พระนาลกะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก พระนาลกเถระ)
พระนาลกเถระ
ข้อมูลทั่วไป
ชื่อเดิมนาลกะ
สถานที่เกิดกรุงกบิลพัสดุ์
สถานที่บวชวัดนิโครธาราม
วิธีบวชเอหิภิกขุอุปสัมปทา
ฐานะเดิม
ชาวเมืองเมืองกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ
มารดาผู้เป็นน้องชายของอสิตดาบส (กาฬเทวิลดาบส)
วรรณะเดิมพราหมณ์
หมายเหตุ
ผู้บำเพ็ญโมเนยยปฏิปทา
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

พระนาลกเถระ หรือ พระนาลกะ เป็นพระภิกษุสาวกเอตทัคคะของพระพุทธเจ้า นับเนื่องในพระอสีติมหาสาวก 80 องค์สำคัญในพระพุทธศาสนาในสมัยพุทธกาล

ประวัติ[แก้]

พระนาละกะ เกิดในวรรณะพราหมณ์ เมืองกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ มารดาของท่านเป็นน้องสาวของอสิตะดาบส (กาฬเทวิลดาบส) อาจารย์ของพระเจ้าสุทโธทนะพระชนกของพระพุทธเจ้า ท่านจึงเป็นหลานของอสิตะดาบส เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะประสูติได้ 3 วัน ท่านอะสิตะดาบสได้ไปเยี่ยมพระเจ้าสุทโธทะนะเพื่อดูพระโอรส จึงทราบว่าอีกไม่นานพระโอรสเจ้าตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน ท่านได้กลับมาบอกนาละกะหลานชายว่า เจ้าชายสิทธัตถะจะได้เป็นศาสดาเอกของโลก ให้นาละกะออกบวชเป็นฤๅษีบำเพ็ญฌานรอจนกว่าเจ้าชายสิทธัตถะบรรลุธรรม และให้กลับมาขอให้ทรงประทานโมเนยยะปฏิบัติ (การปฏิบัติของมุนี) ซึ่งเป็นชื่อเรียกการปฏิบัติให้บรรลุธรรมในยุคที่พระพุทธเจ้ายังไม่ตรัสรู้

การออกบวชและบรรลุธรรม[แก้]

หลังจากฤๅษีนาลกะได้บรรลุสมาบัติ 8 และต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลก ฤๅษีนาลกะผู้ซึ่งรอมานานได้ยินข่าวว่าเจ้าชายสิทธัตถะเป็นศาสดาเอกแล้ว จึงรีบเหาะมาเข้าเฝ้า และขอโมเนยยปฏิบัติตามคำของลุง ในวันที่ 7 นับจากวันที่ทรงแสดงปฐมเทศนาธัมมจักกัปปวัตตนสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนาเรื่องปฏิปทาของมุนีและทรงประทานโมเนยยปฏิบัติเป็นพระคาถา 4 บาท ว่า "อย่าเที่ยวภิกขาจารในที่เดิมซ้ำ อย่านอนในที่เดิมซ้ำ เพื่อไม่ตัดสินว่าใครดีชั่ว เพื่อไม่พิจารณาว่าที่นี้หยาบปราณีต" เมื่อพระนาลกะได้รู้โมเนยยปฏิบัติแล้ว จึงขอประทานการอุปสมบท พระนาลกะครั้นตั้งจิตยึดถือตามหลักมักน้อย 4 ประการนี้แล้ว ก็ทูลลาพระพุทธเจ้าไปอยู่ที่เชิงเขาตามลำพัง ท่านปฏิบัติตามข้อปฏิบัติของมุนีอย่างเคร่งครัด คือไม่อยู่ในป่าแห่งเดียวถึง 2 วัน ไม่นั่งที่โคนต้นไม้ต้นเดียวกันถึง 2 วัน ไม่บิณฑบาตที่บ้านเดียวถึง 2 วัน ดังนั้นท่านจึงออกจากป่าโน้นไปยังป่านี้ ออกจากต้นไม้นี้ไปยังต้นไม้โน้น และได้ประพฤติโมเนยยปฏิบัติ อย่างอุกฤษฏ์ 5 ประการ เป็นเวลา 7 เดือน คือ 1.ไม่ยึดติดสนิทสนมต่อบุคคล 2.ไม่ยึดติดถิ่นสถานที่อยู่ 3.เป็นผู้สันโดษในการเห็น 4.เป็นผู้สันโดษในการฟัง 5.เป็นผู้สันโดษในการถาม จึงได้บรรลุพระอรหันต์

โมเนยยปฏิบัติ[แก้]

โมเนยยปฏิบัตินั้น หากประพฤติอย่างต่อเนื่อง โดยปฏิบัติอย่างอุกฤษฏ์ ผู้ปฏิบัติก็จะคงมีชีวิตอยู่ต่อไปได้เพียง 7 เดือน ถ้าปฏิบัติเป็นมัชฌิมะปานกลาง ก็จะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ 7 ปี ถ้าปฏิบัติเป็นมันทะ คือ อย่างอ่อน ก็คงจะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้นานถึง 16 ปี แต่โมเนยยปฏิบัติเป็นวัตรปฏิบัติพิเศษที่ไม่ทรงบังคับ แต่ตรัสเตือนไว้ว่าถ้าประพฤติต่อเนื่องโดยไม่หยุดพักเลยมากเกินไปจะเสียชีวิตได้ จึงควรหยุดพักเพื่อฟื้นฟูร่างกาย อย่าโหมเดินทางจาริกเกินไป แต่ก็เป็นข้อวัตรปฏิบัติสำคัญในการขัดเกลากิเลส และเป็นการอนุเคราะสัตว์โลก ถึงขนาดว่าในเรื่องโกลาหล 5 มีโมเนยยปฏิบัติอยู่ด้วย เพราะเพียงเทวดาได้ข่าวว่าพระพุทธเจ้าจะตรัสบอกโมเนยยปฏิบัติในอีก 7 ปีข้างหน้า สวรรค์ถึงกับโกลาหล เพราะโมเนยยปฏิบัติเป็นวัตรปฏิบัติพิเศษที่กำหนดให้พระภิกษุต้องออกเดินทางไปในที่ต่างๆ ทำให้คนมีโอกาสทำบุญมากมายจนมาเกิดเป็นเทวดาได้มากมาย โมเนยยปฏิบัติเมื่อเริ่มตั้งใจอธิษฐานฝึกแล้วจะรับบิณฑบาตจากสถานที่ใดก็รับที่นั้นเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ไม่อาจจะรับครั้งที่สองอีก, เทศนาให้ใครฟังจะไม่เทศน์ในสถานที่นั้นฟังซ้ำอีกเป็นครั้งที่สอง เพราะต้องเดินทางเปลี่ยนสถานที่ต่อไป, ไปพักใต้โคนไม้ที่ไหน หรือกุฏิไหนก็พักได้แค่คืนเดียว จะไม่หวนกลับมาพักครั้งที่สองอีก ฯลฯ ประพฤติแบบนี้ไปตลอดชีวิต เพราะฉะนั้นจึงต้องสัญจรเร่ร่อนไปเรื่อยๆ และกลับมาซ้ำที่เดิมอีกก็ไม่ได้, พระเจ้าอโศกมหาราช องค์ที่ทรงอุปถัมภ์การสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งที่ 3 ในอินเดีย (ของฝ่ายเถรวาท) เมื่อ พ.ศ. 235 นั้น พระองค์ท่านทรงพอพระทัยและตรัสสรรเสริญวิธีการฝึกแบบโมเนยยะนี้มากที่สุด ถึงกับมีพระราชโองการออกมาว่า พระภิกษุสงฆ์ในศาสนาพุทธควรจะประพฤติตนตามหลักการแห่งโมเนยยปฏิปทานี้.

บั้นปลายชีวิต[แก้]

แต่เนื่องจากพระนาลกะมีอายุมาก ซ้ำประพฤติโมเนยยะอย่างอุกฤษฏ์ สังขารร่างกายจึงบอบช้ำมาก จึงได้พิจารณาอัตตภาพตน พบว่าถ้าประพฤติโมเนยยปฏิบัติอย่างอุกฤษฏ์ต่อไปจะตายภายใน 7 วัน แต่ได้นึกถึงว่าจะรักษาธรรมหรือจะรักษาชีวิตพิจารณาว่าจะรักษาธรรม จึงประพฤติต่อไป มีกล่าวไว้ว่า วันที่จะนิพพานนั้น ท่านรู้ตัวดีจึงสรงน้ำชำระกายแล้วครองผ้าอย่างเรียบร้อย ท่านยืนหันหน้าไปทางที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ซึ่งคาดว่าขณะนั้นพระพุทธเจ้าคงประทับอยู่ ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ จากนั้นท่านก็ก้มลงกราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์แล้วลุกขึ้นยืนพิงภูเขาหิงคุละ ประนมมือนิพพานด้วยอาการสงบ เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบด้วยพระญาณว่าพระนาลกะนิพพานแล้ว พระพุทธเจ้าก็เสด็จมายังภูเขาหิงคุละพร้อมด้วยพระสาวกหลายรูป ครั้นรับสั่งให้ฌาปนกิจศพท่านแล้วก็ทรงรับสั่งให้สร้างพระเจดีย์บนภูเขาหิงคุละและนำอัฐิของท่านไปบรรจุไว้ในพระเจดีย์ เพื่อให้พุทธบริษัทได้สักการะ

เอตทัคคะ[แก้]

ได้รับเอตทัคคะว่าเป็นผู้เลิศด้วยการประพฤติโมเนยยปฏิบัติ ในพระศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง จะมีผู้ประพฤติโมเนยยปฏิบัติอย่างอุกฤษฏ์และบรรลุพระอรหัตจากการประพฤติโมเนยยปฏิบัติ จะมีได้แค่เพียงรูปเดียวในศาสนาพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งๆ

อดีตชาติ[แก้]

พระนาลกะมิได้รับแต่งตั้งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ ทั้งนี้เป็นด้วยท่านตั้งจิต ปรารถนาเพียงเพื่อเป็นพระมหาสาวกเท่านั้น แต่มิได้ตั้งจิตปรารถนาเพื่อได้ตำแหน่งเอตทัคคะ ส่วนเรื่องราวในอดีต ชาติของท่านมีกล่าวว่า ท่านได้พบพระพุทธเจ้าปทุมุตตระ ฟังธรรมแล้วเกิดความเลื่อมใส จึงตั้งจิตปรารถนาขอให้ได้บรรลุอรหัตผลและเป็นพระมหาสาวก

ซึ่งพระพุทธเจ้าปทุมุตตระทรงพยากรณ์ว่า ท่านจะได้บวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าโคดมในอีก 100,000 กัปข้างหน้า จักได้บรรลุอรหัตผล ท่านได้ฟังพระพุทธเจ้าตรัสพยากรณ์แล้วเกิดปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง ได้ทำบุญอื่นๆ สนับสนุนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน ท่านได้มาเกิด เป็นหลานของฤๅษีอสิตะในเมืองกบิลพัสดุ์ ครั้นออกบวชก็ได้บรรลุอรหัตผลดังกล่าวแล้ว และเป็นพระมหาสาวกรูปหนึ่งในศาสนาของพระองค์

อ้างอิง[แก้]

  1. พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม 1 ภาค 6 - หน้าที่ 627 นาลกสูตร
  2. พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม 1 ภาค 6 - หน้าที่ 631 อรรถกถานาลกสูตรที่ 11_1
  3. พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม 1 ภาค 6 - หน้าที่ 660 [ปรมัตถโชติกา]
  4. สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส. (2525). ธรรมวิภาคปริเฉทที่ 2. พิมพ์ครั้งที่ 23. กรุงเทพฯ: คณะกรรมการแผนกตำรา มหามกุฏราชวิทยาลัย.
  5. หนังสือ สู่แดนพระพุทธองค์ โดย พระราชรัตนรังษี (ว.ป. วีรยุทโธ)
  6. พระพุทธกิจ 45 พรรษา ของ สุรีย์และ วิเชียร มีผลกิจ
  7. นครราชคฤห์ เมืองหลักพระพุทธศาสนา ของ พระมหา ดร. วิเชียร วชิรวังโส และ พระมหาดาวสยาม วชิรปัญโญ
  8. 45 พรรษา ของพระพุทธเจ้า พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก
  9. คำบรรยาย พระไตรปิฏก ของศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต
  10. สวดมนต์แปล วัดจันทาราม (วักท่าซุง) อ.เมือง อุทัยธานี
  11. พุทธสาวก พุทธสวิกา ของ เสถียรพงษ์ วรรณปก

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

  1. เว็บไซต์ 84000
  2. เว็บไชต ธรรมะ เกตเวย์ เก็บถาวร 2009-04-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน