พระปีย์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปีย์
ถึงแก่กรรม18 พฤษภาคม พ.ศ. 2231
ตำบลวัดทราก เมืองลพบุรี อาณาจักรอยุธยา
บิดาขุนไกรสิทธิศักดิ์
บิดาบุญธรรมสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ศาสนาโรมันคาทอลิก

พระปีย์ (Pra Py), ออกพระปีย์ (Ophra Py), หม่อมปีย์ (Monpit)[1], หม่อมเตี้ย (คำให้การขุนหลวงหาวัด)[2], พระปิย[3] หรือ พระปิยะ (ไม่ทราบวันเกิด – 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2231) เป็นพระราชโอรสบุญธรรมในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช[4] ภายหลังได้ถูกสำเร็จโทษโดยพระเพทราชาในช่วงปลายรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ด้วยเหตุผลทางการเมือง

ประวัติ[แก้]

พระปีย์ อันมีความหมายว่า "ผู้เป็นที่รัก"[5] ไม่ปรากฏประวัติส่วนตัวมากนัก ปรากฏเพียงว่าเป็นบุตรของขุนไกรสิทธิศักดิ์ ชาวบ้านแก่ง[3] ขุนนางชั้นผู้น้อยในเมืองพิษณุโลก[6] โดยในช่วงเวลาที่พระปีย์เกิดนั้น สมเด็จพระนารายณ์ทรงรับเลี้ยงดูเด็กเล็กมาอุปถัมภ์ในพระราชวังหลายคนโดยเลี้ยงดุจลูกหลวง แต่หากเด็กคนใดร้องไห้อยากกลับไปหาพ่อแม่เดิมก็ทรงอนุญาตส่งตัวคืน[7] แต่ลาลูแบร์ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า "...พระองค์ทรงพอพระทัยที่จะเลี้ยงไว้จนกระทั่งเด็กนั้นมีอายุได้ 7 ถึง 8 ขวบ พ้นนั้นไปเมื่อเด็กสิ้นความเป็นทารกแล้วก็จะไม่โปรดอีกต่อไป..." พระปีย์จึงถวายตัวแด่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชตั้งแต่ยังเล็ก แต่ด้วยมีรูปพรรณต่ำเตี้ยพิการค่อมแคระ สมเด็จพระนารายณ์จึงทรงพระกรุณาเรียกว่า อ้ายเตี้ย และเป็นที่โปรดปรานด้วยมีโวหารดี พูดจาไพเราะอ่อนหวาน[5] พระปีย์จะแสดงความสวามิภักดิ์ต่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชอยู่เสมอ นอนเฝ้าอยู่ปลายพระบาท และคอยปฏิบัติพยุงพระองค์ลุกนั่งเป็นต้น[3] มีการโจษจันกันว่าพระปีย์อาจเป็นพระโอรสลับของสมเด็จพระนารายณ์[8][9] และสมเด็จพระนารายณ์เองก็ทรงวางเฉยกับเรื่องพระปีย์เป็นโอรสลับเสียด้วย[10] สมเด็จพระนารายณ์โปรดปรานพระปีย์มากจนมีพระราชประสงค์ที่จะยกพระปีย์เป็นผู้สืบราชสมบัติ[11] แต่ภายหลังทรงยกเลิกพระราชประสงค์ดังกล่าวไป[12]

สมเด็จพระนารายณ์เองก็มีพระราชประสงค์ให้พระปีย์อภิเษกสมรสกับสมเด็จเจ้าฟ้าสุดาวดี กรมหลวงโยธาเทพ พระราชธิดา แต่กรมหลวงโยธาเทพไม่ทรงยินยอมพร้อมพระทัยด้วยและขัดขืนพระราชหฤทัยพระราชบิดา เพราะพระปีย์มีพื้นฐานชาติตระกูลต่ำต้อย หรืออาจเป็นเพราะเจ้าหญิงทรงมีจิตปฏิพัทธ์ผูกพันกับเจ้าฟ้าน้อยอยู่ก่อนแล้วก็ได้ ตามที่บันทึกของบาทหลวง เดอะ แบสระบุว่า

"ฝ่ายเจ้าฟ้าหญิงนั้น ครั้นทรงได้รับแจ้งพระราชดำริ ก็ทรงไม่ยินยอมพร้อมพระทัยด้วย ชะรอยจะทรงมีความหยิ่งในราชสมภพ ดังที่เธอทรงแสดงอยู่ให้ประจักษ์ จึงไม่อาจลดพระองค์ลงมาอภิเษกกับบุคคลในชั้นไพร่ได้ หรือชะรอยจะเป็นดังที่คนทั้งหลายเข้าใจกันอยู่ กล่าวคือเธอมีน้ำพระทัยโน้มน้าวและผูกพันในทางอภิเษกสมรสมาแต่ก่อนกับพระปิตุลา [สมเด็จเจ้าฟ้าน้อย] อยู่แล้ว ...เธอก็ยังทรงยึดมั่นในพระราชดำริดั้งเดิมของในหลวงที่จะอภิเษกเธอให้แก่เจ้าชายองค์นั้นอยู่เสมอ แต่เรื่องได้ดำเนินไปอย่างลับ ๆ ดังที่กระผม [บาทหลวงโกลด เดอ แบซ] ได้ยินเขาพูดกันมา ว่าแม้ในหลวงหรือ นายกงส์ต็องส์ [เจ้าพระยาวิชเยนทร์] ก็มิได้ล่วงรู้ระแคะระคายเลย ในหลวงทรงขัดพระทัยเป็นอันมาก ในการที่พระราชธิดาทรงขัดขืนพระราชประสงค์อย่างหนักแน่น ไม่ทรงยินยอมอภิเษกสมรสกับพระปีย์..."[13]

ทั้งนี้พระปีย์มักตกเป็นหุ่นเชิดทางการเมืองอยู่บ่อยครั้ง[1] โดยเขาได้รับการสนับสนุนจากเจ้าพระยาวิชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ให้เป็นรัชทายาทสืบราชสันตติวงศ์ ด้วยเขามองว่าพระปีย์ไม่มีพิษภัย มีใจโอนอ่อนทางคริสต์ศาสนา ด้วยเหตุนี้เจ้าพระยาวิชเยนทร์จึงหวังผลที่จะให้พระปีย์เป็นกษัตริย์เพื่อรักษาอำนาจและอิทธิพลของตน[14] และหวังใจให้เป็นกษัตริย์สยามพระองค์แรกที่นับถือคริสต์ศาสนา[15] โดยมีบาทหลวงฝรั่งเศสคอยให้การสนับสนุนด้วย[16] โดยหากเจ้าพระยาวิชเยนทร์สามารถยึดกรุงศรีอยุธยาไว้ได้ เขาอาจจะยกพระปีย์เป็นเจ้าปกครอง เพื่อดูแลผลประโยชน์ของฝรั่งเศสและศาสนาคริสต์ในสยาม[17] จากเอกสารของพันตรีโบชองได้ระบุว่า เจ้าพระยาวิชเยนทร์เข้าร่วมกับพระปีย์เพื่อยึดพระราชวังหลวงในช่วงที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงพระประชวร แต่นายพลเดฟาร์ฌกล่าวว่าอย่าผลีผลามให้ระงับไว้ก่อน[18] นอกจากนี้พระปีย์ยังมีส่วนร่วมในการก่อกบฏเมื่อครากบฏมักกะสันซึ่งเป็นชาวมุสลิม[19] นีกอลา แฌร์แวสเป็นผู้เดียวที่ระบุว่า แขกมักกะสันจะลอบปลงพระชนม์สมเด็จพระนารายณ์แล้วเลือกพวกเดียวกันขึ้นครองบัลลังก์ "หรือมิเช่นนั้นถ้าชาวสยามยังไม่คุ้นชินกับเจ้าต่างชาติ ก็จะยกบัลลังก์ให้พระราชโอรสบุญธรรมของพระองค์ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าถูกซื้อได้ไม่ยาก โดยทรงยอมเข้าพิธีสุหนัต..."[1]

ปลายรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระปีย์ได้อยู่รับใช้สนองพระยุคลบาทพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงพระประชวรหนัก พระปีย์รู้ตัวว่ามีผู้ประสงค์ร้าย จึงอยู่แต่ในห้องบรรทมของพระเจ้าแผ่นดิน[20] จะออกมาข้างนอกก็เฉพาะกิจที่เกี่ยวข้องกับพระอาการประชวรเท่านั้น[21] แม้พระปีย์จะมีไพร่พลของตนเองที่เมืองพิษณุโลก แต่ก็ไม่ทันท่วงต่อการปฏิวัติผลัดแผ่นดินได้ เพราะพระปีย์เองเข้าไปพัวพันกับพระราโชบายของสมเด็จพระนารายณ์[22] วันหนึ่งขณะที่พระปีย์กำลังล้างหน้าริมหน้าต่างยามเช้า ก็ถูกขุนพิพิธรักษา สมุนของหลวงสรศักดิ์ผลักจนพลัดตกลงจากประตูกำแพงแก้ว[23] พระปีย์จึงร้องเรียกสมเด็จพระนารายณ์ว่า "ทูลกระหม่อมแก้วช่วยด้วย"[3] ก่อนถูกพระเพทราชาจับไปสำเร็จโทษเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2231 และทิ้งศพไว้ที่วัดซาก โดยในพระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพนระบุว่า เมื่อสมเด็จพระนารายณ์ได้ยินเสียงพระปีย์ร้องเรียกดังนั้น ก็ทรงตกพระทัย อาลัยในพระปีย์ จึงมีพระดำรัสว่า "ใครทำอะไรกับไอ้เตี้ยเล่า" แล้วเสด็จสวรรคต[3] ส่วนเอกสารของพันตรีโบชองระบุไว้ว่าพระปีย์ถูกสำเร็จโทษด้วยการผ่าร่างออกเป็นสามส่วน[24]

ส่วนสาเหตุที่กำจัดพระปีย์ก็เพราะพระปีย์เป็นผู้หนึ่งที่มีสิทธิในการสืบราชบัลลังก์[25][26] มีขุนนางสองคนถูกบังคับให้สารภาพว่าเข้าฝ่ายพระปีย์ กล่าวหาว่าเจ้าพระยาวิชเยนทร์ยักยอกทรัพย์และนำเงินในท้องพระคลังออกนอกพระราชอาณาจักร ส่งผลให้เจ้าพระยาวิชเยนทร์ถูกประหารชีวิตด้วยการตัดเป็นท่อน ๆ เช่นกัน[27]

กรณีหลุมฝังศพ[แก้]

วันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2557 กรมศิลปากรทำการขุดสำรวจบริเวณที่ดินเอกชนผืนหนึ่งตรงข้ามวัดสันเปาโล และพบโครงกระดูกมนุษย์สองโครงห่างกัน 5 เมตร โครงกระดูกโครงแรกมีรูปพรรณเตี้ย สูงเพียง 140 เซนติเมตร สวมแหวนหินที่นิ้วมือ กระดูกหน้าแข้งหัก และไม่มีศีรษะ ส่วนอีกโครงหนึ่งมีรูปกายสูงใหญ่ จารึก วิไลแก้ว ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 4 ลพบุรี สันนิษฐานว่าโครงกระดูกทั้งสองอาจเป็นของพระปีย์และเจ้าพระยาวิชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) โดยสันนิษฐานว่าอาจมีผู้นำศพของทั้งสองมาฝังตามธรรมเนียมคริสต์ศาสนา ณ บริเวณดังกล่าว[28] ต่อมาในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2561 เจตน์กมล วงศ์ท้าว นักโบราณคดีชำนาญการประจำสำนักศิลปากรที่ 4 ลพบุรี ได้อธิบายว่าโครงกระดูกที่พบไม่ใช่ทั้งพระปีย์และเจ้าพระยาวิชเยนทร์ แต่เป็นโครงกระดูกมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ส่วนหัวกะโหลกที่หายไปนั้นเข้าใจว่าน่าจะเกิดขึ้นจากการรบกวนชั้นดินเมื่อครั้งสร้างโบสถ์วัดสันเปาโลเพราะบริเวณดังกล่าวถูกทับด้วยโครงสร้างโบสถ์[29]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 มอร์กาน สปอร์แตช (เขียน) กรรณิกา จรรย์แสง (แปล). เงาสยาม ยามผลัดแผ่นดินพระนารายณ์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2554, หน้า 165
  2. ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง. กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2553, หน้า 341
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2008) จำกัด, 2563, หน้า 368-369
  4. "พระเพทราชา". สถาบันอยุธยาศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-02-29. สืบค้นเมื่อ 3 Oct 2015.
  5. 5.0 5.1 เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์. (17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555). "พระปีย์ vs พระเจ้าเสือ ใครคือโอรสลับของพระนารายณ์ ?". มติชนสุดสัปดาห์. 32:1644, หน้า 76
  6. "เรื่องเล่า ครบรอบ ๓๒๖ ปี สมเด็จพระนารายณ์มหาราช เสด็จสวรรคตด้วยเหตุแห่งการรัฐประหาร". หอจดหมายเหตุ อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ. 16 Sep 2014. สืบค้นเมื่อ 3 Oct 2015.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)[ลิงก์เสีย]
  7. เดอะ แบส (เขียน), สันต์ ท. โกมลบุตร (แปล). บันทึกความทรงจำของบาทหลวง เดอะ แบส เกี่ยวกับชีวิตและมรณกรรมของก็องสตังซ์ ฟอลคอน. นนทบุรี : ศรีปัญญา. 2550, หน้า 100-101
  8. เดอ ลาลูแบร์ (เขียน), สันต์ ท. โกมลบุตร (แปล). ราชอาณาจักรสยาม. กรุงเทพฯ : ก้าวหน้า. 2510, หน้า 43
  9. นิโกลาส์ แซร์แวส (เขียน) สันต์ ท. โกมลบุตร (แปล). ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม. นนทบุรี : ศรีปัญญา. 2550, หน้า 199-200
  10. สุทธิศักดิ์ ระบอบ สุขสุวานนท์ (กันยายน 2552). "พงศาวดารกระซิบเรื่องโอรสลับสมเด็จพระนารายณ์". ศิลปวัฒนธรรม 30:11, หน้า 99, 116
  11. มอร์กาน สปอร์แตช (เขียน), กรรณิกา จรรย์แสง (แปล). เงาสยาม ยามผลัดแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2554, หน้า 166
  12. มอร์กาน สปอร์แตช (เขียน), กรรณิกา จรรย์แสง (แปล). เงาสยาม ยามผลัดแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2554, หน้า 158
  13. เดอะ แบส (เขียน), สันต์ ท. โกมลบุตร (แปล). บันทึกความทรงจำของบาทหลวง เดอะ แบส เกี่ยวกับชีวิตและการมรณกรรมของก็องสตังซ์ ฟอลคอน. นนทบุรี : ศรีปัญญา. 2550, หน้า 101-102
  14. ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย และปรามินทร์ เครือทอง. การเมืองในประวัติศาสตร์ "ขนมหวาน" ของท้าวทองกีบม้า "มาดามฟอลคอน" "ขนมไทย" หรือ "ขนมเทศ". กรุงเทพฯ : มติชน, 2546, หน้า 21
  15. โรม บุนนาค (16 Sep 2014). "เรื่องเก่าเล่าสนุก : นาทีสวรรคต สมเด็จพระนารายณ์มหาราช". All Magazine. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 3 Oct 2015.
  16. พลับพลึง คงชนะ. "ชาวคริสต์ญี่ปุ่นที่กรุงศรีอยุธยาระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 16-17". ประวัติศาสตร์ ศาสนา วัฒนธรรม และการศึกษา. กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์, 2556, หน้า 120
  17. มอร์กาน สปอร์แตช (เขียน), กรรณิกา จรรย์แสง (แปล). เงาสยาม ยามผลัดแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2554, หน้า 227
  18. พันตรีโบชอง (เขียน), ปรีดี พิศภูมิวิถี (แปล). หอกข้างแคร่ : บันทึกการปฏิวัติในสยาม และความหายนะของฟอลคอน. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556, หน้า 10
  19. มอร์กาน สปอร์แตช (เขียน) กรรณิกา จรรย์แสง (แปล). เงาสยาม ยามผลัดแผ่นดินพระนารายณ์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2554, หน้า 157
  20. นายพลเดฟาร์จ (เขียน), ปรีดี พิศภูมิวิถี (แปล). ชิงบัลลังก์พระนารายณ์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มติชน, 2561, หน้า 49
  21. นายพลเดฟาร์จ (เขียน), ปรีดี พิศภูมิวิถี (แปล). ชิงบัลลังก์พระนารายณ์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มติชน, 2561, หน้า 18
  22. นิธิ เอียวศรีวงศ์. การเมืองไทยสมัยพระนารายณ์. พิมพ์ครั้งที่ 7, กรุงเทพฯ : 2559, หน้า 85
  23. ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย และปรามินทร์ เครือทอง. การเมืองในประวัติศาสตร์ "ขนมหวาน" ของท้าวทองกีบม้า "มาดามฟอลคอน" "ขนมไทย" หรือ "ขนมเทศ". กรุงเทพฯ : มติชน, 2546, หน้า 42
  24. พันตรีโบชอง (เขียน), ปรีดี พิศภูมิวิถี (แปล). หอกข้างแคร่ : บันทึกการปฏิวัติในสยาม และความหายนะของฟอลคอน. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556, หน้า 22
  25. เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์. (14 ธันวาคม พ.ศ. 2555). "แช่แข็งสยาม ยามแผ่นดินอาเพศ ยุคพระเพทราชา". มติชนสุดสัปดาห์. 33:1687, หน้า 76
  26. ส.สีมา (10 Jul 2013). "เล่าเรื่อง พระเพทราชา ตกกระไดพลอยโจน". มติชนออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 3 Oct 2015.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  27. นายพลเดฟาร์จ (เขียน), ปรีดี พิศภูมิวิถี (แปล). ชิงบัลลังก์พระนารายณ์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มติชน, 2561, หน้า 19
  28. "ขุดพบกระดูกมนุษย์สมัยพระนารายณ์ คาด 'พระปีย์-เจ้าพระยาวิชาเยนทร์'". ไทยรัฐออนไลน์. 8 Oct 2014. สืบค้นเมื่อ 27 Sep 2015.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  29. "ฟันธงแล้ว! โครงกระดูกไร้หัวที่ลพบุรี ไม่ใช่พระปีย์-ฟอลคอน ที่แท้ 'มนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์' นักโบราณฯเชื่อหัวขาดตอนขุดดินสร้างวัด". มติชนออนไลน์. 1 Apr 2018. สืบค้นเมื่อ 2 Apr 2018.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]