ธรรมกาย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก พระธรรมกาย)

ธรรมกาย (สันสกฤต: धर्म काय, ธรฺมกาย, บาลี: धम्मकाय, ธมฺมกาย, อักษรโรมัน : Dharmakāya, จีน: 法身, พินอิน: fǎshēn) คือพระกายหนึ่งของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรากฏอยู่ในทั้งนิกายเถรวาทและมหายาน

ในทางนิกายเถรวาท[แก้]

เถรวาท หมายถึง คณะสงฆ์กลุ่มที่ยึดคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ทั้งถ้อยคำ และเนื้อความที่ท่านสังคายนาไว้โดยเคร่งครัด ตลอดจนรักษาแม้แต่ตัวภาษาดั้งเดิมคือภาษาบาลี คำว่าธรรมกายในนิกายเถรวาทนั้น มีผู้ให้คำจำกัดความไว้หลายนัยยะ เช่น สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) กล่าวว่าธรรมกายหมายถึง

“ผู้มีธรรมเป็นกาย” เป็นพระนามอย่างหนึ่งของพระพุทธเจ้า (ตามความในอัคคัญญสูตร แห่งทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค) หมายความว่า พระองค์ทรงคิดพุทธพจน์คำสอนด้วยพระหทัยแล้วทรงนำออกเผยแพร่ด้วยพระวาจา เป็นเหตุให้พระองค์ก็คือพระธรรมเพราะทรงเป็นแหล่งที่ประมวลหรือที่ประชุมอยู่แห่งพระธรรมอันปรากฏเปิดเผยออกมาแก่ชาวโลก; พรหมกาย หรือพรหมภูต ก็เรียก

“กองธรรม” หรือ “ชุมนุมแห่งธรรม” ธรรมกายย่อมเจริญงอกงามเติบขยายขึ้นได้โดยลำดับจนไพบูลย์ ในบุคคลผู้เมื่อได้สดับคำสอนของพระองค์ แล้วฝึกอบรมตนด้วยไตรสิกขาเจริญมรรคให้บรรลุภูมิแห่งอริยชน

      ดังตัวอย่างดำรัสของพระมหาปชาบดีโคตมี เมื่อครั้งกราบทูลลาพระพุทธเจ้าเพื่อปรินิพพาน ตามความในคัมภีร์อปทานตอนหนึ่งว่า  “ข้าแต่พระสุคตเจ้า หม่อมฉันเป็นมารดาของพระองค์, ข้าแต่พระธีรเจ้า พระองค์ก็เป็นพระบิดาของหม่อมฉัน ... รูปกายของพระองค์นี้ หม่อมฉันได้ทำให้เจริญเติบโต ส่วนธรรมกายอันเป็นที่เอิบสุขของหม่อมฉัน ก็เป็นสิ่งอันพระองค์ได้ทำให้เจริญเติบโต”;

      สรุปตามนัยอรรถกถา ธรรมกาย ในความหมายนี้ ก็คือ โลกุตตรธรรม 9 หรือ อริยสัจจ์


นอกจากนี้ยังมีพระราชโอรสพระองค์หนึ่งของรัชกาลที่ 4 คือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิวิธวรรณ-ปรีชา (เมื่อทรงพระเยาว์ได้ศึกษาภาษาอังกฤษในห้องเรียนเดียวกับกรมพระยาวชิรญาณวโร รส” ในปี 2416 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชา ทรงผนวชเป็นสามเณร โดยมีสมเด็จกรมพระยาปวเรศวชิรยาลงกรณ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ และมีสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทว) เป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 9 สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นผู้ถวายศีลให้ และในปี 2423 พระองค์ก็ทรงผนวชเป็นพระภิกษุอีกเป็นเวลา 1 ปี) ท่านได้ทรงพระนิพนธ์หนังสือที่มีชื่อว่า แก่นไตรภพ เพ็ชรในหิน วิธธัมโมทัย มฤตยูกถา หรือ มรณานุสสร ซึ่งมีรายละเอียดที่น่าศึกษาเกี่ยวกับเรื่องธรรมกาย

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชา ได้กล่าวถึงคำว่า ธรรมกายไว้ในหลายนัยในไตรพิธกายหน้า ๒๑๔-๒๑๗ ความว่า คนเรามีกายสามชั้น คือ

                 1. สรีรกาย กายที่แลเห็น ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย

                 2. ทิพยกาย คือ กายที่เป็นความรู้สึกภายใน ผันแปรไปตาม กุสลากุศลธรรม แต่ไม่แก่ ไม่ไข้ แลไม่ตาย

                 3. ธรรมกาย คือ กายที่เที่ยง ถาวร ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ไข้ ไม่ตาย เพราะเป็นชาติอมตธรรม

           นอกจากนี้ท่านยังได้กล่าวถึงในตรีพิธกายว่า สัตว์ทั้งหลายมีกายสามชั้น ในหน้า ๒๓๖-๒๓๗ ความว่า

1. รูปกาย เป็นเปลือกชั้นนอก

2. นามกาย เป็นเปลือกชั้นใน

3. ธรรมกาย เป็นแก่น ไม่เกิด ไม่ตาย ไม่ผันแปร

     รูปกายย่อมเกิดและตาย นามกายย่อมผันแปร ธรรมกาย ไม่เกิด ไม่ตาย และไม่ผันแปร เป็นอยู่ตลอดกาลทุกเมื่อ

     หน้า 236-242 มีใจความว่า “ผู้ ใดรู้เห็นแต่รูปกาย ก็เป็นแต่รูปกายเท่านั้น ผู้ใดรู้เห็นถึงนามกาย ก็อาจเป็นนามกายก็ได้ แต่ต้องละทิ้งรูปกายเสียด้วย ผู้ใดรู้เห็นธรรมกายผู้นั้นก็อาจเป็นธรรมกายได้ แต่ต้องละทิ้งกายอื่น ๆ เสียให้หมดจึงจะเป็นธรรมกายแท้ เพราะธรรมกายเป็นธรรมชาติ ไม่รู้จักตาย”

หลักฐานคัมภีร์เถรวาท[แก้]

พระไตรปิฎกเถรวาท[แก้]

  • หลักฐานชั้นพระไตรปิฎก

ในพระไตรปิฎกฉบับบาลีอักษรไทย (2525) ซึ่งจัดพิมพ์โดยมหามกุฏราชวิทยาลัย มีปรากฏคำว่า "ธรรมกาย" อยู่ 4 แห่ง โดยส่วนใหญ่อยู่ในพระสูตร ดังนี้

1. ที.ปา. อัคคัญญสูตร 11/55/91-92 ในทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค หน้า 92 ฉบับบาลี ปี พ.ศ. 2525 ได้กล่าวถึง "ธรรมกาย" ว่า

ตถาคตสฺส เหตํ วาเสฏฺฐา อธิวจนํ ธมฺมกาโย อิติปี พฺรหฺมกาโย อิติปิ ธมฺมภูโต อิติปิ พฺรหฺมภูโต อิติปิฯ

"ดูก่อนวาเสฏฐะ อันว่า คำว่า "ธรรมกาย" ก็ดี "พรหมกาย" ก็ดี "ธรรมภูต" ก็ดี ผู้ที่เป็นธรรมก็ดี หรือ "พรหมภูตะ" ผู้ที่เป็นพรหมก็ดี นี้แหละเป็นชื่อของเราตถาคต"

2. ขุ.อป. อัตถสันทัสสกเถราปทาน อปทาน 32/139/243 ในขุททกนิกาย อปทาน เล่มที่ 32 ข้อ 139 หน้า 243 บรรทัดที่ 1 ฉบับบาลี ปี 2525 ได้กล่าวถึง "ธรรมกาย" ว่า

...ธมฺมกายญฺจ ทีเปนฺติ เกวลํ รตนากรํ วิโกเปตํ น สกฺโกนฺติ โก ทิสฺวา นปฺปสีทติฯ

"บุคคลใดยัง "ธรรมกาย"ให้สว่างแล้วทั้งสิ้น อันเป็นบ่อเกิดแห่งรัตนะทั้งหลาย อันบุคคลทั้งหลายไม่มีผู้ใดจะทำร้ายได้ ใครเล่าเมื่อเห็นแล้วจะไม่ปลาบปลื้มยินดีนั้น ไม่มี"

3. ขุ.อป. ปัจเจกพุทธาปทาน 32/2/20 ในขุททกนิกาย อปทาน เล่มที่ 32 ข้อ 2 หน้า 20 บรรทัดที่ 9 ฉบับบาลี ปี 2525 ได้กล่าวถึงว่า

...ภวนฺติ ปจฺเจกชินา สยมฺภูฯ มหนฺตธมฺมา พหุธมฺมกายา...

"พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ผู้สยมภู ทรงเป็นผู้มีธรรมอันใหญ่ มี "ธรรมกาย" มาก"

4. ขุ.อป. มหาปชาบดีโคตรมีเถรีอปทาน 33/157/284

ในขุททกนิกาย อปทาน เล่มที่ 33 ข้อ 157 หน้า 284 บรรทัดที่ 12 ฉบับบาลี ปี 2525 ได้กล่าวถึง "ธรรมกาย" ไว้ว่า

สํวทฺธิโตยํ สุคต รูปกาโย มยา ตว อานนฺทิโย ธมฺมกาโย มม สํวทฺธิโต ตยาฯ

"ข้าแต่พระสุคต รูปกายของพระองค์นี้ อันหม่อมฉันยังให้เติบโตแล้ว แต่ "ธรรมกาย" อันน่ารื่นรมย์ของหม่อมฉัน พระองค์ให้เติบโตแล้ว"

และในพระไตรปิฎกฉบับหลวง (2514) เล่มที่ 26 หน้า 334 มีปรากฏคำว่า "ธรรมกาย" ดังนี้

5. พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สรภังคเถรคาถา ข้อ 365

...เมื่อก่อน เราผู้ชื่อว่า "สรภังคะ" ไม่เคยได้เห็นโรค คือ อุปาทาน ขันธ์ 5 ครบบริบูรณ์ทั้งสิ้น โรคนั้น อันเราผู้ทำตามพระดำรัสของพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ ได้เห็นแล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่า วิปัสสี พระสิขี พระเวสสภู พระกกุสันโธ พระโกนาคม พระกัสสป ได้เสด็จไปแล้วโดยทางใดแล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า "โคดม" ก็ได้เสด็จไปแล้วโดยทางนั้น พระพุทธเจ้า 7 พระองค์นี้ ทรงปราศจากตัณหา ไม่ทรงถือมั่น ทรงหยั่งถึงความสิ้นกิเลส เสด็จอุบัติแท้โดย "ธรรมกาย" ผู้คงที่ ทรงเอ็นดูอนุเคราะห์สัตว์ทั้งหลาย ได้ทรงแสดงธรรม คือ อริยสัจ 4 อันได้แก่ ทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ (สมุทัย) ความดับทุกข์ (นิโรธ) ทางเป็นที่สิ้นทุกข์ (มรรค) เป็นทางไม่เป็นไปแห่งทุกข์ อันไม่มีที่สุดในสงสาร เพราะกายนี้แตกและเพราะความสิ้นชีวิตนี้ การเกิดในภพใหม่อย่างอื่นมิได้มี เราเป็นผู้หลุดพ้นแล้วจากสรรพกิเลสและภพทั้งปวง

คัมภีร์อื่น ๆ[แก้]

คัมภีร์ ขุทฺทกนิกาย อิติวุตฺตก อรรถกถาปรมตฺถทีปนี สงฺฆาฏิกณฺณสุตฺตวณฺณนา ฉบับมหาจุฬาฯ หน้า 334 มีข้อความที่กล่าวถึง ธรรมกาย ว่า[แก้]

โส อารกาว มยฺหํ, อหญฺจ ตสฺสาติ โส ภิกฺขุ มยา วุตฺตปฏิปทํ อปูเรนฺโต มม ทูเรเยว, อหญฺจ ตสฺส ทูเรเยว. เอเตน มํสจกฺขุนา ตถาคตทสฺสนํ รูปกายสโมธานญฺจ อการณํ, ญาณจกฺขุนาวทสฺสนํ ธมฺมกายสโมธานเมว จ ปมาณนฺติ ทสฺเสติ. เตเนวาห "ธมฺมํ หิ โส ภิกฺขเว ภิกฺขุ น ปสฺสติ, ธมฺมํ อปสฺสนฺโต มํ น ปสฺสตี" ติ. ตตฺถ ธมฺโม นาม นววิโธ โลกุตฺตรธมฺโม,โส จ อภิชฺฌาทีหิ ทุสฺสิตจิตฺเตน น สกฺกา ปสฺสิตุํ, ตสฺมา ธมฺมสฺส อทสฺสนโต ธมฺมกายํ จ น ปสฺสตี" ติ ตถา หิ วตฺตุํ :- "กินฺเต วกฺกลิ อิมินา ปูติกาเยน ทิฏฺเฐน, โย โข วกฺกลิ ธมฺมํ ปสฺสติ, โส มํ ปสฺสติ. โย มํ ปสฺสติ, โส ธมฺมํ ปสฺสตี" ติ. (เชิงอรรถอ้าง สํ.ข.17/84/96) “ธมฺมกาโย อิติปิ, พฺรหฺมกาโย อิติปิ” ติ จ อาทิ (เชิงอรรถอ้าง ที.ปา. 11/118/72)

มีคำแปลปรากฏใน ขุทฺทกนิกาย อิติวุตฺตก อรรถกถาสังฆาฏิสูตร เล่ม 45 หน้า 583 ว่า บทว่า โส อารกาว มยฺหํ อหญฺจ ตสฺส ความว่า ภิกษุนั้น เมื่อไม่บำเพ็ญปฏิปทาที่เราตถาคตกล่าวแล้วให้บริบูรณ์ ก็ชื่อว่า เป็นผู้อยู่ไกลเราตถาคตทีเดียว เราตถาคตก็ชื่อว่า อยู่ไกลเธอเหมือนกัน ด้วยคำนี้พระองค์ทรงแสดงว่า การเห็นพระตถาคตเจ้า ด้วยมังสจักษุก็ดี การอยู่รวมกันทางรูปกายก็ดี ไม่ใช่เหตุ (ของการอยู่ใกล้) แต่การเห็นด้วยญาณจักษุเท่านั้น และการรวมกันด้วย ธรรมกาย ต่างหาก เป็นประมาณ (ในเรื่องนี้) ด้วยเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสไว้ว่า

ภิกษุทั้งหลาย เพราะว่าภิกษุนั้นไม่เห็นธรรม เมื่อไม่เห็นธรรมก็ไม่เห็นเราตถาคต

ในคำว่า ธมฺมํ น ปสฺสติ นั้น มีอธิบายว่า โลกุตตรธรรม 9 อย่าง ชื่อว่าธรรม ก็เธอไม่อาจจะเห็นโลกุตตรธรรมนั้นได้ ด้วยจิตที่ถูกอภิชฌาเป็นต้นประทุษร้าย เพราะไม่เห็นธรรมนั้น เธอจึงชื่อว่า ไม่เห็น ธรรมกาย สมจริงตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ว่า

ดูก่อนวักกลิ เธอจะมีประโยชน์อะไร ด้วยกายอันเปื่อยเน่านี้เธอได้เห็นแล้ว ดูก่อนวักกลิ ผู้ใดแลเห็นธรรม ผู้นั้นก็เห็นเราตถาคต ผู้ใดเห็นเราตถาคต ผู้นั้นก็เห็นธรรม ดังนี้ และว่าเราตถาคตเป็นธรรมภูต เราตถาคตเป็นพรหมภูตดังนี้ และว่าเป็น ธรรมกาย บ้าง เป็นพรหมกายบ้าง ดังนี้เป็นต้น

คัมภีร์ ขุทฺทกนิกาย สุตฺตนิปาต อรรถกถาปรมตฺถโชติ กา ธนิยสุตฺตวณฺณนา ฉบับมหาจุฬาฯ หน้า 39 ปรากฏมีข้อความเกี่ยวกับธรรมกาย ว่า[แก้]

อถ ธนิโย อเวจฺจปฺปสาทโยเคน ตถาคเต มูลชาตาย ปติฏฺฐตาย สทฺธาย ปญฺญจกฺขุนา ภควโต ธมฺมกายํ ทิสฺวา ธมฺมกายสญฺโจหิตหทโย จินฺเตสิ :- "พนฺธนานิ ฉินฺทึ, คพฺภเสยฺยา จ เม นตฺถี" ติ อวีจึ ปริยนฺตํ กตฺวา ยาว ภวคฺคา โก อญฺโญ เอวํ สีหนาทํ นทิสฺสติ อญฺญตฺร ภควตา, อาคโต นุ โข เม สตฺถาติ. (*** ข้ามข้อความบางส่วน ***) ตตฺถ ยสฺมา ธนิโย สปุตฺตทาโร ภควโต อริยมคฺคปฏิเวเธน ธมฺมกายํ ทิสฺวา โลกุตฺตรจกฺขุนา, รูปกายํ ทิสฺวา โลกิยจกฺขุนา สทฺธาปฏิลาภํ ลภิ, ตสฺมา อาห "ลาภา วต โน อนปฺปกา, เย มยํ ภควนฺตํ อทฺทสามา" ติ.-

มีคำแปลที่ปรากฏใน ขุทฺทกนิกาย สตฺตนิปาต อรรถกถาธนิยสูตร เล่ม 46 หน้า 84 ว่า

ลำดับนั้น นายธนิยะ เห็นแล้วซึ่ง ธรรมกาย ของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยปัญญาจักษุ ด้วยศรัทธา ซึ่งตั้งมั่นแล้ว อันเกิดขึ้นแล้วในพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นมูลด้วยความเลื่อมใสที่ไม่คลอนแคลน ผู้มีหทัยอัน ธรรมกาย ตักเตือนแล้ว คิดแล้วว่านับตั้งแต่อเวจีเป็นที่สุด จนถึงภวัครพรหม เว้นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสีย คนอื่นใครเล่าจักบันลือสีหนาทที่มีกำลังเช่นนี้ได้ พระศาสดาของเราเสด็จมาแล้วหนอ ด้วยความดำริว่า เราตัดเครื่องผูกทั้งหลายได้แล้ว และการนอนในครรภ์ของเราไม่มี (*** ข้ามข้อความบางส่วน ***) เพราะเหตุที่นายธนิยะพร้อมกับบุตรและภรรยาได้เห็น ธรรมกาย ของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยโลกุตตรจักษุ โดยการแทงตลอดอริยมรรค เห็นรูปกายของพระองค์ด้วยโลกิยจักษุ และกลับได้แล้วซึ่งสัทธาฉะนั้นเขาจึงกล่าวว่า เป็นลาภของข้าพระองค์ไม่น้อยหนอ ที่ข้าพระองค์ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า

หนังสือมิลินทปัญหา (ฉบับแปลในมหามกุฏราชวิทยาลัย) สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี) มีความข้อความเกี่ยวกับ ธรรมกาย ดังนี้

10. พุทธนิทัสสนปัญหาที่ 58

พระราชาตรัสถามว่า "พระพุทธเจ้ามีหรือ พระผู้เป็นเจ้า ?"
พระเถรเจ้าทูลตอบว่า "ขอถวายพระพร มีอยู่."
ร. "พระผู้เป็นเจ้าสามารถจะชี้ได้หรือว่า 'พระพุทธเจ้าอยู่ที่นี้ หรือที่นี้."
ถ. "พระผู้มีพระภาคปรินิพพานแล้ว ด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ (ดับ
หมดสิ้นเชื้อไม่มีเหลือ), อาตมภาพไม่สามารถที่จะชี้ได้ว่า 'อยู่ที่นี้หรือที่นี้."
ร. "ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอุปมาให้ข้าพเจ้าฟัง."
ถ. "พระองค์จะทรงพระดำริเห็นความข้อนั้นเป็นไฉน: เปลวแห่งกองไฟ
อันใหญ่ที่ลุกโพลงอยู่ดับไปแล้ว พระองค์จะทรงสามารถชี้ได้หรือว่า 'อยู่ที่นี้
หรือที่นี้."
ร. "ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอุปมาให้ข้าพเจ้าฟัง."
ถ. "พระองค์จะทรงพระดำริเห็นความข้อนั้นเป็นไฉน: เปลวแห่งกองไฟ
อันใหญ่ที่ลุกโพลงอยู่ดับไปแล้ว พระองค์จะทรงสามารถชี้ได้หรือว่า 'อยู่ที่นี้
หรือที่นี้."
ร. "ไม่สามารถเลย เพราะว่าเปลวไฟนั้นดับแล้ว ถึงความไม่มีบัญญัติ
เสียแล้ว."
ถ. "ข้อนั้นฉันใด, พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว
ด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาติ, ใคร ๆ ไม่สามารถจะชี้ได้ว่า 'อยู่ที่นี้หรือที่นี้' ดัง
นี้. ก็แต่ว่าสามารถจะชี้ได้ด้วยธรรมกาย, เพราะว่าพระธรรม พระผู้มีพระภาค
เจ้าทรงแสดงไว้แล้ว."

ร. "พระผู้เป็นเจ้าช่างฉลาดจริง ๆ."

ในทางนิกายมหายานและนิกายอื่น ๆ[แก้]

มหายาน แต่เดิมคือนิกายมหาสังฆิกะแยกออกจากเถรวาทเมื่อครั้งสังคายนาครั้งที่ 2 (พ.ศ. 100)และพัฒนามาเป็นมหายานในสมัยต่อมา โดยยึดตามคำสอนของครูอาจารย์รุ่นหลัง พัฒนากายอีกหนึ่งกาย ขึ้นจากกายในเถรวาทที่มีเพียงสองกาย เพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งกายคือสัมโภคกาย เป็นแนวคิดตรีกายเป็น นิรมาณกาย สัมโภคกาย และธรรมกาย

ธรรมกาย ในมหายานกล่าวว่าธรรมกายเป็น กายที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า เป็นแก่นแท้ เป็นสัจจธรรม ที่ดำรงอยู่ไม่มีวันสลาย เป็นกายหนึ่งในสามของพระพุทธเจ้าและมีความสำคัญอย่างสูงสุด ไม่สามารถมองเห็นได้ ไร้ลักษณะ เป็นอจินไตย (ไม่สามารถนึกหรือคาดเดาได้) มีความเป็นเช่นนั้นเอง (ตถตา) เป็นอมลวิญญาณ (จิตเดิมจิตแท้ของสรรพชีวิต) ทั้งนี้เพราะเป็นอสังขตธรรม พ้นแล้วจากเหตุปัจจัย จึงไม่เกิด และเมื่อไม่มีการเกิดจึงไม่มีการตาย ไม่สะอาด ไม่สกปรก เสมอภาค ไม่เพิ่มลด ไม่ใช่รูปและนามแบบในภพสามที่ยังเป็นอนัตตา ด้วยเหตุนี้ แม้มี (อมลวิญญาณ) ก็เหมือนไม่มี แม้จะว่าไม่มีแต่ก็มี เป็นศูนยตา คือว่างจากกิเลสทั้งปวงอย่างแท้จริง [1] มีความเป็นหนึ่งเดียวไม่มีสอง ไม่มีการแบ่งแยก พระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ และสรรพสัตว์ทั้งหลายนั้น ล้วนเป็นสิ่งสมมุติ[2] และธรรมกายยังสัมพันธ์กับเรื่องราวของ ตถาคตครรภ์, พุทธภาวะ, นิรวาณ (นิพพาน), ธรรมธาตุ

ไวพจน์ของคำว่าธรรมกาย[แก้]

ไวพจน์หรือคำที่ต่างรูปแต่มีความหมายคล้ายคลึงกัน สำหรับคำว่าธรรมกายนั้น มีไวพจน์ เช่น ศูนยตา (สุญญตา) , ตถาคตา, ยถาภูตตา, นิรวาณ (นิพพาน), สัสสตา, สทิสตา, สัจจตา, นิโรธ, ธรรมธาตุ, พุทธกาย , ตถาคตกาย, พุทธตา, ธัมมตาพุทธ, ตถาคตคัพภ์ , จิต และ อาลยวิญญาณ (จิตเดิมแท้) เป็นต้น

แนวคิดเรื่องตรีกาย[แก้]

คติความเชื่อสภาวะของพระพุทธเจ้าแตกต่างกันไปตามนิกาย คติพุทธมหายานกล่าวถึงความมีตัวตนของพระพุทธเจ้าเป็นทิพย์ภาวะ กล่าวคือการปรินิพพานไม่ได้ดับสูญ มีความเป็นนิรันดร ในคัมภีร์มหายาน "กายตรยสูตร" กล่าวถึงกายหรือสภาวะของพระพุทธเจ้าว่า พระศากยมุนีมีพุทธดำรัสกับพระอานนท์ว่า ทรงไม่ได้มีกายเดียว แต่มีสามกาย คือ นิรมาณกาย สัมโภคกาย และ ธรรมกาย เรียกกันว่า "ตรีกาย"

  1. นิรมาณกาย (กายเนื้อ หรือกายที่บิดเบือนได้) คือพระกายที่ธรรมกายนิรมิตขึ้นมา มีเลือดมีเนื้อมีการ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่มีความเป็นนิรันดร์ คนทั่วไปสามารถมองเห็นได้ กายนี้เพื่อใช้สั่งสอนมนุษย์ถึงความไม่จีรัง ประกอบด้วยพระพุทธเจ้าในภัทรกัป กกุสันธะ โกนาคมนะ กัสสปะ โคตมะ ศรีอริยเมตไตรย
  2. สัมโภคกาย (กายทิพย์ หรือกายที่ตรัสรู้แล้ว) คือพระกายที่เป็นทิพยภาวะ เป็นร่างที่ธรรมกายเนรมิตขึ้นมา เพื่อสั่งสอนพระโพธิสัตว์และเทวดาเท่านั้น เห็นได้ในลักษณะมหาบุรุษ 32 ประการ และ อสีตยานุพยัญชนะ หรือ อนุพยัญชนะ 80 ประการ (คติสำคัญในการสร้างพระพุทธรูป) เป็นนิรันดร์ พ้นจาก อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ดำรงอยู่ระหว่างธรรมกายและนิรมาณกาย ประกอบด้วย พระพุทธเจ้าไวโรจนะ อักโษโ๋ภยะ รัตนสัมภาวะ อมิตาภะ อโมฆสิทธิ หรือเรียกว่า พระชินนะทั้ง 5
  3. ธรรมกาย (กายธรรม หรือ พระธรรม) เป็นกายที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า เป็นแก่นแท้ เป็นสัจจธรรม ไม่มีจุดเริ่มต้น ดำรงอยู่ไม่มีวันดับสลาย จะเนรมิตกายเป็นสัมโภคกาย และ นิรมาณกาย เรียกว่า ธยานิพุทธ

พระธรรมกายพุทธเจ้า[แก้]

พระธรรมกายพุทธเจ้า (法身佛) คือพระนามหนึ่งของพระไวโรจนพุทธะ ผู้เป็นอาทิพุทธะ หรือพระปฐมพุทธเจ้าตามความเชื่อของพุทธศาสนานิกายมหายานและวัชรยาน หรือในอีกหลายพระนามเช่น พระมหาไวโรจนะประภาพุทธเจ้า (大毘盧遮那遍照佛) พระมหาสูรยตถาคต (大日如來) มีความหมายโดยรวมว่า พระพุทธเจ้าทรงมีกายธรรม (ธรรมกาย) ที่ส่องสว่างด้วยรัศมีแห่งปัญญาญาณ ฉายส่องไปทั่วธรรมธาตุโดยไร้สิ่งกีดขวาง และพระไวปุลยกายพุทธเจ้า (廣博身佛) หมายถึง พระพุทธเจ้าซึ่งมีพระวรกายกว้างขวางไพบูลย์ (ครอบคลุมซึ่งสรรพสิ่ง)

พระธยานิพุทธะ[แก้]

ความเชื่อในพระพุทธเจ้าของฝ่ายมหายานและฝ่ายเถรวาทมีเนื้อหาสรุปย่อๆ ได้ดังนี้ ฝ่ายมหายานเชื่อว่า อาทิพุทธ (ชื่อพระพุทธเจ้า) เป็นพระพุทธเจ้าที่อุบัติขึ้นพร้อมกับโลก หรือเรียกว่า ธรรมกาย เป็นต้นกำเนิดแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายทั้งจักรวาลที่เรียกว่า พระธยานิพุทธะ

พุทธศาสนตามแบบนิกายวัชรยาน พระธยานิพุทธะ จะประกอบด้วยพระพุทธเจ้าที่สำคัญ 5 พระองค์คือ

  1. พระไวโรจนพุทธะ หรืออีกชื่อหนึ่งคือ มหาสุริยประภา พระปฐมพุทธะ
  2. พระอักโษภยพุทธะ
  3. พระอโมฆสิทธิพุทธะ
  4. พระรัตนสัมภวพุทธะ
  5. พระอมิตาภพุทธะ

พุทธศาสนาแบบมหายาน (แบบจีน, ญี่ปุ่น และ เกาหลี) จะประกอบด้วยพระธยานิพุทธะคือ พระอมิตาภพุทธะ หรือบางแห่งอาจจะนับถือ พระไวโรจนพุทธะ โดยถือว่าเป็นพระพุทธเจ้าสูงสุด ไม่เหมือนอย่างในนิกายวัชรยาน ของเนปาลและธิเบตที่ถือว่าพระธยานิพุทธเจ้าที่สำคัญนั้นมี 5 พระองค์[3]

พระปฏิมาของพระไวโรจนะพุทธเจ้า[แก้]

ธรรมกาย ในที่นี้หมายถึง ตัวแทนของความจริงสากล เป็นตัวแทนของอากาศธาตุ ธรรมกายนั้นมีความหมายอีกประการหนึ่งก็คือ พระพุทธเจ้านั้นมีกายคือ ธรรมะ คือความจริงในฝ่ายมหายานนั้น กำหนดพุทธศิลป์รูปแบบของพระไวโรจนะ(พระธรรมกาย)ในความหมายของความจริงแท้ ซึ่งสะท้อนว่า ธรรมกายไม่ใช่ตัวตนในระดับโลกียะ แต่เป็นตัวตนในระดับโลกุตระ ที่มีสีขาวเป็นสัญลักษณ์ รัศมีธรรมเป็นสีน้ำเงินอ่อน ประทับอยู่ในท่าธรรมจักรพุทธาที่แสดงโดยนิ้วพระหัตถ์มาวงล้อมกัน อันหมายถึงกงล้อธัมมจักกัปปวัตนสูตรหรือความจริงแท้ ที่ยังคงหมุนอยู่ตลอดเวลาท่านั่งขัดสมาธิทรงเครื่องจักรพรรดิ เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจและความกล้าหาญ มีความหมายถึงความจริงแท้ (ต่อมาฝ่ายเถรวาทถอดมาเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องจักรพรรดิ) เสียงประจำพระองค์คือ โอม เสียงที่หมายถึง ความจริงแท้ ความสัมบูรณ์ หรือ ความเป็นอมตะนิรันดร[4]

คำสอนเรื่องธรรมกายของคณาจารย์นิกายเซน[แก้]

เว่ยหล่าง (พระสังฆปริณายกแห่งนิกายเซนองค์ที่ 6)[แก้]

禪-ฉาน(ธฺยาน,ฌาน,เซน)

“….อาตมาก็จะได้กล่าวแก่ท่านทั้งหลายถึงเรื่องตรีกายของพระพุทธเจ้าแห่งจิตเดิมแท้สืบไป เพื่อท่านทั้งหลายจะสามารถเห็นกายทั้งสามนี้ และจะเห็นแจ้งในจิตเดิมแท้อย่างชัดเจน จงตั้งใจฟังให้ดี และว่าตามดังๆ พร้อมกันทุกคนเหมือนที่อาตมาจะว่านำ “ด้วยกายเนื้อของเรานี้ เราขอถือที่พึ่งในธรรมกายอันบริสุทธิ์ (คือกายแก่น) ของพระพุทธเจ้า…”

ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย กายเนื้อของเรานี้ อาจเปรียบได้กับโรงพักแรม, ดังนั้นเราจึงไม่สามารถยึดเอาเป็นที่พึ่ง, ในภายในจิตเดิมแท้ของเรา เราอาจหาพบกายทั้งสามนี้ และเป็นของสาธารณะทั่วไปสำหรับทุกคน แต่เนื่องจากใจ (ของคนธรรมดาสามัญ) ทำกิจอยู่ด้วยความรู้ผิด เขาจึงไม่ทราบถึงธรรมชาติแท้ในภายในกายของเขา ผลจึงเกิดขึ้นมีว่าเขาไม่รู้จักตรีกายภายในตัวของเขาเอง (มิหนำซ้ำยังเชื่อผิด) ว่าตรีกายนั้น เป็นสิ่งที่แสวงหาจากภายนอก, ท่านจงตั้งใจฟังเถิด อาตมาจะแสดงให้เห็นว่าตัวท่านเอง ท่านจะพบกายเป็นปรากฏการณ์ อันแสดงออกของจิตเดิมแท้ อันเป็นสิ่งไม่อาจพบได้จากภายนอก…”

“จิตเดิมแท้ของเราเป็นของบริสุทธิ์ ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเพียงการแสดงออกของจิตนี้ กรรมดีกรรมชั่วเป็นเพียงผลของความคิดดีและคิดชั่วตามลำดับฉะนั้น ภายในจิตเดิมแท้ สิ่งทุกสิ่ง (ย่อมบริสุทธิ์จริงแท้) เหมือนกับสีของท้องฟ้ากับดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ ซึ่งเมื่อเมฆผ่านมาบัง ความแจ่มแจ้งนั้นดูประหนึ่งว่า ถูกทำให้มัวไป แต่เมื่อเมฆเคลื่อนไปแล้ว ความแจ่มแจ้งกลับมาปรากฏอีก และสิ่งต่างๆ ก็ได้รับแสงมาส่องมาเต็มอย่างเดิม. ….จิตชั่วเปรียบกับเมฆ ความรู้แจ้งแทงตลอดและปัญญาของเราเปรียบเหมือนดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ตามลำดับ เมื่อเราพัวพันอยู่กับอารมณ์ภายนอก จิตเดิมแท้ของเรา ก็ถูกบดบังไว้ ด้วยความรู้สึกที่ติดรสของอารมณ์ ซึ่งย่อมจะปิดกั้นความรู้แจ้งแทงตลอดและปัญญาของเราไว้มิให้ส่องแสงออกมาภายนอกได้

แต่เผอิญเป็นโชคดีแก่เราอย่างเพียงพอที่ได้พบกับครูผู้รอบรู้และอารีที่ได้นำธรรมะอันถูกต้องตามธรรมมาให้เราทราบ จึงสามารถกำจัดอวิชชาและความรู้ผิดเสียได้ด้วยน้ำพักน้ำแรงของเรา จนถึงกับเราเป็นผู้รู้แจ้งสว่างไสวทั้งภายในและภายนอก และธรรมชาติแท้ของสิ่งทั้งปวงปรากฏตัวมันเองอยู่ในภายในจิตเดิมของเรา นี่แหละคือสิ่งที่บังเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ได้เผชิญหน้ากันกับจิตเดิมแท้ และนี่แหละคือสิ่งซึ่งเรียก ธรรมกายอันบริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้า…”

ฮวงโป[แก้]

“ธรรมกายที่แท้จริงของพุทธะ ย้อมเหมือนความว่าง เป็นวิธีกล่าวอีกอย่างหนึ่งที่จะกล่าวว่า ธรรมกายคือความว่าง หรือความว่างคือธรรมกาย ก็ตาม คนทั้งหลายมักอวดอ้างว่า ธรรมกาย มีอยู่ในความว่าง และ ความว่าง บรรจุไว้ซึ่ง ธรรมกาย นี้เป็นเพราะเขาไม่รู้แจ้งเห็นจริงว่า สิ่งทั้งสองนั้นเป็นเพียงสิ่งเดียวและอันเดียวกัน แต่ถ้าพวกเธอจำกัดความลงไปว่า ธรรมกายนั้น เป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ ถ้าเป็นเช่นนั้น ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ไม่ใช่ความว่าง ...”

“คำทั้งสองนี้ ไม่แตกต่างจากกันและกันเลย หรือนัยหนึ่งก็คือไม่มีความแตกต่างใดๆ ในระหว่างสามัญสัตว์ทั้งปวงกับพระพุทธเจ้าทั้งหลาย หรือระหว่างสังสารวัฏกับพระนิพพาน หรือระหว่างโมหะกับโพธิ…”

“พุทธะองค์หนึ่งๆ มี 3 กาย โดยคำว่า ธรรมกาย ย่อมหมายถึง ธรรมะ (ธรรมดา) ของธรรมกายนั้น ไม่อาจจะแสวงหาได้โดยทางการพูดหรือโดยทางการฟัง หรือโดยทางหนังสือ ไม่มีอะไรที่อาจจะพูด หรือทำให้เป็นลายลักษณ์อักษรเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้ มีอยู่ก็แต่ความว่างแห่งสภาวะธรรมดาที่แท้จริงของทุกสิ่งทุกสิ่ง ซึ่งเป็นอยู่เองอันมีอยู่ในทุกที่ทุกหนทุกแห่ง และไม่มีอะไรไปมากกว่านั้นอีก…”

หลักฐานคัมภีร์มหายาน[แก้]

พระไตรปิฎกภาษาจีน[แก้]

มัญชุศรีปรัชญาปารมิตาสูตร (文殊師利所說般若波羅蜜經)[แก้]

爾時世尊告文殊師利:「汝今真實見如來乎?」文殊師利白佛言:「世尊!如來法身本不可見,我為眾生故來見佛。佛法身者不可思議,無相無形,不來不去,非有非無,非見非不見,如如實際,不去不來,非無非非無,非處非非處,非一非二,非淨非垢,不生不滅。我見如來亦復如是。」

พระผู้มีพระภาคตรัสกะพระมัญชุศรีว่า “บัดนี้ เธอได้เห็นตถาคตอย่างแท้จริงหรือไม่?” พระมัญชุศรีทูลว่า “พระผู้มีพระภาค! ธรรมกายแห่งพระตถาคตแต่เดิมมาก็ไม่อาจเห็นได้ เพื่อสรรพสัตว์เป็นเหตุข้าพระองค์จึงมาทัศนาพระพุทธองค์ ธรรมกายของพระองค์นั้นเป็นอจินไตย(นึกคิดเอาไม่ได้) ไร้ลักษณะ ไร้รูปร่าง มิได้มาแลมิได้ไป มิใช่มีแลมิใช่ไม่มี มิใช่เห็นแลมิใช่ไม่เห็น ดั่งตถตา (ความเป็นไปอย่างนั้นเอง) ที่ไม่ได้มาและไม่ได้ไป มิใช่การปราศจาก และมิใช่การไม่ปราศจาก มิใช่สถานที่แลมิใช่การไม่ใช่สถานที่ มิใช่การเป็นหนึ่ง มิใช่การเป็นสอง มิใช่ความบริสุทธิ์ มิใช่มลทิน ไม่เกิดไม่ดับ ข้าพระองค์ทัศนาพระตถาคตอยู่อย่างนี้พระเจ้าข้า

พระวิศวภัทร เสี่ยเกี๊ยก.มัญชุศรีปรัชญาปารมิตาสูตร,2553

ธรมธาตุปรกฤตยอวตารสูตร (入法界體性經)[แก้]

文殊師利。所言佛者。即是法界。於彼諸力無畏。亦是法界。文殊師利。我不 見法界有其分數。我於法界中。不見此是凡夫法。此是阿羅漢法。辟支佛法。及諸佛 法。其法界無有勝異。亦無壞亂。文殊師利。譬如恒河。若閻摩那。若可羅跋提河。 如是等大河入於大海。其水不可別異。如是文殊師利。如是種種名字諸法。入於法界 中無有名字差別。

มัญชุศรี อันคำว่า พุทธะก็คือ ธรรมธาตุ ในบรรดาพละ เวสารัชชะทั้งหลาย ก็คือธรรมธาตุ มัญชุศรี ตถาคตไม่เห็นธรรมธาตุว่ามีการแบ่งคำนวณนับ ท่ามกลางธรรมธาตุ ตถาคตไม่ เห็นว่าสิ่งนี้คือบุถุชนธรรม ว่านี้คืออรหันตธรรม ว่าสิ่งนี้คือปัจเจกพุทธธรรมและว่าคือพุทธธรรมทั้ง ปวง ธรรมธาตุนั้นไร้ซึ่งความดีเลิศหรือแตกต่าง จึงไม่มีการเสื่อมสลายแปรปรวน มัญชุศรี อุปมาแม่น้ำาคงคา หรือแม่น้ำยมนา หรือแม่น้ำาอิราวตี อันมหานทีเหล่านี้ที่ไหลสู่ มหาสมุทร ชลวารีนั้นก็ไม่อาจจำแนกความต่าง อย่างนี้แหละมัญชุศรี บรรดานามอักษรนานาของธรรมทั้งปวง ก็ไหลสู่ธรรมธาตุ ปราศจาก ซึ่งความต่างของนามอักษร อย่างนี้

文殊師利。譬如種種諸穀聚中不可說別。是法界中亦無別名。有此有彼。是染 是淨。凡夫聖人及諸佛法。如是名字不可示現。如是法界如我今說。如是法界無違逆 如是信樂。何以故。文殊師利。其逆順界法界無二相故。無來無去。不可見故。無其 起處。

มัญชุศรี อุปมาบรรดาธัญญาพืชนานาที่รวมกันอยู่ก็ไม่อาจกล่าวว่าต่างกัน ท่ามกลางธรรม ธาตุจึงไร้ซึ่งนามที่ต่างกัน ว่ามีสิ่งนี้ มีสิ่งนั้น เป็นสิ่งสกปรก เป็นสิ่งสะอาด บุถุชน อริยบุคคล และ พุทธธรรมทั้งปวง ก็ไม่อาจปรากฏนามอักษรอย่างนี้ ธรรมธาตุก็ดั่งที่ตถาคตกล่าวอยู่บัดนี้อย่างนี้ ธรรมธาตุปราศจากความขัดแย้งอยู่อย่างนี้ เป็นอัธยาศัยอยู่อย่างนี้ เหตุไฉนนั้นฤๅ มัญชุศรี เพราะ ธาตุคือความเป็นสิ่งที่ขัดแย้งหรือ อนุโลมตามธรรมธาตุนั้น ปราศจากทวิลักษณะ ไร้การมา ไร้การไป เหตุที่ไม่อาจพบเห็น จึงปราศจากสถานที่เกิดขึ้นของสิ่งนั้น

พระวิศวภัทร เสี่ยเกี๊ยก.ธรฺม-ธาตุ -ปรกฺฤตย-อวตาร-สูตฺร,2554

คัมภีร์วิมลเกียรตินิทเทสสูตร[แก้]

ได้กล่าวถึงพระธรรมกายของพระพุทธเจ้าว่า “ก็คือกายแห่งอากาศ มิเกิดขึ้นและมิได้มิเกิด ไร้รูปลักษณ์และมิได้ไร้รูปลักษณ์ ก้าวล่วงการเปรียบเทียบของภพทั้งสาม และหาคำพรรณนาสรรเสริญใดมาเทียบเท่าเห็นไม่มี… ฯลฯ”

พระพุทธเจ้าทั้งปวง ด้วยจากการแสดงของปัจจัยแห่งการเกิดและดับของสรรพสิ่ง จึงให้รู้แจ้งว่า “ปัจจัยนั้นล้วนเกิดขึ้นแต่ความอนัตตา” อันเมื่อสัตยธรรมจริงแท้เป็นเช่นนี้ ก็ย่อมวางเฉยในรูปร่างที่โป้ปดหรือคือสิ่งที่หลอกลวงได้ แล้วเข้าสู่ศูนยตาภาววิสัยอันมิเกิดขึ้นและมิดับสูญ อาศัยธรรมภาวะหรือธรรมธาตุว่าคือกาย ที่ไร้รูปและไร้ลักษณ์(ของขันธ์ห้า)

พระวิศวภัทร เสี่ยเกี๊ยก. พระพุทธเจ้าฝ่ายมหายาน.พิมพ์ครั้งที่ 1 .2549

คัมภีร์อวตังสกะสูตร[แก้]

“อันธรรมธาตุแต่เดิมนั้นว่างเปล่า มิอาจยึดถือแลมิอาจพบเห็น สภาวะที่ว่างเปล่านั้นแลคือพระพุทธะ ซึ่งมิอาจตรึกคิดคาดประมาณ”

พระวิศวภัทร เสี่ยเกี๊ยก. พระพุทธเจ้าฝ่ายมหายาน.พิมพ์ครั้งที่ 1 .2549

คัมภีร์มหาปรัชญาปารมิตาศาสตร์[แก้]

“ครั้งหนึ่งเมื่อพระศากยมุนีพุทธเจ้าประทับยังดาวดึงส์เทวโลกแล้วประทานพระธรรมเทศนาเสร็จสิ้นแล้ว คราที่พระองค์เสด็จนิวัติสู่โลกมนุษย์นั้น บรรดามหาชนทั้งปวงล้วนเฝ้ารอรับเสด็จ มีเพียงแต่พระสุภูติเถรเจ้าเท่านั้นที่เร้นกายในพนาวาส นั่งพิจารณาสรรพพุทธธรรมทั้งปวงว่าล้วนแต่มีความศูนย์โดยสภาพ พระศากยมุนีทรงทราบด้วยพระญาณแล้วจึงตรัสกับผู้ที่มาเฝ้ารับเสด็จว่า สุภูติเป็นผู้ได้อภิวาทเราตถาคตเป็นคนแรก เหตุเพราะว่าสุภูตินั้นได้พิจารณาธรรมทั้งปวงว่าเป็นศูนยตา นี่แหละจึงเรียกว่าได้พบธรรมกายของพระพุทธเจ้า ได้ถวายสักการะอย่างแท้จริง อันเป็นการบูชาที่ประเสริฐสุดแล”

“หากเพ่งพิศพระพุทธะด้วยรูปลักษณ์ นั้นคือพบเพียงลักษณะมายา หากพิจารณา พระพุทธะด้วยธรรม ย่อมได้ประสบพระพุทธะที่แท้จริง”

พระวิศวภัทร เสี่ยเกี๊ยก. พระพุทธเจ้าฝ่ายมหายาน.พิมพ์ครั้งที่ 1 .2549

คัมภีร์มหายานสูตราลังการสูตร[แก้]

ธรรมกาย สัมโภคกาย นิรมาณกาย เหล่านี้คือกายของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ธรรมกายเป็นมูลฐานของสัมโภคกายและนิรมาณกาย สัมโภคกายในโลกทั้งปวงและจักรวาลนั้น แตกต่างกันไปตามภูมิภาค แตกต่างกันในชื่อ รูปร่าง และประสบการณ์ในปรากฏการณ์ แต่ธรรมกายที่เป็นเอกรูปและสุขุมนั้นมีอยู่ในสัมโภคกาย และโดยอาศัยธรรมกายนี้ สัมโภคกายก็สามารถควบคุมของตนได้ ในเมื่อธรรมกายสำแดงตนให้ปรากฏได้ตามประสงค์ นิรมาณกายย่อมเปิดเผยด้วยการเกิดที่ชำนาญ ด้วยการตรัสรู้พระนิพพาน เพราะนิรมาณกายมีอำนาจลึกลับที่จะนำมนุษย์ไปสู่การตรัสรู้อยู่มาก กายของพระพุทธเจ้าทั้งหลายประกอบด้วยสามกายนี้

พระมหาไสว โชติโก . การศึกษาวิเคราะห์ธรรมกายในพุทธศาสนา . วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต . มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,2542

ลังกาวตารสูตร[แก้]

ครั้งนั้นท่านมหามติโพธิสัตว์มหาสัตว์ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ได้ตรัสถึงสิ่งที่เรียกว่าตถาคตครรภะเสมอในพระสูตรทั้งหลาย พระองค์ทรงอธิบายว่า สิ่งที่เรียกว่าตถาคตครรภะนั้นบริสุทธิ์ผ่องใสโดยธรรมชาติ ตถาคตครรภะนี้เดิมทีนั้นไร้มลทินประกอบด้วยมหาปุริสลักษณะ 32 ประการ ซ่อนอยู่ในร่างกายของสรรพสัตว์ อุปมาดังรัตนชาติมูลค่ามหาศาลที่ถูกห่อหุ้มด้วยผ้าสกปรก ตถาคตครรภะนี้ก็ฉันนั้น ถูกห่อหุ้มด้วยผ้าคือขันธ์ ธาตุและอายตนะ ถูกทำให้สกปรกด้วยธุลี คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง และความนึกคิดที่ผิดๆพระองค์ยังทรงบรรยายลักษณะของตถาคตครรภะนี้ว่า เป็นสิ่งนิรันดร์ ยั่งยืนถาวร และมาสามารถเปลี่ยแปลงได้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ !หากคถาคตครรภะเป็นดังที่พระองค์ตรัสมานี้ ตถาคตครรภะจะต่างจากอาตมันที่นักปราชญ์ทั้งหลาย พูดกันอย่างไร อาตมันที่สอนกันในสำนักปรัชญาเหล่านั้นคือ ผู้สร้างนิรันดร์ เป็นอมตะ หาสิ่งใดเทียบได้ แทรกอยู่ในสรรพสิ่ง และไม่มีใครทำลาย

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ไม่หรอกมหามติ ! สิ่งที่เราเรียกว่าตถาคตครรภะเป็นคนละอย่างกับอาตมัน ที่นักปรัชญาทั้งหลายพูดถึง มหามติ ! พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมสอนว่า สิ่งที่เรียกว่าตถาคตครรภะนี้คือสุญญตา (ความว่าง) นิพพาน (ความดับเย็น) เป็นสิ่งที่ไม่เกิด ไม่สามารถระบุคุณสมบัติได้… มหามติ ! เราหวังว่า ปวงโพธิสัตว์มหาสัตว์ทั้งในปัจจุบันและอนาคตไม่ยึดถือความคิดว่าเป็นอาตมัน

พระมหาไสว โชติโก . การศึกษาวิเคราะห์ธรรมกายในพุทธศาสนา . วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต . มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,2542

คัมภีร์อื่นๆ[แก้]

  1. สูตรเว่ยหล่าง

ธรรมกายเป็นสิ่งที่เต็มเปี่ยมและสงบ ตัวแท้และการทำหน้าที่ของธรรมกายย่อมอยู่ใน “ภาวะคงที่เสมอ” ขันธ์ทั้งห้าเป็นของว่างโดยแท้จริง และอายตนะภายนอกทั้งหก เป็นของไม่มีอยู่ในสมาธิไม่มีการเข้า ไม่มีทั้งการออก ไม่มีทั้งความเงียบ ไม่มีทั้งความวุ่นวาย

หลักฐานในศิลาจารึก[แก้]

1. ศิลาจารึก พ.ศ. 2092 ภาษาไทย-บาลี อักษร ขอมสุโขทัย บัญชี/ทะเบียนวัตถุ/พล.2 พบที่พระเจดีย์วัดเสือ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร กรุงเทพฯ กล่าวว่า

...สพฺพญฺญูตญาณปวรสีลํ นิพานรมฺมณํ ปวรวิลสิ ตเกส จตูถชานาปวร ลลาต วชฺชิรสมาปตฺติ ปวรอุ... ...อิมํ ธมฺมกายพุทฺธลกฺขณํ โยคาวจรกุลปุตฺเตน ติกฺขญาเณน สพฺพญฺญุพุทฺธภาวํ ปตฺเถนฺเตน ปุนปฺปุนํ อนุสฺสริตพฺพํฯ

คำแปล "พระพุทธลักษณะคือ ธรรมกาย มีพระเศียรอันเประเสริฐคือ พระนิพพาน อันเป็นอารมณ์แห่งผลสมาบัติ มีพระนลาฏอันเประเสริฐ คือจตุตถฌาน มีพระอุณาโลมอันประเสริฐ ประกอบด้วยพระรัศมี คือพระปัญญาในมหาวชิรสมาบัติ...

พระพุทธลักษณะ คือ "ธรรมกาย" นี้ อันโยคาวจรกุลบุตรผู้มีญานอันกล้า เมื่อปรารถนาซึ่งภาวะแห่งตน เป็นสัพพัญญูพุทธเจ้า พึงระลึกเนืองๆ ฯ"

2. ศิลาจารึกเมืองพิมาย เป็นศิลาจารึกภาษาสันสกฤต อักษรขอม มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 18 พบที่อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ได้มีการถอดความและแปลแล้ว จัดพิมพ์ขึ้นเป็นตัวหนังสือเรื่อง "จารึกพระเจ้าชัยวรมันที่ 7" ปัจจุบันอยู่ที่หอสมุดวชิรญาณ (หอสมุดแห่งชาติกรุงเทพฯ) กล่าวว่า

นโมวุทฺธายนิรฺมมาณ (ธรฺมสามฺโภคมูรฺตฺตเย) ภาวาภาวทฺวยาตีโต (ทฺวยาตฺมาโยนิราตฺมก:)

คำแปล "ขอความนอบน้อม จงมีแด่พระพุทธเจ้า ผู้มีนิรมาณกาย ธรรมกาย และสัมโภคกาย ผู้ล่วงพ้นภาวะและอภาวะทั้งสองผู้มีอาตมันเป็นสอง และหาอาตมันมิได้

3. ศิลาจารึกที่ปราสาทพระขรรค์ เป็นจารึกภาษาสันสกฤต กล่าวว่า

"สมฺภารวิสฺตรวิภาวิตธรฺมกาย สมฺโภคนิรฺมฺมิติวปุรฺภควานฺวิภกฺต:"

คำแปล "พระผู้มีพระภาค ผู้ประกอบด้วย ธรรมกาย อันพระองค์ยังให้เกิดขึ้นแล้วอย่างเลิศ ด้วยการสั่งสม (บุญบารมี) ทั้งสัมโภคกายและนิรมาณกาย"

อ้างอิง[แก้]

  1. ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร (5) เก็บถาวร 2011-11-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน วันที่ค้นข้อมูล : 25 พฤษภาคม 2556
  2. พระธรรมกาย เก็บถาวร 2013-07-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน วันที่ค้นข้อมูล : 25 พฤษภาคม 2556
  3. > พระไตรรัตนะพุทธเจ้า (三寳佛)[ลิงก์เสีย]
  4. C. Alexander Simpkins; Annellen M. Simpkins (2009). Meditation for Therapists and Their Clients. W.W. Norton. p. 158. ISBN 978-0-393-70565-2.