พระเจริญราชเดช (อุ่น ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก พระเจริญราชเดช (อุ่น))
พระเจริญราชเดช (อุ่น ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม)
ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม, เจ้าเมืองมหาสารคาม
ก่อนหน้าอุปฮาด (เถื่อน รักษิกจันทร์)
ถัดไปหม่อมเจ้านพมาศ นวรัตน์
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด2401
เมืองร้อยเอ็ด
เสียชีวิต2461
เมืองมหาสารคาม
ศาสนาศาสนาพุทธ
คู่สมรสอาชญาแม่ศรีสุมาลย์

มหาอำมาตย์ตรี พระเจริญราชเดช (อุ่น ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม, พ.ศ. ๒๔๐๑-๖๑) อดีตกรมการพิเศษเมืองมหาสารคาม มณฑลร้อยเอ็จ ที่ปรึกษาราชการเมืองมหาสารคาม เจ้าเมืองวาปีปทุมองค์สุดท้าย (ลำดับที่ ๒)[1] ข้าหลวงกำกับราชการเมืองมหาสารคาม ผู้ว่าราชการเมืองมหาสารคามคนแรก และนายอำเภอวาปีปทุมคนแรก มีลำดับศักดิ์เป็นบุตรเขยและหลานลุงของพระเจริญราชเดช (กวด) เจ้าเมืองมหาสารคามองค์แรก เป็นผู้รับพระราชทานนามสกุลภวภูตานนท์ซึ่งต่อมาเครือญาติได้ขอรับพระราชทาน ณ มหาสารคาม ต่อท้ายสกุลเดิม

ประวัติ[แก้]

ราชตระกูล[แก้]

พระเจริญราชเดช (อุ่น) นามเดิมว่าเจ้าอุ่นหรือท้าวอุ่น เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๑ เป็นบุตรอุปฮาช (บัวทอง) หรือท้าวพานทองเจ้านายคณะอาญาสี่เมืองมหาสารคามและอดีตอัคร์ฮาดเมืองมหาสารคามก่อนยกฐานะขึ้นเป็นเมืองชั้นเอก เป็นนัดดาอุปฮาช (ภู) เจ้านายคณะอาญาสี่เมืองร้อยเอ็ดกับยาแม่ปทุมมา[2] เป็นปนัดดาราชวงษ์ (หล้า) เมืองร้อยเอ็ด ยาแม่ปทุมมาผู้เป็นย่ามีลำดับศักดิ์เป็นพี่สาวร่วมมารดากับพระพิชัยสุริยวงศ์ (ตาดี) หรือเจ้าโพนแพงเจ้าเมืองโพนพิสัย ต้นตระกูลสืบเชื้อสายจากเจ้าแก้วมงคล (แก้วบุฮม) เจ้านายจากราชวงศ์ล้านช้างผู้สร้างเมืองท่งสีภูมิ สมรสเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๒ กับยาแม่ศรีสุมาลย์ (ศรีสุมา) ธิดาคนสุดท้ายของพระเจริญราชเดช (กวด) กับยาแม่โซ่นแดงธิดาหลวงโภคา (จีนนอก) เมืองมหาสารคาม ในเอกสารบันทึกของหลวงอภิสิทธ์สารคาม (ดี) บันทึกประวัติเมืองมหาสารคามของพระเจริญราชเดช (อุ่น) และบันทึกประวัติศาสตร์ภาคอีสานและเมืองมหาสารคามของบุญช่วย อัตถากร ระบุว่าอุปฮาช (บัวทอง) บิดาได้นำพาผู้คนจำนวนหนึ่งแยกไปตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณบ้านลาดริมลำน้ำชี ปัจจุบันคือบ้านลาดพัฒนา ตำบลเกิ้ง อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม ตามที่ตนเห็นว่าเหมาะสมและเคยเสนอให้ตั้งเป็นเมืองมหาสารคามแห่งแรก ฝ่ายท้าวมหาชัย (กวด) ซึ่งต่อมาคือพระเจริญราชเดชไม่เห็นด้วย อุปฮาช (บัวทอง) จึงตั้งเป็นเมืองต่างหากจากเมืองมหาสารคามห่างจากบ้านกุดนางใยที่ตั้งเมืองประมาณ ๒๐๐ เส้น[3]

พี่น้อง[แก้]

พระเจริญราชเดช (อุ่น) มีพี่น้องทั้งหมด ๗ คนคือ[4] ราชบุตร (ช้าง) ยานางอบ อุปฮาช (ผา) พระเจริญราชเดช (อุ่น) ยานางจอม ยานางหนู และยาท้าวสุวัฒน์

การศึกษา[แก้]

เมื่อท้าวอุ่นอายุ ๔ ขวบได้ติดตามบิดาลงไปกรุงเทพมหานครด้วยราชการงานเมือง ต่อมาจึงศึกษาเล่าเรียนอักขระหนังสือไทยที่วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหารตามธรรมเนียมเจ้านายหัวเมืองลาวที่นิยมส่งบุตรหลานเข้าศึกษาวิชาการปกครองจากราชสำนักสยาม เมื่อศึกษาจนอายุได้ ๑๖ ปีในราว พ.ศ. ๒๔๑๒-๑๙ จึงถวายตัวเป็นข้าหลวงเดิมและรับแต่งตั้งเป็นมหาดเล็กหลวงในรัชกาลที่ ๕ ท้าวอุ่นเป็นผู้มีความรู้หลากสาขาและสามารถพูดภาษาอังกฤษพอใช้ได้ ภายหลังเมื่อบิดาป่วยหนักจึงขอเดินทางกลับบ้านเมืองเพื่อดูแลบิดาแล้วบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดเหนือ (วัดมหาชัย) เมืองมหาสารคาม ซึ่งพระเจริญราชเดช (กวด) นางเจริญราชเดช (โซ่นแดง) ภริยา คณะกรมการเมืองมหาสารคาม และพระครูสุวรรณดีร่วมกันสร้างขึ้นแต่เมื่อครั้งแรกตั้งเมือง

เป็นเจ้าเมือง[แก้]

พ.ศ. ๒๔๑๙ ท้าวอุ่นได้รับแต่งตั้งเป็นที่ท้าวโพธิสารกรมการเมืองมหาสารคาม หลังโปรดเกล้าฯ ตั้งเมืองวาปีปทุมและเมืองโกสุมพิสัยขึ้นแล้วต่อมา พ.ศ. ๒๔๒๕ จึงได้รับโปรดเกล้าฯ ขึ้นเป็นที่พระพิทักษ์นรากรเจ้าเมืองวาปีปทุมองค์ที่ ๒ ต่อจากพระพิทักษ์นรากร (บุญมี)[5] สันนิษฐานว่าราชทินนามนี้โปรดฯ ให้คล้องจองกับราชทินนามที่สุนทรพิพิธของพระสุนทรพิพิธ (เสือ) เจ้าเมืองโกสุมพิสัยองค์แรกซึ่งตั้งเมืองขึ้นพร้อมกันกับเมืองวาปีปทุม พ.ศ. ๒๔๓๒ อุปฮาชผู้รักษาราชการเมืองสุวรรณภูมิมีใบบอกกล่าวโทษมาถึงเมืองมหาสารคาม สุรินทร์ และศรีสะเกษ ว่าแย่งเอาเขตแดนเมืองสุวรรณภูมิไปตั้งเป็นเมืองของตน เฉพาะเมืองมหาสารคามถูกกล่าวหาว่าขอเอาบ้านนาเลาตั้งเป็นเมืองวาปีปทุม สยามจึงโปรดฯ ให้ข้าหลวงนครจำปาศักดิ์และข้าหลวงอุบลราชธานีทำการไต่สวนว่ากล่าวในเรื่องนี้แต่เมืองเหล่านี้ตั้งมานานแล้วจึงรื้อถอนไม่ได้ จึงโปรดฯ ให้วาปีปทุมเป็นเมืองขึ้นมหาสารคามต่อไปตามเดิมโดยมิได้โยกย้ายออกจากหนองแซง

พ.ศ. ๒๔๓๕ โปรดฯ ให้นายรองชิต (เลื่อง ณ นคร) และจมื่นศรีบริรักษ์มาเป็นข้าหลวงกำกับราชการเมืองมหาสารคามและเมืองร้อยเอ็ดเป็นครั้งแรกโดยตั้งที่ทำการอยู่ ณ เมืองมหาสารคาม ต่อมา พ.ศ. ๒๔๓๗ ทางราชการได้โอนเมืองชุมพลบุรีจากเมืองสุรินทร์มาขึ้นเมืองมหาสารคาม พ.ศ. ๒๔๔๐ โปรดฯ ให้ตราพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่เพื่อวางระเบียบแบบแผนการปกครองท้องถิ่นให้เรียบร้อย ขณะนั้นมณฑลอีสานยังไม่ได้จัดการปกครองให้เป็นอย่างมณฑลอื่น ต่อมา พ.ศ. ๒๔๔๓ พระเจริญราชเดช (ฮึ่งหรือฮึง) เจ้าเมืองมหาสารคามองค์ที่ ๒ ถึงแก่อนิจกรรมทางเมืองมหาสารคามจึงแต่งตั้งให้พระอุปฮาช (เถื่อน ต้นสกุลรักษิกจันทร์) รักษาราชการแทนเจ้าเมืองเดิม ทางราชการยุบเมืองชุมพลบุรีลงเป็นอำเภอแล้วโอนกลับไปขึ้นเมืองสุรินทร์ตามเดิม พร้อมโปรดฯ ให้แบ่งหัวเมืองมณฑลอีสานออกเป็น ๕ บริเวณโดยเมืองมหาสารคามให้ขึ้นแก่บริเวณร้อยเอ็ด และจัดการแบ่งเขตเมืองตั้งขึ้นเป็นอำเภอคืออำเภออุทัยสารคาม อำเภอประจิมสารคาม ส่วนเมืองวาปีปทุมและโกสุมพิสัยคงให้เป็นเมืองขึ้นเมืองมหาสารคามตามเดิมและให้เปลี่ยนเป็นอำเภอวาปีปทุมในปีนี้เช่นกัน[6] พ.ศ. ๒๔๔๔ หลังจากสยามยุบสถานะเมืองวาปีปทุมลงเป็นอำเภอจึงโปรดฯ ให้พระพิทักษ์นรากร (อุ่น) เจ้าเมืองวาปีปทุมมาเป็นข้าหลวงกำกับราชการเมืองมหาสารคามแทนพระสิทธิศักดิ์สมุทเขต (บุษย์) ที่ถึงแก่กรรมไปก่อนหน้า พระพิทักษ์นรากร (อุ่น) ได้สร้างโฮง (หอโฮงการ) สำหรับว่าราชการบ้านเมืองขึ้นที่เมืองมหาสารคามและนับเป็นโฮงเจ้าเมืองหลังที่ ๓ ของเมืองนี้โดยชาวเมืองเรียกว่าโฮงยาพ่อหลวง มีลักษณะเป็นอาคารไม้โบราณขนาดใหญ่ ๒ ชั้นทาสีแดงตั้งอยู่เยื้องกับโฮงยาหลวงเฒ่าหรือโฮงของพระเจริญราชเดช (ฮึง) เจ้าเมืองมหาสารคามองค์ก่อน[7]

พ.ศ. ๒๔๔๖ สยามยุบตำแหน่งข้าหลวงกำกับราชการเมืองมหาสารคามลง ต่อมาวันที่ ๒๙ เมษายน ร.ศ. ๑๒๐ ศกเดียวกันได้โปรดฯ ให้พระพิทักษ์นรากร (อุ่น) เลื่อนเป็นที่พระเจริญราชเดชผู้ว่าราชการเมืองมหาสารคามคนแรก ในบรรดาศักดิ์และราชทินนามเจ้าเมืองมหาสารคามองค์ก่อน เนื่องจากตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองมหาสารคามว่างลงแต่ครั้งพระเจริญราชเดช (ฮึง) ถึงแก่อนิจกรรม พ.ศ. ๒๔๔๗ พระเจริญราชเดช (อุ่น) ได้ตัดถนนเพิ่มเป็น ๒ สายขึ้นในตัวเมืองมหาสารคามและสร้างศาลาการเปรียญกับพระอุโบสถวัดนางใย เมืองมหาสารคาม พ.ศ. ๒๔๔๙ จึงตั้งโรงเรียนขึ้นที่วัดท่าแขก (วัดโพธิ์ศรี) และวัดทุ่ง (วัดนาควิชัย) ปลาย พ.ศ. ๒๔๕๕ สยามโปรดเกล้าฯ ให้พระเจริญราชเดช (อุ่น) ออกจากตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองด้วยเหตุชราภาพแล้วโปรดฯ ให้เป็นที่กรมการเมืองพิเศษคอยให้คำปรึกษาราชการงานเมืองตามสมควรแก่ฝ่ายปกครองตลอดอายุขัย ต้น พ.ศ. ๒๔๕๖ จึงโปรดฯ ให้หม่อมเจ้านพมาศ นวรัตน์ อดีตปลัดมณฑลประจำจังหวัดมหาสารคามมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม พ.ศ. ๒๔๕๗ พระเจริญราชเดช (อุ่น) ขณะดำรงตำแหน่งกรมการเมืองพิเศษเมืองมหาสารคาม มณฑลร้อยเอ็จ จึงได้รับพระราชทานนามสกุลภวภูตานนท์[8]

ราชการทัพ[แก้]

ราชการทัพครั้งที่ ๑[แก้]

พระเจริญราชเดช (อุ่น) เคยรับราชการพิเศษด้านการศึก ๓ ครั้ง ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๘-๑๙ หลังลาสิกขาบทได้ขออาสาสมัครเป็นนายทหารไปรบศึกฮ่อที่ชายพระราชอาณาเขตทางนครหลวงพระบาง โดยดำรงตำแหน่งนายกองลำเลียงเสบียงอาหารช่วยกองทัพภายใต้การควบคุมของพระเจริญราชเดช (กวด) ผู้เป็นลุง ซึ่งตามทัพไปสมทบกองทัพของพระยามหาอำมาตย์ (ชื่น กัลยาณมิตร) ที่ไปรบฮ่อยังนครหลวงเวียงจันทน์พร้อมด้วยกำลังพลจากหัวเมืองอื่น หลังได้รับชัยชนะเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๙ จึงสถาปนาขึ้นเป็นที่ท้าวโพธิสารกรมการผู้ช่วยราชการคณะอาญาสี่เมืองมหาสารคาม

ราชการทัพครั้งที่ ๒[แก้]

พ.ศ. ๒๔๒๘-๒๙ พระเจริญราชเดช (อุ่น) ยกกองทัพไปปราบฮ่ออีกครั้งที่นครหลวงเวียงจันทน์ โดยตามไปสมทบกับกองทัพของพลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม

ราชการทัพครั้งที่ ๓[แก้]

พ.ศ. ๒๔๓๖ (ร.ศ. ๑๑๒) สยามเกิดกรณีพิพาทเรื่องอาณาเขตกับฝรั่งเศส จึงโปรดฯ ให้พระเจริญราชเดช (อุ่น) ยกกองทัพเมืองมหาสารคามไปขัดตาทัพฝรั่งเศสและรักษาด่านพระราชอาณาเขต ณ ภูด่านแดนแขวนฆ้องฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง

ย้ายอำเภอบรบือมาตั้งอำเภอท่าขอนยาง[แก้]

ครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองมหาสารคามนั้นพระเจริญราชเดช (อุ่น) ได้ทำเรื่องขออนุญาตทางราชการให้ย้ายที่ว่าการอำเภอบรบือไปตั้งใกล้กับหนองบ่อบ้านซำแฮดหรือบ้านชำแฮด (ไทยเรียกว่าบ้านชำแรด) แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอท่าขอนยางเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่เมืองท่าขอนยางซึ่งถูกยุบลงเป็นตำบล ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอบรบือตามเดิมให้ตรงตามชื่อตำบลที่ตั้งมากระทั่งทุกวันนี้ นามเดิมของอำเภอบรบือนี้ชาวบ้านเรียกว่าบ่อระบือ มีหลวงสารคามการนิคม (โรม เปาริสาร) เป็นนายอำเภอ ภายหลังเลื่อนเป็นที่หลวงสารประสิทธิเขต[9]

บำรุงชาวจีนอพยพ[แก้]

ชาวจีนในสมัยพระเจริญราชเดช (อุ่น) ปกครองเมืองมหาสารคามเป็นรุ่นอพยพและถือเป็นกำลังสำคัญในการบุกเบิกทางการค้า ชาวจีนรุ่นนี้ได้สร้างความสัมพันธ์กับชาวลาวในท้องถิ่นและฝ่ายปกครองบ้านเมืองอย่างแน่นแฟ้น โดยวางรากฐานทางเศรษฐกิจแก่ชาวจีนรุ่นต่อมาจนสามารถต่อยอด สร้างทุน และสร้างฐานะที่มั่นคง ทำให้เมืองมหาสารคามเจริญเติบโตในเวลาต่อมา ตัวอย่างคือนายทองดี อัตถากร คหบดีสามัญชนชาวจีนจากเมืองวาปีปทุมได้สมรสกับยาแม่แก้วประภา ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม (บรรพบุรุษของนายบุญช่วย อัตถากร นายกเทศมนตรีเมืองมหาสารคาม)[10] ธิดาของพระเจริญราชเดช (อุ่น) จึงได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาผู้ว่าราชการเมืองมหาสารคาม และได้รับการสนับสนุนจากพระเจริญราชเดช (อุ่น) ให้เป็นผู้ผูกขาดการต้มเหล้า รายได้จากภาษีต้มเหล้าทำให้ฐานะทางการเงินของนายทองดีและเจ้านายเมืองมหาสารคามมั่นคงมากขึ้น นอกจากนี้พระเจริญราชเดช (อุ่น) ยังปูนบำเน็จรางวัลแก่จีนกาสี แซ่เซีย ซึ่งได้บริจาคข้าว ๑ เล้าแก่ทางราชการให้มีบรรดาศักดิ์เป็นถึงหลวงนุกูลกิจคดีจีนมีหน้าที่ดูแลคนจีนในเมืองร้อยเอ็ด[11]

บุตรและธิดา[แก้]

พระเจริญราชเดช (อุ่น) มีบุตรธิดากับยาแม่ศรีสุมาลย์ (ศรี) ที่ปรากฏนาม ๗ คนคือ[12]

๑. ยาท้าววรบุตร ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม นายอำเภอเมืองวาปีปทุม

๒. ยาท้าวเดือน ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม หรือ ร.อ.อ. หลวงพินิจนนราษฏร์ นายอำเภอ ๕ แห่ง

๓. ยาแม่แก้วประภา อัตถากร (แก้ว)

๔. ยาท้าวดาว ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม หรืออำมาตย์เอก หลวงนาถอาญัติ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลหลายจังหวัด

๕. ยาแม่ดวง ธนสีลังกูร

๖. ยาแม่กฤษณา ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม (เกร็ด)

๗. ยาแม่บูริกา สุวรรณเลิศ หรือนางสารีธนากร (บูหรือบูรี)[13] สมรสกับรองอำมาตย์ตรี ขุนสารีธนากร (สอน สุวรรณเลิศ) หลานตาของพระปทุมวิเศษเจ้าเมืองกันทรวิชัย

การพระศาสนา[แก้]

มอบที่นาสร้างวัดโสมนัสประดิษฐ์[แก้]

วัดโสมนัสประดิษฐ์ (วัดโสมนัส) ตั้งอยู่ ณ บ้านหนองแสง (เดิมเรียกบ้านหนองแซง) ตำบลหนองแสง อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม หลังโปรดฯ ให้ท้าวอุ่นเป็นที่พระพิทักษ์นรากรจึงนำสารตรามาตั้งเมืองและปรึกษากับอุปฮาช (มหาพรหม) เจ้านายคณะอาญาสี่เมืองวาปีปทุมชุดแรก ตลอดจนท้าวเพี้ยกรมการเมืองว่าที่ตั้งเมืองเดิมมีชัยภูมิไม่อุดมสมบูรณ์ ไม่เหมาะสมแก่การตั้งเป็นเมืองสืบไป จึงเลือกทำเลใหม่โดยย้ายมาตั้งศูนย์กลางและที่ทำการ ณ ริมหนองแสง (หนองแซง) พระพิทักษ์นรากร (อุ่น) ได้ทำนุบำรุงบ้านเมืองสืบมาและสร้างวัดขึ้นหลายวัด [14] พ.ศ. ๒๔๓๐ ได้ยกที่นาของตนให้สร้างวัดขึ้นไว้สืบศาสนาโดยชาวบ้านเรียกว่าวัดสระแคน ต่อมาสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) ครั้งดำรงตำแหน่งเจ้าคณะมณฑลอีสานเดินทางมาตรวจการคณะสงฆ์ที่เมืองวาปีปทุมจึงแปลงนามวัดให้ใหม่ว่าวัดโสมนัสประดิษฐ์ [15]

ตั้งโรงเรียนสอนหนังสือที่วัดอุทัยทิศ[แก้]

วัดอุทัยทิศ ชาวบ้านเรียกว่าวัดใต้นางใยตามชื่อหมู่บ้าน ตั้งอยู่เลขที่ ๑๘๖๑ ถนนนครสวรรค์ บ้านนางใย ตำบลตลาด อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๖ เดิมชื่อวัดสนามพิธีเนื่องจากเป็นศูนย์กลางการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของเมืองมหาสารคาม เป็นวัดที่มีความเจริญรุ่งเรืองทางการศึกษาทั้งฝ่ายอาณาจักรและพุทธจักร มีถาวรวัตถุที่มั่งคงที่สุดในสมัยนั้น สมัยพระครูโยคีอุทัยทิศ (พิมพ์) เป็นเจ้าอาวาสได้เปลี่ยนชื่อวัดเป็นวัดอุทัยทิศตามนามเจ้าอาวาส เมื่อครั้งพระเจริญราชเดช (อุ่น) ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองมหาสารคามได้จัดตั้งโรงเรียนสอนหนังสือไทยและมูลกัจจายน์ขึ้นที่วัดนี้ มีพระอาจารย์ปิ่น พระอาจารย์สังวาล ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม และพระอาจารย์แก้ว วิชาธร เป็นครูสอนหนังสือไทย อาจารย์สีหาซึ่งเป็นฆราวาสเป็นครูสอนมูลกัจจายน์ พระเจริญราชเดช (อุ่น) ได้ส่งบุตรคือท้าวหล้าและท้าวฝั่นมาเรียนหนังสือไทยและมูลกัจจายน์ที่วัดนี้ ต่อมาได้เปิดสอนโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๔ และทำการสอนมาถึงปัจจุบัน[16]

สร้างพระเจดีย์บรรจุอัฐิเจ้าเมืององค์แรก[แก้]

เมื่อครั้งพระเจริญราชเดช (อุ่น) ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองมหาสารคามได้ร่วมกับยาแม่ศรีสุมาลย์ (ศรี) ภริยา ก่อสร้างธาตุบรรจุอัฐิพระเจริญราชเดช (กวด) ผู้สร้างเมืองมหาสารคามซึ่งมีลำดับศักดิ์เป็นลุงของตนและบิดาของภริยา พร้อมทั้งสร้างธาตุบรรจุอัฐิยาแม่โซ่นแดงภริยาของพระเจริญราชเดช (กวด) ซึ่งมีลำดับศักดิ์เป็นป้าของตนและมารดาของภริยา ไว้คู่กันภายในวัดอุทัยทิศ เป็นธาตุมียอดทรงน้ำเต้าหรือบัวเหลี่ยมศิลปะลาวล้านช้าง ตัวเรือนทรงสี่เหลี่ยมมีฐานแอวขันทั้ง ๒ องค์ องค์ใหญ่บรรจุอัฐิพระเจริญราชเดช (กวด) องค์เล็กบรรจุอัฐิของยาแม่โซ่นแดง ทั้ง ๒ องค์ตั้งบนฐานบัลลังก์หรือแอวขันร่วมฐานเดียวกัน[17]

พระราชทานนามสกุล[แก้]

รัชกาลที่ ๖ มีพระบรมราชโองการประกาศพระราชทานนนามสกุลครั้งที่ ๑๕ แก่ทายาทบุตรหลานผู้สืบสกุลมาแต่เจ้านายผู้ปกครองเมืองมหาสารคามและเมืองวาปีปทุมว่า ภวภูตานนท์ ลำดับสกุลพระราชทานเลขที่ ๑๒๑๘ เขียนเป็นอักษรโรมันว่า Bhavabhutananda โดยพระราชทานแก่พระเจริญราชเดช (อุ่น) กรมการพิเศษเมืองมหาสารคาม มณฑลร้อยเอ็จ อดีตเจ้าเมืองวาปีปทุมองค์สุดท้ายและผู้ว่าราชการเมืองมหาสารคามคนแรก ทวดชื่อราชวงษ์ (หล้า) ปู่ชื่ออุปฮาด (ภู) ๓๐/๓/๑๓ ต่อมาโปรดฯ ให้เติม ณ มหาสารคาม ต่อท้ายสกุล เขียนเป็นอักษรโรมันว่า na Mahasaragama เมื่อ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๒ เป็น ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม เขียนเป็นอักษรโรมันว่า Bhavabhutananda na Mahasaragama[18] คำว่า ภว แปลว่า ความเกิด ความมี ความเป็น คำว่า ภูตา มาจากนามอุปฮาด (ภู) ปู่ของพระเจริญราชเดช (อุ่น) คำว่า นนท์ แปลว่า ลูกชาย บุตร ดังนั้นภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม จึงหมายถึงผู้เกิดแต่บุตรชายของอุปฮาด (ภู) แห่งเมืองมหาสารคาม [19]

การเลื่อนตำแหน่ง[แก้]

บรรดาศักดิ์[แก้]

  • ท้าวอุ่น
  • ท้าวโพธิสาร
  • พระพิทักษ์นรากร
  • พระเจริญราชเดช

ตำแหน่ง[แก้]

อนิจกรรม[แก้]

พระเจริญราชเดช (อุ่น) ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๑ หลังปฏิรูปการเมืองการปกครองเป็นมณฑลเทศาภิบาล ๑๘ ปี สิริรวมอายุ ๖๑ ปี รับราชการมาด้วยความสงบเรียบร้อย ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองวาปีปทุมรวม ๒๐ ปี ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองมหาสารคามรวม ๑๒ ปี

เครื่องใช้ส่วนตัวในพิพิธภัณฑ์เมืองมหาสารคาม[แก้]

นายบุญช่วย อัตถากร ทายาทของยานางแก้วประภา ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม กับนายทองดี อัตถากร ได้นำวัตถุสิ่งของเครื่องใช้มีค่าของพระเจริญราชเดช (อุ่น) มามอบแก่พิพิธภัณฑ์เป็นจำนวนหลายชิ้น วัตถุซึ่งทราบที่มาชัดเจนว่าเป็นของพระเจริญราชเดช (อุ่น) มี ๔ ชิ้นดังนี้

๑. กาน้ำ (เลขวัตถุ ๘/๒๕๕๔) ทำจากดินเผาศิลปะจีน หูหิ้วและปากทำจากทองเหลือง ใต้กาประทับตรามังกรสัญลักษณ์ความเป็นขัติยวงศ์ สภาพชำรุด

๒. ผ้าส่านไหม (เลขวัตถุ ๙/๒๕๕๔) สร้างจากไหมเนื้อดีปักลายด้วยดิ้นเงินดิ้นคำ (ดิ้นทอง) สภาพสมบูรณ์

๓. พานเตี้ย (เลขวัตถุ ๑๐/๒๕๕๔) เป็นพานทรงเตี้ยปากผายวัสดุทองเหลือง มี ๔ เท้าขอบเกลียวตอกหมุด สภาพสมบูรณ

๔. พาเหวย (เลขวัตถุ ๑๑/๒๕๕๔) เป็นสำรับหรือภาชนะเสวยของเจ้าเมือง วัสดุทองเหลืองไม่มีเท้า ฝาและตัวสำรับตอกลายดอกไม้ เดิมมีหูจับแต่แตกหักไป สภาพชำรุด[20]

พงศาวลี[แก้]

พงศาวลีพระเจริญราชเดช (อุ่น)[แก้]

พงศาวลีอาชญาแม่ศรีสุมาลย์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-02-08. สืบค้นเมื่อ 2016-05-23.
  2. http://district.cdd.go.th/suwannaphum/about-us/%E0%B8%9B%[ลิงก์เสีย]
  3. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-06-30. สืบค้นเมื่อ 2016-05-23.
  4. เติม วิภาคย์พจนกิจ, ประวัติศาสตร์อีสาน, พิมพ์ครั้งที่ ๔, (กรุงเทพ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๔๖), หน้า ๑๘๑.
  5. http://www.komchadluek.net/detail/20100716/66681/
  6. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-06-30. สืบค้นเมื่อ 2016-05-23.
  7. https://www.gotoknow.org/posts/12238
  8. ประกาศพระราชทานนามสกุล ครั้งที่ ๑๕ (ลำดับที่ ๑๑๘๓ ถึงลำดับที่ ๑๒๒๑ และแก้ไขนามสกุล ลำดับที่ ๑๐๘๘)
  9. เติม วิภาคย์พจนกิจ, ประวัติศาสตร์อีสาน, พิมพ์ครั้งที่ ๔, (กรุงเทพ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๔๖), หน้า ๑๘๓.
  10. https://www.facebook.com/478625885636421/photos/pb.478625885636421.-2207520000.1462919354./559279004237775/?type=3&theater
  11. http://musemmangmaha.blogspot.com/2012/01/2470-2503.html
  12. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-04-29. สืบค้นเมื่อ 2016-05-22.
  13. เวทย์-ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม, เอกราชเมื่อต้นตระกูลภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม นำชาวจังหวัดมหาสารคาม รบฝรั่งเศส : พิมพ์เป็นบรรณาการคราวอายุครบ ๗๒ ปี ของเรือโทเวทย์-ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม พ.ศ. ๒๕๑๙, (ม.ป.ท. : ม.ป.พ., ๒๕๑๙), หน้า ๓-๔.
  14. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-09-30. สืบค้นเมื่อ 2016-05-23.
  15. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-01-12. สืบค้นเมื่อ 2016-05-23.
  16. http://www.m-culture.in.th/album/127830/
  17. http://www.m-culture.in.th/album/127833
  18. https://sites.google.com/site/thailandsurname/home/-ph-2
  19. http://www.reurnthai.com/index.php?topic=4776.120
  20. http://www.itrmu.net/web/02rs4/show-webcontent.php?cat_id=2&mid=24[ลิงก์เสีย]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ก่อนหน้า พระเจริญราชเดช (อุ่น ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม) ถัดไป
อุปฮาด (เถื่อน รักษิกจันทร์)
เจ้าเมืองมหาสารคาม,
ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม

(2444-2455)
หม่อมเจ้านพมาศ นวรัตน์