แรกนาขวัญ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญที่กรุงเทพมหานคร ประเทศสยาม พ.ศ. 2451
ชื่อทางการ
  • ព្រះរាជពិធីច្រត់ព្រះនង្គ័ល Preăh Réach Pĭthi Chrát Preăh Neăngkoăl (กัมพูชา)
  • වප් මඟුල් Vap Magula (ศรีลังกา)[1]
  • பொன்னேர் உழுதல் "Ponner Uzhuthal" (รัฐทมิฬนาฑู ประเทศอินเดีย - Ploughing with the golden plough.[2]
ชื่ออื่นวันพืชมงคล
วันเกษตรกร
จัดขึ้นโดยกัมพูชา, ศรีลังกา และไทย
ประเภทวันสำคัญประจำชาติในประเทศไทยและกัมพูชา
เทศกาลท้องถิ่นในศรีลังกา
ความสำคัญเป็นจุดเริ่มต้นของฤดูปลูกข้าว
การถือปฏิบัติการไถนา
วันที่ตามกำหนดของโหรา (ไทย)
แรม 4 ค่ำ เดือน 6 (กัมพูชา)[3]

แรกนาขวัญ (อังกฤษ: Ploughing Ceremony; เขมร: ព្រះរាជពិធីបុណ្យច្រត់ព្រះនង្គ័ល เปรี๊ยะเรียจเพียะถีจร๊อดเปรี๊ยะเนียงก็วล; สิงหล: වප් මඟුල් Vap Magula;; พม่า: လယ်ထွန်မင်္ဂလာ, ออกเสียง: [lɛ̀tʰʊ̀ɰ̃ mɪ̀ɰ̃ɡəlà] Lehtun Mingala หรือ မင်္ဂလာလယ်တော် Mingala Ledaw) เป็นพิธีกรรมที่พบเห็นได้ในหลายประเทศทางแถบเอเชีย จัดขึ้นเพื่อเริ่มต้นฤดูการปลูกข้าวแบบดั้งเดิม

ในประเทศไทย การแรกนาขวัญซึ่งกระทำโดยราชสำนักนั้นประกอบด้วยพิธีสองอย่างตามลำดับ คือ พระราชพิธีพืชมงคล เป็นพิธีพุทธซึ่งตั้งขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีพราหมณ์ซึ่งกระทำสืบเนื่องมาแต่สมัยสุโขทัย[ต้องการอ้างอิง] ปัจจุบัน เรียกวันแรกนาขวัญว่า วันพืชมงคล ซึ่งจัดไม่ตรงกันทุกปีสุดแต่สำนักพระราชวังจะกำหนด วันพืชมงคลยังเป็นวันเกษตรกรไทย เพื่อระลึกถึงความสำคัญของเกษตรกรรมในเศรษฐกิจไทย และเป็นวันหยุดราชการด้วย แต่ไม่เป็นวันหยุดธนาคาร

ประเทศไทย[แก้]

พระราชพิธีพืชมงคล[แก้]

เป็นพิธีทางพุทธศาสนา มีพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกำหนดให้มีขึ้นเป็นครั้งแรก เป็นพิธีทำขวัญเมล็ดพืชพันธุ์ต่าง ๆ เช่น ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเหนียว ข้าวฟ่าง ข้าวโพด ถั่ว งา เป็นต้น ฯลฯ มีจุดมุ่งหมายที่จะให้เมล็ดพันธุ์เหล่านั้น ปราศจากโรคภัยและให้อุดมสมบูรณ์เจริญงอกงามดี

พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ[แก้]

เป็นพิธีทางศาสนาพราหมณ์ เป็นพิธีพราหมณ์มีมาแต่โบราณ เป็นพิธีเริ่มต้นการไถนาเพื่อหว่านเมล็ดข้าว มีจุดมุ่งหมายที่จะให้เป็นอาณัติสัญญาณว่า บัดนี้ฤดูกาลแห่งการทำนาและเพาะปลูกได้เริ่มขึ้นแล้ว พระราชพิธีทั้งสองนี้ ได้กระทำเต็มรูปแบบมาเรื่อย ๆ จนถึงปี พ.ศ. 2479 ได้เว้นไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง ด้วยสถานการณ์โลกและบ้านเมืองอยู่ในภาวะที่ไม่สมควรจะจัดงานใด ๆ จึงว่างเว้นไป 10 ปี ต่อมาทางราชการพิจารณาเห็นว่าประเทศไทย เป็นประเทศกสิกรรม โดยเฉพาะทำนาควรจะได้ฟื้นฟู ประเพณีเก่าอันเป็นมงคลแก่การเพาะปลูก ดังนั้น ใน พ.ศ. 2490 จึงกำหนดให้มีพิธีพีชมงคลขึ้นอีก แต่มีแค่พระราชพิธีพืชมงคลเท่านั้น (พิธีเต็มรูปแบบว่างเว้นไปถึง 23 ปี) ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2503 จึงจัดให้มีราชพิธีจรดพระนาคัลแรกนาขวัญร่วมกับพิธีพืชมงคลนับแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันนี้จึงจัดให้เป็นวันสำคัญของชาติ

การประกอบพระราชพิธีพืชมงคล (วันที่หนึ่ง)[แก้]

เป็นพระราชพิธีทางสงฆ์โดยจะประกอบพระราชพิธีในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง โดย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง จากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เสด็จพระราชดำเนินขึ้นสู่พระอุโบสถ ทรงจุด ธูป เทียน ถวายนมัสการพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรและพระพุทธรูปที่สำคัญ พระราชาคณะถวายศีลจบแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระสุหร่าย ถวายดอกไม้บูชา พระคันธาราษฎร์ ทรงอธิษฐานเพื่อความสมบูรณ์แห่งพืชผลของประเทศไทย แล้วพระมหาราชครู ประธานคณะพราหมณ์ อ่านประกาศพระราชพิธีพืชมงคล พระสงฆ์ 11 รูป เจริญพระพุทธมนต์จบแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหลั่งน้ำสังข์ พระราชทานใบมะตูม ทรงเจิม พระราชทานธำมรงค์ กับพระแสงปฏัก สำหรับตำแหน่งพระยาแรกนาแก่ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แล้วทรงหลั่งน้ำสังข์ พระราชทานใบมะตูม ทรงเจิมแก่เทพีผู้ที่จะเข้าในการพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ขณะนั้นพระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา พนักงานประโคมฆ้องชัย เครื่องดุริยางค์ หลังจากนั้นทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรม พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ออกจากพระอุโบสถเสด็จพระราชดำเนินกลับ

การประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ (วันที่สอง)[แก้]

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง วันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2562
พระโคในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พ.ศ. 2562

เป็นงานพระราชพิธีที่กระทำในตอนเช้าของรุ่งขึ้นอีกวันหนึ่ง ณ บริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวง โดยจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งทำหน้าที่พระยาแรกนาพร้อมด้วยเทพีขึ้นรถยนต์หลวงที่หน้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ออกจากพระบรมมหาราชวังทางประตูสวัสดิโสภา ถนนสนามไชยไปยังมณฑลพิธีท้องสนามหลวง เมื่อเดินทางมาถึงจะได้ตั้งกระบวนแห่อิสริยยศ แล้วเดินกระบวนแห่อิสริยยศไปส่งที่โรงพิธีพราหมณ์ พระยาแรกนาจุดธูปเทียนถวายสักการะเทวรูปสำคัญในโรงพิธีพรามณ์อันได้ เทวรูป พระอิศวร พระอุมาภควดี พระพรหม พระพิฆเนศ พระนารายณ์ พระลักษมี พระมเหศวรี และพระพลเทพ แล้วจะได้ตั้งสัตยาธิษฐาน หยิบผ้านุ่งแต่งกายไว้พร้อม เมื่อพระยาแรกนาตั้งสัตยาธิษฐานหยิบได้ผ้านุ่งผืนนั้นทับผ้านุ่งเดิมอีกชั้นหนึ่ง นุ่งอย่างบ่าวขุนเตรียมออกแรกนา

พระยาแรกนาขึ้นรถยนต์หลวงออกจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปยังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เทพีและข้าราชการ (แต่งเครื่องแบบเต็มยศประดับราชอิสริยาภรณ์) เชิญเครื่องยศขึ้นรถตามเป็นกระบวน เมื่อเข้าสู่พระอุโบสถแล้วพระยาแรกนาและเทพีจุดธูปเทียนถวายนมัสการบูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร แล้วไปที่ปราสาทพระเทพบิดรถวายสักการะพระบรมรูปสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราช แล้วไปขึ้นรถยนต์หลวง เป็นกระบวนออกจากจัดพระศรีรัตนศาสดารามไปยังท้องสนามหลวง

เวลา 7 นาฬิกา เจ้าพนักงานจัดตั้งริ้วกระบวนอิสริยยศตามประเพณีโบราณรับพระยาแรกนา พระยาแรกนาลงจากรถยนต์หลวงแล้วสวมลอมพอกเดินเข้าประจำที่ในกระบวนพร้อมด้วยคู่เคียง 2 ข้าง ๆ ละ 8 นาย ผู้เชิญเครื่องยศและเทพีจัดเป็นรูปกระบวนยาตราไปยังโรงพิธีพราหมณ์ ประโคมกลองชนะ สังข์ แตร ตลอดทาง

ครั้นเวลาประมาณ 08.30 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิตไปยังพลับพลาที่ประทับบริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวง เพื่อเป็นองค์ประธานในงานพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

เมื่อถึงฤกษ์พิธีไถหว่าน ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งทำหน้าที่พระยาแรกนาจะได้ยาตราพร้อมเทพีออกจากโรงพิธีพราหมณ์ มีราชบัณฑิตและพราหมณ์นำผ่านพลับพลาหน้าพระที่นั่ง พระยาแรกนาเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายบังคม แล้วไปยังลานแรกนา เจ้าพนักงานจูงพระโคเทียมแอก พระยาแรกนาเจิมพระโคและคันไถ จับหางไถแล้วไถดะไปโดย ทักษิณาวรรต 3 รอบ ไถแปร 3 รอบ พร้อมหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวพนักงานประโคมฆ้องชัยเครื่องดุริยางค์ แล้วไถกลบอีก 3 รอบ เพื่อกลบเมล็ดพันธุ์ข้าวลงในดิน เสร็จแล้วพนักงานปลดพระโคออกจากแอก พระยาแรกนาและเทพีกลับไปยังโรงพิธีพราหมณ์

พราหมณ์เสี่ยงทายของกิน 7 สิ่ง ตั้งเลี้ยงพระโค เมื่อพระโคกินของสิ่งใดโหรหลวงจะถวายคำพยากรณ์ เสร็จแล้วจะเบิกเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ตัวแทนกลุ่มเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ตัวแทนสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ และปราชญ์เกษตรของแผ่นดินสาขาต่าง ๆ เข้ารับพระราชทานโล่เกียรติคุณ หลังจากนั้นจะได้แห่พระยาแรกนาเป็นกระบวนอิสริยยศออกจากโรงพิธีพราหมณ์ พระยาแรกนากราบถวายบังคมแล้วเข้ากระบวนไปขึ้นรถยนต์หลวงพร้อมด้วยเทพีไปรอเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ที่แปลงนาทดลองในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งออกจากพลับพลาพิธีไปยังแปลงนาทดลองในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา พระยาแรกนาเข้ากราบถวายบังคม พระยาแรกนาและเทพีนำเมล็ดพันธุ์ข้าวไปหว่านในแปลงนาทดลอง เพื่อปลูกไว้ใช้ในพระราชพิธีในปีต่อไป เมื่อพระยาแรกนาหว่านข้าวเสร็จแล้ว เข้าไปกราบถวายบังคมพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เป็นอันเสร็จพระราชพิธี

กำหนดวันพืชมงคล[แก้]

กำหนดวันพืชมงคลในรอบ 10 ปี โดยสำนักพระราชวัง

ประชาชนเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวที่พระยาแรกนาหว่านไว้ เมื่อ พ.ศ. 2562
  • พ.ศ. 2559 ตรงกับ จันทร์ที่ 9 พฤษภาคม (ขึ้น 4 ค่ำเดือน 6)
  • พ.ศ. 2560 ตรงกับ ศุกร์ที่ 12 พฤษภาคม (แรม 2 ค่ำเดือน 6)[4]
  • พ.ศ. 2561 ตรงกับ จันทร์ที่ 14 พฤษภาคม (แรม 15 ค่ำเดือน 6)[5]
  • พ.ศ. 2562 ตรงกับ พฤหัสบดีที่ 9 พฤษภาคม (ขึ้น 6 ค่ำเดือน 6)[6]
  • พ.ศ. 2563 ตรงกับ จันทร์ที่ 11 พฤษภาคม (แรม 5 ค่ำ เดือน 6)
  • พ.ศ. 2564 ตรงกับ จันทร์ที่ 10 พฤษภาคม (แรม 14 ค่ำ เดือน 6)
  • พ.ศ. 2565 ตรงกับ ศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม (ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 6)
  • พ.ศ. 2566 ตรงกับ พุธที่ 17 พฤษภาคม (แรม 13 ค่ำ เดือน 6)
  • พ.ศ. 2567 ตรงกับ ศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม (ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 6)
  • พ.ศ. 2568 ตรงกับ ศุกร์ที่ 9 พฤษภาคม (แรม 15 ค่ำเดือน 6)

ประเทศกัมพูชา[แก้]

พระบาทสมเด็จพระบรมนาถ นโรดม สีหมุนี พระมหากษัตริย์กัมพูชาเสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ณ ราชธานีพนมเปญ

ในประเทศกัมพูชา ประวัติความเป็นมาตามพงศาวดาร นักโบราณคดีได้ระบุว่าพระราชพิธีจรดพระนังคัลนั้น ได้ถูกพระราชากัมพูชาประกอบเป็นพิธีจนเป็นประเพณี อย่างน้อยก็ตั้งแต่สมัยอาณาจักรเจนละ (คริสต์ศตวรรษที่ 6 ถึงศตวรรษที่ 9) โดยพวกเขาได้ค้นพบรูปปั้นหลายรูปที่แสดงถึงสถานะของพระราชพิธีจรดพระนังคัลในสมัยนั้น

ในปัจจุบันพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นพระราชพิธีอย่างหนึ่งในพระราชพิธีทวาทศมาส (พระราชพิธีบุญที่ทำขึ้นหนึ่งครั้งในหนึ่งเดือน ตามพระราชประเพณี) ตามธรรมดาแล้วพระราชพิธีนี้จะจัดขึ้นในเดือนห้า (พฤษภาคม) ซึ่งเป็นช่วงต้นฤดูกาลการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร โดยทั่วไปจะจัดขึ้นบนลานพระเมรุ อยู่ทางทิศเหนือของพระบรมราชวังจตุมุขสิริมงคล หรือ พระท้องนาที่ใดที่หนึ่ง ในบางปีจะจัดขึ้นในจังหวัดเสียมราฐ

การประกอบพิธี[แก้]

พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญส่วนใหญ่จะจัดขึ้นในวันแรม 1 ค่ำ 2 ค่ำ และ 3 ค่ำ เดือน 5 โดยจะจัดให้มีพราหมณ์ 5 คน ประกอบพิธีบูชาเทวดา 5 องค์ ณ พระท้องนา ในบางครั้งพระราชาจะเสด็จไปจรดพระนังคัลด้วยพระองค์เอง แต่บางครั้งจะมอบหมายผู้แทนองค์เป็นผู้จรดพระนังคัล ในวันแรม 4 ค่ำ เดือน 5 จะมีการแห่คณะองคมนตรี ผู้จรดพระนังคัลซึ่งเป็นตัวแทนพระราชาจะเรียกว่า สะดัจเมียก (พระยาแรกนาขวัญ) และ ภริยาพระเมฮัว (เทพี) ตัวแทนพระอัครมเหสี ออกจากพระราชวังไปยังพระท้องนา โดยที่นั่นจะมีวัว ๓ ตัวยืนรอเป็นที่เรียบร้อยสำหรับประกอบพิธีจรดพระนังคัล ผู้ที่เข้าร่วมพิธีทั้งหญิงทั้งชายจะแต่งกายในแบบกัมพูชาดั้งเดิม

วัวตัวที่ 1 สำหรับประกอบพิธีจรดพระนังคัล เรียกว่า พระโค หรือ โคพฤษภราช (วัวตัวผู้ของพระราชา) ตามพระราชประเพณี พระเคา หรือ โคพฤษภราช นั้น มีการกำหนดลักษณะที่ชัดเจนกล่าวคือ ตัวสีดำ เขาโค้งงอไปข้างหน้า แล้วปลายแหลมชี้ไปข้างบนเล็กน้อย

วัวตัวที่ 2 ที่ใช้แห่ข้างหน้าและแห่ข้างหลังนั้น ยังไม่มีการกำหนดลักษณะที่ชัดเจน อย่างไรก็ดีตามครั้งก่อนๆ ที่เคยทำกันมา จะเห็นว่าส่วนใหญ่จะเป็นวัวสีแดง ส่วนพระนังคัลทั้งสามนั้นจะทาเป็นสีดำ มีเส้นสีแดงตัดในแนวนอนเป็นช่วงๆ ส่วนของพระนังคัลสำหรับตัวแทนของพระราชานั้น จะมีลักษณะพิเศษกว่าใครคือจะมีรูปทรงเป็นพญานาค ทาสีสอง ที่คอของพญานาคจะมีพู่ทำจากขนสัตว์ติดอยู่

จุดประสงค์อันสำคัญที่สุดของพระราชพิธีจรดพระนังคัลนั้น จัดขึ้นเพื่อเป็นการพยากรณ์ หรือ เสี่ยงทายผลผลิตเกษตรกรรมและเหตุที่จะเกิดขึ้นภายในหนึ่งปีเต็ม ตามการกระทำของพระโคในพระราชพิธีดังกล่าว พระราชาหรือพระแรกนาขวัญที่เป็นตัวแทนพระมหากษัตริย์ เป็นผู้ไถบนลานพระเมรุ ส่วนพระมเหสีหรือเทพีจะเป็นผู้หว่านเมล็ดตามข้างหลัง ลานพระเมรุจะถูกไถ ๓ รอบในพระราชพิธีดังกล่าว

ในบริเวณลานพระท้องนา หรือ ลานพระเมรุนั้น จะมีเต็นท์ดูสวยงามอยู่ และหน้าเต็นท์นั้นจะมีโต๊ะอยู่ 7 ตัว แล้วบนโต๊ะแต่ละตัวจะมีของวางของอยู่ คือ ข้าวสาร 1 โต๊ะ ถั่ว 1 โต๊ะ เม็ดข้าวโพด 1 โต๊ะ เม็ดงา 1 โต๊ะ หญ้าสด 1 โต๊ะ น้ำ 1 โต๊ะ และ เหล้า 1 โต๊ะ

ในพระราชพิธีนี้หลังจากที่ได้ไถตามขั้นตอนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ต่อไปจะเป็นพิธีเสี่ยงทายด้วยวัวพฤษภราช พิธีเสี่ยงทายด้วยโคพฤษภราชนี้ พราหมณ์ซึ่งเป็นพระราชครูที่ยืนข้างๆ พระนังคัลจะท่องคาถาเสี่ยงทายและให้โคบริโภคอาหาร 7 ชนิดที่ได้กล่าวไป เมื่อพระโคบริโภคสิ่งใดสิ่งหนึ่ง พราหมณ์จะพยากรณ์เหตุการณ์ หรือ ทำนายทายทักเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆที่จะเกิดขึ้นในหนึ่งปี เช่น โรคระบาด น้ำท่วม ผลผลิตดี และมีฝนตกหนักหรือน้อย เป็นต้น

การทำนาย[แก้]

ในการพยากรณ์ของกัมพูชานั้น หากพระโคเลือกเสวยข้าว ข้าวโพด (ពោត) ถั่ว (សណ្តែក) และงา (ល្ង) ซึ่งเป็นตัวแทนของการเก็บเกี่ยวและผลผลิต ยิ่งพระโคเสวยมากก็พยากรณ์ได้ว่าการเก็บเกี่ยวและผลผลิตจะยิ่งดีมาก หากพระโคเสวยหญ้า (ស្មៅ) พยากรณ์ถึงความเจ็บป่วย เกิดโรคระบาด หากเสวยน้ำ (ទឹក) พยากรณ์ถึงเหตุน้ำท่วม และหากเสวยเหล้า (ស្រា) พยากรณ์ว่ามีลางของสงครามหรืออาจเกิดอาชญากรความไม่สงบ

อ้างอิง[แก้]

  1. Buddhist Religious Year
  2. பொன்னேர் உழுதல் (in Tamil)
  3. "The Royal Ploughing Ceremony 2011". Tourism Cambodia. Ministry of Tourism, Cambodia. สืบค้นเมื่อ 18 July 2011.
  4. สำนักพระราชวัง. (การสอบถามทางโทรศัพท์) 23 ธันวาคม 2559
  5. ศน.แจ้งวันหยุดราชการปี 61 ของสำนักพระราชวัง
  6. วันหยุด พ.ศ. 2562

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

งานศึกษาที่เกี่ยวข้อง[แก้]

เว็บไซต์ต่างๆ[แก้]