เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองบงคาย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ทะเลสาบเชียงแสน หรือ หนองบงคาย ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลโยนก และตำบลป่าสัก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ระหว่างเส้นละติจูดที่ 20 ํ 28’ 25” ถึง 20 ํ 40’ 55” เหนือ และเส้นลองติจูดที่ 100 ํ 6’ 17” ถึง 100 ํ 7’ 38”ตะวันออก เดิมเป็นหนองน้ำธรรมชาติขนาดเล็ก ที่ล้อมรอบด้วยภูเขาและเนินเขาเตี้ยๆ ซึ่งชาวบ้านได้ร่วมกันทำฝายดินกั้นแม่น้ำลั๊วะ เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อการเพาะปลูก และต่อมาหน่วยงานเร่งรัดพัฒนาชนบท (รพช.) ได้สร้างฝายน้ำล้น ขนาดเล็กเพื่อใช้กั้นบริเวณทางน้ำไหลในปี พ.ศ. 2528 ทำให้เกิดเป็นทะเลสาบขนาดย่อมขึ้น มีพื้นที่ประมาณ 2,700 ไร่ จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ทะเลสาบเชียงแสน” กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศให้หนองบงคายเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2528 ได้มีการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ ของอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ หรืออนุสัญญาแรมซาร์ อันดับที่ 1,101 เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2544 เป็นต้นมา

ลักษณะทางกายภาพ[แก้]

พื้นที่ชุ่มน้ำหนองบงคาย อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย มีพื้นที่รวมประมาณ 2,700 ไร่ มีความลึกเฉลี่ยประมาณ 2.0 เมตร สามารถเก็บน้ำได้สูงสุด 4.9 ล้านลูกบาศก์เมตรล้อมรอบด้วยเนินเขาเตี้ยๆ มีความสูงระหว่าง 360–500 เมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำขนาดเล็กประมาณ 10,369 ไร่ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ตำบลป่าสัก และตำบลโยนก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย พื้นที่ประมาณร้อยละ 80 เป็นที่ราบมีความลาดชันไม่เกินร้อยละ 2 โดยมีดอยจันมีความสูงที่สุดเท่ากับ 493 เมตร มีพื้นที่ปกคลุมประมาณ 102 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ตำบลป่าสักมีความสูงมากกว่าตำบลโยนกเล็กน้อย

สภาพภูมิอากาศ[แก้]

ลักษณะภูมิอากาศโดยทั่วไป มีความแตกต่างทางฤดูกาลสูง ฤดูหนาวมีอากาศหนาวเย็นและแห้งแล้ง ส่วนในฤดูร้อนมีอากาศร้อนอบอ้าวและมีฝนตก มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยรายปี1,705.4 มิลลิเมตร ช่วงอุณหภูมิเฉลี่ยรายเดือน 18.8–27.0 องศาเซลเซียส ส่งผลให้มีค่าความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยรายปีสูงประมาณร้อยละ 77 พื้นที่ได้รับอิทธิพลของลมจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงฤดูหนาว

สภาพทางธรณีสัณฐาน[แก้]

  • ลุ่มน้ำ ทะลสาบหนองบงคายหรือทะเลสาบเชียงแสนล้อมรอบด้วยเนินเขาเตี้ยๆ ประกอบด้วยลุ่มน้ำแม่กก ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของลุ่มน้ำโขง และลุ่มน้ำสาขาเชียงแสน–หนองหลวง
  • ระดับชั้นความสูง หนองบงคายตั้งอยู่ที่ระดับความสูงต่ำสุด 0–400 เมตรจากระดับน้ำทะเล บริเวณทะเลสาบเป็นพื้นที่ราบ มีความลึก 1.5–4 เมตร ส่วนพื้นที่รอบทะเลสาบค่อนไปทางตะวันออกมีระดับความสูงถึง 700 เมตรจากระดับน้ำทะเล
  • ลักษณะทางสัณฐานของลุ่มน้ำ หนองบงคายเกิดขึ้นจากการสร้างฝายกั้นน้ำขนาดเล็กเพื่อใช้กั้นบริเวณทางน้ำไหล ใช้กักเก็บน้ำเพื่อเกษตรกรรม มีระดับความลึกที่สุด 4.5 เมตร ระดับความลึกเฉลี่ยประมาณ 2 เมตรโดยระดับความลึกผันแปรไปตามฤดูกาลและแตกต่างกันในแต่ละปี

สภาพทางปฐพีวิทยา[แก้]

ดินที่พบในหนองบงคายเป็นดินชุดเชียงราย เกิดจากการทับถมของตะกอนลำน้ำ มีลักษณะอุ้มน้ำได้ดีมาก เป็นดินเหนียว ดินร่วนปนทราย และดินเหนียวปนทราย มีค่าความเป็นกรด–ด่างอยู่ในช่วง 5.5–6.5 สำหรับลักษณะดินในพื้นที่ลุ่มน้ำแห่งนี้เป็นดินร่วนปนเหนียว และดินร่วนปนทรายเนื่องจากพื้นที่ลุ่มน้ำแห่งนี้เป็นพื้นที่การเกษตรเป็นส่วนใหญ่ ทำให้อาจจะเกิดการชะล้างพังทลายของดินซึ่งส่งผลให้เกิดการตื้นเขินของอ่างเก็บน้ำได้ในอนาคตดินที่พบอยู่ในพื้นที่เกิดจากวัสดุเหลือค้างจากวัตถุต้นกำเนิด (residuum and localcolluvium) และการทับถมของตะกอนลำน้ำ ดินจัดอยู่ในชุดดินเชียงแสนที่เกิดจากดินตะกอนลุ่มน้ำ มีลักษณะเป็นดินเหนียวอุ้มน้ำได้ดีมาก ดินมีค่าความเป็นกรด–ด่าง อยู่ในช่วง 5.5–6.5ประมาณร้อยละ 42 มีความเหมาะสมสำหรับการทำนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ตำบลโยนก และประมาณร้อยละ 22 มีความเหมาะสมปานกลางสำหรับพืชไร่ แต่มีปัญหาเรื่องการระบายน้ำ มีปริมาณการชะล้างพังทลายของดินโดยรอบค่อนข้างสูง สถานภาพของการเกิดกษัยการของดินในหนองบงคาย เป็นผลมาจากการเปลี่ยนพื้นที่ป่ารอบๆ เพื่อมาทำการกสิกรรมซึ่งส่งผลให้ปริมาณตะกอนสะสมอยู่ในหนองบงคายประมาณ 24,540 ตันต่อปี และจากการคำนวณพบว่าหากยังปล่อยให้มีการตกตะกอนในลักษณะนี้โดยปราศจากการจัดการใดๆ พบว่าอีกประมาณ 500 ปี จะมีปริมาณตะกอนทับถมจนเต็มหนองบงคาย

สภาพทางอุทกวิทยา[แก้]

หนองบงคายจัดเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีน้ำท่วมขังอยู่ตลอดปี (permanentinundatedwater regime) ระดับความลึกอยู่ระหว่าง 0–4.5 เมตร โดยมีความลึกเฉลี่ยประมาณ 2 เมตรสามารถกักเก็บน้ำได้สูงสุด 4.9 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่ระดับความสูง 374 เมตร ระดับน้ำจะปรับลดลงประมาณ 1–1.5 เมตร ในช่วงฤดูแล้ง แหล่งน้ำสำรองที่สำคัญได้จากปริมาณน้ำฝนในลักษณะของน้ำไหลบ่า (run off) เป็นส่วนใหญ่ พื้นที่รับน้ำมีประมาณ 15.75 ตารางกิโลเมตรและมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยรายปีเท่ากับ 1,705 มิลลิเมตรต่อปี ดังนั้นปริมาณน้ำที่ไหลเข้าพื้นที่ต้นน้ำมีประมาณ 26.8 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยมีปริมาณน้ำไหลบ่าเข้าสู่หนองบงคายเท่ากับ 7.89ล้านลูกบาศก์เมตร

แหล่งน้ำใกล้เคียงหนองบงคาย ประกอบด้วย หนองหลวง หนองแฉลบ และหนองบัว น้ำที่ไหลลงสู่หนองบงคายทั้งหมดเป็นน้ำผิวดินจากน้ำฝนที่ตกลงสู่พื้นที่ลุ่มน้ำหนองบงคาย ขนาดพื้นที่เท่ากับ 16.59 ตารางกิโลเมตร หรือ 10,369 ไร่ จากการวิเคราะห์ข้อมูลปริมาณน้ำฝน พบว่าจะมีน้ำไหลเข้าหนองบงคายประมาณ 27 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี เป็นปริมาณน้ำท่าประมาณ 8 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะไหลลงแม่น้ำลั๊วะ ก่อนจะไปบรรจบกับแม่น้ำโขงที่หมู่บ้านสันธาตุ ที่อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้หรือประมาณ 6 กิโลเมตร จากหนองบงคายปริมาณน้ำในทะเลสาบจะสูญเสียไปจากการคายระเหย ประมาณ 3.4 ล้านลูกบาศก์เมตรซึมลงดินหรือรั่วไหล ประมาณ 1.1 ล้านลูกบาศก์เมตร และชาวบ้านสูบไปใช้เพื่อการเกษตรประมาณ 3.2 ล้านลูกบาศก์เมตร