พระยาอนุกิจวิธูร (สันทัด เทพหัสดิน ณ อยุธยา)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระยาอนุกิจวิธูร
(สันทัด เทพหัสดิน ณ อยุธยา)
พระยาอนุกิจวิธูร
(สันทัด เทพหัสดิน ณ อยุธยา)
ผู้บัญชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดำรงตำแหน่ง
6 เมษายน พ.ศ. 2460 – 31 มีนาคม พ.ศ. 2468
ก่อนหน้าสถาปนามหาวิทยาลัย
ถัดไปพระยาภะรตราชา
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด
สันทัด

12 มีนาคม พ.ศ. 2423
ตำบลสะพานหัน อำเภอสัมพันธวงศ์ จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม
เสียชีวิต20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2491 (67 ปี)
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร ประเทศไทย
สัญชาติไทย
ศาสนาเถรวาท
คู่สมรสคุณหญิงอนุกิจวิธูร (แฉล้ม เทพหัสดิน ณ อยุธยา)
บุพการี
  • พระยาพิไชยสุรินทร์ (หม่อมหลวงเจียม เทพหัสดิน) (บิดา)
  • คุณหญิงพิไชยสุรินทร์ (อยู่ เทพหัสดิน ณ อยุธยา) (มารดา)
ญาติเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) (พี่ชาย) และมีพี่น้องต่างมารดาอีก 30 ท่าน
ศิษย์เก่าโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์และสอบประกาศนียบัตรครูฝ่ายภาษาไทย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อาชีพข้าราชการ

มหาอำมาตย์ตรี[1] พระยาอนุกิจวิธูร (สันทัด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) (12 มีนาคม พ.ศ. 242320 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2491) นักการศึกษา ผู้บัญชาการ (อธิการบดี) คนแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (6 เมษายน พ.ศ. 2460 - 31 มีนาคม พ.ศ. 2468) [2]และผู้ช่วยปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการ ผู้แต่งหนังสือเรียนสมัยรัชกาลที่ 5 รวมทั้งหนังสือชุดธรรมจริยาเล่ม 1 และ 2

ประวัติ[แก้]

พระยาอนุกิจวิธูรเกิดที่บ้านตำบลสะพานหัน จังหวัดพระนคร เป็นบุตรคนที่ 2 ของพระยาไชยสุรินทร์ (หม่อมหลวงเจียม เทพหัสดิน) และคุณหญิงอยู่ เทพหัสดิน ณ อยุธยา มีพี่น้องร่วมบิดามารดาคือเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เมื่ออายุได้ 2 ขวบท่านบิดาได้ถึงแก่อนิจกรรมในขณะที่พี่ชายมีอายุเพียง 6 ขวบ ภาระหนักจึงอยู่กับท่านมารดาในการเลี้ยงดูและให้การศึกษาด้วยการรับจ้างเย็บปักถักร้อยและค้าขายที่มีรายได้เพียงเล็กน้อย

การศึกษา[แก้]

เด็กชายสนั่นผู้พี่มีนิสัยรักการเรียนมาแต่เด็กได้ถ่ายความรู้ให้กับเด็กชายสันทัดผู้น้องเป็นการเริ่มต้นไปด้วยจนถึงขั้นอ่านออกเขียนได้ก่อนที่จะไปเรียนกับมหาหนอ (ขุนอนุกิจวิธูร) ที่วัดเชิงเลน (วัดบพิตรพิมุข) ใกล้บ้าน เมื่ออายุ 11 ปี ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กหลวงอยู่เวรฤทธิ์ รับใช้ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมารเป็นว่า 2 ปี ก่อนเป็นมหาดเล็กปกติ ในปีเดียวกันก็สอบได้ภาษาไทยประโยค 1 เพื่อเข้าเรียนต่อในโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์และสอบประกาศนียบัตรครูฝ่ายภาษาไทยได้เมื่อ พ.ศ. 2438 ในวันที่ 10 กันยายน 2463 พระยาอนุกิจวิธูร สอบไล่ (จบการศึกษา) จากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ในขณะนั้นเรียก แผนกคุรุศึกษา) พร้อมกับ พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) ขณะดำรงตำแหน่ง ปลัดกรมตำรา และ พันเอกหลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์) ขณะดำรงตำแหน่ง ครูโรงเรียนนายร้อยทหารบก พร้อมกับได้รับเข็มหมายอักษร ค[3]

การรับราชการ[แก้]

เมื่อสอบได้แล้วจึงเข้ารับราชการเป็นครูโรงเรียนสายสวลีสัณฐาคารในตำแหน่งครูใหญ่[4]ทั้งที่มีอายุเพียง 16 ปี ทั้งนี้โดยการคัดเลือกของพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ) อธิบดีกรมศึกษาธิการในขณะนั้น และในปีเดียวกัน นายสนั่นพี่ชายซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ก็ได้รับเลือกไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ

ใน พ.ศ. 2443 เมื่อกรมศึกษาธิการวางระเบียบการแบ่งแขวงการศึกษาในกรุงเทพฯ ขุนอนุกิจวิธูรก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายตรวจแขวงกลางพระนครและได้เลื่อนเป็นนายตรวจใหญ่ของกรมศึกษาธิการเมื่อ พ.ศ. 2445 ขณะดำรงตำแหน่งได้ไปดูงานการศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลา 3 เดือนโดยร่วมไปกับคณะของเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดีครั้งยังเป็นพระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ ทูตพิเศษที่ไปรับเสด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามบรมราชกุมาร (ร. 6) ที่ทรงเสด็จกลับจากการสำเร็จการศึกษาในประเทศอังกฤษผ่านญี่ปุ่นโดยไปกับเรือพระที่นั่งมหาจักรี ข้าหลวงชุดนี้ประกอบด้วยหลวงไพศาลศิลปศาสตร์ (เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี) ขุนอนุกิจวิธูร (พระยาอนุกิจวิธูร)[5]และนายอ่อน สาริกบุตร (พระยาชำนิบรรณาคม) การดูงานครั้งนี้ได้เห็นวิธีการจัดการศึกษาในประเทศญี่ปุ่นอย่างกว้างขวางมาก เนื่องจากกระทรวงศึกษาญี่ปุ่นได้จัดเจ้าหน้าที่ประจำคอยให้การช่วยเหลือแนะนำตลอดเวลา

ระหว่าง พ.ศ. 2446พ.ศ. 2455 พระยาอนุกิจวิธูรได้เลื่อนตำแหน่งจากนายตรวจใหญ่กรมศึกษาธิการเป็นข้าหลวงธรรมการมณฑลกรุงเก่าคนแรก[6]เป็นผู้ช่วยเจ้ากรมกรมตรวจกระทรวงธรรมการ อาจารย์ผู้ปกครองโรงเรียนราชวิทยาลัย ปลัดกรมตรวจการกระทรวงธรรมการและหัวหน้าข้าหลวงตรวจการ กระทรวงธรรมการมาเป็นลำดับ พ.ศ. 2456 ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระยาอนุกิจวิธูรและได้รับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการหัตถกรรม กรมศึกษาธิการ คู่กับพระโอวาทวรกิจที่ได้ตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการพณิชการตามนโยบายส่งเสริมการศึกษาด้านวิสามัญที่เริ่มขึ้นในปีนั้น โรงเรียนฝึกการหัตถกรรมที่ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อเตรียมครูด้านนี้ได้กลายเป็นต้นกำเนิดโรงเรียนเพาะช่างในเวลาต่อมา หลวงวิศาลศิลปกรรมได้เล่าว่า "พระยาอนุกิจวิธูร ได้พยายามรวบรวมช่างต่าง ๆ มารวมกัน โดยเฉพาะช่างถม เมื่อได้รับตำราถมนครมาจากพระยาเพชรปราณี (ดั่น รักตประจิต) ซึ่งมีความรู้วิชาถมบ้านพานมาร่วมด้วย เราช่วยกันคิดหาวิธีปรับปรุงการช่างถมให้ดีขึ้น ในที่สุดผมจึงคิดวิธีลงยาถมโดยใช้กรดกัดได้สำเร็จ ดังที่เรียกว่า ถมจุฑาธุธ ทุกวันนี้ งดงามกว่าถมบ้านพาน"[7]

ผู้บัญชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[แก้]

ระหว่าง พ.ศ. 2457พ.ศ. 2459 พระยาอนุกิจวิธูรได้ดำรงตำแหน่งปลัดกรมวิสามัญศึกษาและเจ้ากรมวิสามัญศึกษา[8]และเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานโรงเรียนข้าราชการพลเรือนในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้แต่งตั้งพระยาอนุกิจวิธูรเป็นผู้บัญชาการมหาวิทยาลัยคนแรกเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2460[9]ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเรียกจากผู้บัญชาการมาเป็นอธิการบดี ในระยะเริ่มต้นงาน พระยาอนุกิจวิธูรได้จัดการและประสานงานได้อย่างราบรื่น ทั้งด้านการศึกษาและด้านสถานที่ โดยได้ขยายบริเวณมหาวิทยาลัยออกไปจากเดิมอย่างกว้างขวางดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน หม่อมเจ้าพูนศรีเกษม เกษมศรี รับสั่งว่า "เมื่อตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้นแล้ว พระยาอนุกิจวิธูรเป็นผู้บัญชาการ ฉันเป็นคณบดีคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ พระยาวิทยาปรีชามาตย์เป็นคณบดีคณะรัฐประศาสนศาสตร์ เราทำงานอย่างเป็นกันเองและสบายใจมาก"[10] ต่อมาใน พ.ศ. 2470 เมื่อพ้นตำแหน่งผู้บัญชาการแล้ว พระยาอนุกิจวิธูรได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้ช่วยปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการ

ชีวิตการทำงาน[แก้]

หนังสือธรรมจริยาเล่ม 2 พิมพ์เมื่อ ร.ศ. 122 (พ.ศ. 2447)

พระยาอนุกิจวิธูรกับเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีแม้จะมีอายุห่างกันเพียง 6 ปีเป็นพี่น้องกันแต่ก็เสมือนเป็นศิษย์กับครูกัน และยังเป็นเพื่อนร่วมงานกันได้เป็นอย่างดีด้วย ทั้งสองท่านให้ความเคารพแก่กันและกันช่วยเหลือกันในการงานมาตลอดชีวิตราชการ ความสำเร็จด้านการศึกษาตามโครงการที่เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดีได้เริ่มไว้เดิมก็ดี หรือโครงการใหม่ก็ดี จะมีพระยาอนุกิจวิธูรเป็นผู้มีส่วนร่วมด้วย เปรียบเป็นแขนข้างหนึ่งของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีก็ว่าได้ ตั้งแต่ พ.ศ. 2441 เมื่อเจ้าพระยาธรรมศักดิมนตรี กลับจากอังกฤษมาเป็นพนักงานแต่งแบบเรียนประจำกรมศึกษาธิการจัดทำหนังสือชุดธรรมจริยา พระยาอนุกิจวิธูรครั้งยังเป็นขุนอนุกิจวิธูรก็ได้ช่วยแต่งหนังสือธรรมจริยาเล่ม 1 และ 2 ซึ่งเป็นหนังสือที่เป็นคติสอนใจนักเรียนในสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี

เมื่อเข้าดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในตอนแรก พระยาอนุกิจวิธูรรู้สึกหนักใจอยู่มากเนื่องจากเป็นงานใหม่ที่ต้องรวบรวมแผนกต่าง ๆ ที่กระจัดกระจายในสังกัดกระทรวงอื่น ๆ เข้าด้วยกัน ต้องติดต่ออาจารย์ชาวต่างประเทศ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์ฯ ได้พูดปลอบว่า “การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตั้งเธอให้ดำรงตำแหน่งนี้ ก็เพราะทรงตระหนักว่าพี่ต้องเป็นผู้ช่วยเหลืออยู่เสมอ[11] พระยาอนุกิจวิธูรเคยเล่าว่าเมื่อเจ้าพระยาธรรมศักดิ์ฯ มอบหมายงานให้แล้วท่านจะไว้วางใจและให้อำนาจสิทธิ์ขาด เช่นเมื่อคราวที่นักเรียนโรงเรียนราชวิทยาลัยสไตรค์ไม่ยอมรับประทานอาหาร เมื่อทราบเรื่อง เจ้าพระยาธรรมศักดิ์ฯ บอกกับพระยาอนุกิจวิธูรว่า “พี่มอบให้เป็นอำนาจสิทธิ์ขาดของเธอในการจัดการเรื่องนี้" [11] พระยาอนุกิจวิธูรจึงหาวิธีไกล่เกลี่ยประนีประนอมได้สำเร็จเป็นการแสดงว่าสองพี่น้องนี้มีความเข้าใจกันเป็นอย่างดี

ชีวิตครอบครัวและบั้นปลายชีวิต[แก้]

พระยาอนุกิจวิธูรแต่งงานกับคุณหญิง อนุกิจวิธูร (แฉล้ม เทพหัสดิน ณ อยุธยา) แต่ไม่มีบุตรด้วยกัน แต่เนื่องจากมีนิสัยรักเด็กจึงเอาใจใส่หลานๆ ทั่วกันทุกคน เด็กในอุปการะต่างรักและเคารพท่านทุกคนเนื่องท่านเป็นคนชอบพูดเล่นหัวและเป็นกันเอง ทุกคนได้รับการถ่ายทอดอุปนิสัยความละเอียดถี่ถ้วน เยือกเย็น มัธยัสถ์รวมทั้งวิชาความรู้ต่างๆ อย่างมาก พระยาอนุกิจวิธูรมีนิสัยชอบงานอดิเรกและการสมาคม ชอบปลูกไม้ดอกและไม้ผลพันธุ์ดี ๆ ชอบเล่นตะโกดัด หน้าวัว บอน แต่งบริเวณบ้านทำลำธารเล็ก ๆ เมื่อออกจากราชการแล้วก็มีเพื่อนฝูงที่เลี้ยงไก่เป็นงานอดิเรกมาเยี่ยมเยือนอยู่เสมอ พระยาอนุกิจวิธูรจึงทดลองเลี้ยงดูบ้างและเป็นผู้สั่งใข่ไก่มาฟักร่วมกับพระยาเสนีณรงค์ฤทธิ์ (หม่อมหลวงเล็ก สนิทวงศ์) จนกระทั่งได้ตั้งเล้าไก่ขึ้นในบริเวณบ้าน ซึ่งปัจจุบันเป็นชื่อซอยสันทัด อยู่ที่ถนนเศรษฐศิริ เขตดุสิตเมื่อกรมเกษตรจัดให้มีการประกวดไก่เพื่อสนับสนุนประชาชนให้เลี้ยงไก่ พระยาอนุกิจวิธูรก็ได้ส่งไก่เข้าประกวดในนามของ “เล้าไก่สันทัด” จนชนะการประกวดหลายคราวเป็นที่รู้จักกันดีในสมัยนั้น มีคนทั้งต่างจังหวัดและในพระนครมาชมและมาซื้อไก่ไปเลี้ยงหรือซื้อไข่ไปฟักบ้าง นอกจากนี้ยังมีชาวชวาและชาวสิงคโปร์พากันติดต่อสั่งซื้อไข่ไก่พันธุ์ไปฟักก็มาก

พระยาอนุกิจวิธูร ได้สร้างวัดคูบางหลวงอนุกิจวิธูร ที่อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี ทายาทของท่านคือ นางสุนทรี จินตกวีวัฒน์ สมรสกับ ดร.จารึก จินตกวีวัฒน์ มีบุตร 1 คน และ ธิดา 1 คน

พระยาอนุกิจวิธูร รับราชการอยู่ 33 ปีเต็ม ได้รับพระราชทานยศ มหาอำมาตย์ตรี มียศตำแหน่งพิเศษเป็น นายหมวดโทเสือป่า และเป็นองคมนตรีในรัชกาลที่ 6 เครื่องราชอิสริยาภรณ์สูงสุดที่ได้รับพระราชทานคือ ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก

พระยาอนุกิจวิธูร ถึงแก่อนิจกรรมที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ด้วยโรคหัวใจวายเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2491 รวมอายุได้ 68 ปี ก่อนถึงแก่อนิจกรรมได้สั่งหลาน ๆ ให้จัดการฌาปนกิจศพอย่างเรียบง่ายภายใน 1 สัปดาห์ ไม่ให้ทำบุญแบบทุ่มเทที่เรียกว่าคนตายขายคนเป็นและให้นำเงินจำนวนหนึ่งไปมอบให้โรงพยาบาลศิริราชตั้งเป็นทุนสำหรับนักเรียนแพทย์ทำการค้นคว้าเรียกว่า ทุนพระยาอนุกิจวิธูร

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

ลำดับสาแหรก[แก้]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานยศ, เล่ม ๓๓ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๗๔๐, ๗ มกราคม ๒๔๕๙
  2. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 34 หน้า 23 วันที่ 15 เมษายน 2460 ประกาศตั้งอธิบดีกรมมหาวิทยาลัยและตั้งผู้บัญชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  3. ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ
  4. ทะเบียนประวัติพระยาอนุกิจวิธูร
  5. พระราชทานสัญญาบัตรขุนนาง
  6. พระราชทานสัญญาบัตรตำแหน่งหน้าที่ราชการ
  7. เสนาะจิตร สุวรรณโพธิศรี พระยาอนุกิจวิธูร (สันทัด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) หนังสือประวัติครู ครุสภาจัดพิมพ์ในวันครู 16 มกราคม 2503 หน้า 117
  8. ประกาศกระทรวงธรรมการ แผนกกรมศึกษาธิการ ตั้งเข้ากรมสามัญศึกษาและวิสามัญศึกษา
  9. พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งอธิบดีกรมมหาวิทยาลัยและตั้งผู้บัญชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  10. เสนาะจิตร สุวรรณโพธิศรี พระยาอนุกิจวิธูร (สันทัด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) หนังสือประวัติครู ครุสภาจัดพิมพ์ในวันครู 16 มกราคม 2503 หน้า 118
  11. 11.0 11.1 บันทึกจดหมายรายวันของพระยาอนุกิจวิธูร เอกสารที่นางเสนาะจิตร สุวรรณโพธิ์ศรี (เทพหัสดิน ณ อยุธยา) รับมรดกจากพระยาอนุกิจวิธูร พ.ศ. 2491 ไม่ได้ตีพิมพ์
  12. ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวในพระราชสำนัก วันอังคารที่ ๒ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๖๕[ลิงก์เสีย], เล่ม ๓๙ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๙๑๒, ๑๔ มกราคม ๒๔๖๕
  13. ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวในพระราชสำนัก วันพฤหัสบดีที่ ๓๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๖๓ เก็บถาวร 2022-06-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๓๗ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๓๖๘, ๘ มกราคม ๒๔๖๓
  14. ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวในพระราชสำนัก วันอังคารที่ ๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๖๐ เก็บถาวร 2022-06-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๓๔ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๙๕๔, ๑๓ มกราคม ๒๔๖๐
  15. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญจักรพรรดิมาลา เก็บถาวร 2022-06-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๓๙ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๑๓๔, ๒๘ มกราคม ๒๔๖๕

บรรณานุกรม[แก้]

  • เสนาะจิตร สุวรรณโพธิศรี พระยาอนุกิจวิธูร (สันทัด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) หนังสือประวัติครู ครุสภาจัดพิมพ์ในวันครู 16 มกราคม 2503
  • ธรรมศักดิ์มนตรี, เจ้าพระยา. บทประพันธ์บางเรื่องของครูเทพ. พระนคร: ไทยเขษม, 2486
  • ไพศาลศิลปศาสตร์, พระ. รายงานการศึกษาประเทศญี่ปุ่น พระนคร: บำรุงกิจนุกูล. 2446
  • ทะเบียนประวัติพระยาอนุกิจวิธูร
  • ราชกิจจานุเบกษา


ก่อนหน้า พระยาอนุกิจวิธูร (สันทัด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ถัดไป
-
ผู้บัญชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
(6 เมษายน พ.ศ. 2460 - 31 มีนาคม พ.ศ. 2468)
มหาอำมาตย์ตรี พระยาภะรตราชา
(หม่อมหลวงทศทิศ อิศรเสนา)