พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุษบันบัวผัน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ
พระองค์เจ้าบุษบันบัวผัน
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น 4
พระองค์เจ้าชั้นเอก
ประสูติ15 ตุลาคม พ.ศ. 2406
สิ้นพระชนม์1 มิถุนายน พ.ศ. 2482 (75 ปี)
ราชวงศ์จักรี
พระบิดาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระมารดาเจ้าจอมมารดาห่วง ในรัชกาลที่ 4

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุษบันบัวผัน (15 ตุลาคม พ.ศ. 2406 - 1 มิถุนายน พ.ศ. 2482) เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งประสูติแต่เจ้าจอมมารดาห่วง ทรงมีพระอนุชาและพระขนิษฐาร่วมเจ้าจอมมารดาเดียวกัน 2 พระองค์ คือ  พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย (ต้นราชสกุล "ไชยันต์") และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเจริญกมลสุขสวัสดิ์ ทรงเป็นพระอภิบาลในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราไชย และทรงเป็นเจ้านายที่มีพระชันษายืนพระองค์หนึ่งในพระราชวงศ์จักรี

พระประวัติ[แก้]

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุษบันบัวผัน เป็นพระเจ้าลูกเธอพระองค์ที่ 65 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นที่ 1 ในเจ้าจอมมารดาห่วง ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 11 ขึ้น 3 ค่ำ ปีกุน เบญจศก จ.ศ. 1125 ตรงกับวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2406 โดยได้มีพระราชหัตถเลขาพระราชทานพระนามในการสมโภชเดือน เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2406 ว่า "พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้า บุษบัณบัวผัน" (สะกดด้วยคำว่า "บุษบัณ")

"สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้ากรุงสยาม ขอตั้งนามแก่บุตรีหญิงซึ่งเกิดแต่ห่วงเป็นมารดา ในวันพฤหัสบดี เดือน 11 ขึ้น 3 ค่ำ ปีกุน เบญจศก ปีที่ 33 ในรัชชกาลนี้ว่า พระเจ้าลูกเธอ บุษบัณบัวผัน วรรคบริวารเปนอาทิและอันตอักษร ขอพรคุรพระศรีรัตนตรัย และอำนาจเทวดาจงประสิทธิ์ เจริญชนมายุ พรรณ สุข พล ปฏิภาณ สารสมบัติ ศรีสวัสดิพิพัฒนมงคลศุภพิบุลยผลทุกประการ เทอญ

ตั้งนามมา ณ วันศุกร์ เดือน 12 ขึ้น 3 ค่ำ ปีกุน เบญจศก เป็นวันที่ 4566 ในรัชชกาลปัจจุบันนี้แล"

พร้อมกับได้มีพระราชหัตถเลขาพระราชทานพระนามและพระราชทานพระพรเป็นคาถาภาษามคธ (เขียนด้วยตัวอักษรอริยกะ) กำกับพระราชหัตถเลขาฉบับภาษาไทยไว้ ซึ่งแปลความได้ว่า

"ธิดาของเราที่เรารักใคร่ เกิดโดยความสุขแต่มารดาชื่อห่วงนี้ จงมีชื่อว่าบุษบัณ (ปุสฺปณฺณา) และจงมีความสุขไม่มีโรค มั่งคั่งมีทรัพย์ใหญ่ ข้าศึกทั้งหลาย ไม่พึงครอบงำได้ และดำรงอยู่ในยศที่ตั้งแล้ว พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ประชุมสามรัตน ที่ราชธิดานั้นนับถือชอบแล้ว จงรักษาราชธิดานั้นทุกเมื่อ เทอญ"

ความหมายของพระนาม "บุษบันบัวผัน"[แก้]

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้มีลายพระหัตถ์ ลงวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2482 ประทานพระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ) มีความตอนหนึ่งว่า "พระนาม บุษบันบัวผัน นั้นได้ความชัดว่าเปนดอกบัวแท้ ไม่ใช่ซ้ำคำ เปน ดอกบัวสาย แต่ บัวผัน กับ บัวเผื่อน ผิดกันอย่างไร ท่านมีความรู้พอจะบอกได้หรือไม่" [1] และพระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ) ได้มีจดหมายกราบทูล ลงวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2482 ว่า "ส่วน บัวผัน กับ บัวเผื่อน ตามที่ข้าพระพุทธเจ้าได้รับคำบอกเล่ามาว่า บัวเผื่อน ดอกแดง บัวผัน ดอกเขียวสีฟ้า มีกลิ่นหอมทั้งสองอย่าง ลำต้นและดอกทั้งสองชนิดเหมือนกับบัวสาย (เรียกอีกชื่อว่า บัวขม เพราะเหง้ามีรสขม) แต่เล็กกว่ามาก..." [2]

รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[แก้]

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ เสด็จขึ้นเถลิงถวลัยราชสมบัติ ขณะนั้นทรงมีพระชันษาได้ 5 ปี ทรงเปลี่ยนพระฐานะมาเป็น "พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าบุษบันบัวผัน" โดยเมื่อต้นรัชกาลที่ 5 การอบรมศึกษาของเจ้านายฝ่ายในก็ยังคงยึดแบบอย่างธรรมเนียมในรัชกาลที่ 4 ดังที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ไว้ใน "ความทรงจำ" เกี่ยวกับการศึกษาของพระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ 4 ไว้ว่า

"...ส่วนเจ้านายพระองค์หญิงนั้น ตั้งแต่โสกันต์แล้ว ก็ทรงศึกษาวิชาความรู้ชั้นสูงขึ้นไปเป็นลำดับ นับแต่การศึกษาศีลธรรมและฝึกหัดวิชาการเรือน และเริ่มเรียนวิชาเฉพาะประเภทอันชอบพระอัธยาศัยสืบเนื่องไป จนอำนวยการต่าง ๆ ในหน้าที่ของขัตติยนารีได้โดยลำพังพระองค์ ข้อที่พระองค์ชายมีโอกาสเรียนราชการเพราะเข้าเฝ้าในเวลาเสด็จออกท้องพระโรง เจ้านายพระองค์หญิงก็มีโอกาสศึกษาทางฝ่ายใน ได้ความรู้ทั้งราชประเพณีและระเบียบวินัยในสมาคมของกุลนารี จนสามารถรับหน้าที่ราชการฝ่ายในและฝึกสอนผู้อื่นสืบกันมา ที่ในพระราชวังจึงเป็นแหล่งสำหรับเรียนวิชามรรยาทสำหรับกุลสตรี เปรียบเหมือนวิทยาลัยอันเป็นที่ผู้มีบรรดาศักดิ์ชอบส่งธิดาเข้าไปฝากให้ศึกษาในสำนักเจ้านายและผู้อื่นที่สามารถฝึกสอน คนทั้งหลายจึงชอบชมผู้หญิงชาววังมาแต่โบราณเพราะการที่ได้ศึกษานั้น..." [1]

เมื่อทรงพระเจริญวัยแล้ว ทรงพระดำเนินชีวิตตามอย่างขัตติยนารี มีตำหนักที่ประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวัง โดยไม่ปรากฏหลักฐานว่าทรงมีหน้าที่ราชการอย่างใดเป็นพิเศษ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงบันทึกถึง "้น้าบุษบัน" ไว้ความตอนหนึ่งว่า

"​วันจันทร์ วันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2427 เราตื่นก่อนโมง ไม่ได้เสด็จปทุมวัน ได้ยินว่าทางรถไปลำบาก กินข้าวแล้วเล่นอยู่ที่มุข สมเด็จแม่ประทมตื่น เราขึ้นไปเล่นอยู่ที่สมเด็จแม่ น้าประดิษฐา น้าบุษบันมาเฝ้าสมเด็จแม่ เล่นอยู่กับเรา..." [3]

ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุษบันบัวผัน ในพระราชวังดุสิต

ในปี พ.ศ. 2442 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระคลังข้างที่จัดซื้อที่ดินระหว่างคลองผดุงกรุงเกษม จดคลองสามเสน ด้านตะวันออกจดทางรถไฟ เพื่อสร้างพระราชฐานที่ประทับสำหรับทรงสำราญพระราชอิริยาบถ พระราชทานนามว่า "วังสวนดุสิต" แต่แรกได้สร้างขึ้นเป็นที่ประทับชั่วคราว ต่อมาเมื่อได้เสด็จมาประทับ ณ วังสวนดุสิต เป็นพระราชสำนักประจำ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งและท้องพระโรงสำหรับใช้เป็นที่ประทับและออกว่าราชการ มีการแบ่งพื้นที่ของเขตพระราชฐานออกเป็น "ฝ่ายหน้า" และ "ฝ่ายใน" เหมือนอย่างในพระบรมมหาราชวัง ในส่วนของเขตพระราชฐานชั้นใน มีการสร้างพระตำหนักและตำหนักพระราชทานพระมเหสีเทวี พระราชธิดา เจ้าจอมพระสนม ตลอดจนพระราชวงศ์ฝ่ายในบางพระองค์ ซึ่งในจำนวนนี้ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างตำหนักบริเวณ "เกาะสน" จำนวน 6 ตำหนัก พระราชทานพระเจ้าน้องนางเธอ 8 พระองค์ โดยตำหนักด้านเหนือ 3 หลัง หลังที่ 1 พระองค์เจ้าวาณีรัตนกัญญา หลังที่ 2 พระองค์เจ้าศรีนาคสวาสด์ พระองค์เจ้าแขไขดวง หลังที่ 3 พระองค์เจ้ากาญจนากร ตำหนักด้านใต้ 3 หลัง หลังที่ 1 พระองค์เจ้าอรุณวดี หลังที่ 2 พระองค์เจ้านารีรัตนา พระองค์เจ้า​ประดิษฐาสารี และหลังที่ 3 พระองค์เจ้าบุษบันบัวผัน โดยมีการทำบุญขึ้นตำหนักใหม่ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2451 [4]

การพระกุศล[แก้]

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุษบันบัวผัน ทรงบำเพ็ญพระกุศลเพื่อประโยชน์แก่สาธารณะแก่สาธารณะหลายประการ อาทิ

  • พ.ศ. 2466 โปรดให้พิมพ์หนังสือ "ประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔ ภาค ๓ ประกาศปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๙๙ ปีมะเสง พ.ศ. ๒๔๐๐" เนื่องในการบำเพ็ญพระกุศลฉลองพระชันษาครบ 60 ปี ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2466[5]

สิ้นพระชนม์[แก้]

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุษบันบัวผัน สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2482 ขณะพระชันษา 75 ปี เวลาบ่าย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จไปสรงน้ำพระราชทานพระศพ ณ พระตำหนักในพระบรมมหาราชวัง จากนั้นเจ้าพนักงานแต่งพระศพเชิญลงสู่พระโกศ และเชิญไปประดิษฐาน ณ หอนิเพธพิทยา [6]

พระเกียรติยศ[แก้]

ธรรมเนียมพระยศของ
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุษบันบัวผัน
ธงประจำพระอิสริยยศ
การทูลใต้ฝ่าพระบาท
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับพ่ะย่ะค่ะ/เพคะ

พระอิสริยยศ[แก้]

  • พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าบุษบันบัวผัน (15 ตุลาคม พ.ศ. 2406 - 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411)
  • พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าบุษบันบัวผัน (11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 - 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453)
  • พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุษบันบัวผัน (23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 - 1 มิถุนายน พ.ศ. 2482)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

พงศาวลี[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. laika (2020-05-07). "๑๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น". vajirayana.org.
  2. laika (2020-05-07). "๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส". vajirayana.org.
  3. laika (2020-02-15). "พุทธศักราช ๒๔๒๗". vajirayana.org.
  4. laika (2019-08-30). "เดือน ๔ จุลศักราช ๑๒๖๙". vajirayana.org.
  5. admint (2016-11-19). "ประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔ ภาค ๓". vajirayana.org.
  6. ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวในพระราชสำนัก วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2482, เล่ม 56, ตอน 0ง, วันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2482, หน้า ุ684
  7. ราชกิจจานุเบกษา, การพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับตระกูลจุลจอมเกล้า และถวายบังคมพระบรมรูป เนื่องในวันคล้ายกับวันพระบรมราชาภิเษกครั้งหลัง ตามสุริยตคติ เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 16, ตอน 34, 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2442, หน้า 498
  8. ราชกิจจานุเบกษา,พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ ฝ่ายใน เก็บถาวร 2015-10-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 21, ตอน 32, 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2447, หน้า 570
  9. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลปัจจุบันฝ่ายใน เก็บถาวร 2011-11-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 25, ตอน 39, 27 ธันวาคม พ.ศ. 2451, หน้า 1153
  10. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลปัจจุบันฝ่ายใน เก็บถาวร 2015-10-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 28, ตอน 0 ง, 23 เมษายน พ.ศ. 2454, หน้า 130
  11. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ฝ่ายใน เก็บถาวร 2011-11-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 43, ตอน 0 ง, 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2469, หน้า 3114
  12. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ เก็บถาวร 2011-12-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 55, ตอน 0 ง, 16 มกราคม พ.ศ. 2481, หน้า 3421