พระสาโรชรัตนนิมมานก์ (สาโรช สุขยางค์)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระสาโรชรัตนนิมมานก์
(สาโรช ร. สุขยางค์)
เกิด12 สิงหาคม พ.ศ. 2438
ท่าเตียน, จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม
เสียชีวิต4 เมษายน พ.ศ. 2493 (55 ปี)
ตึกมหิดลวรานุสรณ์ โรงพยาบาลศิริราช, เขตบางกอกน้อย, จังหวัดพระนคร ประเทศไทย
สัญชาติ ไทย
ศิษย์เก่า
ผลงานสำคัญ

พระสาโรชรัตนนิมมานก์ (สาโรช ร. สุขยางค์) (เกิด 12 สิงหาคม พ.ศ. 2438[1] ถึงแก่กรรม 4 เมษายน พ.ศ. 2493) เป็นสถาปนิกชาวไทย อดีตรองอธิบดีกรมศิลปากร พระสาโรชฯ ถือเป็นหนึ่งในนักเรียนสถาปัตยกรรมศาสตร์รุ่นแรกๆ ของไทยที่จบการศึกษาจากประเทศอังกฤษ แล้วกลับเข้ามาออกแบบงานสถาปัตยกรรมในประเทศไทยหลายแห่ง ในช่วงตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 7 ถึงหลังยุคการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 เขายังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมป์ เมือปี พ.ศ. 2477 โดยดำรงตำแหน่งนายกสมาคมฯ เป็นคนแรก[2] และยังเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนประณีตศิลปกรรม ที่ต่อมาพัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร

พระสาโรชรัตนนิมมานก์ได้ออกแบบงานสถาปัตยกรรมสมัยใหม่และสไตล์อลังการศิลป์ (Art Deco) หลายแห่งในไทยทั้ง อาคารที่ทำการกรมไปรษณีย์โทรเลข (อาคารไปรษณีย์กลาง) บางรัก, วังวาริชเวสม์, หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กรีฑาสถานแห่งชาติ (สนามศุภชลาศัย) กลุ่มอาคารที่ทำการกระทรวงยุติธรรม รวมไปถึงอาคารเรียนหลายหลังในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, วชิราวุธวิทยาลัย, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และ โรงพยาบาลศิริราช

ประวัติ[แก้]

พระสาโรชรัตนนิมมานก์ (สาโรช ร. สุขยางค์) สกุลเดิม สุภัง[1] เป็นบุตรชายคนเล็กของหลวงพัฒนพงศ์ภักดี (ทิม สุขยางค์) ผู้ประพันธ์กลอนนิราศเรื่อง นิราศหนองคาย กับนางเสงี่ยม ท่านมีพี่ชาย 1 คน คือ มหาอำมาตย์โท พระยาสารศาสตร์สิริลักษณ์ (สรรเสริญ สุขยางค์) ผู้ปฏิบัติราชการในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์คมนาคม

พระสาโรชรัตนนิมมานก์ ศึกษาระดับชั้นประถมที่โรงเรียนกล่อมพิยาคาร วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ระดับชั้นมัธยมที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ และจบการศึกษาจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2453[3] ได้รับพระราชทานทุนเล่าเรียนหลวงของกระทรวงธรรมการให้ออกไปศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ ในวิชาสถาปัตยกรรม โดยเข้าศึกษาระดับเตรียมอุดมศึกษาที่โรงเรียนเอาน์เดิล เป็นเวลา 2 ปี และได้สำเร็จการศึกษาวิชาสถาปัตยกรรมศาลตร์ และการวางผังเมืองมาจากมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล[4] ประเทศอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ. 2463[3] ใช้เวลาในหลักสูตร 5 ปี

หลังศึกษาจบ เข้ารับราชการในกรมศิลปากร สังกัดกระทรวงธรรมการ ตั้งแต่ พ.ศ. 2463 ในตำแหน่งสถาปนิก ได้มีผลงานออกแบบจำนวนมาก ตลอดช่วงการทำงาน โดยเฉพาะการออกแบบอาคารในหน่วยงานราชการหลากหลายประเภทอาคาร ทั้งอาคารเรียน อาคารที่ทำการ อาคารศาล อาคารโรงพยาบาล ไปจนถึงอาคารหอประชุม และสนามกีฬาขนาดใหญ่ ที่มีการผนวกแนวความคิดสมัยใหม่ รูปแบบสถาปัตยกรรมที่มีความหลากหลาย การวางผังที่สอดรับกับบริบทแวดล้อม ทั้งเชิงการใช้งานอาคาร ลักษณะภูมิประเทศ ภูมิอากาศ รวมไปถึงการออกแบบโครงสร้างคอนกรีต พระสาโรชรัตนนิมมานก์ได้รับการแต่งตั้งเป็นสถาปนิกชั้นพิเศษ ระดับเทียบเท่าอธิบดี ในปี พ.ศ. 2485[5] ถือเป็นตำแหน่งทางราชการสูงสุดที่ได้รับ จนกระทั่งได้ลาออกจากราชการในปี พ.ศ. 2491 และเสียชีวิตเมื่อ พ.ศ. 2493[3]

ผลงานออกแบบสถาปัตยกรรม[แก้]

  • อาคารมานุษยนาควิทยาทาน วัดบวรนิเวศวิหาร
  • อาคารนิภานภดล โรงเรียนเทพศิรินทร์
  • อาคารมาลินี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
  • อาคารวชิรมงกุฎ โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย
  • อาคารพยาบาล โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย (ปัจจุบัน หอประวัติ โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย)
  • อาคารหอประชุม โรงเรียนมัธยมบ้านสมเด็จ (ปัจจุบัน วิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา)
  • โรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวช (ปัจจุบัน พิพิธบางลำพู)
  • วังวาริชเวสม์
  • อาคารที่ทำารกรมไปรษณีย์โทรเลข (ปัจจุบัน อาคารไปรษณีย์กลาง)
  • ศาลแขวงเชียงใหม่ (ปัจจุบัน พิพิธภัณฑ์พื้นทถิ่นล้านนา จังหวัดเชียงใหม่)
  • ศาลแขวงสงขลา
  • กรีฑาสถานแห่งชาติ (ปัจจุบัน สนามศุภชลาศัย)
  • ศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
  • กลุ่มอาคารที่ทำการกระทรวงยุติธรรม
  • โรงแรมรัตนโกสินทร์ ถนนราชดำเนิน

อาคารในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[แก้]

  • ผังแม่บทจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ตึกวิทยาศาสตร์ (ตึกชีววิทยา 1 หรือ ตึกขาว)
  • อาคารจักรพงษ์
  • ตึกวิศวกรรมศาสตร์ 1 (ตึกแดง)
  • ตึกฟิสิกส์ 1
  • อาคารเคมี 1 (ปัจจุบัน อาคารศิลปวัฒนธรรม)
  • หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ตึกวิศวกรรมศาสตร์ 2
  • อาคารเภสัชกรรมศาสตร์ 1 (ปัจจุบัน อาคารศิลปกรรมศาสตร์ 1)

อาคารในโรงพยาบาลศิริราช[แก้]

  • อาคารพยาธิวิทยา
  • อาคารอำนวยการคณะแพทยศาสตร์
  • อาคารกายวิภาคและสรีรวิทยา
  • อาคารศัลยกรรมชาย (อาคารมหิดลบำเพ็ญ)
  • อาคารอายุรกรรม (อาคารอัษฎางค์)
  • อาคารนรีเวชกรรม (อาคารตรีเพชร)
  • อาคารสูติกรรม (อาคารจุฑาธุช)
  • อาคารศัลยกรรมหญิง
  • อาคารหอพักนักศึกษาแพทย์ชาย
  • อาคารอายุกรรมพิเศษ (อาคารมหิดลวรานุสรณ์)
  • อาคารหอนอนพยาบาล

ระเบียงภาพ[แก้]

แหล่งค้นคว้าเพิ่มเติม[แก้]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, ศธ 21.1/177
  2. ประวัติสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์
  3. 3.0 3.1 3.2 หนังสืองานพระราชทานเพลิงศพ พระสาโรชรัตนนิมมานก์ (สาโรช ร. สุขยางค์)
  4. พระสาโรชรัตนนิมมานก์[ลิงก์เสีย]
  5. หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, ศธ0701.2.2/71
  6. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้ส่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไปพระราชทาน เก็บถาวร 2022-10-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๕๗ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๑๕๘, ๗ ตุลาคม ๒๔๘๓
  7. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-08-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๕๔ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๑๖๘๓, ๑๒ พฤศจิกายน ๒๔๘๐
  8. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-06-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๔๑ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๕๖๕, ๑ มกราคม ๒๔๖๗