พระแม่องค์ธรรม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อักษร 母 หมู่ หมายถึง 'พระแม่องค์ธรรม' พระเป็นเจ้าตามความเชื่อของลัทธิเซียนเทียนเต้าและอีก 5 ลัทธิที่แตกแขนงออกมา

พระแม่องค์ธรรม (จีน: 老母 เหลาหมู่)[1] คือพระเป็นเจ้าตามความเชื่อของลัทธิบัวขาว รวมถึงลัทธิศาสนาต่าง ๆ ในประเทศจีนที่สืบมาจากลัทธินี้ด้วย เช่น ลัทธิเซียนเทียนเต้า ลัทธิอนุตตรธรรม ลัทธิถงซั่นเซ่อ ลัทธิฉือฮุ่ยถัง ลัทธิเทียนเต๋อเซิ่ง และลัทธิเต้าเยวี่ยน[2]

ประวัติ[แก้]

ความเชื่อเรื่องพระแม่ซีหวังหมู่เริ่มปรากฏขึ้นในศาสนาพื้นบ้านจีนมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซาง ความเชื่อนี้ได้พัฒนาต่อมาว่านางเป็นราชินีแห่งสวรรค์ เป็นเทพีแห่งการมีอายุยืน และความรุ่งเรือง

ลัทธิบัวขาวซึ่งเกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์หยวน เรียกนางว่า "อู๋เซิงเหลาหมู่" หรือ เหลาหมู่ (พระแม่องค์ธรรม) และนับถือเป็นพระเป็นเจ้า มีพิธีกรรมการบูชามาตั้งแต่คริสต์ศวรรษที่ 16[3] ลัทธินี้เชื่อว่าพระแม่องค์ธรรมคือพระผู้สร้างโลกและสรรพชีวิตทั้งหลาย และเนื่องจากโลกเข้าสู่ยุคเสื่อม พระแม่องค์ธรรมจึงส่งศาสดาและนักปราชญ์ทั้งหลายมาทำหน้าที่ช่วยเหลือสรรพสัตว์กลับไปสู่พระแม่องค์ธรรมดังเดิม โดยพระศรีอริยเมตไตรยถูกส่งมาช่วยกอบกู้โลกในวาระสุดท้ายนี้ ลัทธิบัวขาวได้เคลื่อนไหวทางการเมืองด้วย เพื่อที่จะปลดปล่อยชาวจีนจากการปกครองของจักรวรรดิมองโกล ทางการราชวงศ์หยวนเห็นว่าลัทธินี้เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศจึงถูกปราบปรามอย่างหนัก แต่ความเชื่อของลัทธิบัวขาวยังคงแพร่หลายอยู่

ต่อมาหวง เต๋อฮุย ได้ก่อตั้งลัทธิเซียนเทียนเต้า โดยสืบแนวคำสอนและการปฏิบัติต่อมาจากลัทธิบัวขาว คือบูชาพระแม่องค์ธรรมเป็นพระเจ้า ความเชื่อนี้ยังสืบทอดต่อไปยังลัทธิทั้ง 5 ที่แตกแขนงต่อมากเซียนเทียนเต้า อันได้แก่ ลัทธิอนุตตรธรรม ลัทธิถงซั่นเซ่อ ลัทธิฉือฮุ่ยถัง ลัทธิเทียนเต๋อเซิ่ง และลัทธิเต้าเยวี่ยน ซึ่งต่างสืบทอดการนับถือพระแม่องค์ธรรมมาจนปัจจุบัน แต่อาจเรียกชื่อแตกต่างกันไปในแต่ละลัทธิ เช่น ลัทธิอนุตตรธรรมและลัทธิถงซั่นเซ่อมักเรียกว่า "อู๋จี๋เหลาหมู่" ลัทธิฉือฮุ่ยถังว่า "เหยาฉือจินหมู่" ลัทธิเทียนเต๋อเซิ่งว่า "อู๋เซิงเซิ่งหมู่" ลัทธิเต้าเยวี่ยนว่า "จื้อเซิ่งเซียนเทียนเหลาจู่" เป็นต้น[2]

ความเชื่อ[แก้]

ความเชื่อเรื่องพระแม่องค์ธรรมมีลักษณะคล้ายกับความเชื่อเรื่องพรหมันในศาสนาฮินดู กล่าวคือ ลัทธิบัวขาว ลัทธิเซียนเทียนเต้า ลัทธิสาขาของเซียนเทียนเต้าทั้ง 5 เชื่อว่าก่อนฟ้าดิน (สวรรค์และโลก) จะก่อกำเนิด มีพลังงานอย่างหนึ่งเรียกว่า “เต๋า” แพร่หลายอยู่ทั่วไป ครอบคลุมโอบอุ้มสภาวะทุกอย่างไว้ พลังงานนี้เป็นต้นกำเนิดของทุกสรรพสิ่งในจักรวาล ด้วยเหตุนี้จึงพลังงานนั้นเรียกว่า “พระแม่องค์ธรรม” หรือ “พระเป็นเจ้า” สรรพชีวิตทั้งหลายจึงมีต้นกำเนิดมาจากธรรมชาติบริสุทธิ์ดั้งเดิมนี้ แต่สรรพสัตว์กลับหลงลืมสภาวะดั้งเดิมของตน หลงติดอยู่กับสิ่งต่าง ๆ ในโลก จึงไม่อาจกลับสู่เบื้องบนซึ่งเป็นธรรมชาติเดิมได้ ด้วยเหตุนี้พระแม่องค์ธรรมจึงต้องส่งพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ และธรรมาจารย์ (จู่ซือ) ทั้งหลายมาเกิดบนโลกเพื่อถ่ายทอดธรรม และฉุดช่วยสรรพสัตว์กลับคืนสู่เบื้องบน[1]

ลัทธิอนุตตรธรรมเชื่อมโยงพระแม่องค์ธรรมกับศาสนาพุทธ โดยสอนว่า เพื่อฉุดช่วยสรรพสัตว์กลับสู่นิพพาน (หมายถึงสวรรค์) พระแม่องค์ธรรมได้ส่งพระพุทธเจ้ามาช่วยสรรพสัตว์และปกครองแต่ละยุค รวมทั้งสิ้น 10 พระองค์ ยุคสามกัปสุดท้ายคือ ยุคเขียวของพระทีปังกรพุทธเจ้า ยุคแดงของพระศากยมุนีพุทธเจ้า และยุคขาวของพระเมตไตรยพุทธเจ้าตามลำดับ[1] นอกจากนี้ ยังเชื่อว่าพระแม่องค์ธรรมคือพระเป็นเจ้าพระองค์เดียวกับพระยาห์เวห์ อัลลอฮ์ อาทิพุทธะ ฯลฯ โดยถ่ายทอดธรรมแก่ศาสดาของแต่ละศาสนาโดยมีจุดหมายเดียวกันคือนำศาสนิกชนกลับสู่สวรรค์เดิม และอยู่ร่วมกับพระแม่องค์ธรรม จึงถือว่าอนุตตรธรรมเป็นรากฐานของทุกศาสนาในโลก[4]

ลัทธิกลุ่มนี้ยังเชื่อว่าการเป็นพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ และเซียน เป็นอริยฐานะที่พระแม่องค์ธรรมจะประทานแก่บุคคลผู้อุทิศตนเผยแผ่วิถีธรรมหลังจากคนเหล่านี้ถึงแก่กรรม เช่น จาง เทียนหรัน ธรรมาจารย์คนที่ 18 ของลัทธิอนุตตรธรรม ได้รับอริยฐานะจากพระแม่องค์ธรรมให้เป็น “เทียนหรันกู่ฝอ” ธรรมอธิการหัน เอินหรง ได้เป็น “ไป๋สุ่ยเซิ่งตี้” เป็นต้น

ผู้นับถือลัทธิเหล่านี้จะรับโองการและโอวาทของพระแม่องค์ธรรม (รวมทั้งสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่น ๆ) ผ่านทาง "ซันไฉ" ร่างทรงหญิงพรหมจรรย์ที่ถูกคัดเลือกและฝึกมาโดยเฉพาะ โอวาทที่ผ่านทางร่างทรงเหล่านี้จึงถือเป็น “อาณัติแห่งสวรรค์” (天命 เทียนมิ่ง) ที่สาวกทุกคนต้องยอมรับ[5] การแต่งตั้งตำแหน่งต่าง ๆ ในลัทธิ เช่น จู่ซือ (ธรรมาจารย์) เหล่าเฉียนเหริน (ธรรมอธิการ) เฉียนเหริน (รองธรรมอธิการ) เตี่ยนฉวนซือ (อาจารย์ถ่ายทอดธรรม) ก็มาจากอาณัติสวรรค์ในลักษณะนี้ด้วย

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 สายทอง (พงศาธรรม ๑), ศุภนิมิต ผู้แปล, กรุงเทพฯ: ส่งเสริมคุณภาพชีวิต, ม.ป.ป., หน้า 9
  2. 2.0 2.1 Hsien-T'ien Tao (Way of Former Heaven) Sects, Division of Religion and Philosophy, University of Cumbria, เรียกข้อมูลวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2556
  3. Naquin, Susan, Inspiration: The organization and Ideology of White Lotus Sects, Millenarian Rebellion in China
  4. บทที่ 5...ความสัมพันธ์ระหว่าง "อนุตตรธรรม" และ "ศาสนา" เก็บถาวร 2013-01-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เว็บไซต์วิถีธรรม, เรียกข้อมูลวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2556
  5. พระอนุตตรพระโองการฯ เก็บถาวร 2008-11-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เว็บไซต์วิถีธรรม, เรียกข้อมูลวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2556