พาน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พาน คือภาชนะประเภทถาดที่มีฐานทรงสูง มีลวดลายประดับอย่างวิจิตร มีใช้อย่างแพร่หลายในประเทศไทย ประเทศลาว และประเทศกัมพูชา

พานปกติมีลักษณะกลมและมีหลายขนาด โดยเส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ระหว่าง 20 ถึง 50 เซนติเมตร ภายในอาจตื้นหรือลึกก็ได้ พานมักจะทำจากโลหะเช่นทองแดง เงิน ทองเหลือง หรือเหล็กกล้า ปัจจุบันนี้ก็มีการใช้พานที่ทำจากอะลูมิเนียมและพลาสติกชุบเงินหรือชุบทองซึ่งมีน้ำหนักเบากว่า ช่วยลดอาการเมื่อยล้าเมื่อต้องถือไว้นาน ๆ

ประเพณีนิยม[แก้]

พานเป็นสิ่งสำคัญมากในวัฒนธรรมไทยตามประเพณีดั้งเดิม โดยทั่วไปพานใช้กับการสักการบูชาในพิธีกรรมโดยใส่สิ่งของไว้ในพานแล้ววางตั้งไว้ที่แท่นสักการะ พานก็ยังใช้สำหรับใส่สิ่งของที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เช่นรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด พานยังใช้สำหรับใส่สิ่งของต่าง ๆ อาทิดอกไม้ธูปเทียนในพิธีกรรมของพุทธศาสนา เพื่อถวายสิ่งของนั้นให้พระสงฆ์หรือผู้ที่จะบรรพชาเป็นพระสงฆ์ สำหรับกรณีหลังจะใช้พานใส่จีวรและบริขารต่าง ๆ ในขบวนแห่นาคจากบ้านไปยังวัดด้วย และในพิธีการสู่ขอเจ้าสาวก็จะใช้พานใส่สินสอดทองหมั้นเพื่อมอบแด่ญาติผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาว สมัยก่อนเมื่อชาวไทยยังนิยมกินหมากและพลู เครื่องหมากพลูต่าง ๆ จะจัดใส่ไว้ในพานเพื่อต้อนรับแขกที่มาเยี่ยมเยือนเป็นประเพณี [1]

มีตำนานเกี่ยวกับ "นางสงกรานต์ทั้งเจ็ด" กล่าวว่า ท้าวกบิลพรหมจำเป็นต้องตัดเศียรของตนเองเพื่อบูชาธรรมบาลกุมารตามที่ได้สัญญาไว้ แต่มีปัญหาว่าจะนำเศียรที่ตัดไปไว้ที่ใด ถ้าจะตั้งไว้ยังแผ่นดิน ไฟก็จะไหม้โลก ถ้าจะโยนขึ้นไปบนอากาศ ฝนก็จะแล้ง ถ้าจะทิ้งในมหาสมุทร น้ำก็จะแห้ง ท้าวกบิลพรหมจึงตรัสสั่งให้ธิดานำเศียรของตนใส่ไว้ในพาน ทำให้ธิดาสามารถอัญเชิญเศียรท้าวกบิลพรหมเวียนขวารอบเขาพระสุเมรุ แล้วประดิษฐานไว้ในถ้ำในเขาไกรลาศ พิธีกรรมนี้จะกระทำปีละครั้งโดยนางสงกรานต์ทั้งเจ็ด (ผู้เป็นธิดาของท้าวกบิลพรหม) ซึ่งจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาทำหน้าที่ [2]

ประเด็นอื่น ๆ[แก้]

  • อักษร ซึ่งเป็นพยัญชนะไทยตัวที่ 30 ถูกเรียกว่า พ พาน เพื่อสอนให้เด็กรู้จำตัวอักษรไทย
  • ที่มาของชื่อ เทือกเขาภูพาน มาจากภาชนะชนิดนี้ เนื่องจากภาพเงาของเทือกเขานี้ราบตรงยอดคล้ายพาน
  • พานสองชั้นอาจเรียกว่า พานแว่นฟ้า และมีปรากฏอยู่ในตราแผ่นดินของกัมพูชาด้วย
  • ที่มาของชื่อ อำเภอพาน ในจังหวัดเชียงรายนั้น มีที่มาจากคำว่า พราน ซึ่งราษฎรในพื้นที่ออกเสียงตามสำเนียงท้องถิ่นว่า พาน แต่แท้จริงแล้วมิได้เกี่ยวข้องกับพานอันเป็นภาชนะแต่อย่างใด

อ้างอิง[แก้]

  1. P.A. Reichart and H. P. Philipsen, Betel and Miang: Vanishing Thai Habits White Lotus, Bangkok 2005 ISBN 9789744800732
  2. "Nang Songkrans story". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-10-07. สืบค้นเมื่อ 2010-11-07.