พระพุทธวิริยากร (ตัด ปวโร)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระพุทธวิริยากร

(ตัด ปวโร)
ส่วนบุคคล
เกิดพ.ศ. 2475 (77 ปี)
มรณภาพ3 พฤษภาคม พ.ศ. 2552
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่วัดชายนา จังหวัดเพชรบุรี
อุปสมบทพ.ศ. 2495
พรรษา57

พระพุทธวิริยากร หรือ หลวงพ่อตัด ปวโร สมณศักดิ์เดิมคือ พระครูบวรกิจโกศล อดีตเจ้าอาวาสวัดชายนา อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี เป็นพระเกจิอาจารย์แห่งลุ่มแม่น้ำเพชรรูปหนึ่ง

เกจิอาจารย์แห่งลุ่มแม่น้ำเพชร[แก้]

พระพุทธวิริยากร (ตัด ปวโร) เป็นพระเกจิที่มีวิชาอาคมในด้านปลุกเสกเครื่องรางของขลัง[1]ไม่ว่าตะกรุดหรือปลัด [2] ท่านเป็นพระที่ชอบเรียนวิชาอาคมมาก สนใจตั้งแต่ยังหนุ่ม ท่านบอกว่า "สมัยก่อน ปี 2496 เอาหมด เอาทุกอย่างที่ไหนเขาว่าดีไปหมด ในกระจิวนี้ไปขอเรียนมาหมด..." พูดง่ายๆว่าตำราเก่าๆในจังหวัดเพชรบุรีนี้ท่านเรียนมาหมดครับ แต่ท่านไม่ค่อยคุยโอ้อวด

ท่านเรียนวิชาการทำ "ตะกรุด" จาก ล.พ.ทอง อยู่ที่วัดเขากระจิวและ เรียนตำราของ ล.พ.กริช ที่ตกทอดมาซึ่งเป็นพระยุคเก่าเป็นอาจารย์สาย ล.พ.กุน วัดพระนอน เรียนทำ "ปลัด" จาก ล.พ. ชุ่ม วัดกุฏิบางเค็ม ซึ่งมีเคล็ดลับว่าให้ใช้ "ไม้ผูกคอตาย ทำถึงจะดี" และ ท่านยังได้เดินทางไปต่อวิชากับ ล.พ.ทองศุข วัดโตนดหลวง รวมทั้งอีกหลายอาจารย์

ท่านเป็นพระที่ใฝ่หาความรู้วิชาอาคมต่างๆ อย่างจริงจัง วัตถุมงคลของท่านนั้นทำเพื่อแจกและให้แก่ผู้ร่วมทำบุญบูรณะวัดอย่างแท้จริง หลวงพ่อไม่อวดตน ไม่ให้สัมภาษณ์หรือนำเรื่องของท่านและวัตถุมงคลไปลงหนังสือ หรือรายการโทรทัศน์ใด ๆ ทั้งสิ้น วัตถุมงคลของท่านจึงมีชื่อเสียงจากประสบการณ์ปากต่อปาก ไม่มีสื่อภายนอกมาเป็นตัวช่วย ปฏิปทาที่ประทับใจผมมากก็คือ หลวงพ่อท่านแจกฟรี ในช่วงที่ตะกรุดของท่านยังไม่ดังมากมายขนาดนี้ ใครไปวัดชายนากราบท่าน ท่านแจกทั้งนั้น ถ้าท่านไม่อยู่ก็จะมีลูกศิษย์ท่านคอยนั่งแจกทั้งวัน ในส่วนวัตถุมงคลที่อยู่ในตู้ให้ทำบุญนั้น หลวงพ่อจะสร้างวัตถุมงคล เพื่อนำปัจจัยที่ได้มาซ่อมแซมบูรณะโบสถ์ ซึ่งมีพระกริ่ง พระผง รูปเหมือนและเหรียญ มีประชาชนไปบูชาทำบุญกับท่านไม่ได้ขาด แต่พอปัจจัยที่ได้ในการบูรณะโบสถ์พอเพียงแล้ว หลวงพ่อท่านจะสั่งปิดตู้งดบูชา ผมเคยไปกราบท่านตั้งใจว่าจะไปบูชาวัตถุมงคลของท่านที่ออกให้บูชาซ่อมโบสถ์ ปรากฏว่าไม่มีตู้วัตถุมงคล ถามลูกศิษย์ที่วัด บอกว่า หลวงพ่อสั่งให้เลิก ได้เงินพอซ่อมโบสถ์แล้ว ไม่ต้องหาเงินแล้ว ถ้าอยากได้เข้าไปกราบแล้วบอกท่าน ท่านจะแจกให้เอง ผมจึงเข้าไปกราบหลวงพ่อแล้วถามว่า ทำไมไม่มีวัตถุมงคลให้บูชา หลวงพ่อท่านบอกว่า พอแล้วซ่อมโบสถ์ได้แล้ว อยากได้อะไรก็มาเอาไป แล้วท่านก็หยิบเหรียญมาแจก พร้อมพระขุนแผนเนื้อดินเผาอีก 2 กำมือ มานับตอนจะกลับได้มาตั้ง 14 องค์เลยทีเดียว หลวงพ่อท่านเมตตามากครับ ไม่ได้ทำของเผื่อพุทธพาณิชย์ แต่ทุกวันนี้ ถ้าใครไปกราบท่านคงยากหน่อยเพราะคนไปกันเยอะ ท่านไม่ชอบคนวุ่นวายมากมาย แล้วก็คงแจกไม่ไหวแล้วละครับ อีกทั้งทางวัดกำลังสร้างหอฉันหลังใหม่ด้วย จึงมีวัตถุมงคลให้เปลี่ยนอีกครั้ง เพื่อนำเงินมาสร้างหอฉัน ส่วนตะกรุดก็แจกไม่ไหวแล้วครับ ท่านให้ช่วยค่าตะกั่วดอกละ 100 บาท ช่วงไหนตะกั่วขาดตลาดหลวงพ่อจะให้เปลี่ยนได้แค่ คนละ 1 ดอกเท่านั้น แต่ถ้ามีตะกั่วก็แล้วแต่จะเปลี่ยนกันครับ มากน้อยได้ทั้งนั้น แต่ภาพที่เคยเห็นหลวงพ่อตัด นั่งแจกตะกรุดคงหาดูได้ยากแล้วละครับ เพราะคนไปกันมากมาย ทุกวัน

ภายหลังในปี พ.ศ. 2548 - พ.ศ. 2550 หลวงพ่อท่านได้รับบริจาคเครื่องปั๊มจึงได้นำมาใช้สร้างตะกรุดแล้วให้ประชาชนเปลี่ยนโดยขอให้ช่วยค่าตะกั่ววัดดอกละ 100 บาท โดยตะกรุดปั๊มนั้นจะเป็นตะกรุดมหาอุต ตะกรุดยันตรี และแผ่นเพชรพญาธร ส่วนตู้บูชาวัตถุมงคลนั้นกลับมาเปิดแบบถาวรแล้วโดยรายได้จะนำเงินเข้าบำรุงวัดและบริจาคให้กับผู้ที่ขอความช่วยเหลือเป็นราย ๆ แล้วแต่โอกาส

และในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2551 หลวงพ่อตัดได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระพุทธวิริยากร[3]

พระพุทธวิริยากรมรณภาพเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 สิริอายุ 77 ปี 57 พรรษา [4][5]

อ้างอิง[แก้]

  1. เกจิพระยุคเก่าสายเพชรบุรี http://www.pantown.com/board.php?id=27967&area=3&name=board5&topic=6&action=view สืบค้นเมื่อ 30 เมษายน พ.ศ. 2552
  2. ประวัติ หลวงพ่อตัด วัดชายนา http://www.suriyanchantra.com/catalog.php?idp=100 เก็บถาวร 2009-03-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  3. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรสมณศักดิ์, เล่ม 126, ตอนที่ 6 ข, 22 เมษายน 2552, หน้า 9
  4. "หลวงพ่อตัด"เกจิอาจารย์ดังเมืองเพชรลื่นล้ม มรณภาพ http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1241330172&grpid=03&catid=19 สืบค้นเมื่อ วันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2552
  5. หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันจันทร์ ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 หน้า 19