พระยาไชยสงคราม (ทิพย์ช้าง)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก พระยาสุลวลือไชยสงคราม)
พระยาไชยสงคราม
หนานทิพย์ช้าง
พระเจ้าทิพย์จักรสุละวะฤๅไชยสงคราม
พระยานครลำปาง
ครองราชย์พ.ศ. 2275 - 2302
รัชสมัย27 ปี
ก่อนหน้าท้าวมหายศ
ถัดไปเจ้าฟ้าสิงหาราชธานีเจ้าฟ้าหลวงชายแก้ว
กษัตริย์พระเจ้าตะนินกันเหว่
พระเจ้ามหาธรรมราชาธิบดี
พระเจ้าอลองพญา
ประสูติพ.ศ. 2217
ตำบลปงยางคก อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง
หนานทิพย์ช้าง
พิราลัยพ.ศ. 2302 (85 พรรษา)
เมืองลำปาง
ราชเทวีแม่เจ้าปิมปามหาเทวี
พระราชบุตร
ราชวงศ์ทิพย์จักร
ศาสนาเถรวาท

พระยาไชยสงคราม[1] พระเจ้าทิพย์จักรสุละวะฤๅไชยสงคราม[2][3][4][5] พระยาสุลวะลือไชยสงคราม หรือ พ่อเจ้าทิพย์ช้าง () เป็นเจ้าผู้ครองนครลำปางในช่วง พ.ศ. 2275 - 2302 (จ.ศ. 1120) และต้นราชวงศ์ทิพย์จักร

พระประวัติ[แก้]

พระยาสุลวะลือไชยสงคราม เดิมเป็นสามัญชนชาวบ้านปงยางคก (ปัจจุบันคือตำบลปงยางคก อำเภอห้างฉัตร) มีนามเดิมว่า "ทิพย์ช้าง" เกิดในราวปี พ.ศ. 2217 ได้บวชเรียนที่วัดปงยางคก และสึกออกมาประกอบอาชีพพรานป่า มีความเชี่ยวชาญการใช้อาวุธ และมีความสามารถในการขับไล่และตัดหางช้างที่มารบกวนพืชผลของชาวบ้านได้ ชาวบ้านจึงขนานนามว่า "หนานทิพย์ช้าง"[6] หนานทิพย์ช้าง มีภรรยาคนหนึ่งชื่อ "นางปิมปา" ชาวบ้านหนาดคำ แคว้นบ้านเอื้อม (ปัจจุบันคือตำบลบ้านเอื้อม อำเภอเมืองลำปาง)

ในช่วงปลายของกรุงศรีอยุธยา นครเชียงใหม่เป็นเมืองขึ้นของพม่า ส่วนลำปางเป็นนครรัฐอิสระ กระทั่งท้าวหนานมหายศ เจ้าเมืองลำพูนยกทัพมาตีชนะเมืองลำปาง และตั้งศูนย์บัญชาการที่วัดพระธาตุลำปางหลวง เหล่าบรรดาประชาชนจึงได้ขอให้หนานทิพย์ช้าง นายพรานผู้เก่งกล้าและเชี่ยวชาญอาวุธปืนยาวและหน้าไม้ เป็นผู้นำในการกอบกู้นครลำปาง โดยสามารถรบชนะและสังหารท้าวมหายศได้ที่วัดพระธาตุลำปางหลวง ชาวเมืองจึงร่วมกันสถาปนาหนานทิพย์ช้าง ขึ้นครองนครลำปาง ในปี พ.ศ. 2275[7] มีพระนามว่า พระญาสุลวะลือไชย

ด้วยล้านนามีคติว่า "บ่ใจ้เจื้อเจ้าก่ออย่าหวังเป๋นพระญา บ่ใจ้เจื้อเสนาก่ออย่าหวังเป๋นอำมาตย์ บ่ใจ้เจื้อคนแกล้วอาจก่ออย่าหวังเป๋นขุนหาญ บ่ใจ้เจื้อนักก๋านก่ออย่าหวังเป๋นเถ้าแก่"[8] หนานทิพย์ช้างซึ่งเป็นเพียงสามัญชนรู้สึกว่าตนเองไม่มีสิทธิธรรมในการปกครอง จึงต้องอาศัยความชอบธรรมโดยการแต่งตั้งของกษัตริย์พม่า หนานทิพย์ช้างได้ส่งเครื่องราชบรรณาการไปถวายพระเจ้ากรุงอังวะ และได้รับการเฉลิมพระนามจากพระเจ้ากรุงอังวะเป็นพระยาไชยสงคราม ในปี พ.ศ. 2278[9] บางตำราจึงมักออกพระนามรวมกันเป็นพระยาสุลวะลือไชยสงคราม หรือ พระเจ้าทิพย์จักรสุละวะฤๅไชยสงคราม พระองค์ปกครองนครลำปางได้ 27 ปี จึงถึงแก่พิราลัยในปี พ.ศ. 2302

พระราชบุตร[แก้]

อนุสาวรีย์พ่อเจ้าทิพย์ช้าง

พระยาสุลวะลือไชยสงคราม มีพระราชโอรสและะพระราชธิดา รวม 6 พระองค์ ตามรายพระนามดังนี้

  • เจ้าชายอ้าย
  • เจ้าฟ้าสิงหาราชธานีเจ้าฟ้าหลวงชายแก้ว เจ้าฟ้าเมืองลำปาง ในฐานะประเทศราชของพม่า (2302 - 2317) เป็นเจ้าราชบิดาในเจ้าเจ็ดตน
  • เจ้าหญิงคำทิพ
  • เจ้าหญิงคำปา
  • เจ้าชายพ่อเรือน เจ้าราชบิดาในพระยาพุทธวงศ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 4 เจ้าบุรีรัตน์ (น้อยกาวิละ) และเจ้าราชวงศ์ (คำมูล)
  • เจ้าหญิงกม (กมลา)

อนุสาวรีย์[แก้]

อนุสาวรีย์ ณ ตำบลพระบาท[แก้]

อนุสาวรีย์พระยาสุลวลือไชยสงคราม ตั้งอยู่ที่ริมถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ลำปาง-งาว ตำบลพระบาท อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง โดยความดูแลของเทศบาลนครลำปาง ก่อสร้างขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติคุณของเจ้าหนานทิพย์ช้าง หรือพระยาสุลวะลือไชยสงคราม ในปี พ.ศ. 2527 โดยสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ เสด็จทรงประกอบพิธีเททอง[10] และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดอนุสาวรีย์ เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2527[11]

โดยจะมีการจัดพิธีบวงสรวงในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ของทุกปี

อนุสาวรีย์ ณ วัดพระธาตุลำปางหลวง[แก้]

วัดพระธาตุลำปางหลวง มีความสำคัญเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์การต่อสู้ของพระยาสุลวลือไชยสงคราม ดังปรากฏเป็นรอยกระสุนปืนของพระยาสุลวลือไชยสงคราม บริเวณรั้วพระธาตุลำปางหลวง จึงได้มีการจัดสร้างอนุสาวรีย์พระยาสุลวลือไชยสงคราม บริเวณลานหน้าวัดพระธาตุลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง

อนุสาวรีย์ ณ วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม[แก้]

อนุสาวรีย์เจ้าหนานทิพย์ช้าง ภายในบริเวณวัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม อำเภอเมืองลำปาง เป็นอนุสาวรีย์รูปปูนปั้นองค์ยืน ขนาดใกล้เคียงองค์จริง สองมือถือปืน ประทับในศาลาบริเวณลานหน้าวัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม

อนุสาวรีย์เจ้าหนานทิพย์ช้าง ณ วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม

อนุสรณ์สถาน[แก้]

สภาวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง ได้ดำเนินการจัดสร้างอนุสรณ์สถานพระยาสุลวลือไชยสงคราม บริเวณบ้านหนาดคำ ตำบลบ้านเอื้อม อำเภอเมืองลำปาง ซึ่งเป็นบ้านเกิดของแม่เจ้าปิมปามหาเทวี ในพระยาสุลวลือไชยสงคราม และเป็นที่พำนักของหนานทิพย์ช้าง ก่อนจะขึ้นครองนครลำปาง

ภายในบริเวณอนุสรณ์สถานประกอบด้วย อาคารเรือนพ่อเจ้าทิพย์ช้าง เป็นอาคารเรือนไม้ยกพื้นสูง และอาคารแสดงนิทรรศการพ่อเจ้าทิพย์ช้าง

ในวัฒนธรรมสมัยนิยม[แก้]

มีนักแสดงผู้รับบท พระยาไชยสงคราม (ทิพย์ช้าง) ได้แก่

อ้างอิง[แก้]

  1. สรัสวดี อ๋องสกุล. (2554). ประวัติศาสตร์ล้านนา. สำนักพิมพ์อมรินทร์.
  2. ศิลปะวัฒนธรรม. (2020, August 8). “เจ้าพ่อทิพย์ช้าง” ต้นวงศ์ “เจ้าเจ็ดตน” ผู้ปลดแอกลำปางจากพม่า-สวามิภักดิ์พม่าจริงหรือ? https://www.silpa-mag.com/history/article_35036
  3. กัลยา เกื้อตระกูล. (2552). ต้นตระกูลเจ้าเมือง สายสกุล ณ ในสยาม. กรุงเทพฯ: ยิปวี กรุ๊ป.
  4. Khananāphō̜n, T. (2008). สิงห์ล้านนา. สำนักพิมพ์ ริช.
  5. Wongtāwan, P. (2009). ประวัติศาสตร์สงครามเก้าทัพ สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์. สำนักพิมพ์ยิปซี กรุ๊ป.
  6. สภาวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง, อนุสรณ์สถานพ่อเจ้าทิพย์ช้าง, ลำปาง : สภาวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง, 2554
  7. วรเทวี (ณ ลำพูน) ชลวณิช. เจ้าหลวงลำพูน กรุงเทพฯ : อัมรันทร์พริ้นติ้ง. 2552
  8. คำสอนพระยามังราย. หน้า 21
  9. คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์, ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่, พระนคร : โรงพิมพ์สำนักนายกรัฐมนตรี, 2514, หน้า 88
  10. อนุสาวรีย์พ่อเจ้าทิพย์ช้าง[ลิงก์เสีย] จาก ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม
  11. ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวในพระราชสำนัก (วันที่ ๑๗ - ๒๖ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๒๗) เล่ม 101 ตอนที่ 26 หน้า 663 วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2527
ก่อนหน้า พระยาไชยสงคราม (ทิพย์ช้าง) ถัดไป
พระยานคร เจ้าผู้ครองนครลำปาง
(พ.ศ. 2275 - พ.ศ. 2302)
เจ้าฟ้าสิงหาราชธานีเจ้าฟ้าหลวงชายแก้ว