พระอาจารย์ตั๊กฮี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก พระอาจารย์เจ้าตั๊กฮี้)

พระอาจารย์ตั๊กฮี้ เกิดในตระกูลลี้ เป็นชาวมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน อาชีพเดิมเป็นชาวนา สกุลของท่านมีอัธยาศัยใฝ่ทางสร้างบุญกุศล ท่านถือมังสวิรัติไม่รับประทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์มาตั้งแต่วัยหนุ่ม ชอบสวดมนต์ต์ต์ต์ไหว้พระและเลี้ยงพระเป็นอาจิณ นิยมสร้างกุศลสิ่งสาธารณประโยชน์ อาทิเช่น สร้างสะพาน การเก็บศพของคนยากไร้อนาถ

ในตอนปลายสมัยแผ่นดินราชวงศ์เช็ง ท่านได้เดินทางมายังประเทศไทย ได้พักอยู่ ณ โรงเจตงฮั้วตึ๊ง ของลัทธิเต๋า และได้ปฏิบัติศึกษาธรรมตามลัทธินี้ จนได้รับตำแหน่งหัวหน้าคณะ ต่อมาท่านได้ศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกทางพระพุทธศาสนานิกายมหายาน ท่านได้เห็นหลักสัจธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนา ซึ่งมีอุดมคติคือสำเร็จพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ส่วนลัทธิเต๋านั้นมีอุดมคติเพื่อสำเร็จเป็นเซียน คือเทพเจ้าเท่านั้น ต่อมาท่านอาจารย์ตั๊กฮี้ จึงได้ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าคณะทางลัทธิเต๋า แล้วเดินทางไปขอบรรพชาในสำนักพระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร(กวยหงอ) ซึ่งเป็นอดีตเจ้าคณะใหญ่จีนนิกายรูปที่ ๒ วัดมังกรกมลาวาส จ.กรุงเทพ

ครั้นญาติพี่น้องในเมืองไทยของท่านทราบว่าได้ออกบวชที่ประเทศไทย จึงได้ส่งข่าวให้ภรรยาของท่านที่เมืองจีนทราบ ภรรยาของท่านจึงได้เดินทางมาเมืองไทยเพื่ออ้อนวอนร้องขอนิมนต์ท่านกลับมาตุภูมิ ท่านทนการอ้อนวอนไม่ได้จึงจำต้องกลับสู่มาตุภูมิ แต่ท่านก็ไม่หวั่นไหวด้วยโลกธรรมใดๆ แต่กลับเพิ่มทวีการบำเพ็ญสมณธรรมอย่างเคร่งครัด โดยบำเพ็ญภาวนาในคอกโค สมาทานธุดงควัตรต่างๆ เพื่อให้สำเร็จเป็นตบะธรรมเผากิเลส

ฝ่ายภรรยาของท่านนั้นมักมากวนท่านอยู่เนืองๆ เช่น จัดอาหารถวายท่านแต่ได้แทรกชิ้นเนื้อสัตว์ในอาหารชนิดนั้นด้วย โดยหวังจะให้ท่านเลิกมังสวิรัติ แต่ท่านก็เลือกฉันเฉพาะที่พวกเป็นพืชผัก บางคราวก็ถึงกับยอมอดฉันแต่กากใบชาแทน ด้วยอานุภาพแห่งสมาธิภาวนาและสัจจะที่แรงกล้าของท่าน ทำให้ท่านมีวรรณะผุดผ่องใครที่เข้าใกล้ก็ได้รสธรรมจากท่านด้วย จนภรรยาของท่านได้สติจึงได้กราบขมาโทษจากท่านและขอบำเพ็ญพรตถือศีลกินเจตามท่านด้วย ครั้นเมื่อท่านได้เดินทางกลับสู่ประเทศไทย เพื่อบำเพ็ญสมณธรรม พระอาจารย์กวยหงอ เห็นความเคร่งครัดของท่าน จึงได้มอบหมายให้ท่านเป็นผู้แสดงธรรมแก่สาธุชนทั้งชาวไทย-ชาวจีน ประจำ ณ สำนักเต๊กฮวยตึ๊ง จังหวัดเพชรบุรี

ต่อมาพระอาจารย์ตั๊กฮี้ ได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดจีนประชาสโมสร (เล่งฮกยี่) และนับเป็นอดีตเจ้าอาวาสรูปที่ ๓ ณ ที่วัดแห่งนี้ท่านอาจารย์ได้รับศิษยานุศิษย์เพื่อบรรพชาจำนวนกว่า ๓๐ รูป และมีศิษย์ที่สำคัญรูปหนึ่งฉายา “เซี่ยงหงี” ต่อมาท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร เป็นอดีตเจ้าคณะใหญ่จีนนิกายรูปที่ ๕ พระอาจารย์ตั๊กฮี้ได้ครองวัดอยู่ระยะหนึ่ง จึงออกจาริกแสดงธรรมโปรดชาวพุทธตามจังหวัดต่างๆ เรื่อยมาจนถึงจึงหวัดชลบุรี

พุทธศาสนิกชนต่างพากันเลื่อมใสปฏิปทาวัตรปฏิบัติของท่าน ในครั้งนั้นมีทายกทายิกาผู้ใจบุญหลายคนได้ถวายที่ดิน เช่น นางถั่ง, นายเผือด, นางถมยา เพื่อให้ท่านได้สร้างวัดเพื่อจำพรรษา และตั้งชื่อเป็นภาษาจีนว่าวัด “เซียนฮุดยี่” ต่อมาจึงตั้งชื่อเป็นภาษาไทยว่า “วัดเทพพุทธาราม” โดยมีเหตุผลของการตั้งชื่อวัดนี้ เพื่อเป็นอนุสรณ์ว่าเดิมก่อนที่ท่านจะบวชได้ถือลัทธิเต๋า ซึ่งมีอุดมคติสำเร็จเป็นเซียนหรือเทพเจ้า และต่อมาท่านได้บรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา ซึ่งมีอุดมคติสำเร็จพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ท่านจึงนำชื่อมาผสมกันว่าวัด “เซียนฮุดยี่ หรือ วัดเทพพุทธาราม” นั้นเอง ส่วนทางวัดจีนประชาสโมสร จังหวัดฉะเชิงเทรานั้น ท่านได้มอบหมายให้พระอาจารย์เซี่ยงหงี ซึ่งเป็นศิษย์ให้ดูแลต่อมาจึงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส ท่านมีเมตตากรุณาต่อคนยากจนเข็ญใจไร้ที่พึ่ง และอนุเคราะห์ให้ได้รับความสุขตามยถาพลังบ้างก็เจ็บไข้ ท่านก็ช่วยนำตัวไปรักษาตามโรงพยาบาลให้หาย คนเหล่านี้บางคนก็ได้ออกบวช บ้างก็ถวายตัวเป็นศิษย์ก็มี ท่านได้ตรากตรำบำเพ็ญศาสนกิจในพระพุทธศาสนาโดยมิเห็นแก่ความเหนื่อยยาก ต่อมาท่านล้มเจ็บลงด้วยความชราภาพ บรรดาศิษยานุศิษย์จึงนิมนต์ท่านไปพักรักษาตัว ณ วัดจีนประชาสโมสร(เล่งฮกยี่) จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยอย่างยิ่ง ก่อนหน้าจะถึงกาลมรณะ ท่านกำหนดรู้เวลาดับขันธ์ของท่านเอง จึงได้ลุกขึ้นนั่งเข้าสมาบัติมีสติสัมปัชชัญญะตั้งอยู่ในอารมณ์พระกัมมัฏฐาน แล้วกระทำกาลกิริยาลงด้วยอาการสงบ ด้วยอานุภาพของสมาธิพละที่อบรมปฏิบัติมา ยังให้สรีระสังขารของท่านมิได้เน่าเปื่อยผุพังอย่างน่าอัศจรรย์ เป็นที่สักการบูชาของบรรดาศิษย์และพุทธศาสนิกชนที่มีความเลื่อมใสในตัวท่าน หลังจากเมื่อท่านดับขันธฺแล้ว พระอาจารย์เซี่ยงหงีผู้เป็นศิษย์ได้ดูแลวัดแทน โดยมีพระภิกษุเซี่ยงกุ่ย เซี่ยงอี่ มาดูแลชั่วคราว ต่อมาผู้รักษาการวัดก็ขอลาออกจากตำแหน่ง วัดจึงได้เสื่อมโทรมลงไปชั่วขณะหนึ่ง