พระพุทธวิริยากร (จิตร ฉนฺโน)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระพุทธวิริยากร

(จิตร ฉนฺโน)
ชื่ออื่นหลวงพ่อจิต
ส่วนบุคคล
เกิด1 กรกฎาคม พ.ศ. 2390 (66 ปี)
มรณภาพ7 มกราคม พ.ศ. 2457
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่วัดสัตตนารถปริวัตร ราชบุรี
อุปสมบทพ.ศ. 2411
พรรษา45
ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดตาล
เจ้าอาวาสวัดสัตตนารถปริวัตร

พระพุทธวิริยากร หรือ หลวงพ่อจิตร ฉันโน (1 กรกฎาคม พ.ศ. 2390 - 7 มกราคม พ.ศ. 2457) อดีตเจ้าอาวาสวัดสัตตนารถปริวัตรวรวิหาร และวัดตาล จังหวัดราชบุรี ท่านเป็นพระที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย จึงเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาแก่สาธุชนในเขตจังหวัดราชบุรีเป็นอย่างมาก เป็นพระอุปัชฌาย์ที่ได้ทำการอุปสมบทให้แก่กุลบุตรเป็นอันมาก เป็นที่โปรดปรานในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงพระราชทานสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ให้เป็นรางวัลเช่น ผ้าห่อคัมภีร์เยียรบับ ผ้าทิพย์ตรามงกุฎครอบ - จปร.กระเป๋าหนัง ย่ามปัก ผ้าปูโต๊ะลายมังกร พัดเฉลิม สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร และของที่ระลึกในการเสด็จกลับจากยุโรป[1]

ประวัติ[แก้]

พระพุทธวิริยากร หรือ หลวงพ่อจิตร ฉนฺโน ท่านเกิดเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2390 ณ หมู่บ้านคลองยายแฟง อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี เดิมชื่อ จิตร บิดาชื่อ สมบุญ มารดาชื่อ ทิม พ.ศ. 2411 ได้อุปสมบทที่วัดตาล อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี โดยมีพระโสปาโก (ปาน) เจ้าอาวาสวัดบางคณฑี เป็นพระอุปัชฌาย์ พระสุมโน (โท) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระสมุทรมุนี (หน่าย) เจ้าอาวาสวัดตาล เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า ฉนฺโน หลังจากอุปสมบทท่านได้ศึกษาพระธรรมวินัยในฐานะ พระนวกะต่อมาได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมเพิ่มเติมในสำนักพระธรรมราชานุวัตร (ต่าย วารโณ) และสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ยัง เขมาภิรโต)[2] เมื่อทราบข่าวว่ามารดาของท่านป่วย ท่านได้กลับไปจำพรรษาอยู่ที่วัดตาลตามเดิม เมื่อพระครูขันตยาคม เจ้าอาวาสวัดตาลได้ย้ายไปปกครองวัดสัตตนารถปริวัตร ท่านจึงได้ปกครองวัดตาลสืบต่อมา[3] ในปี พ.ศ. 2437 ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ฝ่ายคณะธรรมยุติกนิกาย ในมณฑลราชบุรี และย้ายมาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสัตตนารถปริวัตร ท่านได้ร่วมสร้างวัตถุมงคลต่าง ๆ วัดจึงมีความเจริญยิ่งขึ้น

ด้านสมณศักดิ์ วันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2432 ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูสัญญาบัตรที่ พระครูอุดมธิรคุณ ไปอยู่วัดศรีสุริยวงศาราม มีนิตยภัตเดือนละ 2 ตำลึง รับพระราชทานตาลปัตรพุดตานหักทองขวางเป็นเครื่องยศ[4] ต่อมาวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2442 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ พระพุทธวิริยากรณ์ มีนิตยภัตเดือนละ 3 ตำลึง[5]

พระพุทธวิริยากร อาพาธด้วยโรคชรา มรณภาพเมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2457 (นับแบบปัจจุบันตรงกับ พ.ศ. 2458) สิริอายุได้ 68 ปี[6]

อ้างอิง[แก้]

  1. หนังสือรวมสุดยอดพระคณาจารย์ทั้งหมด 180 พระองค์
  2. "ชีวประวัติหลวงพ่อจิตร ฉันโน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-07-21. สืบค้นเมื่อ 2011-10-08.
  3. หนังสือชีวประวัติหลวงพ่อจิต ฉันโน
  4. ราชกิจจานุเบกษา, ตั้งตำแหน่งพระสงฆ์, เล่ม 6, ตอน 43, 26 มกราคม ร.ศ. 108, หน้า 488
  5. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศตั้งตำแหน่งพระสงฆ์, เล่ม 16, ตอน 34, 19 พฤศจิกายน ร.ศ. 118, หน้า 488
  6. ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวมรณภาพ, เล่ม 31, ตอน 0 ง, 17 มกราคม 2457, หน้า 2470