วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร

พิกัด: 8°24′40″N 99°57′58″E / 8.410985°N 99.966147°E / 8.410985; 99.966147
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร
แผนที่
ชื่อสามัญวัดพระบรมธาตุ หรือ วัดพระมหาธาตุ
ที่ตั้งถนนราชดำเนิน ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช
ประเภทพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร
นิกายเถรวาท
พระประธานพระศรีศากยมุนีศรีธรรมราช
พระพุทธรูปสำคัญพระเจ้าศรีธรรมโศกราช(ปางมารวิชัย), พระเหมชาลา(ปางห้ามญาติ), พระทนทกุมาร(ปางประทานอภัย)
เจ้าอาวาสพระธรรมวชิรากร (สมปอง ปญฺญาทีโป ป.ธ.๗)
ความพิเศษพระอารามหลวงชั้นเอก
กิจกรรมนมัสการพระบรมธาตุ โบราณสถานคู่เมืองภาคใต้ ขอพรองค์ท้าวจตุคามรามเทพ เทพารักษ์ผู้เฝ้าองค์พระมหาธาตุ
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดพระบรมธาตุวรมหาวิหาร หรือ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ ถนนราชดำเนิน ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร[1]

ประวัติของวัดพระธาตุ[แก้]

  • พ.ศ. 854 เจ้าชายทนทกุมารและพระนางเหมชาลา (พระโอรสธิดาในพระเจ้าโคสีหราชกับพระนางมหาเทวี ผู้ครองเมืองทันทบุรี) และบาคู (แปลว่า นักบวช) ชาวสิงหล ได้สร้างวัดพระบรมธาตุวรมหาวิหาร เจดีย์องค์เดิมเจดีย์แบบศรีวิชัย คล้ายเจดีย์กิริเวเทระ ในเมืองโบโลนนารุวะ ประเทศศรีลังกา
  • พ.ศ. 1093(รอตรวจสอบ) พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์ปทุมวงศ์ แห่งอาณาจักรตามพรลิงก์ ทรงสร้างเมืองนครศรีธรรมราชขึ้น พร้อมกับการก่อสร้างเจดีย์ขึ้นใหม่ เป็นเจดีย์แบบศาญจิ
  • พ.ศ. 1770(รอตรวจสอบ) พระเจ้าจันทรภาณุศรีธรรมาโศกราช กษัตริย์พระองค์ที่ 2 แห่งอาณาจักรตามพรลิงก์ และเป็นพระอนุชาของพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช ได้บูรณะพระบรมธาตุเจดีย์ เจดีย์แบบลังกา ทรงระฆังคว่ำ หรือ โอคว่ำ มีปล้องไฉน 52 ปล้อง สูงจากฐานถึงยอดปลี 37 วา 2 ศอก ยอดปลีของปล้องไฉน หุ้มทองคำเหลืองอร่าม สูง 6 วา (เท่ากับ 12 เมตร) 1 ศอก (เท่ากับ 0.50 เมตร) แผ่เป็นแผ่นหนา เท่าใบลานหุ้มไว้ น้ำหนัก 800 ชั่ง (เท่ากับ 960 บาท) รอบพระมหาธาตุ มีองค์เจดีย์ 158 องค์
  • พ.ศ. 1830 หลัง ตามพรลิงก์ล่มสลายเพราะโรคระบาด พระพนมศรีทะเลมเหสวัสดิทราชา (ท้าวพญาอู่ทอง ) กษัตริย์ผู้ปกครอง ราชวงค์เพชรบุรี-อยุธยา ได้ส่งพระโอรสธิดาลงมา 3 องค์มาสร้างเมืองนครศรีธรรมราช คือ 1.เจ้าศรีราชาคนโต ได้ครองนครศรีธรรมราช 2.คนรองพระนางสนตราเทวี ได้ครองเมืองตระนอม มีพระสวามีชื่อเจ้าอินทราชา 3.เจ้าอินทรกุมารได้ครองเมืองสระอุเลาหรือท่าทองกาญจนดิษฐ เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 30 มกราคม พุทธศักราช 1830 ปีขาล โดยนางสนตราเทวี แม่เมืองขนอม ได้บุกเบิกสร้างนาตระนอม (อ.ขนอม) ตระชล(อ.สิชล) นาตระฉลอง อลอง(ต.ฉลอง) นาสระเพียง นากาญจนดิษ ไชยา และสร้างท่าเรือขนอมหรือเมืองกลอย ค้าขายข้าว พริก งาช้าง แร่ แล้วนำเงินไปบูรณะพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราชที่ร้างมาหลายอายุคนเพราะเกิดโรคระบาดตามพระราชโองการของเจ้าอยู่หัวแห่งอยุธยา ร่วมกับเจ้าศรีราชา พระนางสนตราเทวีแม่เมืองตระนอมหรือขนอมยังได้บูรณะวัดเจดีย์หลวงที่สร้างจากปะการังกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวของ อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราชถึงปัจจุบัน และลูกหลานของพระนางสนตราเทวี ได้ทำนุบำรุงสร้างอีกหลายวัดตลอดมาจนถึงสมัยพระคีรีศรีสงคราม(เจ้าหัวเมืองกลอยหรือเมืองขนอม) กับ แม่เมืองอ่ำแดงเอียด ในนครศรีธรรมราชอีกหลายวัด เช่น วัดกลาง วัดกระดังงา ในเมืองตระนอม เป็นต้น ลูกหลานได้ครองเมืองสืบมา จนอยุธยาเสียกรุง เมืองตระนอม และท่าทองจึงได้ไปรวมกับเมืองนครศรีธรรมราช สายเจ้าศรีราชา ในปี พ.ศ 2310 และสุดท้ายพระเจ้าตากสินลงมารวบรวมหัวเมืองน้อยใหญ่ทางใต้ ทั้ง3เมือง คือมืองตระนอมขนอม ,เมืองสระอุเลาท่าทอง ,เมืองนคร จึงขึ้นกับกรุงธนบุรี ในปี พ.ศ 2312 ในที่สุด บ้านเมืองช่วงนี้มีภัยสงคราม การบูรณทำนุบำรุงวัดน้อยลง พระคีรีศรีสงครามได้เป็นกำลังต่อเรือที่เมืองไชยาเพื่อให้พระเจ้าตากสินใช้ในการสู้ศึกกับพม่าและแขก โดยลูกชายของพระคีรีศรีสงคราม คือหลวงไชยคีรีศรีสงคราม ได้รับใช้ชาติต่อมาเป็นทหารรักษาพระองค์หรือวังหน้าในสมัย ร.2 ตลอดจนได้รับความไว้วางใจเป็นทัพหน้าชนะศึกไทรบุรี เมื่อปี 2364 ในสมัย ร.3 และลูกหลานของพระคีรีศรีสงครามสืบตระกูลว่า "ขนอม" ตลอดมา
  • พ.ศ. 2155 และ พ.ศ. 2159 สมัยสมเด็จพระเอกาทศรถมีการซ่อมแผ่นทอง ที่ปลียอดพระบรมธาตุ
  • พ.ศ. 2190 สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ยอดพระบรมธาตุได้ชำรุดหักลง และได้มีการซ่อมสร้างขึ้นใหม่
  • พ.ศ. 2275 - 2301 สมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ มีการดัดแปลงทางเข้าพระสถูปพระบรมธาตุบริเวณวิหารพระทรงม้า
  • พ.ศ. 2312 สมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ปฏิสังขรณ์พระอารามทั่วไปภายในวัด และโปรดให้สร้างวิหารทับเกษตร ต่อออกจากฐานทักษิณรอบองค์พระบรมธาตุ
  • สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์) ได้บูรณะพระวิหารหลวง วิหารทับเกษตร พระบรมธาตุที่ชำรุด
  • ปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บูรณะกำแพงชั้นนอก วิหารทับเกษตร วิหารธรรมศาลา วิหารพระทรงม้า วิหารเขียน ปิดทองพระพุทธรูป
  • พ.ศ. 2457 สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ติดตั้งสายล่อฟ้า ยอดองค์พระบรมธาตุเจดีย์
  • พ.ศ. 2515 - 2517 บูรณปฏิสังขรณ์พระวิหารหลวง และพระอุโบสถ
  • พ.ศ. 2530 ซ่อมกลีบบัวทองคำ ที่ฉีกขาดเปราะบาง เสื่อมสภาพเป็นสนิม เสริมความมั่นคงแข็งแรงที่กลีบบัวปูนปั้น ในวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2530 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จอัญเชิญแผ่นกลีบบัวทองคำ ขึ้นประดิษฐานบนองค์พระบรมธาตุเจดีย์
  • พ.ศ. 2537 - 2538 บูรณะปลียอดทองคำพระบรมธาตุเจดีย์ และเสริมความมั่นคงปูนแกนในปลียอด ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 50 ล้านบาท สิ้นทองคำ 141 บาท (มาตราชั่ง ตวง วัด ของไทย 1 บาท เท่ากับ 15.2 กรัม)

กรมศิลปากร ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารเป็นโบราณสถาน ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 53 ตอนที่ 34 วันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2479 และคณะกรรมการมรดกโลก มีมติในการประชุมคณะกรรมการสมัยที่ 37 ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2556 รับรองวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารเข้าสู่บัญชีเบื้องต้นก่อนเสนอขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลก[2]

สถานที่สำคัญ[แก้]

เจ้าชายทนทกุมาร และพระนางเหมชาลา ชาวศรีลังกา ขณะทรงอัญเชิญพระเขี้ยวแก้ว ภาพประดับพระวิสูตรมณทปพระเขี้ยวแก้ว วัดพระเขี้ยวแก้ว ประเทศศรีลังกา
  • พระวิหารหลวง (พระอุโบสถ)
  • วิหารพระมหาภิเนษกรณ์ หรือวิหารพระทรงม้า
  • วิหารเขียน หรือวิหารพระเขียน
  • วิหารโพธิ์ลังกา และ ต้นศรีมหาโพธิ์
  • วิหารพระกัจจายนะ หรือวิหารพระแอด
  • วิหารพระปัญญา
  • พระเจดีย์ราย รอบพระบรมธาตุ
  • พระบรมธาตุเจดีย์
  • วิหารสามจอม หรือวิหารพระเจ้าศรีธรรมโศกราช
  • วิหารทับเกษตร หรือพระระเบียงตีนธาตุ
  • วิหารพระระเบียง หรือวิหารคด
  • วิหารธรรมศาลา[3]
  • วิหารโพธิ์พระเดิม
  • มณฑปพระพุทธบาทจำลอง
  • อนุสาวรีย์พระนางเหมชาลาและเจ้าชายทันทกุมาร
  • อนุสาวรีย์พระเจ้าศรีธรรมโศกราช
  • อนุสาวรีย์แม่เจ้าอยู่หัว (พระนางเลือดขาวแม่เจ้าอยู่หัว)

ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ[แก้]

ขบวนแห่ผ้าขึ้นห่มพระบรมธาตุเจดีย์

ประเพณีผ้าขึ้นธาตุ หมายถึง การนำผ้าผืนยาวขึ้นไปห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์ในวันสำคัญทางศาสนา ชาวนครได้ร่วมมือร่วมใจกันบริจาคเงินตามกำลังศรัทธานำเงินที่ได้ไปซื้อผ้ามาเย็บต่อกันเป็นแถวยาวนับพันหลา แล้วจัดเป็นขบวนแห่ผ้าขึ้นห่มพระบรมธาตุเจดีย์ ผ้าที่ขึ้นไปห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์เรียกว่า “ผ้าพระบฎ” (หรือ พระบต) นิยมใช้สีขาว สีเหลือง สีแดง สำหรับผ้าสีขาวนิยมเขียนภาพเนื้อหาเกี่ยวกับพุทธประวัติตั้งแต่ประสูติ เสด็จออกบรรพชา ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และปรินิพพาน ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุเป็นเอกลักษณ์ประจำเมืองนครศรีธรรมราช แก่นแท้อยู่ที่การบูชาพระพุทธเจ้าอย่างใกล้ชิด โดยใช้องค์พระบรมธาตุเจดีย์เป็นตัวแทน

ตามตำนานประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุมีว่า ในสมัยที่พระเจ้าสามพี่น้อง คือ พระเจ้าศรีธรรมโศกราช พระเจ้าจันทรภาณุ และพระเจ้าพงษาสุระ กำลังดำเนินการสมโภชพระบรมธาตุอยู่นั้น คลื่นได้ซัดผ้าแถบยาวชิ้นหนึ่ง ซึ่งมีลายเขียนเรื่องราวพุทธประวัติ (เรียกว่า พระบฎ หรือ พระบต) ขึ้นที่ชายหาดปากพนัง จึงนำผ้าผืนนั้นไปถวายพระเจ้าศรีธรรมโศกราช พระองค์จึงรับสั่งให้ซักจนสะอาด แต่ลายเขียนพุทธประวัติก็ไม่ลบเลือนยังคงสมบูรณ์ดีทุกประการ จึงรับสั่งให้ประกาศหาเจ้าของ ได้ความว่าชาวพุทธกลุ่มหนึ่ง จะเดินทางไปลังกา เพื่อนำพระบฎไปถวายเป็นพุทธบูชาพระทันตธาตุ คือ พระเขี้ยวแก้ว แต่เรือถูกมรสุมซัดแตกที่ชายฝั่งเมืองนครมีรอดชีวิต 10 คน ส่วนพระบฏถูกคลื่นซัดขึ้นฝั่งปากพนัง พระเจ้าศรีธรรมโศกราชทรงพิจารณาเห็นว่าควรจะนำขึ้นไปห่มพระบรมธาตุเจดีย์เนื่องในโอกาสสมโภชพระบรมธาตุ เจ้าของพระบฎที่รอดชีวิตก็ยินดีด้วย จึงโปรดให้ชาวเมืองนครจัดเครื่องประโคมแห่แหนผ้าห่มโอบฐานพระบรมธาตุเจดีย์ จึงเป็นประเพณีประจำเมืองนครสืบมาจนทุกวันนี้

ลำดับเจ้าอาวาส[แก้]

ลำดับเจ้าอาวาสวัดพระมหาธาตุ มีดังนี้[4]

ลำดับที่ รายนาม เริ่มวาระ สิ้นสุดวาระ
1 พระครูวินัยธรนุ่ม (นุ่น) พ.ศ. 2458 พ.ศ. 2463
2 พระครูปลัดแก้วชิน (ชิน) พ.ศ. 2464 พ.ศ. 2467
3 พระเทพญาณเวที (ลือ ยติกเถระ) พ.ศ. 2468 พ.ศ. 2469
4 พระรัตนธัชมุนี (แบน คณฺฐาภรโณ) พ.ศ. 2470 พ.ศ. 2521
5 พระธรรมรัตโนภาส (ประดับ โอภาโส) พ.ศ. 2522 พ.ศ. 2543
6 พระธรรมวชิรากร (สมปอง ปญฺญาทีโป) พ.ศ. 2544 ปัจจุบัน

พิกัดแผนที่[แก้]

8°24′40″N 99°57′58″E / 8.410985°N 99.966147°E / 8.410985; 99.966147

อ้างอิง[แก้]

แหล่งค้นคว้าเพิ่มเติม[แก้]

  • อิทธิกร ทองแกมแก้ว. "มองพระปานผ่านวัดพระมหาธาตุเมืองนครศรีธรรมราช." ใน จุดนัดพบ การข้ามแดน และไข้พื้นที่ในภาคใต้ของไทย เอกสารประกอบการสัมมนาวิชาการระดับชาติ เครือข่ายประวัติศาสตร์ มานุษยวิทยา และสังคมวิทยาภาคใต้ ครั้งที่ 4 ประจำปี 2561 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต. น. 78-93. ภูเก็ต: พีพี บุคส์ แอนด์ คอม, 2561.
  • กองพุทธศาสนสถาน สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ. ประวัติพระอารามหลวง เล่ม 2. กรุงเทพฯ : สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, 2548. 622 หน้า. หน้า 313-314.