พิธีเปิดโอลิมปิกฤดูร้อน 2012

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
"เกาะมหัศจรรย์" (The Isle of Wonder) คือแนวคิดหลักของพิธีเปิดโอลิมปิกฤดูร้อน 2012

พิธีเปิดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน 2012 จัดขึ้นในวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 ณ สนามกีฬาโอลิมปิก ภายใน อุทยานโอลิมปิก แขวงสตราทฟอร์ด กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร โดยใช้แนวคิด "เกาะมหัศจรรย์" (The Isles of Wonder)[1] ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งจากวรรณกรรม "เดอะ เทมเปสต์" ของวิลเลียม เชกสเปียร์ โดยในการแสดงในช่วงเริ่มพิธีเปิดได้ปรับสภาพสนามให้เป็นชนบทอังกฤษ มีชาวบ้านปิกนิกและนั่งชมกีฬา และมีการจำลองเนินเขาแกลสตันบูรี ซึ่งเป็นสถานที่จัดเทศกาลดนตรีและศิลปะที่มีชื่อเสียง ใช้นักแสดงประมาณ 10,000 คน โดยแดนนี บอยล์ ผู้กำกับภาพยนตร์รางวัลออสการ์ จากภาพยนตร์เรื่อง สลัมด็อก มิลเลียนแนร์ คำตอบสุดท้าย...อยู่ที่หัวใจ เป็นผู้กำกับฝ่ายศิลป์[2] ส่วนริค สมิธ (Rick Smith) กับ ฆาร์ล ไฮด์ (Karl Hyde) ดูโอของวงดนตรีอิเล็กทรอนิกส์อันเดอร์เวิลด์” (Underworld) เป็นผู้กำกับดนตรี[3]

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร และ เจ้าชายฟิลิป ดยุคแห่งเอดินเบิร์ก เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธาน[4] ในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรพิธีเปิด ในฐานะผู้แทนประมุขของประเทศไทย[5] โดยระหว่างการถ่ายทอดพิธีการทางโทรทัศน์ มีการฉายภาพยนตร์สั้นเกี่ยวกับ “สายลับเจมส์ บอนด์” (James Bond) นำแสดงโดย แดเนียล เคร็ก (Daniel Craig) เนื้อเรื่องเป็นการเดินทางของเจมส์บอนด์เพื่อกราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระราชินีนาถแห่งสหราชอาณาจักรเข้าสู่สนามกีฬาด้วยเฮลิคอปเตอร์[6]

การแสดงในพิธีเปิดนั้นเป็นการเล่าเรื่องราวของสหราชอาณาจักรตั้งแต่ยุคเกษตรกรรม ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม มาจนถึงยุคดนตรีและศิลปะอังกฤษเฟื่องฟู โดยผู้มีชื่อเสียงที่ร่วมแสดง ได้แก่ เคเน็ต แบรนาต์ เจ. เค. โรว์ลิง เจ้าของวรรณกรรม แฮร์รี่ พอตเตอร์ โรวัน แอตคินสัน นักแสดงตลกผู้มีชื่อเสียงจากการรับบท มิสเตอร์บีน และเซอร์ทิม เบอร์เนิร์ส-ลี ผู้คิดค้นเวิลด์ไวด์เว็บ ซึ่งเป็นชาวลอนดอนโดยกำเนิด ส่วนในช่วงการเดินพาเหรดนักกีฬานั้น นอกจากจะมีผู้เชิญป้ายและนักกีฬาถือธงชาติแล้ว ยังมีเด็กถือถ้วยทองแดงสลักชื่อประเทศเพื่อนำไปประกอบเป็นคบเพลิงอีกด้วย สำหรับนักกีฬาถือธงชาติที่มีชื่อเสียง อาทิ ยูเซน โบลต์ นักกรีฑาเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกจากจาไมกา นอวัก จอคอวิช นักเทนนิสชายมือวางอันดับสองของโลกจาก เซอร์เบีย มาเรีย ชาราโปวา นักเทนนิสหญิงมือวางอันดับหนึ่งของโลกจากรัสเซีย เป็นต้น ในส่วนของขบวนนักกีฬาไทย ณัฐพงษ์ เกตุอินทร์ เป็นผู้ถือธงชาติ ส่วนเซอร์ คริส ฮอย นักจักรยานเจ้าของ 3 เหรียญทองโอลิมปิกในการแข่งขันที่ประเทศจีน เป็นผู้เชิญธงสหราชอาณาจักร

หลังจากการเดินพาเหรดเสร็จสิ้น วงอาร์กติก มังกี้ส์ ได้ขึ้นแสดงในเพลง ไอเบตยูลุกกูดออนเดอะแดนซ์ฟลอร์ และ คัมทูเกตเตอร์ จากนั้นจึงเป็นช่วงพิธีการ โดยลอร์ดเซบาสเตียน โคล ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขัน กล่าวต้อนรับเข้าสู่การแข่งขัน จากนั้น นายฌาคส์ ร็อกก์ ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล กล่าวแสดงความยินดีและขอบคุณอาสาสมัครที่ร่วมกันทำงานอย่างแข็งขัน และขอให้นักกีฬาทุกคนแข่งขันด้วยความมีน้ำใจนักกีฬาและไม่ใช้สารกระตุ้น เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีแก่นักกีฬารุ่นหลังต่อไป จากนั้น สมเด็จพระราชินีนาถแห่งสหราชอาณาจักร มีพระราชดำรัสเปิดการแข่งขันอย่างเป็นทางการ

ในช่วงพิธีการเชิญธงคณะกรรมการโอลิมปิกสากลนั้น พัน กีมุน เลขาธิการสหประชาชาติ เป็นผู้เชิญธงร่วมกับบุคคลที่แสดงถึงคุณค่าโอลิมปิกอีก 7 คน นอกจากนี้มูฮัมหมัด อาลี นักมวยเหรียญทองโอลิมปิกได้มีส่วนร่วมในการเชิญธงด้วย สำหรับช่วงการปฏิญาณตนนั้นได้เพิ่มการปฏิญาณตนของผู้ฝึกสอนเป็นครั้งแรกของโอลิมปิก จากนั้นจึงเป็นการจุดคบเพลิงโดยเยาวชน 7 คน ซึ่งเป็นตัวแทนของนักกีฬาสหราชอาณาจักรผู้ที่เคยได้เหรียญทองโอลิมปิก จุดช่อคบเพลิงที่เกิดจากการติดตั้งถ้วยทองแดงที่มาพร้อมกับขบวนนักกีฬาแต่ละชาติ จำนวน 205 ถ้วย ประกอบเป็นคบเพลิงโอลิมปิก จากนั้นจึงเป็นการแสดงของ เซอร์พอล แม็กคาร์ตนีย์ ในเพลงดิเอ็นด์ และเฮย์จูด เป็นการปิดท้าย[7]

การตอบรับ[แก้]

หนังสือพิมพ์ เดอะไทมส์ บรรยายพิธีเปิดว่าเป็น "งานชิ้นเอก" เช่นเดียวกับ เดอะเดลี่เทเลกราฟ ที่กล่าวว่า "เยี่ยมยอด, ตื่นตะลึง, บ้าคลั่ง และเป็นอังกฤษอย่างที่สุด"[8] ในขณะที่หัวหน้านักเขียนข่าวกีฬาของบีบีซี ทอม ฟอร์ไดซ์ เรียกพิธีเปิดว่า "พิสดาร" และ "ขบขัน" และกล่าวว่า "สิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนคือพิธีเปิดช่างแปลกพิสดารอย่างสง่างาม, ทั้งประชดประชันเสียดสีอย่างทรงเสน่ห์ และสนุกจนรู้สึกแสบคันอย่างมาก"[9] สองสัปดาห์ให้หลัง โจนาธาน ฟรีดแลนด์จากหนังสือพิมพ์ เดอะการ์เดียน เขียนว่า "แดนนี บอยล์ช่างน่าประทับใจ, พิธีดำเนินไปอย่างงดงามและส่งความรู้สึกถึงผู้ชมได้อย่างชาญฉลาด มันยังคงสะท้อนก้องอยู่ในใจแม้จวนจะถึงเวลาของพิธีปิดแล้วก็ตาม พิธีเปิดครั้งนี้ช่างแตกต่างกับครั้งก่อนหน้าที่ปักกิ่ง ซึ่งต้องขอบคุณไม่เพียงแต่ความตลกขบขันและความแปลกพิสดาร หากแต่รวมถึงการที่พิธีเปิดครั้งนี้ช่างเป็นที่น่ากล่าวถึงเสียจริง"[10]

แม้ว่าเสียงชื่นชมต่อพิธีเปิดจะดังมาจากฝ่ายการเมืองทุกฝากฝั่ง แต่ก็ไม่ใช่ว่านักการเมืองฝ่ายขวาของอังกฤษทุกคนจะชื่นชอบไปกับพิธีเปิดครั้งนี้ นักคอลัมนิสต์ ริค ดิวส์เบอร์รี จากหนังสือพิมพ์เดลี่เมล์ วิจารณ์ถึงช่วงการแสดงดนตรีแนวไกรม์และการแสดงช่วงหน่วยบริการสาธารณสุขแห่งชาติ (National Health Service; NHS) ตลอดจนการแสดงช่วงที่มีครอบครัวหลากหลายเชื้อชาติ[11] ส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคอนุรักษนิยม เอเดิน เบอร์ลีย์ ประณามช่วงหนึ่งของการแสดงทางทวิตเตอร์ว่า "พวกฝ่ายซ้ายหลากหลายชาติพันธุ์อันไร้ประโยชน์"[12][13] ส่วนสมาชิกพรรคอนุรักษนิยมหลายคนต่างเพิกเฉยและไม่ใส่ใจต่อความคิดเห็นขอเบอร์ลีย์ รวมถึงนายกรัฐมนตรี เดวิด แคเมอรอน และนายกเทศมนตรีนครลอนดอน บอริส จอห์นสัน[13][14]

ในส่วนของความคิดเห็นจากต่างชาติล้วนแล้วแต่เป็นไปในทางบวก เดอะนิวยอร์กไทมส์ กล่าวว่าพิธีเปิดช่าง "เล่นสำนวนอย่างสนุกสนาน .. ความสับสนอย่างคึกคะนองของการเฉลิมฉลองและแฟนซี, เป็นแบบแผนประเพณีพร้อมกับแปลกพิสดารไปในตัว และบ้าหลุกโลกอย่างตรงไปตรงมา"[15][16] นิตสารฟอร์บ เรียกพิธีเปิดของบอยล์ว่าเป็น "เพลงรักแก่บริเตน" หนังสือพิมพ์ซิดนีย์มอร์นิงเฮรัลด์ กล่าวว่า "การเริ่มต้นที่ลืมไม่ลง .. ที่ทั้งล้มล้างและประเสริฐ"[16] หนังสือพิมพ์ไทมส์ออฟอินเดีย กล่าวว่า "ลอนดอนได้แสดงต่อโลกอย่างก้องกังวานถึงความร่ำรวยทางมรดกวัฒนธรรมของสหราชอาณาจักร"[16][17] สำนักข่าวซินหัว ของจีนกล่าวว่าพิธีเปิด "แพรวพราว" และ "การเฉลิมฉลองอย่างบ้าคลั่งและสมบูรณ์ของประวัติศาสตร์, ศิลปะ และวัฒนธรรมอังกฤษ"[18] ศิลปินจีน อ้ายเว่ยเว่ย ชื่นชมพิธีเปิดที่ "สัมผัสถึงมนุษยชาติ" และกล่าวว่า "ในลอนดอน, พวกเขาทำให้พิธีเปิดกลายเป็นงานเฉลิมฉลอง .. ช่างแน่นขนัดไปด้วยข้อมูลของเหตุการณ์และเรื่องราวของวรรณกรรม, ดนตรี, เรื่องเล่าพื้นบ้าน และภาพยนตร์"[19] ด้านประนาธิบดีรัสเซีย วลาดีมีร์ ปูติน กล่าวว่า "มหัศจรรย์และลืมไม่ลง"[20] ส่วนดมิตรี มิดเวดิฟ กล่าวว่า "มันเป็นปรากฏการพิเศษ ถูกเตรียมการมาอย่างดีและค่อนข้างจะหรูหรา ... มันประสบความสำเร็จในการสร้างบรรยากาศที่เป็นอังกฤษอย่างมาก ... พวกเขาได้ค้นพบภาษาที่ถูกต้อง ... ในการสื่อสารกับชาวโลก"[21] ปานอส ซามาราส จากเน็ตทีวีของกรีซกล่าวว่า "มันเป็นงานแสดงดนตรี, ร็อคโอเปรา มากกว่าที่จะเป็นพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิก" ด้านหนังสือพิมพ์กีฬาของฝรั่งเศส เลกิป เขียนไว้ว่า "นำความคลาสสิกของพิธีเปิดมาแล้วสนุกกับมันซะ" ในขณะที่หนังสือพิมพ์เลอปารีเซียง กล่าวว่ามัน "ยิ่งใหญ่, สร้างสรรค์และแสดงออกอย่างมากผิดปกติถึงรากเหง้าของความเป็นอังกฤษ" ด้านหนังสือพิมพ์ดีเวลต์ ของเยอรมนี ยกย่องพิธีเปิดที่ลอนดอนว่า "น่าตื่นเต้น, สนุกสนานแต่ก็ยังเร้าใจและตื่นตัว"[22]

อ้างอิง[แก้]

  1. "London 2012 Olympics opening ceremony called 'The Isles of Wonder'". Olympics Medal Tally. 27 January 2012.
  2. ข้อมูลพิธีเปิดการแข่งขัน เก็บถาวร 2012-08-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์อย่างเป็นทางการ
  3. "Underworld announced as Music Directors for the opening ceremony of the 2012 London Olympic Games". Underworld. No date. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-12-16. สืบค้นเมื่อ 2012-08-12. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  4. "Queen And Duke To Open London 2012 Games". Gamesbids.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-09-30. สืบค้นเมื่อ 23 June 2012.
  5. "สมเด็จพระเทพ เสด็จโอลิมปิก" (Press release). ไทยรัฐ. 26 กรกฎาคม 2555. สืบค้นเมื่อ 13 สิงหาคม 2555. {{cite press release}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. Child, Ben (2 April 2012). "London 2012: Daniel Craig to open Olympics as James Bond". The Guardian. London. สืบค้นเมื่อ 2 April 2012.
  7. Martin, Dan (6 June 2012). "Paul McCartney to close London Olympics opening ceremony". The Guardian. London. สืบค้นเมื่อ 12 June 2012.
  8. "Media reaction to London 2012 Olympic opening ceremony". BBC News. 28 July 2012. สืบค้นเมื่อ 28 July 2012.
  9. Fordyce, Tom (28 July 2012). "Olympics 2012 opening ceremony: 'A Britain as never seen before'". BBC Sport. สืบค้นเมื่อ 28 July 2012.
  10. "London 2012: we've glimpsed another kind of Britain, so let's fight for it". สืบค้นเมื่อ 11 August 2012.
  11. Dewsbury, Rick (28 July 2012). "The NHS did not deserve to be so disgracefully glorified in this bonanza of left-wing propaganda". Daily Mail. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 Jul 2012 at 16:42. สืบค้นเมื่อ 6 August 2012. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |archivedate= (help)
  12. "Online outrage after Tory MP's 'leftie Opening Ceremony' tweets". ITV News. 27 July 2012. สืบค้นเมื่อ 28 July 2012.
  13. 13.0 13.1 "London 2012: Boris Johnson dismisses 'leftie' complaint". BBC News. 28 July 2012. สืบค้นเมื่อ 28 July 2012.
  14. Watt, Nicholas (28 July 2012). "Olympics opening ceremony was 'multicultural crap', Tory MP tweets". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 28 July 2012.
  15. Lyall, Sarah (27 July 2012). "A Five-Ring Opening Circus, Weirdly and Unabashedly British". New York Times.
  16. 16.0 16.1 16.2 "Media reaction to London 2012 Olympic opening ceremony". BBC News. สืบค้นเมื่อ 28 July 2012.
  17. "London 2012 opening ceremony wows world media". BBC News. 28 July 2012. สืบค้นเมื่อ 28 July 2012.
  18. "London Olympics opening ceremony kicks off". Xinhua News Agency. 28 July 2012. สืบค้นเมื่อ 28 July 2012.
  19. Weiwei, Ai (28 July 2012). "Olympic opening ceremony: Ai Weiwei's review". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 4 August 2012.
  20. Palvadori, Matty. "Russian President Loved London 2012 opening ceremony".
  21. Palvadori, Matty. "Vast majority of Russians loved the London 2012 opening ceremony". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-10-27. สืบค้นเมื่อ 2012-08-22.
  22. "London 2012: What the world thought of the opening ceremony". สืบค้นเมื่อ 7 August 2012.