พระเศวตคชเดชน์ดิลก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเศวตคชเดชน์ดิลก
สปีชีส์ช้าง
สายพันธุ์ช้างอินเดีย
เพศผู้
เกิด6 พฤษภาคม พ.ศ. 2469
ป่าแม่ยางมิ้ม จังหวัดเชียงใหม่ มณฑลพายัพ ประเทศสยาม
ตาย19 มกราคม พ.ศ. 2487 (17 ปี)
โรงช้างต้น พระราชวังดุสิต อำเภอดุสิต จังหวัดพระนคร ประเทศไทย
ปีปฏิบัติงานพ.ศ. 2470–2478
เป็นที่รู้จักสำหรับช้างเผือกประจำรัชกาลที่ 7
ยศพระ
เจ้าของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว​ (พ.ศ. 2470–2484)
พ่อแม่พังหล้า

พระเศวตคชเดชน์ดิลกฯ เป็นช้างเผือกประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ตกที่ป่าแม่ยางมิ้ม อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ [1] เมื่อวันศุกร์ แรม 11 ค่ำ เดือน 6 ปีขาล ตรงกับวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2469[2] เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 9 และนาย ดี.เอฟ. แมคฟี ผู้จัดการป่าไม้บริษัทบอร์เนียว ได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย ในคราวเสด็จพระราชดำเนินมณฑลพายัพ[3] พร้อมกับพระราชพิธีทูลพระขวัญ และพระราชทานพระแสงราชศัสตรานครเชียงใหม่ และพระราชพิธีพระราชทานธงประจำกองลูกเสือของมณฑลพายัพ เมื่อวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2469 ณ บริเวณสนามหน้าโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย[4] ซึ่งมีเจ้าราชบุตร (วงศ์ตวัน ณ เชียงใหม่) เป็นแม่กองสร้างโรงช้าง และขนย้ายมาที่กรุงเทพมหานครพร้อมกับแม่ช้างชื่อ "พังหล้า" สูง 7 ฟุต 4 นิ้ว ทางรถไฟเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2470 [5]

พระเศวตคชเดชน์ดิลกฯ มีลักษณะสำคัญดังนี้ [2]

  • หนังสีบัวโรย
  • ขนตามตัวแลศีรษะต้นแดงปลายขาว เมื่ออยู่กับตัวสีบัวโรย
  • ตาสีฟ้าอ่อน
  • เพดานขาว
  • ขนที่หูขาว
  • เล็บขาว
  • อัณฑโกสขาว (อัณฑโกส = เปลือกไข่)
  • ขนที่หางต้นแดงปลายขาว

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ประกอบพระราชพิธีสมโภช และขึ้นระวางเป็นช้างสำคัญ เมื่อวันที่ 15-16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2470 พระราชนามว่า [6]

พระเศวตคชเดชน์ดิลก ประชาธิปกปทุมรัตนดำริ
เทวอัคนีนิรุฒชุบเชิด กำเนิดนภีสีฉวนเฉลียง
ฉวีเยี่ยงบุษกรโกมล นขาขนขาวผ่องแผ้ว
แก้วเนตรน้ำเงินงามลึก วันวณึกบรรณาการ
คชเชนทรยานยวดยิ่ง มิ่งมงคลฉนำเฉลิมฉัตร
สัตตมกษัตรทรงศร อมรรัตนโกสินทร์
รบือรบินบารมีทศ ยืนพระยศธรรมราชัย
นิรามัยมนุญคุณ บุณยโศลกเลิศฟ้า ๚

มีเรื่องเล่ากันว่า ในคืนวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2475 คืนก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระเศวตคชเดชน์ดิลกฯ ซึ่งยืนโรงอยู่ ณ โรงช้างต้น พระราชวังดุสิต ได้ส่งเสียงร้องประหลาดตลอดทั้งคืน เมื่อถึงเวลารุ่งสาง คณะราษฎรก็ก่อการ ณ บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า ใกล้กับโรงช้างต้นนั้น [2][7]

เมื่อพระเศวตคชเดชน์ดิลกฯ โตขึ้น มีลักษณะแปลก คือมีงางอกออกมาไขว้กัน มีเรื่องเล่าว่าวันหนึ่งในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2484 พระเศวตคชเดชน์ดิลกฯ ได้ยกงวงขึ้นไปติดบนงา แล้วเอาลงไม่ได้ เจ็บปวดร้องครวญครางอยู่หลายวัน เจ้าหน้าที่แก้ไขอย่างไรก็ไม่หาย จึงจำเป็นต้องเลื่อยงาทั้งสองออก ขณะนั้นเป็นเวลาใกล้เคียงกับวันที่ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็ตสวรรคต เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 [7][2]

พระเศวตคชเดชน์ดิลกฯ ยืนโรงอยู่ ณ โรงช้างต้น พระราชวังดุสิต (ปัจจุบันคือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ช้างต้น) คู่กับ พระเศวตวชิรพาหฯ เป็นเวลา 16 ปี จึงล้มลงเมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2486

อ้างอิง[แก้]

  1. ศรัณย์ ทองปาน. ช ช้าง กับ ฅ ฅน. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์สารคดี, พ.ศ. 2550. หน้า หน้าที่. ISBN 974-484-215-6
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย. ย้อนหลังบางแง่มุม ในพระราชกรณียกิจของ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ : กุลการพิมพ์, 2543. 120 หน้า. ISBN 974-87790-7-6
  3. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-10-09. สืบค้นเมื่อ 2008-01-19.
  4. พระราชพิธีสมโภชช้างเมืองเชียงใหม่[ลิงก์เสีย]
  5. จดหมายเหตุ จอมพล สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภานุพันธุวงศ์วรเดช
  6. นราธิปประพันธ์พงศ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ, คำฉันท์ดุษฎีสังเวย กล่อมแลกาพย์ขับไม้บำเรอพระเศวตคชเดชน์ดิลกฯ, พ.ศ. 2470
  7. 7.0 7.1 พูนพิศมัย ดิศกุล, หม่อมเจ้า. สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น ประวัติศาสตร์เปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕. กรุงเทพฯ : มติชน, พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2542, พิมพ์ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2551. 183 หน้า. ISBN 978-974-322-121-2 ข้อผิดพลาดพารามิเตอร์ใน {{ISBN}}: checksum