สมเด็จพระรามาธิบดี (เจ้าพระยาจันท์)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมเด็จพระรามาธิบดี (เจ้าพระยาจันท์)
พระมหากษัตริย์กัมพูชา
ครองราชย์ค.ศ. 1642 - 1658
ก่อนหน้าพระปทุมราชาที่ 1 (นักองค์โนน)
ถัดไปพระบรมราชาที่ 8 (นักองค์สูร)
สวรรคตค.ศ. 1658
ราชวงศ์ตรอซ็อกผแอม
พระราชบิดาพระไชยเชษฐาที่ 2
พระราชมารดานักนางบุษบา
ศาสนาอิสลาม (เดิมศาสนาพุทธ)

สมเด็จพระราชโองการพระรามาธิบดี (เขมร: រាមាធិបតីទី១) มีพระนามเดิมว่า เจ้าพระยาจันท์ (เขมร: ពញាចន្) หรือพระนามหลังเข้ารีตว่า อิบราฮิม (ยาวี: سلطان إبراهيم) เป็นพระมหากษัตริย์กัมพูชาเพียงพระองค์เดียวที่นับถือศาสนาอิสลาม

สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 แห่งกัมพูชาเสด็จพระราชสมภพเมื่อปี พ.ศ. 2157 เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 3 ในสมเด็จพระไชยเชษฐาที่ 2 ประสูติแต่นักนางบุษบา บาทบริจาริกาชาวลาว[1] และทรงเป็นอนุชาของพระศรีธรรมราชาที่ 2 และพระองค์ทองราชา มีตำแหน่งเดิมเป็นเจ้าพระยาจันท์ ตำแหน่งพระอุปราชในรัชกาลสมเด็จพระองค์ทองราชาผู้เป็นพระเชษฐา พระองค์ขึ้นครองราชย์เมื่อ พ.ศ. 2184 โดยการยึดพระราชอำนาจจากพระปทุมราชาที่ 1 และจับพระอุไทยผู้เป็นมหาอุปโยราช(ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์)และพระปทุมราชาที่ 1 สำเร็จโทษขณะเสด็จออกไปล่าสัตว์ที่ชายป่าเมืองอุดง ต่อมาหลังจากครองราชย์แล้วสองปี พระองค์ได้สนมเป็นชาวมลายูซึ่งเป็นพระธิดาของกษัตริย์โปโรเม่แห่งจามปาจึงเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลามใน พ.ศ. 2186[2] ทำให้มีผู้ต่อต้านพระองค์มาก อีกทั้งในรัชกาลของพระองค์ยังมีความขัดแย้งกับพ่อค้าชาวฮอลันดา

ต่อมาในปี พ.ศ. 2201 นักองค์สูร (พระบรมราชาที่ 8) โอรสพระองค์หนึ่งของพระอุไทย พระมหาอุปโยราชและอนุชาต่างมารดาของพระปทุมราชาที่ 1 ประสูติแต่นักนางโมม หรือมม พระมารดาชาวเวียดนามได้นำกองทัพจากเวียดนามมาโจมตีเพื่อล้มล้างราชบัลลังก์ของสมเด็จพระรามาธิบดี (จันท์) กองทัพเวียดนามเป็นฝ่ายชนะ จับพระรามาธิบดีใส่กรงไปเวียดนาม [3] พระองค์ถูกขังอยู่ที่ตังเกี๋ย ได้รับความทุกข์โทมนัสอย่างแสนสาหัสจนพระวรกายกายไม่อาจทนได้เสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2202 สิริพระชนม์มายุ 44 พรรษา อยู่ในราชสมบัติ 16 ปี จากนั้นนักองค์สูรจึงขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระบรมราชาที่ 8 แห่งกัมพูชา [4]

อ้างอิง[แก้]

เชิงอรรถ
  1. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 100
  2. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 104
  3. Achille Dauphin-Meunier Histoire du Cambodge Presses universitaires de France, Paris 1968 Que sais-je ? n° 916.
  4. Phoeun Mak, Dharma Po « La première intervention militaire vietnamienne au Cambodge (1658-1659) » dans: Bulletin de l'École française d'Extrême-Orient, tome 73, 1984, p. 285-318.
บรรณานุกรม
  • เรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนรัชต์), พันตรี หลวง. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2563. 336 หน้า. ISBN 978-616-514-668-5