พระยาปทุมเทพภักดี (ธน ณ สงขลา)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

อำมาตย์โท พระยาปทุมเทพภักดี (ธน ณ สงขลา) เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดตราดคนที่ 13 (6 กุมภาพันธ์ 2456 - 30 ตุลาคม 2463) และผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีคนที่ 15 (พ.ศ. 2465 - พ.ศ. 2469)[1]

ประวัติ[แก้]

พระยาปทุมเทพภักดี นามเดิมคือ ธน ณ สงขลา เป็นบุตรคนที่ 14 ของเจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น ณ สงขลา)[2] หลังจบการศึกษาได้เข้ารับราชการเป็นปลัดอำเภอในหลายอำเภอในภาคใต้

พ.ศ. 2448 ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นรองอำมาตย์เอก หลวงรักษ์นรกิจ ต่อมาในปี พ.ศ. 2465 ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์และยศเป็นอำมาตย์ตรี พระตราษบุรีศรีสมุทรเขตต์ ต่อมาได้เลื่อนยศเป็นอำมาตย์โท ก่อนที่จะมาได้รับตำแหน่งที่จังหวัดตราด ท่านได้ดำรงตำแหน่งนายอำเภอไชยา (จังหวัดสุราษฏร์ธานี) สมัยที่ยังเรียกว่าอำเภอภุมเรียง ท่านรับราชการที่จังหวัดตราดได้ประมาณ 8 ปี ท่านมาในตำแหน่ง “ผู้ว่าราชการเมืองตราด” และจากไปในขณะที่ท่านอยู่ในตำแหน่ง “ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด” เนื่องจากมีการประกาศเปลี่ยนแปลงคำว่า “เมือง” มาเป็น “จังหวัด” และ “ผู้ว่าราชการเมือง” มาเป็น “ผู้ว่าราชการจังหวัด” ในปี พ.ศ.2459 จากจังหวัดตราดท่านได้ย้ายไปเป็นปลัดมณฑลอุบลราชธานี และในปี พ.ศ. 2465 ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระยาปทุมเทพภักดีศรีอุบลราชธานินทร์

ระหว่างดำรงตำแหน่งที่จังหวัดตราด พระยาตราษบุรีศรีสมุทร์เขตต์ได้ย้ายและสร้างสถานที่ราชการมากมาย บางแห่งสามารถใช้ประโยชน์ต่อมาได้อีกหลายสิบปี เช่น สถานีตำรวจภูธรประจำจังหวัด ที่ว่าการอำเภอเขาสมิง ที่ว่าการป่าไม้จังหวัดตราด เป็นต้น รวมทั้งสร้างบ้านพักราชการฝ่ายต่างๆอีกหลายแห่ง

“ตราษบุรีศรีสมุทร์เขตต์” หมายถึง เจ้าเมืองตราดผู้เป็นมิ่งขวัญแห่งเมืองชายทะเล[3]

พระยาปทุมเทพภักดี ถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2499 สิริอายุรวม 77 ปี[2]

สร้างโรงเรียนตราษตระการคุณ[แก้]

ในปี พ.ศ. 2461 พระตราษบุรีศรีสมุทร์เขตต์ (ธน ณ สงขลา) ผู้ว่าราชการจังหวัดตราดคนใหม่ได้พิจารณาเห็นว่าโรงเรียนเวฬุสุนทรการไม่เหมาะที่จะเป็นโรงเรียนตัวอย่างประจำจังหวัดตราดจึงเรี่ยไรเงินจากข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน ก่อสร้างอาคารเรียนขึ้นใหม่ ใกล้กับสโมสรเสือป่า (ปัจจุบันคือที่ว่าการอำเภอเมือตราดหลังเก่า) ปี พ.ศ. 2463 ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปีเศษ รวมค่าก่อสร้าง 4,670.50 บาท และได้ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2463 โดยเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เสนาบดีกระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการ) เป็นประธาน และให้นามโรงเรียนนี้ว่า โรงเรียนตราษตระการคุณ อันเป็นมงคลนาม และเป็นอนุสรณ์แด่พระตราษบุรีศรีสมุทรเขตต์ (ธน ณ สงขลา) ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการสร้างอาคารเรียนหลังนี้ อาคารเรียนที่สร้างขึ้นเป็นอาคารไม้ใต้ถุนสูง ภายในโล่ง จุนักเรียนได้ 160 คน การเรียนการสอนแบ่งเป็นระดับประถมศึกษา คือ ป.1 - ป.4 กับระดับมัธยมศึกษา คือ ม.1 - ม.3 (เทียบเท่า ป.5 - ป.7 ในสมัยต่อมา)

“ตราษตระการคุณ” หมายถึง ผลงานแห่งความเกื้อกูลอันงดงานของพระตราษบุรีศรีสมุทร์เขตต์[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. "เจ้าเมือง/ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-08-05. สืบค้นเมื่อ 2015-03-24.
  2. 2.0 2.1 พระยาปทุมเทพภักดี (ธน), ชมรมสายสกุล ณ สงขลา
  3. "จังหวัดตราด." ตราด : 2523.(อัดเสำเนา.) บริหารเทพธานี, พระ. "ประวัติจังหวัดตราด." วารสารสมาคมชาวตราด ฉบับพิเศษ, 11(กันยายน, 2525), 45-92.
  4. ตราษตระการคุณ, โรงเรียน. 90 ปี ตราษตระการคุณ. ม.ป.ท. 2532. บรรเทิง ยันต์โกเศศ