พระนิกโก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก พระนิกโค)
พระนิกโคโชนิน

พระนิกโค (日興 Nikkō) (ค.ศ. 1246 - ค.ศ. 1333) หรือ พระนิกโค โชนิน เป็นผู้ก่อตั้งนิกายย่อยของศาสนาพุทธ นิกายนิชิเรน ซึ่งคือ นิชิเรนโชชู นามแบบเต็มของท่านคือ ฮะวะคิ-โบะ เบียวคุเร็น อาจาริ นิกโค (伯耆房 白蓮阿闍梨 日興 Hawaki-bō Byakuren Ajari Nikkō)

ในปี ค.ศ. 2015 นี้ จะเป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองครบรอบ 770 ปี ของการประสูติของพระนิกโค โชนิน โดยนิกาย นิชิเรนโชชู

พระประวัติ[แก้]

ว่ากันว่าพระนิกโค เข้าเป็นศิษย์ของ พระนิชิเร็นไดโชนิน ระหว่างปี ค.ศ. 1258 และ ปี ค.ศ. 1260 ซึ่งไม่ระบุเวลาที่แน่ชัด ท่านได้ตามรับใช้พระนิชิเรนอย่างใกล้ชิด จนถึงวันที่ท่านดับขันธ์ จากบันทึกของนิชิเรนโชชู พระนิกโคยังได้โดนเนรเทศพร้อม ๆ กับพระนิชิเรนถึงสองครั้ง และยังเป็นผู้ทำการเก็บรักษาบทธรรมนิพนธ์ที่พระนิชิเรนเขียนไว้อย่างมหาศาล โดยได้ทำการเก็บรักษาอย่างดีและระมัดระวัง

ในวันที่ 8 ตุลาคม ค.ศ. 1282 พระนิกโคได้รับการแต่งตั้งเป็น หนึ่งในหกของ พระสงฆ์อาวุโส ซึ่งพระนิชิเรนคาดหวังไว้ให้เป็นผู้เผยแผ่คำสอนหลังจากการดับขันธ์ของท่าน ต่อมาในวันที่ 13 ตุลาคม พระนิชิเรนได้แต่งตั้งให้ พระนิกโคเป็นเจ้าอาวาสแห่งวัดคุอนจิ แห่งเขามิโนบุ ซึ่งเป็นสถานที่พระนิชิเรนได้ใช้ชีวิตอยู่ในปีที่สุดท้ายของชีวิต อย่างไรก็ตามนิกายนิชิเรนชู และนิกายอื่น ๆ ได้ปฏิเสธเรื่องนี้ วันต่อมาพระนิชิเรนได้ดับขันธ์ ณ คฤหาสถ์ตระกูลอิเคนามิในโตเกียว

หลังจากพิธีศพของพระนิชิเรน พระนิกโคได้เดินทางออกจากบ้านตระกูลอิเคนามิในวันที่ 21 ตุลาคม และนำอัฐิ ของพระนิชิเร็นกลับไปยังเขามิโนบุ จนถึงเขามิโนบุในวันที่ 25 ตุลาคม หลังจากครบ 100 วันของจากดับขันธ์ของพระนิชิเรน พระนิกโคและพระสงฆ์อาวุโสอื่น ๆ ทั้ง 5 และลูกศิษย์ ได้ร่วมพิธีรำลึกการดับขันธ์ครบ 100 วันของท่าน

หลังจากนั้น พระนิกโค ได้ทำหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสวัดคุอนจิ สอนลูกศิษย์และดูแลฆราวาสที่นับถือ หน้าที่หลักที่สำคัญที่สุดของท่านคือการดูแลและปกป้องรักษาไดโงะฮนซน (สิ่งสักการบูชาสูงสุดของนิชิเรนโชชู) ดูแลรักษาสุสานของพระนิชิเรน และ ทำหน้าที่รวบรวมคำสอนและบทธรรมนิพนธ์ของพระนิชิเรน ระหว่างนั้นนั่นเอง พระสงฆ์อาวุโสอีก 5 รูป ได้มาเยือนเขามิโนบุนาน ๆ ครั้งเท่านั้น และค่อย ๆ เบี่ยงเบนและถอยห่างจากพระนิกโคที่ดำเนินคำสอนและการปฏิบัติตามแบบพระนิชิเรนซึ่งเป็นแบบดั้งเดิม อาทิเช่น บางท่านได้เริ่มปั้นพระพุทธรูปของพระพุทธเจ้าศากยมุนี หรือ ไปเข้ากับ นิกายเทียนไท้ สำหรับพระนิโคนั้น ได้ถูก ฮาการิ ซาเนะนากะ ยุยงให้ไปนับถือนิกายสุขาวดี และเคารพเทพเจ้าของชินโตอีกด้วย

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ ส่งผลให้พระนิกโคเล็งเห็นว่า การเผยแผ่ธรรมของพระนิชิเรนคงไม่อาจดำเนินต่อไปได้ ณ วัดคุอนจิ แห่งเขามิโนบุอีกต่อไป ในฐานะที่เป็นพระสงฆ์ที่พระนิชิเรนแต่งตั้งให้เป็นพระสังฆราช พระนิกโคได้วางแผนว่าถึงเวลาแล้วที่จะไปจากเขามิโนบุ พระนิกโคจึงได้เดินทางออกจากเขามิโนบุ พร้อมกับได้นำไดโงะฮนซน อัฐิของพระนิชิเรน และของตกทอดต่าง ๆ จากพระนิชิเรน และได้ออกจากเขามิโนบุพร้อมกับลูกศิษย์ในฤดูใบไม้ผลิ ปี ค.ศ. 1289 นันโจะ โทะชิมัตุ ฆราวาสที่นับถือได้มอบที่ดินบริเวณใกล้ภูเขาไฟฟูจิให้กับพระนิกโค ภายหลังได้บริจาคให้สร้างเป็นวัด ซึ่งต่อมาคือวัดไทเซขิจิ ซึ่งเป็นวัดใหญ่และศูนย์กลางของนิชิเรนโชชู

หลังจากการก่อตั้งวัดไทเซขิจินั้น พระนิกโคได้แต่งตั้งศิษย์ขึ้นมาเป็นผู้สืบทอดคือ พระนิชิโมขุ (ค.ศ. 1260ค.ศ. 1333) และได้เกษียณอายุและเดินทางไกลไปยัง โอโมะสุ ซึ่งท่านได้สร้างโรงเรียนสอนธรรมะ และได้สอนลูกศิษย์จนกระทั่งได้ดับขันธ์ใน เดือนที่ 2 ตามจันทรคติ ในปี ค.ศ. 1333 เมื่ออายุได้ 87 พรรษา

การเป็นผู้สืบทอดของพระนิชิเรน[แก้]

ผู้นับถือศาสนาพุทธนิกายนิชิเรนสายของพระนิกโค หรือก็คือ นิชิเรนโชชู เชื่อว่าพระนิกโคเป็นผู้สืบทอดอย่างถูกต้องและบริสุทธิ์ของพระนิชิเรน ในฐานะ พระสังฆราชหรือพระสัฆนายกแห่งนิชิเรนโชชู โดยได้อ้างอิงจากเอกสาร ในเดือน 9 ตามจันทรคติของปี ค.ศ. 1282 ที่มีชื่อว่า นิชิเรน อิชิโกะ กุโฮะ ฟุโซะกุโช หรือ จดหมายที่กำหนดคำสอนทั้งหมดที่จะถูกส่งต่อในช่วงชีวิตของพระนิชิเรน ในเอกสารฉับบนี้ พระนิชิเรนได้มอบหมาย คำสอนทั้งหมดของชีวิตท่าน ให้แก่พระนิกโค และแต่งตั้งให้เป็น ผู้นำสูงสุดแห่งการสืบทอดคำสอนที่ถูกต้องแท้จริง อย่างไรก็ตาม พระสงฆ์อาวุโสรูปอื่นๆที่ไม่ได้รับการแต่งตั้งนั้น ได้ปฏิเสธการแต่งตั้งครั้งนี้ และตั้งนิกาย นิชิเรนชู ขึ้นมา

ลูกศิษย์สายตรงของพระนิกโคบางคน ได้แตกแยกออกเป็นนิกายของตนเอง โดยได้บิดเบือนคำสอนบางประการจากนิชิเรนโชชู อย่างไรก็ตามในภายหลังนิกายที่เหล่านี้ได้กลับมาเข้ากับนิชิเรนโชชู

อ้างอิง[แก้]

  • Nikkō Shōnin Nichimoku Shōnin Shōden (日興上人・日目上人正伝: "Orthodox biography of Nikkō Shōnin and Nichimoku Shōnin"), Taisekiji, 1982
  • Nichiren Daishōnin Shōden (日蓮大聖人正伝: "Orthodox biography of Nichiren Daishōnin"), Taisekiji, 1981
  • The Life of Nichiren Daishonin. Kirimura, Yasuji. Nichiren Shoshu International Center (no longer connected to Nichiren Shoshu), 1980
ก่อนหน้า พระนิกโก ถัดไป
พระนิชิเรนไดโชนิน พระสังฆราชแห่งนิชิเรนโชชู
(ค.ศ. 1282 - ค.ศ. 1298)
พระนิชิโมขุ โชนิน