พระยายมราช (หมัด)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระยายมราช (หมัด)
เสียชีวิตปลายรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
กรุงธนบุรี
สัญชาติไทย
ชื่ออื่นพระยายมราชแขก
ผลงานเด่นสงครามครั้งรบกับอะแซหวุ่นกี้ สงครามตีเมืองพุทไธมาศ
ตำแหน่งทหาร
บิดามารดา
  • เจ้าพระยาจักรี (หมุด) (บิดา)
หมวดหมู่:บรรดาศักดิ์ชั้นพระยา
หมายเหตุ
ถูกประหารชีวิตในเหตุการณ์กบฏมหาดา

พระยายมราช (หมัด) หรือ จุ้ย หรือบ้างก็เรียกว่า "พระยายมราชแขก" เป็นบุตรของเจ้าพระยาจักรี (หมุด) เกิดเมื่อปีใดไม่ปรากฏ ได้เข้ารับราชการในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีพร้อมบิดา ถูกประหารชีวิตในปลายรัชกาลซึ่งเป็นช่วงที่เชื่อกันว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเสียพระสติ

พระยาอภัยรณฤทธิ์[แก้]

ในครั้งที่ดำรงตำแหน่งพระยาอภัยรณฤทธิ์ ได้ร่วมไปกับทัพเรือของบิดาที่เข้าตีเมืองพุทไธมาศ เมื่อ พ.ศ. 2314 และราชการสงครามอื่น ๆ อีกมาก

พระยายมราช[แก้]

เมื่อบิดาเสียชีวิต พระยาอภัยรณฤทธิ์ (หมัด) ได้เลื่อนขึ้นเป็นพระยายมราช และมีส่วนร่วมในราชการสงครามอีกหลายครั้ง เช่น รบกับอะแซหวุ่นกี้ที่เมืองพิษณุโลกเมื่อ พ.ศ. 2318 โดยท่านเป็นผู้คุมทัพหลวงตามขึ้นไปหลังจากเจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) ยกไปตั้งรับที่พิษณุโลก ทัพของท่านถูกพม่าโอบเข้าด้านหลังตีค่ายแตก แต่ท่านชิงค่ายคืนได้ เมื่อเจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์ตีหักออกจากเมืองพิษณุโลกไปตั้งมั่นที่เพชรบูรณ์ ประกอบกับอะแซหวุ่นกี้ยกทัพกลับเพราะปัญหาภายในอังวะ พระยายมราชเป็นผู้คุมทัพไปตามทัพพม่าถึงด่านแม่ละเมา ยิงทหารพม่าล้มตายและจับเป็นเชลยได้มาก

ถูกประหาร[แก้]

ใน พ.ศ. 2322 เกิดกบฏมหาดา โดยมหาดาที่บวชอยู่ที่อยุธยาตั้งตัวเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ตั้งข้าราชการครบตำแหน่ง สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงให้ข้าหลวงไปจับตัวมหาดาและผู้ที่มหาดาแต่งตั้งเป็นขุนนางลงมาจำไว้ ก่อนจะนำไปประหารที่ป้อมวิชัยประสิทธิ์ พระยายมราช (หมัด) ถูกจำและประหารพร้อมกับกลุ่มกบฏนี้ด้วย โดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด ในพระราชพงสาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ระบุว่าในปี พ.ศ. 2322 พระยายมราชแขกเป็นโทษต้องพระราชอาญาในเรือนจำแต่ไม่ระบุสาเหตุ หลักฐานบางแห่งกล่าวว่า เป็นเพราะสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสียพระสติ เมื่อทราบว่ามหาดาตั้งขุนนางครบทุกตำแหน่ง ขาดแต่พระยายมราช จึงให้นำตัวพระยายมราชไปจำให้ครบตำแหน่งขุนนางแล้วประหารเสียพร้อมกัน

อ้างอิง[แก้]

  • สรยุทธ ชื่นภักดี. มุสลิมมัสยิดต้นสนกับบรรพบุรุษ 3 สมัย ใน มุสลิมมัสยิดต้นสนกับบรรพชน 3 สมัย. กทม. : จิรรัชการพิมพ์, 2544.