พระพรหมมุนี (เหมือน สุมิตฺโต)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระพรหมมุนี

(เหมือน สุมิตฺโต)
ส่วนบุคคล
เกิด7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2367 (74 ปี 361 วัน ปี)
มรณภาพ3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2442
นิกายธรรมยุติกนิกาย
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่วัดบรมนิวาสราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร
ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส

พระพรหมมุนี (เหมือน สุมิตฺโต) เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองในคณะกลาง และอดีตเจ้าอาวาสวัดบรมนิวาสราชวรวิหาร

ประวัติ[แก้]

ชาติกำเนิด[แก้]

พระพรหมมุนี มีนามเดิมว่า เหมือน เกิดเมื่อวันเสาร์ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 3 ปีมะแม ตรงกับวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2366 (นับตามแบบปัจจุบันตรงกับปี พ.ศ. 2367) ได้ฝากตัวเป็นศิษย์สมเด็จพระวันรัตน์ (ทับ พุทฺธสิริ) ตั้งแต่ท่านยังดำรงสมณศักดิ์ที่พระอริยมุนี อยู่วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร (บิดาของพระพรหมมุนีเป็นพี่ชายของมารดาสมเด็จพระวันรัตน์) ต่อมาสมเด็จพระวันรัตน์ได้นำท่านไปฝากเป็นศิษย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ยังทรงผนวชประทับ ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร[1]

อุปสมบท[แก้]

พ.ศ. 2386 ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ อุทกุกเขปสีมา หน้าวัดราชาธิวาส โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) เมื่อดำรงสมณศักดิ์ที่พระอมรโมลี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ อุปสมบทแล้วกลับไปศึกษาที่สำนักของพระอริยมุนี (ทับ พุทฺธสิริ) ตามเดิม[1]

การศึกษา[แก้]

ในสมัยรัชกาลที่ 3 พระพรหมมุนีได้เข้าสอบบาลีครั้งแรกที่วัดราชบุรณราชวรวิหาร แต่สอบไม่ผ่าน ภายหลังได้เข้าสอบอีกที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ได้เป็นเปรียญธรรม 5 ประโยค ถึงรัชกาลที่ 4 ได้เข้าสอบอีกครั้งที่พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท ได้เพิ่มอีก 4 ประโยค รวมเป็นเปรียญธรรม 9 ประโยค[1]

สมณศักดิ์[แก้]

การอุปสมบทพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับนั่งทางซ้ายสุดของภาพ รูปที่ 3 จากทางขวาคือพระอริยมุนี (เหมือน สุมิตฺโต)
  • ในรัชกาลที่ 4 ได้เป็นพระปลัด ฐานานุกรมในพระอริยมุนี (ทับ พุทฺธสิริ)
  • พ.ศ. 2401 เป็นพระราชาคณะที่ พระอริยมุนี รับพัดยศเป็นตาลปัตรแฉก พื้นกำมะหยี่หักทองขวาง และมีนิตยภัตเดือนละ 4 ตำลึง[2]
  • พ.ศ. 2420 เป็นพระราชาคณะที่ พระเทพโมฬี ตรีปิฎกธรา มหาธรรมกถึกคณาฤศร บวรสังฆารามคามวาสี รับพัดยศเป็นตาลปัตรแฉกพื้นกำมะหยี่หักทองขวางประดับพลอย และมีนิตยภัตเดือนละ 4 ตำลึงกึ่ง มีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ 4 รูป[2]
  • วันศุกร์ แรม 15 ค่ำ เดือนยี่ ปีกุน (ตรงกับวัน 13 มกราคม พ.ศ. 2431) เป็นพระราชาคณะเสมอตำแหน่งธรรมที่ พระพรหมมุนี คัมภีรญาณนายก ตรีปิฎกคุณาลังกรมหาคณฤศร บวรสังฆารามคามวาสี มีนิตยภัตราคาเดือนละ 4 ตำลึง 3 บาท มีถานานุศักดิ์ตั้งถานานุกรมได้ 5 รูป[3] รับพัดยศเป็นตาลปัตรแฉกพื้นโหมดสลับแพร[2]
  • วันอาทิตย์ แรม 8 ค่ำ เดือน 4 ปีเถาะ (ตรงกับวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2435) ได้เพิ่มนิตยภัตเป็นเดือนละ 5 ตำลึงกึ่ง และเพิ่มฐานานุศักดิ์ให้ตั้งฐานานุกรมได้ 8 รูป (เสมอพระราชาคณะเจ้าคณะรอง) รับตาลปัตรแฉกพื้นตาดสลับโหมดและแพรปักเลื่อมเป็นเครื่องยศ[4]
  • วันพฤหัสบดี แรม 8 ค่ำ เดือนอ้าย ปีมะเมีย (ตรงกับวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2437) เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองในคณะกลางที่ พระพรหมมุนี ศรีวิสุทธิญาณนายก ตรีปิฎกธรรมาลงกรณ์ มัชฌิมคณฤศร บวรสังฆารามคามวาสี มีนิตยภัตราคาเดือนละ 6 ตำลึง มีถานานุศักดิ์ตั้งถานานุกรมได้ 8 รูป[5] รับหิรัญบัฏจารึกราชทินนาม และตาลปัตรแฉกพื้นตาดสีเป็นเครื่องยศ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริจะสถาปนาท่านเป็นสมเด็จพระราชาคณะ แต่ท่านอาพาธจนเดินไม่ได้มาช้านาน จึงไม่ได้ทรงตั้ง[2]

ศาสนกิจ[แก้]

ในปีมะเมีย พ.ศ. 2413 ขณะดำรงสมณศักดิ์เป็นพระอริยมุนี ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส ได้เป็นพระอุปัชฌาย์ให้กับกุลบุตรหลายคน เช่น

รวมทั้งเป็นคณปูรกะในการผนวชพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในปี พ.ศ. 2416 เป็นกรรมการเถรสมาคมคณะธรรมยุตชุดแรก[6] และเป็นแม่กองตรวจชำระพระสุตตันตปิฎกในการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับ ร.ศ. 112[7]

มรณภาพ[แก้]

พระพรหมมุนี (เหมือน สุมิตฺโต) อาพาธเป็นโรคลมมานาน จนเมื่อวันศุกร์ แรม 8 ค่ำ เดือน 3 ปีจอ ตรงกับวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 117[8] พ.ศ. 2441 (นับตามแบบปัจจุบันตรงกับปี พ.ศ. 2442) เวลาบ่าย 3 โมงเศษ ท่านเริ่มเป็นลมและอาเจียน 2-3 ครั้ง ขุนศรีสุริยแพทย์ประกอบยาถวาย แต่อาการไม่ทุเลา จนถึงแก่มรณภาพเมื่อเวลา 22:10 น. สิริอายุได้ 76 ปี[1] ได้รับพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ โกศโถ ฉัตรเบญจา และพระสวดอภิธรรมตลอด 3 เดือนเป็นเกียรติยศ โดยมีพระเถรานุเถระในคณะธรรมยุติกนิกายช่วยกันจัดงานศพ[9][2]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 สมมอมรพันธุ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2545. 428 หน้า. หน้า 154-7. ISBN 974-417-530-3
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความกระทรวงธรรมการ แพนกกรมสังฆการี, เล่ม 16, ตอน 12, 18 มิถุนายน ร.ศ. 118, หน้า 157-8
  3. ราชกิจจานุเบกษา, ตั้งตำแหน่งพระสงฆ, เล่ม 4, หน้า 325
  4. ราชกิจจานุเบกษา, ตั้งตำแหน่งพระสงฆ์, เล่ม 8, หน้า 466-468
  5. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งตำแหน่งพระสงฆ์, เล่ม 11, หน้า 309
  6. ประวัติคณะธรรมยุต. กรุงเทพฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2547. 219 หน้า. หน้า 127. ISBN 974-399-612-5
  7. ราชกิจจานุเบกษา, การสาศนูปถัมภก คือ การพิมพ์พระไตรปิฎก, เล่ม 5, หน้า 410
  8. ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวตายในกรุง, เล่ม 15, ตอน 45, 5 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 117, หน้า 495
  9. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความกระทรวงธรรมการ แพนกกรมสังฆการี, เล่ม 16, ตอน 16, 16 กรกฎาคม ร.ศ. 118, หน้า 206


ก่อนหน้า พระพรหมมุนี (เหมือน สุมิตฺโต) ถัดไป
(ไม่มี)
เจ้าคณะรองคณะกลาง
(พ.ศ. 2437 - พ.ศ. 2442)
พระพรหมมุนี (แฟง กิตฺติสาโร)