พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัชรีวงษ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัชรีวงษ์
พระวรวงศ์เธอ ชั้น 2
พระองค์เจ้าชั้นตรี
ไฟล์:พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัชรีวงศ์.jpg
ประสูติพ.ศ. 2387
สิ้นพระชนม์26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2444 (57 ปี)
พระบุตรพระยาพิศาสสรเดช (หม่อมราชวงศ์อรุณ)
หลวงราชพงศ์ภักดี (หม่อมราชวงศ์เลี่ยม)
หม่อมราชวงศ์แสร์
หม่อมราชวงศ์สงวน
ราชวงศ์จักรี
ราชสกุลวัชรีวงศ์
พระบิดาพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระเทเวศร์วัชรินทร์

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัชรีวงศ์ (พ.ศ. 2387 – 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2444) พระนามเดิม หม่อมเจ้าขาว เป็นพระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระเทเวศร์วัชรินทร์ และเป็นพระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

พระประวัติ[แก้]

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัชรีวงศ์ ประสูติเมื่อ พ.ศ. 2387 เป็นพระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระเทเวศร์วัชรินทร์

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 หม่อมเจ้าขาว ได้รับราชการในตำแหน่งตุลาการศาลราชตระกูล และเป็นผู้ฉลองราชการในศาล แทนพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระเทเวศร์วัชรินทร์

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เป็นผู้กำกับศาลมรดก และตุลาการศาลฎีกา จนกระทั่งได้เป็นผู้ช่วยอธิบดีศาลฎีกา และเป็นผู้แทนอธิบดีในศาลฎีกา หลังจากนั้นได้เป็นข้าหลวงออกไปชำระความความผู้ร้ายและความต่างประเทศ ณ เมืองจันทุบรี สำเร็จได้ตามพระราชประสงค์ แล้วได้รับตำแหน่งผู้ชำระความในกระทรวงนครบาล ภายหลังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ได้ทรงบัญชาการในตำแหน่งโดยความวิริยสุขุมคัมภีรภาพ สามารถอาจหาญ ในการที่จะพิจารณาพิพากษาอรรถคดีทั้งปวง ชำนิชำนาญในพระราชกำหนดกฎหมาย ด้วยเหตุนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระยศเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัชรีวงศ์ เมื่อปีมะแม พ.ศ. 2438[1]

ในปี พ.ศ. 2435 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น องคมนตรี[2]

ครั้งหนึ่ง พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัชรีวงศ์ ได้ตามเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงทราบถึงประเพณีการร้องเพลงบอกบุญเป็นภาษามอญ จึงได้ทรงริเริ่มนิพนธ์เนื้อเพลงบอกบุญเป็นภาษาไทย เพื่อจะได้ร้องบอกบุญแก่คนไทยได้ด้วย ส่วนทำนองร้องยังคงเดิม ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเพลงบอกบุญของชาวไทยรามัญก็ได้มีเนื้อเพลงเป็นภาษาไทย และมีชื่อว่า เพลงเจ้าขาว ตามพระนามเดิมของพระองค์[3]

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัชรีวงศ์ ประชวรโรคเรื้อรังสิ้นพระชนม์เมื่อเวลา 15.36 น. ของวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2444[4] พระราชทานเพลิงพระศพ ณ วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2445 พร้อมกับพระศพของหม่อมเจ้าประภากร มาลากุล[5]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. ประกาศสถาปนาพระเจ้าน้องยาเธอ พระวรวงศ์เธอเป็นต่างกรม แลสถาปนาหม่อมเจ้าเป็นพระองค์เจ้า แลเลื่อนตำแหน่งยศข้าราชการผู้ใหญ่เป็นเจ้าพระยา [http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2439/001/16.PDFราชกิจจานุเบกษา เล่ม 13]
  2. การพระราชพิธีศรีสัจปานกาลพระราชทานพระไชยวัฒน์องค์เล็ก และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ แลตั้งองคมนตรี ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 19 หน้า 201
  3. ข้อมูลทั่วไปและอัตลักษณ์ของจังหวัดปทุมธานี
  4. "ข่าวสิ้นพระชนม์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 18 (48): 912. 2 มีนาคม 2444.
  5. "การเมรุวัดเทพศิรินทราวาศ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 19 (51): 993. 8 มีนาคม 2445.
  6. ถวายบังคมพระบรมรูป แลพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2019-05-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 10 หน้า 368
  7. พระราชทานเหรียญจักรพรรดิมาลา เก็บถาวร 2018-02-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 17 หน้า 349 วันที่ 7 ตุลาคม ร.ศ.119
  • ศุภวัฒย์ เกษมศรี, พลตรี หม่อมราชวงศ์, และรัชนี ทรัพย์วิจิตร. พระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าในพระราชวงศ์จักรี. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์บรรณกิจ, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2549. 360 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-221-818-8
  • บรรเจิด อินทุจันทร์ยง. ราชสกุลพระบรมราชวงศ์จักรี. กรุงเทพ : องค์การค้าของคุรุสภา, พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2539. หน้า หน้าที่. ISBN 974-005-650-8 ข้อผิดพลาดพารามิเตอร์ใน {{ISBN}}: checksum