พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ
พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น 4
พระองค์เจ้าชั้นเอก
ประสูติ22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2400
สิ้นพระชนม์29 มีนาคม พ.ศ. 2417 (17 ปี)
พระบุตรหม่อมเจ้าชาย (ไม่ปรากฏพระนาม)
ราชวงศ์จักรี
พระบิดาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระมารดาสมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา

นายร้อยตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย (22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2400 – 29 มีนาคม พ.ศ. 2417) เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา เป็นพระโสทรเชษฐาในสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี, สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า, สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และเป็นพระมาตุลาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระประวัติ[แก้]

พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย (ขวาสุด) ทรงฉายพร้อมกับพระโสทรอนุชาและพระโสทรกนิษฐภคินี คือ (จากซ้าย) พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา, พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์, พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ เดือน 3 แรม 13 ค่ำ ปีมะโรง อัฐศก จุลศักราช 1218 ตรงกับวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2399 (แบบสากลคือ พ.ศ. 2400) เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ที่ประสูติแต่สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา (เจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยม) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระนาม อุณากรรณ เนื่องจากเมื่อเจ้าจอมมารดาเปี่ยมเข้ามาอยู่ในวัง ได้เล่นละครเรื่องอิเหนาเป็นตัวอุณากรรณ (นางบุษบาปลอมตัวเป็นชาย)[1] พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย มีพระโสทรกนิษฐภคินีและพระโสทรอนุชารวม 5 พระองค์ ได้แก่

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงซื้อที่ดินบริเวณต้นถนนเจริญกรุง เพื่อสร้างวังพระราชทานแก่พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย แต่เสด็จสวรรคตเสียก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชยเสด็จไปประทับที่วังเก่าของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูบดีราชหฤทัย อยู่ริมแม่น้ำใกล้กับป้อมมหาฤกษ์ บริเวณโรงเรียนราชินี และสร้างวังใหม่ให้บนที่ดินพระราชทาน เมื่อปี พ.ศ. 2413 เรียกกันว่าวังสะพานถ่าน พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชยประทับอยู่ที่วังนี้ไม่นานก็สิ้นพระชนม์ และวังนี้ตกทอดมาสู่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เมื่อพระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ทรงย้ายไปประทับที่วังเทวะเวสม์ ในสมัยรัชกาลที่ 6 วังนี้ได้อยู่ในความดูแลของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และได้รื้อวังสร้างเป็นตลาดขายอาหาร ชื่อว่า ตลาดบำเพ็ญบุญ และเป็นโรงเรือนให้เช่าแสดงมหรสพ (ปัจจุบันคือ ศูนย์การค้าดิโอลด์สยามพลาซา)[2]

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย ทรงรับราชการเป็นนายร้อยตรีทหารมหาดเล็ก สิ้นพระชนม์เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 5 ขึ้น 12 ค่ำ ปีระกา เบญจศก จุลศักราช 1235 ตรงกับวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2416 (แบบสากลคือ พ.ศ. 2417) สิริพระชันษา 17 ปี

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชยมีพระโอรส 1 องค์ คือ

  • หม่อมเจ้าชาย (ไม่ปรากฏพระนาม) ประสูติเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2416 และสิ้นชีพิตักษัยเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2417 ขณะชันษาเพียง 1 ปี

ด้วยเหตุนี้ เมื่อครั้งสมัยรัชกาลที่ 6 ที่มีการพระราชทานนามสกุลแก่พระราชวงศ์ จึงไม่มีการพระราชทานนามสกุลให้กับสายสกุลของพระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย เนื่องจากไม่มีผู้ที่สืบสกุลหลงเหลือแล้ว

พระเกียรติยศ[แก้]

ธรรมเนียมพระยศของ
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย
การทูลใต้ฝ่าพระบาท
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับพ่ะย่ะค่ะ/เพคะ

พระอิสริยยศ[แก้]

  • 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2400 – 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 : พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย
  • 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 – 29 มีนาคม พ.ศ. 2416 : พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย
  • 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 : พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย

พระยศ[แก้]

นายร้อยตรี
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย
รับใช้กรมทหารมหาดเล็ก
ชั้นยศ ร้อยตรี

พระยศทหาร[แก้]

  • นายร้อยตรี

พงศาวลี[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. วังเจ้านาย เก็บถาวร 2007-09-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, นิตยสารสกุลไทย ฉบับที่ 2440 ปีที่ 47 ประจำวัน อังคาร ที่ 24 กรกฎาคม 2544
  2. นิตยสารสกุลไทยตอบจดหมาย เก็บถาวร 2007-09-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, นิตยสารสกุลไทย ฉบับที่ 2441 ปีที่ 47 ประจำวันอังคารที่ 31 กรกฎาคม 2544

หนังสือ[แก้]

  • Jeffy Finestone , แปลโดยชาคริต ชุ่มวัฒนะ. สมุดพระรูปพระราชโอรส พระราชธิดาและพระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4). กรุงเทพ : โลมาโฮลดิ้ง, พ.ศ. 2543. หน้า หน้าที่. ISBN 974-871-488-2 ข้อผิดพลาดพารามิเตอร์ใน {{ISBN}}: checksum
  • บรรเจิด อินทุจันทร์ยง. ราชสกุลพระบรมราชวงศ์จักรี. กรุงเทพ : องค์การค้าของคุรุสภา, พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2539. หน้า หน้าที่. ISBN 974-005-650-8 ข้อผิดพลาดพารามิเตอร์ใน {{ISBN}}: checksum