แพระไดส์ลอสต์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก พาราไดซ์ ลอสท์)
แพระไดส์ลอสต์  
ภาพปก "แพระไดส์ลอสต์" ฉบับพิมพ์ครั้งแรก
ผู้ประพันธ์จอห์น มิลตัน
ชื่อเรื่องต้นฉบับParadise Lost
ประเทศอังกฤษ
ภาษาอังกฤษ
ประเภทบทกวีมหากาพย์
สำนักพิมพ์Samuel Simmons
วันที่พิมพ์ค.ศ. 1667

แพระไดส์ลอสต์ (อังกฤษ: Paradise Lost แปลว่า สวรรค์ลา หรือ สวรรค์ล่ม) เป็นบทกวีมหากาพย์ประพันธ์ขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 17 โดยกวีชาวอังกฤษ จอห์น มิลตัน ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1667 เป็นหนังสือชุดมี 10 บรรพ ตีพิมพ์ครั้งที่สองในปี ค.ศ. 1674 โดยจัดแบ่งเนื้อหาใหม่เป็น 12 บรรพ (ตามแบบอย่างการจัดแบ่งเนื้อหาใน มหากาพย์อีนีอิด ของเวอร์จิล) เนื้อหาของบทกวีเกี่ยวกับเรื่องราวในตำนานความเชื่อทางคริสต์ศาสนา ว่าด้วยเรื่องการล่มสลายของมนุษย์ กล่าวคือ การที่มนุษย์คู่แรกของโลก อาดัม กับ อีฟ ถูกล่อลวงโดยซาตานให้กระทำความผิด ละเมิดคำสั่งของพระผู้เป็นเจ้า ทำให้ต้องถูกเนรเทศออกจากสวนสวรรค์อีเดน วัตถุประสงค์ในการประพันธ์ของมิลตันมีระบุไว้ในหนังสือเล่ม 1 กล่าวว่า "เพื่อแสดงให้เห็นวิธีการที่พระเจ้าทำต่อมนุษย์" และอธิบายให้เห็นถึงความขัดแย้งระหว่างการมองเห็นเหตุการณ์ล่วงหน้าของพระผู้เป็นเจ้า กับการทำตามเจตจำนงเสรี เป็นวรรณกรรมที่มีแนวคิดแบบยุคบาโรก

ศิลปินยุคจินตนิยมในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 เริ่มมองภาพของซาตานว่าเป็นตัวละครสำคัญในงานมหากาพย์ มิลตันใช้ซาตานเป็นสื่อถึงความทะเยอทะยาน ความโลภและหยิ่งจองหอง ผู้ซึ่งต่อต้านพระผู้สร้าง และผู้ประกาศสงครามกับสรวงสวรรค์ แต่สุดท้ายก็โดนปราบและโค่นลง วิลเลียม เบลก ศิลปินนักวาดภาพประกอบมหากาพย์ผู้นิยมยกย่องมิลตันอย่างมาก ได้กล่าวถึงมิลตันว่า "เขาเป็นกวีที่แท้จริง และเป็นฝ่ายเดียวกับปีศาจแม้จะไม่รู้ตัว"[1] นักวิจารณ์ส่วนหนึ่งเห็นว่าลักษณะตัวละครแบบซาตานเป็นต้นกำเนิดของวีรบุรุษในแบบของไบรอน[2]

มิลตันนำเรื่องราวทั้งส่วนของคริสต์ศาสนา เทพเจ้านอกศาสนา รวมถึงตำนานกรีกดั้งเดิมมาใช้ในเนื้อเรื่อง บทกวีต้องพยายามสื่อถึงประเด็นทางปรัชญาอันลึกซึ้ง รวมถึงเรื่องของชะตากรรม ชะตาลิขิต และเรื่องของตรีเอกานุภาพ ซึ่งเป็นประเด็นละเอียดอ่อนและยากยิ่ง

โครงเรื่อง[แก้]

หลังจากการตีพิมพ์ครั้งแรก เนื้อเรื่องก็ถูกจัดใหม่ให้เป็น 12 บรรพ บรรพละบท ตามแบบอย่างมหากาพย์อีนีอิดของเวอร์จิล ความยาวของหนังสือแต่ละบรรพไม่เท่ากัน บรรพที่ยาวที่สุดคือเล่ม 9 มีความยาว 1189 บรรทัด บรรพที่สั้นที่สุดคือบรรพ 6 มีความยาว 640 บรรทัด ในฉบับปรับปรุงครั้งที่สอง เนื้อหาแต่ละเล่มจะขึ้นต้นด้วยการสรุปความ ภายใต้หัวข้อว่า "The Argument" รูปแบบการประพันธ์บทกวีเป็นแบบมหากาพย์ซึ่งมักขึ้นต้นด้วย in medias res (คำภาษาละติน หมายถึง "ท่ามกลางเรื่องราวที่เกิดขึ้น") สำหรับภูมิหลังของเรื่องปรากฏอยู่ในเล่ม 5-6

เนื้อเรื่องของมิลตันประกอบด้วยสองส่วนใหญ่ ๆ ส่วนหนึ่งคือเรื่องของซาตาน (ลูซิเฟอร์) อีกส่วนหนึ่งคือเรื่องของอาดัมกับอีฟ เรื่องของซาตานเป็นโครงหลักของมหากาพย์ คือภาพของสงครามทั้งหมด เริ่มต้นเมื่อซาตานกับบรรดาทูตสวรรค์ที่คิดกบฏทั้งหลายถูกพระเป็นเจ้าปราบและขับไล่ลงไปอยู่ในนรก หรือที่ในบทกวีเรียกว่า ทาร์ทะรัส เมืองหลวงในดินแดนนั้นชื่อ Pandæmonium ซาตานใช้ความสามารถทางโวหารของตนเกลี้ยกล่อมบรรดาผู้ติดตามของเขา โดยมีผู้ช่วยคือ แมมมอน และ บีลเซบับ บทกวียังกล่าวถึง เบเลียล และ โมลอค ด้วย ในตอนท้ายของการโต้ตอบครั้งนี้ ซาตานอาสาตนเองมาวางยาพิษดินแดนที่เพิ่งสร้างใหม่ คือ โลก เขาฝ่าผจญอันตรายในห้วงเหวเพียงลำพัง ในลักษณะคล้ายคลึงกับการผจญภัยของโอดิซูสหรืออีเนียส

สำหรับเรื่องของอาดัมกับอีฟที่โดนล่อลวงและตกสู่ความผิดบาปนั้นแตกต่างจากตำนานดั้งเดิมอย่างมาก นับเป็นครั้งแรกในวรรณกรรมคริสต์ศาสนาที่อาดัมกับอีฟมีความสัมพันธ์ต่อกันตั้งแต่ยังไม่มีความผิดบาปเกิดขึ้น พวกเขามีความปรารถนา มีบุคลิกภาพ และมีเพศสัมพันธ์ ซาตานสามารถล่อลวงอีฟสำเร็จโดยอาศัยกิเลสของเธอและวาจาอันเย้ายวน ขณะที่อาดัม ผู้ทราบว่าอีฟได้ทำผิดบาปแล้ว เขายอมรับความบาปเดียวกันนั้นโดยร่วมรับประทานผลไม้ด้วย จากเหตุการณ์นี้มิลตันได้สร้างบทบาทวีรบุรุษให้แก่อาดัม ขณะเดียวกันเขาก็มีความบาปที่ลึกล้ำกว่าอีฟ หลังจากรับประทานผลไม้แล้ว ทั้งสองมีเพศสัมพันธ์ต่อกันด้วยตัณหา ซึ่งเป็นทั้งประสบการณ์ใหม่และความรู้สึกที่ไม่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยความรู้สึกสำนึกผิดและความละอาย ต่างฝ่ายต่างซัดโทษความผิดให้กัน อย่างไรก็ดีคำแก้ต่างของอีฟก็ช่วยให้ทั้งสองคืนดีกันดังเดิม ส่วนที่สำคัญกว่านั้นคือความกล้าหาญของเธอที่ทำให้ทั้งสองเข้าไปเฝ้าพระเป็นเจ้า และ "น้อมคำนับและคุกเข่าขอรับโทษ" ด้วยหวังจะได้รับความกรุณาจากพระองค์ อาดัมได้เดินทางผ่านนิมิตไปกับทูตสวรรค์องค์หนึ่งและมองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากความผิดบาปของมนุษย์ รวมทั้งเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ เขารู้สึกเศร้าเสียใจต่อความผิดบาปที่พวกเขาสร้างขึ้นเนื่องจากการรับประทานผลไม้ อย่างไรก็ดี เขาก็ยังมีความหวัง จากการไถ่บาปโดยพระเยซูคริสต์ที่เขาเห็นในนิมิต หลังจากนั้นคนทั้งสองก็ถูกขับไล่จากสวนอีเดน ไมเคิล หัวหน้าทูตสวรรค์ได้กล่าวแก่อาดัมว่า เขาจะได้พบ "สวนสวรรค์ในตัวเจ้าที่เปี่ยมสุขยิ่งกว่า" ("A paradise within thee, happier far.") บัดนี้คนทั้งสองจึงอยู่ห่างไกลจากพระเป็นเจ้า แม้พระองค์จะดำรงอยู่ในทุกสิ่ง แต่ก็ไม่อาจมองเห็น (ไม่เหมือนกับพระบิดาผู้สามารถสัมผัสได้ในสวนอีเดน)

ตัวละคร[แก้]

ซาตาน[แก้]

อาดัม[แก้]

อีฟ[แก้]

พระบุตร[แก้]

พระบิดา[แก้]

พระจิต[แก้]

แนวคิดหลักของเรื่อง[แก้]

ประวัติการตีพิมพ์[แก้]

ผลตอบรับและคำวิจารณ์[แก้]

อิทธิพลต่องานแขนงอื่น[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. วิลเลียม เบลก. (1793), The Marriage of Heaven and Hell, ลอนดอน
  2. ที. เอส. อีเลียต (1932), "Dante", Selected Essays, นิวยอร์ก: เฟเบอร์แอนด์เฟเบอร์, OCLC 70714546.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]