ศาสนาพุทธและวิทยาศาสตร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

มีการเสนอเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ว่า ศาสนาพุทธนั้นเข้ากับวิทยาศาสตร์ได้ ทำให้ศาสนาพุทธได้กลายเป็นประเด็นหนึ่งในการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างศาสนาและวิทยาศาสตร์[1] มีการอ้างว่า คำสอนทั้งทางปรัชญาทั้งทางจิตวิทยาในศาสนาพุทธ มีส่วนที่เหมือนกันกับแนวคิดทางวิทยาศาสตร์และทางปรัชญา ยกตัวอย่างเช่น ศาสนาพุทธสนับสนุนให้ทำการตรวจสอบธรรมชาติอย่างเป็นกลาง ๆ แนวคิดที่นิยมบางอย่าง เชื่อมคำสอนศาสนาพุทธกับทฤษฎีวิวัฒนาการ ทฤษฎีกลศาสตร์ควอนตัม และทฤษฎีจักรวาลวิทยา แต่ว่า นักวิทยาศาตร์โดยมาก เห็นความแตกต่างระหว่างคำสอนทางศาสนาและเกี่ยวกับอภิปรัชญาของศาสนาพุทธ กับระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์[2] ในปี ค.ศ. 1993 มีการตีพิมพ์แบบจำลองที่แปลงมาจากทฤษฎีพัฒนาการทางประชาน (theory of cognitive development) ของฌ็อง ปียาแฌ ที่เสนอว่า ศาสนาพุทธเป็นวิธีการทางความคิดแบบที่สี่[3] นอกเหนือไปจากไสยศาสตร์ (magic) วิทยาศาสตร์ และศาสนา[4]

มีการกล่าวถึงศาสนาพุทธว่ามีเหตุผลและไม่ใช่ความเชื่อแบบหักล้างไม่ได้ (dogma) และมีหลักฐานที่แสดงว่า เป็นมาอย่างนี้แล้วมาตั้งแต่ต้น[5] แม้จะมีผู้ที่เสนอว่า ลักษณะเช่นนี้มีการให้ความสำคัญมากในปัจจุบัน และเป็นการตีความใหม่โดยบางส่วน[6]

แต่ว่า ไม่ใช่ว่า ทุกนิกายในศาสนาพุทธ จะหลีกเลี่ยงการมีความเชื่อที่หักล้างไม่ได้ หรือสามารถวางตัวเป็นกลางเกี่ยวกับเรื่องเหนือธรรมชาติ หรือว่าเปิดใจที่จะยอมรับการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ (ที่อาจจะขัดกับหลักศาสนา) รูปแบบของศาสนาพุทธมีหลายอย่าง รวมทั้งแบบมีความเชื่ออย่างมั่นคงในลัทธิของตน (fundamentalism)[7] แบบเน้นการบูชา[8] แบบอ้อนวอนผีบ้าน และแบบที่มีความเชื่อทางไสยศาสตร์ต่าง ๆ[9] อย่างไรก็ดี มีการอ้างถึงความเหมือนกันระหว่างการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์และแนวคิดวิถีพุทธ ในปี ค.ศ. 2005 องค์ทะไลลามะที่สิบสี่ เทนซิน เกียตโซ ได้กล่าวปาฐกถาในงานประชุมของสมาคมประสาทวิทยาศาสตร์ (Society for Neuroscience) ในเมืองวอชิงตัน ดี.ซี. ที่กำหนด "การตั้งความสงสัยเกี่ยวกับเรื่องสัมบูรณ์ (คือความเชื่อว่าสิ่งนี้ต้องเป็นอย่างนี้เท่านั้น)" และการพึ่งอาศัยความเป็นเหตุผล (causality) และประสบการณ์นิยม (empiricism) ว่าเป็นหลักที่เหมือนกันในพุทธศาสนาและวิทยาศาสตร์[10]

พุทธศาสนาและระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์[แก้]

โดยมีความสอดคล้องกับระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์มากกว่าศาสนาที่สืบ ๆ กันมาและที่อาศัยความเชื่ออื่น ๆ กาลามสูตรยืนยันให้ทำการประเมินหลักฐานอย่างถูกต้อง ไม่ให้อาศัยเพียงแค่ความเชื่อ เรื่องที่เล่าต่อ ๆ กันมา หรือการคาดคิดเพียงเท่านั้น คือ

กาลามชนทั้งหลาย ก็สมควรที่ท่านทั้งหลายจะสงสัย สมควรที่จะลังเลใจ. ท่านทั้งหลายเกิดความสงสัยลังเลใจในฐานะที่ควรสงสัยอย่างแท้จริง. มาเถิด กาลามชนทั้งหลาย ท่านทั้งหลายอย่าได้ยึดถือ (คืออย่าปลงใจเชื่อ) โดยฟังตามกันมา (มา อนุสฺสเวน), อย่าได้ยึดถือโดยการถือสืบ ๆ กันมา (มา ปรมฺปราย), อย่าได้ยึดถือโดยการเล่าลือว่า ข้อนี้เป็นอย่างนี้ ๆ (มา อิติกิราย), อย่าได้ยึดถือโดยอ้างตำรา (มา ปิฏกสมฺปทาเนน), อย่าได้ยึดถือโดยเหตุแห่งการตรึก (มา ตกฺกเหตุ), อย่าได้ยึดถือโดยอนุมาน (มา นยเหตุ), อย่าได้ยึดถือโดยการตรึกตามเหตุ (มา อาการปริวิตกฺเกน), อย่าได้ยึดถือโดยชอบใจว่า สมกับทิฏฐิของตน ทนต่อการพิสูจน์ (มา ทิฏฺฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา), อย่าได้ยึดถือโดยเชื่อว่า อยู่ในรูปแบบสมควรจะเชื่อได้ (มา ภพฺพรูปตาย), อย่าได้ยึดถือโดยความนับถือว่า สมณะผู้นี้เป็นครูของเรา (มา สมโณ โน ครูติ)

แนวทางทั่วไปของพระสูตรนั้นเหมือนกับคำขวัญของราชสมาคมแห่งลอนดอนว่า "อย่าไปถือเอาเพียงคำของใครว่าเป็นจริง" (Take no-one's word for it)[11]

ศาสนาพุทธและจิตวิทยา[แก้]

ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970 มีผลงานทดลองหลายงานที่เสนอว่า กรรมฐานในพุทธศาสนา สามารถให้ความเข้าใจเกี่ยวกับสภาวะทางจิตได้อย่างกว้างขวาง และความสนใจในการใช้กรรมฐานเป็นวิธีให้ความรู้เกี่ยวกับสภาวะทางจิตก็ได้เริ่มประทุขึ้นใหม่เร็ว ๆ นี้ เพราะเหตุแห่งเทคโนโลยีที่สามารถใช้สร้างภาพสมองเช่น fMRI และ SPECT

งานวิจัยเช่นนี้ได้รับคำสนับสนุนจากองค์ทะไลลามะที่สิบสี่ ผู้ได้แสดงความสนใจในการสำรวจหาความเชื่อมโยงกันระหว่างพุทธศาสนาและวิทยาศาสตร์ และทรงเสด็จไปยังงานประชุมของสถาบันจิตและชีวิต (Mind and Life Institute) เสมอ ๆ[12]

ในปี ค.ศ. 1974 อาจารย์กรรมฐานของนิกายกาจูร์ปะแห่งพุทธวัชรยานได้พยากรณ์ว่า "พุทธศาสนาจะมาถึงประเทศตะวันตกโดยเป็นจิตวิทยา" ซึ่งเป็นทัศนคติที่ไม่ค่อยมีคนเห็นด้วยในช่วงนั้น แต่จริง ๆ แล้วแนวคิดต่าง ๆ ของศาสนาพุทธได้เผยแพร่ไปในประเทศตะวันตก มากที่สุดในทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับจิตวิทยา ทฤษฎีวิทยาศาสตร์ปัจจุบัน เช่นที่คิดขึ้นโดยคาร์ล รอเจอร์ส มีอะไรหลายอย่างที่คล้ายกับแนวคิดพุทธ

น.พ. วิลเลียม เจมส์ ผู้นับถือกันว่าเป็นบิดาของสาขาจิตวิทยาในประเทศสหรัฐอเมริกา มักจะใช้แนวคิดจากศาสนาพุทธ เมื่อกำหนดแนวคิดเกี่ยวกับการรับรู้ เช่น คำว่า "stream of consciousness" (กระแสจิต) ซึ่งมาจากคำบาลีว่า "วิญฺญาณโสต"[13] ในหนังสือ Varieties of Religious Experience (ความต่าง ๆ กันของประสบการณ์ทางศาสนา) เจมส์ได้โปรโมตการใช้กรรมฐานในจิตวิทยา[14] มีคนกล่าวว่า เขาได้ประกาศต่อหน้าเล็กเช่อร์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดว่า "นี่จะเป็นจิตวิทยาที่ทุกคนจะต้องศึกษาอีก 25 ปีต่อจากนี้"[15][16]

ศาสนาพุทธโดยเป็นวิทยาศาสตร์[แก้]

อาจารย์กรรมฐานโกเอ็นก้าอธิบาย "พุทธธรรม" ว่าเป็น "วิทยาศาสตร์เกี่ยวกับจิตและสสารล้วน ๆ"[17] และอ้างว่า ศาสนาพุทธใช้ศัพท์และเหตุผลทางปรัชญาและจิตวิทยา ที่แม่นยำ ที่เป็นเชิงวิเคราะห์[ต้องการอ้างอิง] อาจารย์พรรณนาคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า ไม่ใช่เป็นความเชื่อในหลักคำสอนที่พิสูจน์ไม่ได้ แต่เป็นการตรวจสอบธรรมชาติตามความเป็นจริง ซึ่งต้องอาศัยการทำ ไม่เอนเอียง และไม่ลำเอียง[ต้องการอ้างอิง]

สิ่งที่ยอมรับกันทั่ว ๆ ไปในคำสอนศาสนาพุทธก็คือ ผลต้องเกิดจากเหตุ เริ่มตั้งแต่ปฐมเทศนาคือธัมมจักกัปปวัตนสูตรเป็นต้นไป พระพุทธเจ้าได้ทรงอธิบายความจริงของสิ่งทั้งปวงโดยความเป็นเหตุและผล เช่น ความทุกข์และโทมนัสที่มีอยู่ในคนใดคนหนึ่ง ล้วนแต่มาจากเหตุ วิธีการหนึ่งที่จะอธิบายมรรคมีองค์แปดก็คือ การหันเข้าหาความจริงที่มีอยู่ในปัจจุบัน และทำความเข้าใจความจริงนั้นโดยประจักษ์ แม้ว่า จะมีการถกเถียงกันว่า การตรวจสอบเช่นนี้เป็นไปทางอภิปรัชญาหรือญาณวิทยา

พระภิกษุนิกายเซน ทิก เญิ้ต หั่ญได้เขียนเกี่ยวกับศาสนาพุทธและวิทยาศาสตร์ไว้ว่า[18]

ในศาสนาพุทธ มีความจริงสองอย่างคือ สมมุติสัจจะและปรมัตถสัจจะ เมื่อกล่าวถึงสมมุติสัจจะ ชาวพุทธจะพูดถึงสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต การเกิดและการตาย การมาและการไป ภายในและภายนอก สัตว์หนึ่งหรือมากเป็นต้น และคำสอนและข้อปฏิบัติของพระพุทธเจ้าที่อาศัยสมมุติสัจจะ จะช่วยลดความทุกข์ และช่วยนำมาซึ่งความกลมกลืนและความสุข เมื่อกล่าวถึงปรมัตถสัจจะ คำสอนจะก้าวล่วงบัญญัติว่า สิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต การเกิดและการตาย การมาและการไป ภายในและภายนอก สัตว์หนึ่งหรือมากเป็นต้น และคำสอนและข้อปฏิบัติที่อาศัยปรมัตถสัจจะ จะช่วยผู้ปฏิบัติให้พ้นจากการเลือกปฏิบัติ (ต่อบุคคลต่าง ๆ) ความหวาดกลัว และช่วยให้สัมผัสพระนิพพาน ซึ่งเป็นปรมัตถสัจจะ ชาวพุทธไม่เห็นข้อขัดแย้งระหว่างสัจจะทั้งสอง และมีอิสระในการประยุกต์ใช้คำสอนเกี่ยวกับสัจจะทั้งสองให้ดี

วิทยาศาสตร์แบบคลาสสิก ดังที่เห็นในทฤษฎีของไอแซก นิวตัน สร้างขึ้นบนรากฐานที่สะท้อนประสบการณ์ในชีวิตประจำวัน ที่วัตถุต่าง ๆ มีอยู่โดยตนเอง และสามารถกำหนดได้ในกาลเวลาและสถานที่ ส่วนกลศาสตร์ควอนตัมเป็นมูลฐานที่ใช้เพื่อเข้าใจว่า ธรรมชาติในระดับที่เล็กกว่าอะตอมมีความเป็นไปอย่างไร แต่เป็นศาสตร์ที่แตกต่างจากวิทยาศาสตร์แบบคลาสสิกอย่างสิ้นเชิง เพราะว่า ในศาสตร์นี้ ไม่มีอะไรที่เรียกว่า ปริภูมิเปล่า (empty space) และตำแหน่งและโมเมนตัมไม่สามารถกำหนดได้อย่างแม่นยำพร้อม ๆ กัน อนุภาคมูลฐานสลับเปลี่ยนจากมีแล้วก็ไม่มี และไม่ได้มีอยู่จริง ๆ แต่มีเพียงแต่ "ความโน้มน้าวที่จะมี"

วิทยาศาสตร์แบบคลาสสิกดูเหมือนจะสะท้อนสมมุติสัจจะ และกลศาสตร์ควอนตัมดูเหมือนจะก้าวหน้าไปเพื่อจะแสดงปรมัตถสัจจะ โดยพยายามเป็นอย่างยิ่งที่จะทิ้งบัญญัติว่า สิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต ภายในและภายนอก ความเป็นเดียวกันและความเป็นอันอื่นเป็นต้น ในขณะเดียวกัน นักวิทยาศาสตร์ก็กำลังทำความพยายามเพื่อจะค้นหาความสัมพันธ์ระหว่างสัจจะทั้งสอง ที่วิทยาศาสตร์ทั้งสองแบบเป็นตัวแทน เพราะว่า สัจจะทั้งสองสามารถทดสอบได้และประยุกต์ใช้ได้ในชีวิต

ในวิทยาศาสตร์ ทฤษฎีหนึ่ง ๆ ควรจะได้รับการทดสอบหลาย ๆ ทางก่อนที่จะมีการยอมรับโดยพวกนักวิทยาศาสตร์ พระพุทธเจ้าก็ทรงแนะนำในกาลามสูตรด้วยว่า คำสอนและความเข้าใจที่ครูสอน ควรจะรับการทดสอบผ่านประสบการณ์ก่อนที่จะยอมรับว่าเป็นความจริง ความเข้าใจที่แท้จริง หรือว่า สัมมาทิฏฐิ มีสมรรถภาพในการปลดเปลื้อง (ให้พ้นจากการเลือกปฏิบัติเป็นต้น) และในการนำมาซึ่งความสงบและความสุข สิ่งที่ค้นพบในวิทยาศาสตร์ก็เป็นความเข้าใจเหมือนกัน และสามารถประยุกต์ใช้ในเทคโนโลยี แต่ก็สามารถประยุกต์ใช้ในพฤติกรรมในชีวิตประจำวันของเรา เพื่อเพิ่มคุณภาพของชีวิตและเพิ่มความสุข ชาวพุทธและนักวิทยาศาสตร์สามารถแชร์วิธีการและข้อปฏิบัติแก่กันและกัน และสามารถได้ประโยชน์จากความเข้าใจและประสบการณ์ของกันและกัน

ข้อปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อสติและสมาธิจะนำมาซึ่งความเข้าใจ ซึ่งสามารถช่วยทั้งชาวพุทธและนักวิทยาศาสตร์ ความเข้าใจ (ปัญญา) ที่สอนโดยผู้ปฏิบัติที่แทงตลอดแล้วเช่นพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ สามารถเป็นแรงจูงใจและแรงอุปถัมก์ สำหรับทั้งผู้ปฏิบัติชาวพุทธและนักวิทยาศาสตร์ และการทดสอบทางวิทยาศาสตร์สามารถช่วยผู้ปฏิบัติชาวพุทธ ให้มีความเข้าใจที่ดีขึ้น มีความั่นใจมากขึ้น เกี่ยวกับความเข้าใจที่ได้มาจากโบราณจารย์ทั้งหลาย เป็นความเชื่อของข้าพเจ้า (พวกเรา) ว่า ในศตวรรษที่ 21 นี้ ศาสนาพุทธและวิทยาศาสตร์ะจะดำเนินไปด้วยกันเพื่อโปรโหมตเพิ่มความเข้าใจสำหรับเราทุกคน และนำมาซึ่งการปลดเปลื้องยิ่ง ๆ ขึ้น โดยลดการเลือกปฏิบัติ ช่องว่าง (ระหว่างคนกลุ่มต่าง ๆ) ความหวาดกลัว ความโกรธ และความสิ้นหวังในโลก

คำกล่าวของนักวิทยาศาตร์สำคัญ[แก้]

นีลส์ บอร์ นักฟิสิกส์ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ในปี ค.ศ. 1922 ได้กล่าวไว้ว่า

โดยขนานกับบทเรียนที่ได้เกี่ยวกับทฤษฎีอะตอม [เราจะต้องหันไปสนใจ]ปัญหาทางญาณวิทยาประเภทที่นักปราชญ์เช่นพระพุทธเจ้าและเล่าจื๊อได้เผชิญมาแล้ว เมื่อเราพยายามจะทำความกลมกลืนระหว่างความเป็นผู้ชมและผู้แสดง ในละครชีวิตอันยิ่งใหญ่[19]

เบอร์ทรันด์ รัสเซลล์ นักปราชญ์ผู้ได้รางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี ค.ศ. 1950 ได้พรรณนาศาสนาพุทธว่าเป็นปรัชญาเชิงวิทยาศาสตร์และ speculative philosophy โดยกล่าวว่า

ศาสนาพุทธเป็นการผสมกันของทั้งปรัชญาเชิงวิทยาศาสตร์และ speculative philosophy ูซึ่งสนับสนุนระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์ และทำการตามนั้นจนถึงที่สุด ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นเหตุผลนิยม ในศาสนาเราอาจที่จะพบคำตอบต่อคำถามที่น่าสนใจเช่น "อะไรคือจิตและสสาร ในระหว่างทั้งสองนั้นอะไรสำคัญกว่า โลกนี้ดำเนินไปมีจุดประสงค์อะไรหรือไม่ มนุษย์เกี่ยวข้องกับธรรมชาติอย่างไร มีแบบการใช้ชีวิตที่ประเสริฐหรือไม่" เป็นศาสตร์ที่รับช่วงต่อในที่ที่วิทยาศาสตร์พาไปไม่ได้เพราะว่าความจำกัดทางเครื่องมือของวิทยาศาสตร์

สิ่งที่พุทธศาสนาพิชิตก็คือเรื่องของจิต[20]

ส่วนนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันผู้เป็นบิดาของระเบิดปรมาณู ดร. เจ. โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์ใช้อุปมาเกี่ยวกับศาสนาพุทธเมื่ออธิบายหลักความไม่แน่นอน คือ

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราถามว่า ตำแหน่งของอิเล็กตรอนอยู่ที่เดียวกันหรือไม่ เราต้องตอบว่า ไม่ใช่ ถ้าเราถามว่า ตำแหน่งของอิเล็กตรอนเปลี่ยนไปตามกาลเวลาหรือไม่ เราต้องตอบว่า ไม่ใช่ ถ้าเราถามว่า อิเล็กตรอนกำลังอยู่เฉย ๆ หรือไม่ เราก็ต้องตอบว่า ไม่ใช่ ถ้าเราถามว่า อิเล็กตรอนกำลังเคลื่อนไปอยู่หรือไม่ เราก็ต้องตอบว่า ไม่ใช่ พระพุทธเจ้าทรงให้คำตอบเช่นนี้เมื่อมีการถามถึงสภาพของอัตตาหลังจากตายแล้ว แต่คำตอบเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องคุ้นเคยต่อนักวิทยาศาสตร์ยุคคริสต์ศตวรรษที่ 17 และ 18[21]

ดูเพิ่ม[แก้]

เชิงอรรถและอ้างอิง[แก้]

  1. Yong, Amos (2005). "Buddhism and Science: Breaking New Ground (review)". Buddhist-Christian Studies. 25: 176–180.
  2. Lopez, Donald S. Jr (2008). Buddhism and Science: A Guide for the Perplexed. University of Chicago Press.
  3. Kress, Oliver (1993). "A new approach to cognitive development: ontogenesis and the process of initiation". Evolution and Cognition. 2 (4): 319–332.
  4. Tambiah, Stanley Jeyaraja (1990). Magic, Science and Religion and the Scope of Rationality. Cambridge University Press.
  5. "Buddhist Scriptures: Kalama Sutta". Buddhanet.net. สืบค้นเมื่อ 4 March 2013.
  6. Snodgrass, Judith (2007). "Defining Modern Buddhism: Mr. and Mrs. Rhys Davids and the Pāli Text Society". Comparative Studies of South Asia, Africa and the Middle East. 27 (1): 186–202.
  7. "Journal of Buddhist Ethics ''A Review of Buddhist Fundamentalism and Minority Identities in Sri Lanka''". Buddhistethics.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 April 2009. สืบค้นเมื่อ 4 March 2013.
  8. Safire, William (2007). The New York Times Guide to Essential Knowledge. p. 718. ISBN 0-312-37659-6.
  9. Deegalle, Mahinda (2006). Popularizing Buddhism: Preaching as Performance in Sri Lanka. p. 131. ISBN 0-7914-6897-6.
  10. "The Neuroscience of Meditation." November 12, 2005 speech given by the Dalai Lama
  11. "About Us - History". The Royal Society. สืบค้นเมื่อ 20 March 2015.
  12. Reed, Christina (6 February 2006). "Talking Up Enlightenment". Scientific American.
  13. Wallace, B. Alan; Hodel, Brian (2008). Embracing mind: the common ground of science and spirituality. Shambhala Publications. p. 186. ISBN 1-59030-482-9, 978-1-59030-482-2. สืบค้นเมื่อ 21 April 2010. {{cite book}}: ตรวจสอบค่า |isbn=: ตัวอักษรไม่ถูกต้อง (help)CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  14. James, William (1902). Varieties of Religious Experience. New York: Longman.
  15. Fields, Rick (1992). How the Swans Came to the Lake (3rd ed.). Shambhala Publications. p. 134-135.
  16. Fessenden, Tracy; Radel, Nicholas F.; Zaborowska, Magdalena J. (2014). The Puritan Origins of American Sex: Religion, Sexuality, and National Identity in American Literature. Routledge. p. 209.
  17. Goenka, SN (2002). "Meditation Now: Inner Peace through Inner Wisdom" (PDF). Vipassana Research Publications. p. 12. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 7 April 2015. สืบค้นเมื่อ 20 March 2015. It is a pure science of mind and matter
  18. "Categories View | Events". Plumvillage.org. 11 April 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 June 2012. สืบค้นเมื่อ 4 March 2013.
  19. Niels, Bohr (1958). Atomic Physics and Human Knowledge. John Wiley and Sons. p. 20.
  20. Verhoeven, Martin J. (June 2001). ""Buddhism and Science: Probing the Boundaries of Faith and Reason,"". Religion East and West (1): 77–97. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 September 2012. สืบค้นเมื่อ 4 March 2013.
  21. Oppenheimer, J. R (1954). Science and the Common Understanding. Oxford University Press. pp. 8–9.

ข้อมูลอื่น[แก้]

หนังสือและวารสาร
  • Sarunya Prasopchingchana & Dana Sugu, 'Distinctiveness of the Unseen Buddhist Identity' (International Journal of Humanistic Ideology, Cluj-Napoca, Romania, vol. 4, 2010)
  • Donald S. Lopez Jr., Buddhism and Science: A Guide for the Perplexed (University of Chicago Press 2008)
  • Matthieu Ricard, Trinh Xuan Thuan, The Quantum and the Lotus (Three Rivers Press 2004)
  • Richard H. Jones, Science and Mysticism: A Comparative Study of Western Natural Science, Theravada Buddhism, and Advaita Vedanta (Bucknell University Press, 1986; paperback ed., 2008)
  • Richard H. Jones, Piercing the Veil: Comparing Science and Mysticism as Ways of Knowing Reality (Jackson Square Books, 2010)
  • Tenzin Gyatso, The Dalai Lama XIV, The Universe in a Single Atom: The Convergence of Science and Spirituality, (Morgan Road Books 2005)
  • McMahan, David, “Modernity and the Discourse of Scientific Buddhism.” Journal of the American Academy of Religion, Vol. 72, No. 4 (2004), 897-933.
  • B. Alan Wallace, Hidden Dimensions: The Unification of Physics and Consciousness (Columbia Univ Press 2007)
  • B. Alan Wallace (ed), Buddhism and Science: breaking new ground (Columbia Univ Press 2003)
  • B. Alan Wallace, Choosing Reality: A Buddhist Perspective of Physics and the Mind, (Snow Lion 1996)
  • Robin Cooper, The Evolving Mind: Buddhism, Biology and Consciousness, Windhorse (Birmingham UK 1996)
  • Daniel Goleman (in collaboration with The Dalai Lama), Destructive Emotions, Bloomsbury (London UK 2003)
  • Rapgay L, Rinpoche VL, Jessum R, Exploring the nature and functions of the mind: a Tibetan Buddhist meditative perspective, Prog. Brain Res. 2000 vol 122 pp 507-15
เว็บไซต์