พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ
พระวรวงศ์เธอ ชั้น 1
พระองค์เจ้าชั้นตรี
ประสูติพ.ศ. 2361
สิ้นพระชนม์9 ตุลาคม พ.ศ. 2428
ราชวงศ์จักรี
พระบิดาพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นณรงค์หริรักษ์

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ (พ.ศ. 2361 — 9 ตุลาคม พ.ศ. 2428) มีพระนามเดิมว่า หม่อมเจ้าดิศ เป็นพระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นณรงค์หริรักษ์ เป็นผู้ปั้นหล่อพระสยามเทวาธิราช และพระบรมรูปรัชกาลที่ 1 - 4 ที่ประดิษฐานอยู่ในปราสาทพระเทพบิดร

ผลงานที่สำคัญ[แก้]

เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริสร้างรูปเทพยดาที่ศักดิ์สิทธิ์คอยอภิบาลรักษาสยามประเทศให้รอดพ้นภยันตรายต่าง ๆ และเป็นที่เคารพสักการะของชนชาวสยาม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ ซึ่งเป็นช่างเอกในสมัยนั้นปั้นหล่อขึ้น ถวายพระนามว่าพระสยามเทวาธิราช ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งทรงธรรมในหมู่พระมหามณเฑียร ในพระอภิเนาว์นิเวศน์

ในตอนต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้พระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการ ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมช่างสิบหมู่ โดยมีผลงานสำคัญคือเป็นช่างปั้นหล่อ พระบรมรูปรัชกาลที่ 1 - 3 ส่วนพระบรมรูปรัชกาลที่ 4 นั้น มีแบบมาแต่ครั้งรัชกาลที่ 4 อยู่แล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ช่างปั้น คือ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ แก้ไขส่วนบกพร่อง แล้วหล่อในบริเวณวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตามความตอนหนึ่งในหนังสือ 'ความทรงจำ' พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ตอนที่ 4 เรื่องเริ่มรัชกาลที่ 5 พ.ศ. 2412 – 2413 ว่า

.....พระบรมรูป ๔ พระองค์นั้นโปรดฯ ให้พระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการอธิบดีกรมช่างสิบหมู่ และเป็นช่างอย่างดีในพระองค์เองด้วย เป็นผู้อำนวยการเมื่อปั้นหุ่นนั้นรู้พระลักษณะแน่ชัดแต่ขนาดพระองค์ว่าสูงเท่าใด เพราะมีพระพุทธรูปฉลองพระองค์อยู่เป็นหลัก แต่ส่วนพระรูปโฉมนั้นนอกจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีพระบรมรูปปั้นอยู่แล้ว ต้องอาศัยไต่ถามผู้ที่เคยได้เห็นพระองค์ให้บอกพระลักษณะและคอยติให้ช่างแก้ไขไปแต่แรกจนแล้ว ก็ในเวลานั้นผู้ที่เคยเห็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวยังมีอยู่มาก แต่ผู้เคยเห็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก หาได้แต่ ๔ คน คือ พระองค์เจ้าหญิงปุก พระราชธิดาในรัชกาลที่ ๒ พระองค์ ๑ , สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆัง องค์ ๑ , เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (บุญศรี) คน ๑ , กับเจ้าพระยาธรรมาฯ (ลมั่ง สนธิรัตน) คน ๑ ปั้นพระบรมรูปสำเร็จได้หล่อเมื่อเดือนอ้าย ปีมะแม พ.ศ. ๒๔๑๔ แล้วโปรดฯ ให้ประดิษฐานไว้ที่ในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในชั้นแรก.....

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หล่อจากสำริด โดยสั่งทำจากประเทศฝรั่งเศส และให้ย้ายพระบรมรูปทั้ง 5 รัชกาลมาประดิษฐานในปราสาทพระเทพบิดร และโปรดเกล้าฯให้มีการถวายสักการะเป็นประจำทุกปี

นอกจากนี้พระองค์เจ้าประดิษฐวรการยังเป็นผู้ออกแบบ "พระพุทธนฤมลธรรโมภาส" ซึ่งเป็นพระประธานภายในพระอุโบสถของวัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร อีกด้วย

พระองค์เจ้าประดิษฐวรการเริ่มประชวรมาตั้งแต่วันที่ 19 – 20 สิงหาคม พ.ศ. 2427 หมอวินิจฉัยว่าเป็นพระโรคคันธสูตปลายปัตฆาฏ อาการทรุดลงจนสิ้นพระชนม์ในวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2428 สิริพระชันษา 68 ปี วันต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ เสด็จแทนพระองค์ไปพระราชทานน้ำสรงพระศพ แล้วเจ้าพนักงานเชิญพระศพลงพระโกศลังกา ตั้งบนแว่นฟ้า 2 ชั้น พระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมทุกคืนจนกว่าจะพระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุ ท้องสนามหลวง[1]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

พงศาวลี[แก้]

อ้างอิง[แก้]

เชิงอรรถ
  1. "ข่าวตาย" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 1 (43): 385. 8 พฤศจิกายน 2428. สืบค้นเมื่อ 25 มีนาคม 2562. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
บรรณานกรม
  • ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. ความทรงจำ. [ม.ป.ท.] : [ม.ป.พ.], พ.ศ. ๒๔๑๒-๒๔๑๓.