พระยาวิชิตภักดี (เต็งกูอับดุลกอเดร์ กามารุดดีน)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระยาวิชิตภักดี
(เต็งกูอับดุลกอเดร์ กามารุดดีน)
เกิดพ.ศ. 2420
เมืองปัตตานี ประเทศสยาม ไทย
เสียชีวิต19 พฤษภาคม พ.ศ. 2476
รัฐกลันตัน นิคมช่องแคบ
บุตร7 องค์
บุพการี
  • พระยาวิชิตภักดี (เต็งกูสุไลมานซารีฟุดดีน) (บิดา)

พระยาวิชิตภักดีศรีสุรวังษารัตนาเขตประเทศราช (เต็งกูอับดุลกอเดร์ กามารุดดีน) (มลายู: Tengku Abdul Kadir Kamaruddin) เป็นพระยาเมืองปัตตานีในช่วงปี พ.ศ. 2442 - 2445 โดยเป็นรายาปัตตานีองค์ที่ 11 และเป็นองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์กลันตันที่ปกครองปัตตานี

พระประวัติ[แก้]

เต็งกูอับดุลกอเดร์ กามารุดดีน เป็นโอรสในเต็งกูสุไลมานชารีฟุดดีน โดยมีพระพี่น้องร่วมกัน 4 องค์ ดังนี้

  1. เต็งกูสุหลง ชายาเต็งกูบิตารา ชายาท่านนี้มีมารดาคือเต็งกูนิปูเตะ ธิดารายาเมืองสายบุรี
  2. เต็งกูบือซาร์ ต่วนกัมบัล ชายาเต็งกูมูฮัมหมัด อุปราชเมืองปัตตานี
  3. เต็งกูอับดุลกอเดร์ กามารุดดีน
  4. เต็งกูมูฮัมหมัดซอและ

โอรส-ธิดา[แก้]

เต็งกูอับดุลกอเดร์ กามารุดดีน มีโอรส-ธิดาที่ประสูติจากเต็งกูบุตรีกลันตันด้วยกัน 7 องค์ โดยเป็นโอรส 3 องค์ และธิดา 4 องค์ ได้แก่

  1. เต็งกูอะหมัดนูรุดดีน (เต็งกูศรีอาการายา) จากต่วนนามัสปะตานี
  2. เต็งกูซูไบด๊ะ (เต็งกูบือซาร์) พระอัยยิกาในสมเด็จพระราชาธิบดีตวนกู ซัยยิด ซีรอญุดดีน รายาแห่งรัฐปะลิส
  3. เต็งกูยูโซฟชาฟุดดีน
  4. เต็งกูราว์เดาะ ประไหมสุหรีรายาหะยี ฮาหมัดเประ
  5. เต็งกูกามารีเยาะ ทายาทอินเจะมอร์นะปะตานี
  6. เต็งกูมะห์มูดหมูดมะห์ยุดดีน
  7. เต็งกูยะห์ ชายาเต็งกูอับดุลกอเดร์ (เต็งกูปุตรา) บุตรรายาเมืองสายบุรี

รายาแห่งปัตตานี[แก้]

หลังจากพระยาวิชิตภักดี (เต็งกูสุไลมานชารีฟุดดีน) พระบิดาได้ถึงแก่พิราลัยแล้ว เต็งกูอับดุลกอเดร์ กามารุดดีน จึงได้ขึ้นตำแหน่งเจ้าเมืองปัตตานีในปี พ.ศ. 2441 ระหว่างที่รอพระบรมราชโองการแต่งตั้งเจ้าเมืองนี้เอง พระยาสุขุมนัยวินิตเกณฑ์กำลังทหารกว่า 600 คนมาบีบบังคับการเสียภาษีของประชาชน และสั่งห้ามมิให้รั้งตำแหน่งเจ้าเมืองลงโทษผู้ขาดละหมาดวันศุกร์ สร้างความคับแค้นใจแก่เขาอย่างมาก หลังเต็งกูอับดุลกอเดร์ได้รับพระบรมราชโองการให้เป็นเจ้าเมืองปัตตานีในตำแหน่ง "พระยาวิชิตภักดีศรีสุรวังษารัตนาเขตประเทศราช" แล้ว พระองค์จึงมีพระหัตถเลขาร้องเรียนความทุกข์ต่างๆไปยังข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำสิงคโปร์ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2441 โดยระบุว่านโยบายของสยามต่อปัตตานี "กำลังนำไปสู่ความพินาศของบ้านเมืองของข้าพเจ้า"[1] อังกฤษต้องการจะรักษาไมตรีกับสยามจึงเมินเฉยต่อจดหมายดังกล่าว

คิดขบถต่อสยาม[แก้]

หลังถูกอังกฤษเมินเฉย พระองค์จึงทรงเรียกประชุมเจ้าเมืองต่างๆที่ปัตตานี ที่ประชุมเห็นชอบที่จะก่อขบถขึ้นในปลายเดือนตุลาคม พ.ศ. 2444 โดยหวังว่าเมื่อหัวเมืองทางใต้ลุกฮือขึ้น ฝรั่งเศสจะถือเข้าตีสยามจากอินโดจีนทางเหนือทำให้สยามคงต้องยอมปล่อยหัวเมืองมลายูให้เป็นอิสระ[2] อย่างไรก็ตาม ก่อนการขบถเพียงหนึ่งเดือน ข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำสิงคโปร์ได้เข้าเฝ้าเต็งกูอับดุลกอเดร์ และเกลี้ยกล่อมให้ทรงอดทนไม่ใช้ความรุนแรง โดยรับปากว่าจะปรึกษากับรัฐบาลอังกฤษให้หาทางคืนอำนาจให้รายาปัตตานี[3] เต็งกูอับดุลกอเดร์คล้อยตามจึงทรงยกเลิกแผนก่อขบถ อย่างไรก็ตาม กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษกลับตัดสินใจนำข่าวการขบถนี้แจ้งไปยังรัฐบาลสยามเสียเอง

ลงนามให้สยามปกครอง[แก้]

เมื่อรัฐบาลสยามทราบข่าวจากอังกฤษว่าบรรดาหัวเมืองมลายูวางแผนขบถทําการทุรยศ จึงโปรดเกล้าให้พระยาศรีสหเทพลงไปสืบความ หลังพระยาศรีสหเทพรับฟังปัญหาต่างๆจากเต็งกูอับดุลกอเดร์แล้ว พระยาศรีสหเทพได้ทูลหว่านล้อมให้เต็งกูอับดุลกอเดร์ลงพระนามในหนังสือฉบับหนึ่งซึ่งเขียนด้วยภาษาไทยจนสำเร็จ เมื่อพระยาศรีสหเทพเดินทางออกจากปัตตานีไปยังสิงคโปร์แล้ว เต็งกูอับดุลกอเดร์จึงโปรดให้เจ้าพนักงานแปลหนังสือดังกล่าวให้ถูกต้องอีกครั้ง ก่อนจะพบว่าเนื้อหาของหนังสือดังกล่าวแตกต่างโดยสิ้นเชิงจากที่พระยาศรีสหเทพได้อ่านให้ฟัง โดยมีเนื้อหาที่แท้จริงว่า "รายาปัตตานีเห็นชอบและยอมรับพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ. ๑๑๖ เพื่อความมั่นคงของปัตตานี และเห็นชอบให้แต่งตั้งข้าราชการระดับสูงของสยามที่มีอำนาจเด็ดขาดทุกเรื่องในปัตตานี"[3] ส่วนพระยาศรีสหเทพได้เดินทางไปยังสิงคโปร์เพื่อแจ้งต่อข้าหลวงอังกฤษว่าปัญหาปัตตานีคลี่คลายแล้ว

เต็งกูอับดุลกอเดร์ได้ทรงพยายามต่อรองกับรัฐบาลสยามเพื่อขอให้ปัตตานีปกครองตนเองเหมือนแต่ก่อน แต่ก็ไม่เป็นผล จึงทรงร้องขอให้อังกฤษเข้าช่วยเจรจากับรัฐบาลสยาม โดยกล่าวว่าถ้าอังกฤษไม่ให้ความร่วมมือ ปัตตานีก็ไม่มีทางเลือกนอกจากก่อขบถ[3] อังกฤษเมื่อทราบเช่นนี้จึงแจ้งไปยังรัฐบาลสยาม รัฐบาลสยามจึงโปรดเกล้าให้พระยาศรีสหเทพลงมาปัตตานีอีกครั้งเพื่อชำระความ

ถูกปลดจากตำแหน่งและถูกควบคุมตัว[แก้]

พระยาศรีสหเทพในฐานะเสนาบดีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยเดินทางไปยังปัตตานีพร้อมตำรวจสยามราว 100 นาย และได้เข้าพบเต็งกูอับดุลกอเดร์ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2445 และบังคับให้เต็งกูอับดุลกอเดร์ลงพระนามในข้อบังคับปกครองเจ็ดหัวเมือง พ.ศ. 2445 โดยให้เวลา 5 นาทีไม่เช่นนั้นจะถูกปลดจากเจ้าเมือง เต็งกูอับดุลกอเดร์ทรงไม่ยอมลงพระนามจึงถูกปลดจากตำแหน่งและถูกนำพระองค์มาที่สงขลา หลังไม่กี่วันหลังจากนั้น เจ้าเมืองระแงะและเจ้าเมืองสายบุรีก็ถูกจับด้วยและถูกนำตัวไปยังพิษณุโลกโดยต้องโทษพิพากษาจำคุก 3 ปี [4]

ได้รับอภัยโทษ[แก้]

ภายหลังเต็งกูอับดุลกอเดร์ได้สำนึกผิดและขอไปอยู่อย่างสามัญชน รับปากว่าจะไม่ข้องเกี่ยวกับการปกครองใดๆ จึงทรงได้รับพระราชทานอภัยโทษให้เสด็จกลับปัตตานี[5] เมื่อเสด็จถึงปัตตานีมีราษฎรประมาณ 500 คน นั่งเรือ 80 ลำ ไปรับที่ปากน้ำ อีกประมาณ 2,000 คนยืนต้อนรับอยู่บนตลิ่งสองข้างแม่น้ำตานี ประทับที่ปัตตานีได้ไม่นานก็ย้ายไปประทับในรัฐกลันตันในเวลาต่อมาและถึงแก่พิราลัยที่นั่นเมื่อปี พ.ศ. 2477

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. บางนรา. ปัตตานี : อดีต-ปัจจุบัน. หน้า ๘๕-๘๗. อ้างถึงใน ทวีศักดิ์ เผือกสม. “อยุธยาในเงื้อมมือของปัตตานี,” หน้า ๔๓.
  2. Nik Anuar Nik Mahmud. Sejarah Perjuangan Melayu Patani. p.31.
  3. 3.0 3.1 3.2 จดหมายลับของ Swettenham ถึง CO, Rahsia และ Sulit ลงวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๐๑ อ้างถึงใน Ibid.
  4. รัตติยา สาและ. การปฏิสัมพันธ์ระหว่างศาสนิกที่ปรากฏในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส. (กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, ๒๕๔๔), หน้า ๕๔.
  5. เตช บุนนาค. ขบถ ร.ศ. ๑๒๑. หน้า ๙๗.
  • อิบรอฮิม ชุกรี. ประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรมลายูปะตานี. เชียงใหม่:ซิลค์เวอร์ม บุคส์, 2549 ISBN 974-9575-99-7, หน้า 68-71
  • รศ.มัลลิกา คณานุรักษ์. บุคคลสำคัญของปัตตานี, 2545
ก่อนหน้า พระยาวิชิตภักดี (เต็งกูอับดุลกอเดร์ กามารุดดีน) ถัดไป
เต็งกูสุไลมานซารีฟุดดีน รายาแห่งปาตานี
(พ.ศ. 2441 - 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2445)
สยามยกเลิกตำแหน่งและเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นมณฑลปัตตานี