอกได้ทันทีว่า บุคคลนั้นเกิดวันอะไร และได้รับประกาศนียบัตรทองคำจากพิพิธภัณฑ์ริบลีส์ ในฐานะคนไทยคนแรกที่มีความสามารถดังกล่าว[7] นอกจากนี้คุณพุ่มยังมีความสามารถทางด้านการเล่นกีฬา โดยเฉพาะการเล่นเจ็ตสกี[6] ด้วยเหตุที่คุณพุ่มป่วยเป็นโรคออทิซึม ทำให้ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงสนพระทัยที่จะปฏิบัติพระกรณียกิจช่วยเหลือผู้ป่วยออทิซึมกับโรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมทั้งได้จัดตั้งวิทยาลัยชุมชนเพื่อเพิ่มศักยภาพผู้ป่วยออทิซึม[6]

ถึงแก่อนิจกรรม[แก้]

คุณพุ่ม เจนเซน ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 สิริอายุ 21 ปี[8][9][10] ในเหตุการณ์คลื่นสึนามิ เนื่องจากแผ่นดินไหวในมหาสมุทรอินเดีย ขณะที่เล่นเจ็ตสกีอยู่ที่ชายหาดโรงแรมมันดะเลย์รีสอร์ต บ้านเขาหลัก ตำบลคึกคัก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา โดยได้พบศพเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม ข้างแท็งก์น้ำหลังโรงแรมลาฟลอร่า ตำบลคึกคัก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ห่างจากสถานที่ที่คุณพุ่มเล่นเจ็ตสกี 100 เมตร เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้องครักษ์ 4 คน และมนุษย์กบที่ถวายการอารักขาหายไป 2 คน ในส่วนพระองค์ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดีทรงปลอดภัยดี[11] ส่วนคุณสิริกิติยา เจนเซนนั้นบาดเจ็บที่ขา[12]

เมื่อเวลา 19.00 น. เครื่องบินพระที่นั่งของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขับ[13] เดินทางมาถึงท่าอากาศยาน บน.6 จากนั้นในเวลา 19.45 น. ขบวนรถพระที่นั่งที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ฉลองพระองค์นักบินทรงขับรถพระที่นั่งนำทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาฯ และคุณสิริกิติยา เจนเซน พระธิดาคนเล็ก นำขบวนรถยนต์พระที่นั่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีและพระบรมวงศานุวงศ์ รถพยาบาลหลวง หมายเลขทะเบียน รยล. 839 นำศพคุณพุ่มเข้ามาทางประตูวิเศษไชยศรีมายังศาลาสหทัยสมาคม[11] ในพระบรมมหาราชวัง

พิธีพระราชทานเพลิงศพ[แก้]

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการบำเพ็ญกุศลและการสวดพระอภิธรรมศพเป็นเวลา 50 วัน ณ ศาลาสหทัยสมาคมในพระบรมมหาราชวังเป็นกรณีพิเศษเพื่อสะดวกในการบำเพ็ญพระกุศลในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ และพระราชทานโกศราชวงศ์เป็นกรณีพิเศษในฐานะพระราชนัดดาอีกด้วย ซึ่งมีพระบรมวงศานุวงศ์ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลพระราชทานศพคุณพุ่ม เจนเซน โดยตลอดจนถึงวันพระราชทานเพลิงศพ

วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2548 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร, สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี, สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ, พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา, พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์, หม่อมเจ้าสิริวัณวรี มหิดล, หม่อมศรีรัศมิ์ มหิดล ณ อยุธยา, คุณพลอยไพลินและคุณสิริกิติยา เจนเซน ไปในการพระราชทานเพลิงศพคุณพุ่ม เจนเซน ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์วัดเทพศิรินทราวาส[14]

ยศทางกองอาสารักษาดินแดนและยศตำรวจ[แก้]

วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547 คุณพุ่ม เจนเซน ได้รับมอบบัตรประจำตัวและเครื่องหมายของกองอาสารักษาดินแดนติดยศ "ว่าที่นายหมวดตรี" ซึ่งในพิธีรับมอบครั้งนั้น คุณพุ่มกล่าวว่า ภาคภูมิใจที่ได้มาเป็นทหาร ซึ่งเป็นสิ่งที่ชอบและทูลกระหม่อมแม่มีรับสั่งแสดงความยินดี พร้อมชมเชยว่าเก่งมาก ซึ่งต่อไปถ้ามีโอกาสจะช่วยเหลืองานด้านสังคม การขี่ม้าร่วมขบวนสวนสนามในวาระสำคัญๆ ภายหลังมีการพระราชทานยศ นายกองตรี ในวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2548[15]นอกจากติดยศนายกองตรีแล้ว คุณพุ่มยังติดยศ "ร้อยตำรวจตรี" อีกด้วย เนื่องจากเป็นตำรวจม้า สังกัดกองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ[16][17]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

สิ่งอันเนื่องด้วยนาม[แก้]

ลำดับสาแหรก[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 ตรัสวิน จิตติเดชารักษ์ (บรรณาธิการ), มนันยา ธนะภูมิ และ พรรษพร ชโลทร (ผู้แปล). กลางใจราษฎร์ : หกทศวรรษแห่งการทรงงาน. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : เอเซียบุ๊คส์, 2559, หน้า 205
  2. "Royal Family of Thailand". www.worldwhoswho.com. สืบค้นเมื่อ 2008-08-12.
  3. 3.0 3.1 3.2 "ประมวลงานพิธีพระราชทานเพลิงศพ คุณพุ่ม เจนเซ่น จากเวป". Pantip.com. 01:20:51. สืบค้นเมื่อ 2010-09-20. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  4. 4.0 4.1 "Prince dies in tsunami, was grad of Torrey Pines". The San Diego Union-Tribune. December 30, 2004. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2010-09-19.
  5. 5.0 5.1 "Former Del Mar resident and Thai royal is among tsunami dead". North County Times. Wednesday, December 29, 2004 12:00 am. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-03-02. สืบค้นเมื่อ 2010-09-20. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  6. 6.0 6.1 6.2 "ประวัติ "คุณพุ่ม เจนเซน"". Thai New York.com. 31 ธ.ค. 2004 - 01:59 am. สืบค้นเมื่อ 2010-09-20. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)[ลิงก์เสีย]
  7. •.•oO คุณพลอยไพลิน คุณสิริกิติยา เจนเซ่น Oo•.•, คุณใหม่ .. น่ารัก
  8. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-07-16. สืบค้นเมื่อ 2006-08-30.
  9. "Paploy.com". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-11-07. สืบค้นเมื่อ 2006-08-30.
  10. คุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ, นิตยสารสกุลไทย ฉบับที่ 2625 ปีที่ 51 ประจำวัน อังคาร ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2548
  11. 11.0 11.1 "ทูลกระหม่อมเผยนาทีวิกฤตสูญเสีย คุณพุ่ม". Diary Club. 29 ธ.ค. 47/ 09:50:50. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-02-05. สืบค้นเมื่อ 2010-09-20. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  12. "พระรูปในหลวงถ่ายกับเหล่าพระบรมวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ในอดีต". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-12. สืบค้นเมื่อ 2010-09-21.
  13. "Khun Poom Jensen, Son of Princess Ubolratana". Soravij.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-12-28. สืบค้นเมื่อ 2007-11-24.
  14. สำเนาจากไทยรัฐ - พระราชทานเพลิง ศพคุณพุ่ม เชิญสู่สวรรคาลัย
  15. "พระราชทานยศกองอาสารักษาดินแดน" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2019-05-15.
  16. https://mgronline.com/qol/detail/9480000045100
  17. https://www.tnews.co.th/contents/348157
  18. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ (คุณพลอยไพลิน เจนเสน, คุณพุ่ม เจนเสน และ คุณสิริกิตติยา เจนเสน), เล่ม ๑๒๒, ตอน ๒ ข ฉบับทะเบียนฐานันดร, ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๘, หน้า ๑

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]