พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระวรวงศ์เธอ
พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต
พระวรวงศ์เธอ ชั้น 4
พระองค์เจ้าชั้นตรี
ประสูติ4 กันยายน พ.ศ. 2460
สิ้นพระชนม์12 กันยายน พ.ศ. 2485 (25 ปี)
หม่อมมณี สิริวรสาร (2481-2485)
พระบุตรหม่อมราชวงศ์เดชนศักดิ์ ศักดิเดชน์ ภาณุพันธุ์
หม่อมราชวงศ์ทิม ศักดิเดชน์ ภาณุพันธุ์
ราชวงศ์จักรี
พระบิดาสมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช
พระมารดาหม่อมเล็ก ภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา
ไฟล์:ประชาธิปก-เดชนศักดิ์-มณี-จิรศักดิ์.jpg
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตัดผม ม.ร.ว.เดชนศักดิ์ พระโอรสในพระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต กับหม่อมมณี

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต (4 กันยายน พ.ศ. 2460[1] – 12 กันยายน พ.ศ. 2485) หรือพระนามลำลองว่า เจรี่ (อังกฤษ: Jerry)[2] เป็นพระโอรสพระองค์เล็กในสมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ประสูติแต่หม่อมเล็ก ภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา เป็นพระราชโอรสบุญธรรมในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7[3] และเป็นต้นราชสกุล ศักดิเดชน์ ภาณุพันธุ์[4]

พระประวัติ[แก้]

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต เป็นพระโอรสพระองค์สุดท้องในสมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ประสูติแต่หม่อมเล็ก ภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา (สกุลเดิม ยงใจยุทธ[5] เป็นพี่สาวของร้อยเอกชั้น ยงใจยุทธ บิดาของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ) ประสูติเมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2460 เมื่อประสูติมีพระอิสริยยศที่ หม่อมเจ้าจิรศักดิ์สุประภาต ภาณุพันธุ์ มีพระโสทรเชษฐา 4 พระองค์ ได้แก่

  1. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารำไพประภา
  2. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภัสสรวงศ์
  3. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช
  4. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้านรเศรษฐสุริยลักษณ์

หม่อมเจ้าจิรศักดิ์สุประภาตเติบโตในพระบรมมหาราชวังจนอายุได้ 7 ปี จึงทรงย้ายมาอยู่กับพระบิดา ต่อมาสมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ทรงนำพระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต มาถวายเป็นบุตรบุญธรรมในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งไม่มีพระราชบุตรกับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี

ด้านการศึกษาทรงเข้ารับการศึกษาเบื้องต้นที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ เมื่อปี พ.ศ. 2468 เลขประจำตัวนักเรียน ท.ศ.3022 หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทุ่มเทความรักและเอาพระราชหฤทัยใส่เหมือนเป็นพระราชโอรสแท้ ๆ ทรงอุปถัมภ์ให้ไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ

เสกสมรส[แก้]

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต ทรงหมั้นกับมณี เซเนียร์ บุนนาค สุภาพสตรีลูกครึ่งไทย-อังกฤษ[6] นักเรียนทุน ก.พ. ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด เมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2481[7] ส่วนพิธีเสกสมรสจัดขึ้นที่สถานทูตไทยในกรุงลอนดอน โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงเป็นองค์ประธาน[8] เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2481[9]

เมื่อหม่อมมณีตั้งครรภ์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนาม ศักดิเดชน์ จากพระนามาภิไธย ประชาธิปกศักดิเดชน์ เพื่อใช้เป็นชื่อราชสกุล แต่ทางรัฐบาลจอมพลแปลก พิบูลสงคราม และคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ รัชกาลที่ 8 ได้คัดค้านว่าพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต ทรงอยู่ในราชสกุล ภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา อยู่แล้ว (โดยมีเหตุผลเกี่ยวกับสิทธิ์ในการสืบสันตติวงศ์ และเรื่องอื่น ๆ ที่สืบเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว) ด้วยเหตุนี้จึงใช้ชื่อสกุลว่า ศักดิเดชน์ ภาณุพันธ์ ณ อยุธยา แทน

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต มีพระโอรส 2 คน ได้แก่

  1. หม่อมราชวงศ์เดชนศักดิ์ ศักดิเดชน์ ภาณุพันธุ์ (เกิด กลางเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2482[10]) สมรสกับสมคิด ศักดิเดชน์ ภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา[11] มีบุตร 1 คน คือ
    1. หม่อมหลวงศักดิเดชน์ ศักดิเดชน์ ภาณุพันธุ์
  2. หม่อมราชวงศ์ทิม ศักดิเดชน์ ภาณุพันธุ์[12] (ชื่อเดิมเดิม หม่อมราชวงศ์ทินศักดิ์; เกิด 19 เมษายน พ.ศ. 2485) สมรสครั้งที่สองกับศิริกาญจน์ ศักดิเดชน์ ภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา[13] (สกุลเดิม ศรีกาญจนา) มีบุตร 2 คน และบุตรบุญธรรม 1 คน[14] คือ
    1. ศีกัญญา ศักดิเดชน์ ภาณุพันธุ์ (บุตรบุญธรรมซึ่งเกิดจากศิริกาญจน์กับอดีตสามี)[15]
    2. หม่อมหลวงศรุศักดิ์ ศักดิเดชน์ ภาณุพันธุ์[16]
    3. หม่อมหลวงเพ็ทรา ศักดิเดชน์ ภาณุพันธุ์ (ชื่อเดิม หม่อมหลวงศิริณี)

สิ้นพระชนม์[แก้]

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต ทรงสมัครเข้าร่วมกับกองทัพอังกฤษเป็นนักบินของหน่วยงาน A.T.A. (Air Transport Auxiliary) ซึ่งเป็นหน่วยขนส่งทางอากาศของกองทัพอังกฤษ เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2485 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต ทรงขับเครื่องบินเพื่อนำไปส่งที่ท่าเรือ เกิดหมอกลงจัด ทรงขับเครื่องบินชนภูเขา สิ้นพระชนม์ขณะพระชันษาได้ 25 ปี

ภายหลังจากพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต สิ้นพระชนม์ได้ 6 เดือน หม่อมมณี ภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา ก็ได้สมรสใหม่กับพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภัสสรวงศ์ ซึ่งเป็นพระเชษฐาแท้ ๆ ของพระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต และมีบุตร คือ หม่อมราชวงศ์อรมณี ภาณุพันธุ์ แต่ก็หย่าร้างกันในปี พ.ศ. 2493 ต่อมาได้สมรสกับนายแพทย์ปชา สิริวรสาร และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตติยจุลจอมเกล้า เป็น คุณหญิงมณี สิริวรสาร เมื่อ พ.ศ. 2532 และเสียชีวิตเมื่อต้นเดือนตุลาคม พ.ศ. 2542

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

พงศาวลี[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. นราธิปประพันธ์พงศ์, กรมพระ, 2404-2474, ผู้รวบรวม. บาญชีมหามกุฏราชสันตติวงศ์ พุทธศก 2468 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงรวบรวม. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, พ.ศ. 2468. 167 หน้า.
  2. มณี สิริวรสาร, คุณหญิง. ชีวิตเหมือนฝัน ตอนที่ 1 และ ตอนที่ 2. กรุงเทพฯ : ชวนพิมพ์, มมป. หน้า 332
  3. เอกชัย โควาวิสารัช ผศ.นพ.. ประวัติศาสตร์วิเคราะห์ "กรณีสวรรคตพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว". ใน ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 33 ฉบับที่ 7 พฤษภาคม 2555 กรุงเทพ:มติชน, หน้า 109
  4. จุลลดา ภักดีภูมินทร์ , เลาะวัง เล่ม 2
  5. พระนมปริกพระนมเอกผู้ใหญ่แห่งองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
  6. "56 ชมรมสายสกุลบุนนาค". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-03-12. สืบค้นเมื่อ 2006-09-04.
  7. มณี สิริวรสาร, คุณหญิง. ชีวิตเหมือนฝัน ตอนที่ 1 และ ตอนที่ 2. กรุงเทพฯ : ชวนพิมพ์, มมป. หน้า 365
  8. มณี สิริวรสาร, คุณหญิง. ชีวิตเหมือนฝัน ตอนที่ 1 และ ตอนที่ 2. กรุงเทพฯ : ชวนพิมพ์, มมป. หน้า 367
  9. มณี สิริวรสาร, คุณหญิง. ชีวิตเหมือนฝัน ตอนที่ 1 และ ตอนที่ 2. กรุงเทพฯ : ชวนพิมพ์, มมป. หน้า 364
  10. "ทำไมว่าที่คุณแม่ในอดีตทุกคน เมื่อคลอดปกติทุกรายต้องใช้ยาสลบ ?". ศิลปวัฒนธรรมออนไลน์. 3 กันยายน 2565. สืบค้นเมื่อ 12 ธันวาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  11. มณี สิริวรสาร, คุณหญิง. ชีวิตเหมือนฝัน ตอนที่ 3. กรุงเทพฯ : ชวนพิมพ์, มมป. หน้า 456
  12. "เบิร์ธเดย์ 80 ปี "คุณชายทิม-ม.ร.ว.ทิม ศักดิเดชฯ" คนในครอบครัวจัดฉลองเล็กๆ แต่คึกคัก!". ผู้จัดการออนไลน์. 21 เมษายน 2565. สืบค้นเมื่อ 24 เมษายน 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  13. "ถามปอ" (Press release). ไทยรัฐ. 13 มิถุนายน 2554. สืบค้นเมื่อ 29 กรกฎาคม 2555. {{cite press release}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  14. นิตยสาร WhO? - ศีกัญญา ศักดิเดชน์ ภาณุพันธ์ พี่สาวที่แสนดีและสีสันบ้านหรรษา
  15. ไทยรัฐออนไลน์ - ศีกัญญา ศักดิเดชน์ ภาณุพันธ์
  16. ไทยรัฐออนไลน์ - หม่อมหลวงศรุศักดิ์ ศักดิเดชน์ ภาณุพันธ์
  17. ราชกิจจานุเบกษา 20 พฤศจิกายน 2470 พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์และเหรียญ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2470/D/2566.PDF เก็บถาวร 2017-02-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]