สมเด็จพระมหินทราธิราช

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก พระมหินทร)
สมเด็จพระมหินทราธิราช
พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา
ครองราชย์พ.ศ. 2111-2112 (1 ปี)
ก่อนหน้าสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
ถัดไปสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช
(ราชวงศ์สุโขทัย)
พระราชสมภพพ.ศ. 2082
สวรรคตพ.ศ. 2112 (30 พรรษา)
เมืองแครง อาณาจักรตองอู[1]
ราชวงศ์สุพรรณภูมิ
พระราชบิดาสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
พระราชมารดาพระสุริโยทัย

สมเด็จพระมหินทราธิราช[2] พระนามเดิมว่า พระมหินทราธิราช หรือเรียกสั้น ๆ อีกชื่อหนึ่งได้ว่า พระมหินทร์ เป็นพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 16 แห่งอาณาจักรอยุธยา[3] พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ระบุว่าพระองค์ทรงไม่เอาพระทัยใส่การศึก ทำให้การรักษาพระนครอ่อนแอลงจนเสียกรุงครั้งที่หนึ่ง[4]

พระราชประวัติ[แก้]

สมเด็จพระมหินทราธิราช มีพระนามเดิมว่า พระมหินทราธิราช ทรงพระราชสมภพราว พ.ศ. 2082 เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่สองในสมเด็จพระมหาจักรพรรดิกับพระสุริโยทัย มีพระเชษฐาคือพระราเมศวรผู้เป็นพระมหาอุปราช และมีพระขนิษฐาคือพระวิสุทธิกษัตรีย์ พระบรมดิลก พระเทพกษัตรีย์ และยังมีพระอนุชาและพระขนิษฐาต่างพระชนนี คือ พระศรีเสาวราช กับ พระแก้วฟ้า

พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ระบุว่าพระมหินทราธิราชได้ตามเสด็จฯ ออกรบในสงครามพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ด้วย แต่ถูกทหารมอญล้อมจับพร้อมกับพระราเมศวรไปถวายพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ซึ่งประทับที่เมืองชัยนาท สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงทราบจึงส่งพระราชสาส์นไปขอให้ปล่อยพระราชโอรสทั้งสองพระองค์คืนกรุงศรีอยุธยา[5] พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ทรงตกลงโดยขอแลกกับช้างพลายมงคลทวีปและช้างพลายศรีมงคลไปไว้กรุงหงสาวดี สมเด็จพระมหาจักรพรรดิปรึกษามุขมนตรีแล้วก็ตกลงถวาย กองทัพพระเจ้าหงสาวดีจึงยกทัพกลับไป[6]

พระราชกรณียกิจ[แก้]

หลังสงครามช้างเผือกที่ทำให้เสียพระราเมศวรแก่กรุงหงสาวดีในปี พ.ศ. 2106 สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงสละราชสมบัติให้พระมหินทราธิราชซึ่งขณะนั้นพระชนมายุได้ 25 พรรษา สมเด็จพระมหินทราธิราชทรงขัดพระทัยที่ต้องอยู่ใต้บังคับบัญชาสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้าเมืองพิษณุโลก ทรงปรึกษากับพระยารามแล้วจึงชักชวนสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชให้มาตีเมืองพิษณุโลก[7] เมื่อทัพทั้งสองฝ่ายประชิดเมืองพิษณุโลกได้แล้วก็ยังตีเมืองไม่สำเร็จ เพราะมีทัพจากพระเจ้าบุเรงนองมาช่วยเมืองพิษณุโลก[8]

เมื่อแผนการไม่สำเร็จสมเด็จพระมหินทราธิราชก็เลิกทัพคืนกรุงศรีอยุธยา ทรงเห็นว่าสมเด็จพระมหาธรรมราชากับหัวเมืองเหนืออยู่ข้างกรุงหงสาวดีและไม่ไยดีกับกรุงศรีอยุธยาแล้ว[9] จึงอัญเชิญพระราชบิดาลาผนวชมาครองราชสมบัติดังเดิมในปี พ.ศ. 2111 และใช้โอกาสที่สมเด็จพระมหาธรรมราชากับพระนเรศไปเข้าเฝ้าพระเจ้าบุเรงนองที่กรุงหงสาวดี[10] ยกทัพไปชิงพระวิสุทธิกษัตรีย์ พระเอกาทศรถ และครอบครัวของพวกข้าหลวงเดิมมาไว้กรุงศรีอยุธยา ขากลับสมเด็จพระมหินทราธิราชพยายามตีเมืองกำแพงเพชรเพราะทรงเห็นว่าเป็นกำลังฝ่ายข้าศึก แต่ไม่สำเร็จ[11] สมเด็จพระมหาธรรมราชาทราบข่าวทั้งหมดจึงทูลฟ้องพระเจ้าบุเรงนอง พระเจ้าบุเรงนองจึงยกทัพใหญ่มาอีกครั้งในเดือน 12[12] สามารถปิดล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้ได้ แต่ตีพระนครแต่ไม่สำเร็จ ระหว่างนั้นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิประชวรได้ 25 วันก็เสด็จสวรรคต[13]

สมเด็จพระมหินทราธิราชสืบราชสมบัติอีกครั้ง แล้วทรงมอบหมายให้พระยารามบัญชาการรบแทน[14] ส่วนพระองค์ประทับแต่ในพระราชวัง ไม่เอาพระทัยใส่ในการศึก[15] ฝ่ายพระเจ้าบุเรงนองมีพระราชสาส์นถึงสมเด็จพระมหินทราธิราชว่าถ้าส่งตัวพระยารามมาให้จะยอมเป็นพระราชไมตรี สมเด็จพระมหินทราธิราชก็ยอมทำตาม[16] พระเจ้าบุเรงนองก็ให้กองทัพพักรบไว้ ต่อมามีรับสั่งให้พระสังฆราชกรุงศรีอยุธยาไปแจ้งแก่กรุงศรีอยุธยาว่าถ้าพระเจ้าแผ่นดินและขุนนางทั้งปวงออกมาถวายบังคมแก่พระองค์ ก็จะรับพระราชไมตรี ทรงรออยู่ 7 วันยังไม่ได้คำตอบ[17] สมเด็จพระมหาธรรมราชาออกไปเจรจาก็ไม่สำเร็จ พระเจ้าบุเรงนองจึงรับสั่งโจมตีกรุงศรีอยุธยาต่อ ระหว่างนั้นพระเจ้าลูกเธอพระศรีเสาวราชนำกองพล 15,000 มาช่วยป้องกันพระนครโดยไม่ได้ปรึกษาพระเชษฐา สมเด็จพระมหินทราธิราชเห็นว่าพระอนุชาทำตามอำเภอใจ จึงรับสั่งให้พระยาธรรมาคุมตัวพระศรีเสาวราชไปสำเร็จโทษ ณ วัดพระราม บรรดาทหารก็เสียใจ แต่เห็นแก่สวัสดิภาพของครอบครัวจึงมุ่งรักษาพระนครต่อ[18] ฝ่ายสมเด็จพระมหาธรรมราชาคิดอุบายให้พระยาจักรีเป็นไส้ศึก[19] พระเจ้าบุเรงนองก็ยินดีตามแผน สมเด็จพระมหินทราธิราชหลงเชื่อว่าพระยาจักรีหนีมาได้จริง ก็พระราชทานรางวัลและมอบหมายให้บัญชาการรักษาพระนคร พระยาจักรีทำหน้าที่เข้มแข็งอยู่เดือนหนึ่งจึงเริ่มทำให้กองกำลังกรุงศรีอยุธยาอ่อนกำลังลง พระเจ้าบุเรงนองทรงทราบก็รับสั่งให้นายทัพนายกองเข้าโจมตีกรุงศรีอยุธยา[20] จึงเสียกรุงในวันแรม 11 ค่ำ เดือน 9 พระมหาอุปราชากรุงหงสาวดีและสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชพาสมเด็จพระมหินทราธิราชไปเข้าเฝ้าพระเจ้าบุเรงนองที่พลับพลาวัดมเหยงคณ์ พระเจ้าบุเรงนองตบพระหัตถ์ที่พระราชอาสน์ทูลเชิญสมเด็จพระมหินทราธิราชให้เข้ามานั่ง สมเด็จพระมหินทราธิราชก็คลานเข้าไปแต่ไม่ถึงที่พระราชอาสน์ พระเจ้าบุเรงนองยื่นพานพระศรีให้[21] สมเด็จพระมหินทราธิราชไม่ทรงรับ เมื่อพระเจ้าบุเรงนองหยิบพระศรีให้ ทรงรับมาไว้ครูหนึ่งจึงเสวย พระเจ้าบุเรงนองเชิญสมเด็จพระมหินทราธิราชไปอยู่กรุงหงสาวดี โดยระหว่างรอเสด็จให้อยู่ในความดูแลของสมเด็จพระมหาธรรมราชา และให้พระมหาอุปราชาเข้าไปกวาดต้อนครัวเรือนชาวกรุงศรีอยุธยาและรูปหล่อส่งไปกรุงหงสาวดีทั้งหมด[22]

การสวรรคต[แก้]

เมื่อสมเด็จพระมหินทราธิราชตามเสด็จฯ ถึงเมืองแครงก็ประชวรหนัก แม้พระเจ้าบุเรงนองจะคาดโทษแพทย์หากรักษาไม่หายและได้เสด็จมาเยี่ยมให้กำลังใจ[23] ไม่นานก็สวรรคต สิริพระชนมพรรษา 30 พรรษา[24] พระราชทานเพลิงแล้วให้ทหารนำพระอัฐิ พระสนม และเครื่องราชูปโภคมาส่งกรุงศรีอยุธยา[25]

ในวัฒนธรรมสมัยนิยม[แก้]

มีนักแสดงผู้รับบท สมเด็จพระมหินทราธิราช ได้แก่

พงศาวลี[แก้]

อ้างอิง[แก้]

เชิงอรรถ
  1. พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 1, หน้า 172
  2. ราชกิจจานุเบกษา, รายนามแลพระนามผู้ที่ทำลับแลไฟ ทรงพระราชอุทิศในพระเจ้าแผ่นดิน ในพระราชกุศลบรรจบรอบเถลิงถวัลยราชสมบัติ ครบ ๒๕ ปี, เล่ม ๑๐ ตอนที่ ๓๐ หน้า ๓๑๙, ๒๒ ตุลาคม ๑๑๒
  3. นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย, หน้า 114
  4. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 412
  5. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 88
  6. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 89
  7. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 105
  8. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 107
  9. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 109
  10. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 110
  11. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 111
  12. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 112
  13. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 116
  14. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 117
  15. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 120
  16. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 121
  17. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 122
  18. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 123
  19. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 125
  20. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 126
  21. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 127
  22. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 128
  23. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 129
  24. นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย, หน้า 115
  25. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 130
บรรณานุกรม
  • พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2553. 800 หน้า. ISBN 978-616-7146-08-9
  • มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา. นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา, 2554. 264 หน้า. ISBN 978-616-7308-25-8
  • พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 1. นนทบุรี : โครงการเลือกสรรหนังสือ สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2558. 305 หน้า. ISBN 978-616-16-0930-6

ดูเพิ่ม[แก้]

ก่อนหน้า สมเด็จพระมหินทราธิราช ถัดไป
สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
ราชวงศ์สุพรรณภูมิ
พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา
((ครั้งที่ 1) พ.ศ. 2106-2011
(ครั้งที่ 2) พ.ศ. 2011-2112)
สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช
ราชวงศ์สุโขทัย