กรมหลวงโยธาทิพ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กรมหลวงโยธาทิพ
เจ้าฟ้าต่างกรม
ประสูติพ.ศ. 2181[1]
สวรรคตพ.ศ. 2258[1] (ราว 77 ปี)
พระสวามีสมเด็จพระเพทราชา
พระบุตรเจ้าพระขวัญ
ราชวงศ์ปราสาททอง (ประสูติ)
บ้านพลูหลวง (อภิเษกสมรส)
พระบิดาสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง
พระมารดาพระสุริยา[2] หรือพระอุบลเทวี[3]
ศาสนาเถรวาท

กรมหลวงโยธาทิพ มีพระนามเดิมว่า เจ้าฟ้าศรีสุวรรณ[4] บ้างออกพระนามว่า พระราชกัลยาณี[4][5][6] (พ.ศ. 2181–2258)[1] เป็นพระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าปราสาททองและเป็นพระราชขนิษฐาในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ภายหลังได้เป็นที่พระอัครมเหสีฝ่ายขวาในสมเด็จพระเพทราชา ประสูติการพระราชโอรสพระองค์หนึ่งพระนามเจ้าพระขวัญ

พระนาม[แก้]

พระราชประวัติ[แก้]

พระชนม์ชีพตอนต้น[แก้]

กรมหลวงโยธาทิพ มีพระนามเดิมว่าศรีสุวรรณ[4] เป็นพระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง[4] และมีพระชนนีองค์เดียวกันกับสมเด็จพระนารายณ์มหาราช[6] คำให้การชาวกรุงเก่า ระบุว่าพระชนนีของสมเด็จพระนารายณ์ชื่อพระสุริยา[2] ขณะที่ คำให้การขุนหลวงหาวัด ระบุพระนามว่าพระอุบลเทวี[3] ส่วนหม่อมหลวงมานิจ ชุมสาย ระบุว่าพระชนนีเป็นพระราชเทวีชื่อศิริธิดา[10] ในช่วงที่สมเด็จพระนารายณ์และสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาคิดยึดอำนาจสมเด็จเจ้าฟ้าไชย สมเด็จพระนารายณ์ก็ทรงพาพระราชกัลยาณีหนีออกไปด้วยกัน[6] สมบัติ พลายน้อย อธิบายว่ากรมหลวงโยธาทิพน่าจะประสูติในปี พ.ศ. 2181 หย่อนพระชันษากว่าพระเชษฐา 6 ปี และมีพระชันษา 18 ปีเมื่อพระเชษฐาเสวยราชย์[1] กล่าวกันว่ากรมหลวงโยธาทิพมีพระสิริโฉมงดงามเป็นที่ประจักษ์ ใน พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ระบุไว้ว่า "...พระราชกัลยาณีน้องพระนารายณ์ราชนัดดา ทรงพระรูปสิริวิลาสเลิศลักษณะนารี..."[11]

หลังการยึดอำนาจจากสมเด็จเจ้าฟ้าไชย ในรัชกาลสมเด็จพระศรีสุธรรมราชา พระเจ้าอาว์ ทรงต้องพระทัยในรูปลักษณ์ของพระราชกัลยาณีและมีพระราชประสงค์จะเสพสังวาส พระราชกัลยาณีไหวตัวทัน ทรงบอกให้เหล่าพระสนมช่วย ทรงซ่อนตัวในตู้พระสมุดแล้วนางสนมให้หามไปยังพระราชวังบวรสถานมงคลที่สมเด็จพระนารายณ์ประทับอยู่ เสด็จขึ้นเข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์ ทรงกันแสงและทูลเรื่องราวทั้งหมด เมื่อสมเด็จพระนารายณ์ฟังความเช่นนั้นก็ทรงกล่าวด้วยความน้อยพระทัยว่า[12]

อนิจจา พระเจ้าอาเรานี้ คิดว่าสมเด็จพระบิตุราชสวรรคตแล้ว ยังแต่พระเจ้าอาก็เหมือนหนึ่งพระบรมราชบิดายังอยู่ จะได้ปกป้องพระราชวงศานุวงศ์สืบไป ควรหรือมาเป็นได้ดังนี้ พระองค์ปราศจากหิริโอตตัปปะแล้ว ไหนจะครองสมบัติเป็นยุติธรรมเล่า น่าที่จะร้อนอกสมณชีพราหมณ์อาณาประชาราษฎรไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินเป็นแท้ จะละไว้มิได้ ด้วยพระองค์ก่อแล้วจำจะสานตามเถิด จะเสี่ยงเอาบารมีเป็นที่พึ่ง

หลังจากนั้นสมเด็จพระนารายณ์จึงรวมขุนนางต่อสู้ยึดอำนาจ และสามารถจับกุมสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาได้ จึงนำไปสำเร็จโทษ ณ วัดโคกพระยาตามโบราณราชประเพณี[13]

เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสวยราชย์ พระราชกัลยาณีได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นกรมหลวงโยธาทิพ คู่กับเจ้าฟ้าสุดาวดี พระราชธิดา ที่ได้รับการสถาปนาเป็นกรมหลวงโยธาเทพ คู่กัน พระองค์คอยอุปถัมภ์ค้ำชูพระราชอนุชาทั้งสองพระองค์คือเจ้าฟ้าอภัยทศ และเจ้าฟ้าน้อย ทรงสามารถทูลคัดง้างสมเด็จพระนารายณ์มหาราชในกรณีที่ทรงลงทัณฑ์เจ้าฟ้าน้อยเรื่องทำชู้กับพระสนม โดยทรงกล่าวกับสมเด็จพระนารายณ์มหาราชว่า "[อย่าได้มี] พระโทสจริตโดยลงโทษเอาให้ถึงแก่ชีวิตเลย ขอเพียงให้ทรงลงทัณฑ์เสมอที่บิดาทำต่อบุตรเท่านั้นเถิด"[14]

ปลายพระชนม์[แก้]

พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ว่าสมเด็จพระเพทราชาตั้งพระองค์เป็นพระอัครมเหสีซ้าย[9] ส่วน คำให้การชาวกรุงเก่า และ คำให้การขุนหลวงหาวัด ระบุว่าเป็นพระอัครมเหสีฝ่ายขวา[4][8] มีพระราชโอรสเพียงพระองค์เดียวคือเจ้าพระขวัญ แต่พระราชโอรสพระองค์นี้ก็อยู่ให้ชื่นชมโสมนัสได้ไม่นาน ก็ถูกกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (เดื่อ) ลวงไปสำเร็จโทษ สิ้นพระชนม์ก่อนการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระเพทราชาไม่นานนัก กรมหลวงโยธาทิพคงจะโทมนัสและตรอมพระทัยยิ่งนัก ทรงหันเข้าหาพระศาสนาเป็นที่พึ่ง ทรงทูลลาสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 ออกไปตั้งตำหนักใกล้วัดพุทไธสวรรย์[15] และผนวชเป็นรูปชี

กรมหลวงโยธาทิพเสด็จสวรรคตในรูปชี (ในพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศใช้คำว่า เสด็จนิพพาน) ณ พระตำหนักริมวัดพุทไธสวรรย์ในปีมะแมสัปตศก[16] สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระทรงโปรดเกล้าฯ ให้ทำพระเมรุมาศ ให้เชิญพระศพขึ้นพระมหาพิชัยราชรถแห่แหนด้วยดุริยางคดนตรีไปถึงพระเมรุมาศ มีการทิ้งทานต้นกัลปพฤกษ์และมีการเล่นมหรสพ พระสงฆ์สดัปกรณ์ 10,000 คำรบสามวัน แล้วถวายพระเพลิง ครั้นดับพระเพลิงแล้วจึงแจงพระรูป พระสงฆ์สดัปกรณ์อีก 100 รูป เก็บพระอัฐิในพระโกศน้อย แห่เข้ามาบรรจุไว้ท้ายจระนำในวิหารใหญ่วัดพระศรีสรรเพชญ์[17]

พงศาวลี[แก้]

อ้างอิง[แก้]

เชิงอรรถ
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดาแห่งราชสำนักสยาม, หน้า 25
  2. 2.0 2.1 คำให้การชาวกรุงเก่า, ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง, หน้า 92-93
  3. 3.0 3.1 คำให้การขุนหลวงหาวัด (ฉบับหลวง), ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง, หน้า 339
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 คำให้การขุนหลวงหาวัด (ฉบับหลวง), ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง, หน้า 413
  5. 5.0 5.1 พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น, หน้า 285
  6. 6.0 6.1 6.2 พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดาแห่งราชสำนักสยาม, หน้า 23
  7. คำให้การขุนหลวงหาวัด (ฉบับหลวง), ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง, หน้า 310
  8. 8.0 8.1 พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น, หน้า 540
  9. 9.0 9.1 พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น, หน้า 318
  10. M.L. Manich Jumsai (เขียน) ธิติมา พิทักษ์ไพรวัน (แปล). สมเด็จพระนารายณ์ และโกษาปาน. กรุงเทพฯ : คุรุสภาลาดพร้าว, 2531, หน้า 17
  11. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน, หน้า 278
  12. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น, หน้า 285
  13. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น, หน้า 288
  14. ออกญาวิไชเยนทร์ หรือการต่างประเทศในสมัยสมเด็จพระนารายณ์, หน้า 225
  15. พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดาแห่งราชสำนักสยาม, หน้า 24
  16. ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง, หน้า 468
  17. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น, หน้า 351
บรรณานุกรม
  • ขจร สุขพานิช. ออกญาวิไชเยนทร์ หรือการต่างประเทศในสมัยสมเด็จพระนารายณ์. กรุงเทพฯ : ศรีปัญญา, 2560. 256 หน้า. ISBN 978-616-437-012-8
  • ส. พลายน้อย. พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดาแห่งราชสำนักสยาม. กรุงเทพฯ : ฐานบุ๊คส์, 2554. 368 หน้า. ISBN 978-616-7058-58-0
  • ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง. กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2553. 536 หน้า. ISBN 978-616-508-073-6
  • พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2553. 800 หน้า. ISBN 978-616-7146-08-9
  • พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2563. 488 หน้า. ISBN 978-616-514-650-0